"...การที่คนหนึ่ง ชักชวนคนอื่น ๆ มาร่วมลงทุนในธุรกิจที่อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูง ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อจูงใจให้นำเงินมาลงทุน โดยกลุ่มคนแรก ๆ จะได้รับผลตอบแทนสูง ก่อนจะได้ลดหลั่นกันไปตามแต่ละเครือข่าย จนสุดท้ายเมื่อหาใครไม่ได้แล้ว ไม่มีเงินหมุนเวียน บรรดาลูกข่ายระดับล่าง ๆ ก็จะไม่ได้รับผลตอบแทน และเรื่องแดงในที่สุด..."
ประเด็นดราม่า ‘ดิ ไอคอน กรุ๊ป’ ยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวนหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยพุ่งเป้ากล่าวหาว่าเข้าข่ายเป็น ‘ธุรกิจขายตรง’ พ่วง ‘แชร์ลูกโซ่’ แอบแฝงหรือไม่
จากพฤติการณ์ที่เน้น ‘หาลูกข่าย’ มากกว่าเน้น ‘ขายสินค้า’
ขณะที่กลุ่มผู้เสียหายจำนวนหลายร้อยคน ต่างให้การตรงกันว่า เมื่อสมัครเข้าไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 3-4 ระดับชั้น เช่น ระดับตัวแทนจำหน่ายเสีย 2,500 บาท เพื่อเข้ารับการอบรม ต่อมาระดับนายหน้าเสีย 25,000 บาท เพื่อรับสินค้ามาขาย และระดับเจ้าของออเดอร์เสีย 250,000 บาท เพื่อเปิดออเดอร์ใหญ่ มีหน้าเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เป็นต้น
ทว่า เมื่อเข้าฟังคอร์สอบรมจาก ‘แม่ข่าย’ กลับให้เน้นไปที่การ ‘หาคนเข้าร่วม’ เพื่อขยายเครือข่ายออกไป และกินเปอร์เซ็นต์จากในส่วนนี้ มากกว่าการขายสินค้า
เบื้องต้น ‘บอสพอล’ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง ‘ดิ ไอคอน กรุ๊ป’ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการชื่อดังหลายแห่ง ยืนยันข้อเท็จจริงว่า ธุรกิจของบริษัทตัวเองเป็นธุรกิจที่เน้นการขายสินค้า ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ส่วนประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้น พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเต็มที่
ขณะที่ ‘3 บอส’ ดารา ทั้ง ‘บอสกันต์’ กันต์ กันตถาวร ‘บอสมิน’ พีชญา วัฒนามนตรี ‘บอสแซม’ ยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่เข้าให้ถ้อยคำกับตำรวจ ยืนกรานปฏิเสธความเกี่ยวข้องทาง ‘กลยุทธ์ธุรกิจ’ ของบริษัทแห่งนี้ โดยอ้างว่าได้รับการว่าจ้างสัญญาเป็น ‘พรีเซนเตอร์’ ขายสินค้าในบริษัทเพียงอย่างเดียว ตรงกันกับที่ ‘บอสพอล’ เปิดเผยผ่านรายการชื่อดัง ระบุว่า 3 บอสดาราดังกล่าวถูกว่าจ้างเป็นพรีเซนเตอร์จริง แต่ได้รับเงินค่าสัญญา โดยแบ่งจากยอดขายสินค้าของบริษัทในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้เรียก ‘บอสพอล’ รวม ‘3 บอสดารา’ และบรรดา ‘บอสเครือข่าย’ ที่บริหารเบื้องหลัง ‘ดิ ไอคอน กรุ๊ป’ เข้าให้ถ้อยคำแล้ว รวมไม่ต่ำกว่า 10 ราย
ความคืบหน้าล่าสุด (15 ต.ค. 2567) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงว่า การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานขณะนี้ รู้สึกพอใจ คดีมีความคืบหน้าไปมาก ส่วนการออกหมายจับต้องรอบคอบ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาแสดงตัว และมีที่ปรึกษาด้านกฎหมายมาด้วย แต่ตำรวจไม่ได้วิตกกังวลแต่อย่างใด เร่งรวบรวมพยานหลักฐานออกมาจับ และแจ้งข้อกล่าวหาให้ทันภายในเดือน ต.ค.นี้
@ ‘บอสพอล’ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ออกรายการโหนกระแส
ประเด็นที่น่าสนใจ ไฉนคำว่า ‘ธุรกิจขายตรง’ ในปัจจุบัน ถึงเป็น ‘คำเชิงลบ’ และถูกสังคมมองว่าเป็นการทำ ‘แชร์ลูกโซ่’ กลาย ๆ ขึ้นได้?
ทำความรู้จักคำว่า ‘ธุรกิจขายตรง’ เสียก่อน กำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อช่วง ค.ศ.1860 ในสหรัฐอเมริกา โดยหลายบริษัทขณะนั้นส่งพนักงานไปสาธิต แนะนำ และขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภค เช่น บริษัท ทัปเปอร์แวร์ ผู้ผลิตวัสดุภัณฑ์จัดเก็บอาหารระดับโลก ที่น่าจะคุ้นหูชาวไทย เป็นต้น
แต่บริษัทที่ ‘แจ้งเกิด’ คำว่า ‘ธุรกิจขายตรง’ ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เมื่อ ค.ศ. 1959 พลันที่ ‘แอมเวย์’ เจ้าของสารพัดผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เป็นบริษัทแรกที่ใช้ระบบ ‘การตลาดหลายชั้น’ หรือที่เรียกกันว่า ‘เครือข่าย’ (Multi Level Marketing-MLM) ที่ให้คนสนใจสามารถเปิดธุรกิจเป็นของตัวเองได้
ธุรกิจขายตรงแบบ MLM ข้างต้น เริ่มแพร่สะพัดเข้าไทยในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ทั้ง ‘แอมเวย์’ ‘ทัปเปอร์แวร์’ เป็นผู้บุกเบิกตลาด หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเจ้าตามมา ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสะอาด ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่น ‘มิสทิน’ ‘กิฟฟารีน’ เป็นต้น
เมื่อเกิดความแพร่หลายในไทย ทำให้รัฐบาลขณะนั้นต้องออก พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาบังคับใช้ เพราะธุรกิจขายตรงเหล่านี้ เริ่มเกิดการแอบแฝง ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่พัฒนาการไปตามยุคสมัย สร้างอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหนัก มีผู้เสียหายหลักแสนคน มูลค่าความเสียหายถึงหลักพัน-หมื่นล้านบาท
โดยคำว่าแชร์ลูกโซ่ ตามนิยามในกฎหมาย พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ระบุในมาตรา 4 ว่า การชักชวนให้ลงทุน โดยนำเงินหรือทรัพย์สิน และให้ไปชักชวนคนให้นำเงินมาลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง โดยผู้หลอกลวงมิได้นำเงินที่ได้มาไปประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมายเพียงแต่นำเงินที่ได้มาจากผู้ลงทุนรายใหม่ไปหมุนเวียนจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนรายเก่า
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ การที่คนหนึ่ง ชักชวนคนอื่น ๆ มาร่วมลงทุนในธุรกิจที่อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูง ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อจูงใจให้นำเงินมาลงทุน โดยกลุ่มคนแรก ๆ จะได้รับผลตอบแทนสูง ก่อนจะได้ลดหลั่นกันไปตามแต่ละเครือข่าย จนสุดท้ายเมื่อหาใครไม่ได้แล้ว ไม่มีเงินหมุนเวียน บรรดาลูกข่ายระดับล่าง ๆ ก็จะไม่ได้รับผลตอบแทน และเรื่องแดงในที่สุด
สำหรับ ‘แชร์ลูกโซ่’ ระดับตำนานในประวัติศาสตร์ไทย มีหลายเจ้าด้วยกัน เช่น ‘แชร์แม่ชม้อย’ เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2520-2528 โดยชม้อย ทิพย์โส กับพวกรวม 10 คน ที่คิดค้นรูปแบบการเล่น ‘แชร์น้ำมัน’ โดยอ้างว่านำเงินไปลงทุนในองค์การน้ำมันเชื้อเพลิง (1 ใน 2 องค์กรเดิมก่อนเป็น ปตท.) ไปลงทุนการค้าน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เงินกู้ยืมจากประชาชน ตกคนละ 160,500 บาท และให้ผลตอบแทนสูงเป็นรายเดือน ส่งผลให้มีประชาชนอย่างน้อย 13,248 คน หลงเชื่อ และมีการปล่อยกู้ยืมเงินไปกว่า 28,000 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 4.5 พันล้านบาท ถือเป็นยอดเงินที่สูงมากในยุคสมัยนั้น กระทั่งลูกข่ายหมด เรื่องจึงแดงขึ้น และตำรวจมาดำเนินคดี สุดท้าย ‘แม่ชม้อย’ ถูกพิพากษาจำคุก 117,595 ปี แต่ตามกฎหมายคงจำคุกได้แค่ 20 ปี และสั่งให้คืนเงินกว่า 4.5 พันล้านบาทแก่ผู้เสียหายทั้งหมด ปิดฉากคดีในตำนานไป
@ ชม้อย ทิพย์โส /ภาพจากไทยรัฐ
หลังจากนั้นเกิด ‘แชร์ลูกโซ่’ ตามมาอีกเพียบ อาทิ แชร์แม่นกแก้ว โดยพันจ่าอากาศเอกหญิงนกแก้ว ใจยืน หัวหน้าวงแชร์แม่นกแก้ว เกิดขึ้นช่วงปี 2528 จนถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย แม่นกแก้วถูกตัดสินเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้ชำระหนี้ 12,189 ราย คิดเป็นหนี้ 1,977 ล้านบาท ที่ผ่านมากรมบังคับคดีได้ยึดอายัดทรัพย์และขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้คืนเจ้าหนี้แล้ว 5 ครั้ง รวมจำนวนเงิน 361 ล้านบาท ช่วงปี 2560 กรมบังคับคดีมีการแบ่งการชำระหนี้แล้วครั้ง 6
‘แชร์ ชาร์เตอร์’ ระหว่าง พ.ศ. 2526-2528 โดยใช้วิธีชวนเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ และเงินตราต่างประเทศ อ้างได้รับผลตอบแทน 9% ต่อเดือน หรือ 10% ต่อปี โดยเกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ตัวการหลักคือ ‘เอกยุทธ อัญชันบุตร’ โดยเจ้าตัวได้หลบหนีคดีไปต่างประเทศ จนคดีหมดอายุความได้กลับมาไทย กระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี 2556 ด้วยสาเหตุถูก ‘อุ้มฆ่า’
แชร์บลิสเซอร์ ระหว่าง พ.ศ. 2534-2537 ให้ประชาชนมาสมัครสมาชิก โดยเสียเงินราว 30,000-60,000 บาท เพื่อเป็นสมาชิกเที่ยวทั่วประเทศ โดยคนที่ชักชวนมาสมัครจะได้ค่านายหน้า 20-45% เกิดความเสียหายราว 2 พันล้านบาท
สำหรับยุคใหม่ ๆ เปลี่ยนจากการหลอกลงทุนในธุรกิจน้ำมัน เงินตราต่างประเทศ ทองคำ ท่องเที่ยว เป็น เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บิทคอยน์ บล็อกเชน เช่น พ.ศ.2557-2558 แชร์ยูฟัน ให้ประชาชนสมัครสมาชิก โดยอ้างว่าจะนำไปสร้างเครือข่าย ‘U-Token’ โดยใช้เงินลงทุนราว 17,500 บาท ถึง 1,750,000 บาท ส่งผลให้เกิดความเสียหายราว 357 ล้านบาท พ.ศ.2561-2562 แชร์แม่มณี อ้างสมัครเพื่อนำเงินไปออมเงินขั้นต่ำ 400 บาท ครบ 7 วันได้ดอกเบี้ย 100 บาท ผลตอบแทน 93% ต่อเดือน ส่งผลให้ประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก เกิดความเสียหายกว่า 1,300 ล้านบาท หรือล่าสุด พ.ศ.2558-2562 แชร์ ‘Forex 3D’ ชวนประชาชนลงทุนใน Forex อ้างได้ผลตอบแทน 10-15% ต่อเดือน หากแนะนำคนมาลงทุนต่อได้ค่านายหน้า 5% ต่อคน โดยเกิดความเสียหายเกือบ 2,500 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับ ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่แฝงตัวในการทำ ‘ธุรกิจขายตรง’ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน เช่น พ.ศ. 2557-2560 กรณีบริษัท Luxury Delight ทำธุรกิจขายสินค้าเสริมความงาม โดยอ้างว่าหากสมัครสมาชิก และขยายเครือข่ายจะได้ค่าตอบแทนราว 60% ของยอดซื้อของผู้มาสมัครต่อ โดยมีค่าสมัครสมาชิก 36,000 บาท และมีลุ้นได้รับทองคำมูลค่า 10,000 บาท แต่สุดท้ายเมื่อขยายเครือข่ายไปจนสุดทาง ก็ไม่มีผลตอบแทนเกิดขึ้นต่อ จนเกิดการฟ้องร้องคดีขึ้น
หรือเมื่อ พ.ศ. 2560 เกิดกรณีบริษัท WealthEver ที่นำโดย นางสาวพสิษฐ์ หรือ ‘ซินแสโชกุน’ หลอกลวงว่าหากมาสมัครเป็นสมาชิกบริษัทแห่งนี้ และมีการซื้อออเดอร์จำนวนถึงกำหนด จะได้รับตั๋วเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ โดยกลุ่มผู้เสียหายจะต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าราว 10,000-15,000 บาทต่อคน กระทั่งเรื่องมาแดงเมื่อกลุ่มผู้เสียหายเกิดตกค้างอยู่ที่สนามบินสุวรณภูมินับ 1,000 คน เมื่อปี 2560 ทำให้เกิดการแจ้งความ และขยายผลจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาในเวลาต่อมา โดยผู้ถูกกล่าวหาถูกศาลพิพากษจำคุกนับพันปีเช่นกัน
@ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน /ภาพจากposttoday
ทั้งหมด คือ ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่มาแฝงตัวใน ‘ธุรกิจขายตรง’ จะเห็นได้ว่ามีพัฒนาการหลอกลงทุนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี กรณี ‘ดิ ไอคอน กรุ๊ป’ แม้ว่าทางสำนักงาน ปปง. จะมีการประเดิมอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้อง กว่า 125 ล้านบาทไปแล้ว ทางตำรวจยังมิได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง บทสรุปสุดท้ายคดีนี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องรอผลการสืบสวนกันต่อไป