"...นายเอกราช ช่างเหลาได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จนทำให้สหกรณ์มียอดเงินขาดบัญชีตั้งแต่ปี 2554 - 2562 เป็นเงินจำนวนถึง 431,826,070.43 บาท และเพื่อเป็นการปิดบังอำพรางการกระทำความผิดของตนเอง ยังได้ทำการปลอมแปลงรายการในเอกสารสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำของสหกรณ์ และจัดทำหรือรับรองรายงานสถานะทางการเงินเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีอันเป็นความเท็จ เพื่อให้สหกรณ์และสมาชิกหลงเชื่อว่าสหกรณ์มียอดเงินคงเหลือตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าวจริง เป็นการกระทำต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 จนถึงเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้ว..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายเอกราช ช่างเหลา สภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณี นายเอกราช เมื่อครั้งเป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จนทำให้สหกรณ์มียอดเงินขาดบัญชีตั้งแต่ปี 2554 - 2562 เป็นเงินจำนวนถึง 431,826,070.43 บาท และเพื่อเป็นการปิดบังอำพรางการกระทำความผิดของตนเอง ยังได้ทำการปลอมแปลงรายการในเอกสารสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำของสหกรณ์ และจัดทำหรือรับรองรายงานสถานะทางการเงินเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีอันเป็นความเท็จ เพื่อให้สหกรณ์และละสมาชิกหลงเชื่อว่าสหกรณ์มียอดเงินคงเหลือตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าวจริง เป็นการกระทำต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 จนถึงเดือนสิ่งหาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้ว และนายเอกราชช่างเหลา ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562
นอกจากนั้น ยังมีพฤติการณ์จงใจไม่ชำระหนี้เงินขาดบัญชีที่เกิดจากการกระทำของตนเองคืนให้กับสหกรณ์ ตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 จนในปี 2564 สหกรณ์ออมทรัพย์พย์ศรูขอนแก่น จำกัด ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่นแก่นในข้อหาเกี่ยวกับการร่วมกันยักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีคำสั่งสั่งยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้เป็นการชั่วคราว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเห็นชอบตามสำนวนไต่สวนคดีเบื้องต้น ว่า การกระทำของนายเอกราช ช่างเหลา ผู้ถูกกล่าวหา เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยประพฤติตนไม่อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน และกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 12 ข้อ 19 ประกอบข้อ 3 วรรคสอง และข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ต่อไป
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับเต็ม ชี้มูล นายเอกราช ช่างเหลา สภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังกล่าวข้างต้น
ปรากฏข้อมูลดังต่อไปนี้
หนึ่ง. - ข้อกล่าวหา
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุข้อกล่าวหาคดีนี้ ว่า เป็นกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีทุจริตยักยอกเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ปลอมแปลงรายการในสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำทั้งหมดหรือบางส่วน จัดทำหรือรับรองรายงานสถานะทางการเงินเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีอันเป็นความเท็จ เพื่อให้สหกรณ์และสมาชิกหลงเชื่อว่าสหกรณ์มียอดเงินคงเหลือตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าวจริง และจงใจไม่ชำระหนี้เงินขาดบัญชีที่ตนเองได้ยักยอกไปคืนให้กับสหกรณ์ ตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 27 ธ.ค.2562
สอง. - ผลการไต่สวน
ผลการไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช. ระบุว่า ในช่วงปี 2554-2562 นายเอกราช ช่างเหลา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด มีหน้าที่บริหารจัดการงานทั่วไปเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำปีของสหกรณ์ รวมทั้งรับผิดชอบในการจัดทำงบทดลอง งบแสดงฐานะทางการเงิน บัญชีกำไรขาดทุน และรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณา ก่อนเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีพิจารณานายเอกราช เป็นผู้เก็บรักษาและครอบครองสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี XXX แต่เพียงผู้เดียว และนำสำเนาภาพถ่ายของสมุดบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าว พร้อมสำเนาเอกสารเกี่ยวกับใบแจ้งรายการบัญชีให้กับหัวหน้าฝ่ายบัญชีของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด เพื่อทำการบันทึกข้อมูลรายการเงินฝากประจำในเอกสารประกอบการประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุกครั้ง
แต่ภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ เมื่อประมาณเดือน มี.ค.2562 แล้ว ก็ไม่ได้ส่งมอบเล่มสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวคืนโดยทันที ซึ่งทางผู้จัดการสหกรณ์คนใหม่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการติดตามทวงถามอยู่หลายครั้ง
จนเมื่อประมาณเดือนต.ค.2562 นายเอกราช ได้นำเล่มสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำฯมาส่งมอบคืน
ต่อมาวันที่ 30 มี.ค.2553 ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ชุดที่ 48 ในการประชุมครั้งที่ 8/2553 ได้มีมติอนุมัติมอบอำนาจให้นายเอกราช ในฐานะผู้จัดการฯ เป็นตัวแทนสหกรณ์ในการดำเนินการซื้อ-ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากบำรุงการกุศล พร้อมทั้งอนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อสลากจาก บริษัท หยาดน้ำเพชร จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี จำนวน 3 สัญญา และอนุมัติวางเงินมัดจำค่าซื้อสลากล่วงหน้าให้กับคู่สัญญาทั้ง 3 สัญญา รวมเป็นเงิน 870,400,000 บาท
โดยนายเอกราช ได้ลงนามสัญญาซื้อสลากการกุศลงวดพิเศษ กับบริษัท หยาดน้ำเพชร จำกัด จำนวน 1 สัญญา และกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี จำนวน 2 สัญญา ลักษณะการประกอบธุรกิจ ผู้ขายจะส่งมอบสลากให้แก่สหกรณ์ ณ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามงวดและจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา
แต่สหกรณ์ไม่ได้นำสลากมาจำหน่ายเอง จำหน่ายให้กับผู้ค้าสลากทั่วไป ณ หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยไม่มีการทำสัญญาซื้อ-ขายระหว่างกัน และราคาซื้อ-ขายแต่ละงวดก็ไม่เท่ากันด้วย ขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาขายหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
วันที่ 8 ก.ย. 2554 สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น แจ้งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ระงับการดำเนินธุรกิจจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่าย และให้แก้ไขข้อบกพร่องในการบันทึกบัญชีตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนด โดยอ้างว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด เป็นลักษณะธุรกิจไม่แสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน
ทั้งที่การดำเนินโครงการจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่ายไม่ใช่กิจการร่วมกันตามประเภทของสหกรณ์ ประกอบกับสหกรณ์มิได้จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกที่เป็นผู้มีอาชีพหลักในการค้าสลากรายย่อยและมิใช่ผู้ที่ได้รับการจัดสรรสลากจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยตรง
จากนั้น ทางสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ได้เจรจายกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ที่ตกลงทำสัญญาไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2553 (สัญญาฉบับที่ 2) งวดระหว่างวันที่ 1 ก.พ.2555 ถึงวันที่ 16 ก.พ. 2556 ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี ตกลงยินดีที่จะยกเลิกสัญญา
แต่ในส่วนของเงินมัดจำค่าซื้อสลากล่วงหน้าที่สหกรณ์ได้ชำระให้กับห้างแล้วเป็นจำนวน 290,400,000 บาท นั้นทางห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี ขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ 16,200,000 บาท ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2555 จนกว่าจะครบตามจำนวนเงินมัดจำค่าซื้อสลากล่วงหน้า 290,400,000 บาท
ส่วนสัญญาชื่อขายสลากฉบับแรกและสัญญาซื้อขายสลากที่ทำกับบริษัท หยาดน้ำเพชร จำกัด สหกรณ์ยังคงดำเนินการต่อไปจนสิ้นสิ้นสุดสัญญา (สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ม.ค.2555 )
นอกจากนี้ นายเอกราช ยังได้นำเอาที่ดินของตนเองจำนวน 3 แปลง ที่ตั้งอยู่ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จดจำนองไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด เพื่อเป็นหลักประกันในการทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวด้วย
ต่อมาวันที่ 13 ม.ค.2555 สหกรณ์จังหวัดขอนแก่นในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ก็ได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ข้อ 2 วัตถุประสงค์ (25) เนื่องจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีคำวินิจฉัยว่าการดำเนินธุรกิจจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาล มาจำหน่ายให้แก่ประชาชนเพื่อเป็นสวัสติการของสมาชิกสหกรณ์นั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์และได้มีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ได้มีคำสั่งยืนยันตามคำสั่งเดิมของนายทะเบียนสหกรณ์และให้ยกอุทธรณ์ ทำให้สหกรณ์ออมทรัพรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ต้องหยุดการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากบำรุงการกุศลทันที
แต่บัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยพาณิชย์ของสหกรณ์ออมทรัพยัพย์ขอนแก่น จำกัด ข้างต้นมิได้มีการปิดบัญชีแต่อย่างใด และยังคงมีการทำธุรกรรมตามปกติเรื่อยมา
จากการตรวจสอบใบฝาก-ถอนเงิน และใบแจ้งรายการบัญชีฝากประจำของธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญที่ XXX ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2554 - 2556 นายเอกราช ได้ร่วมกับนายนิวัฒร นิราศสูงเนิน นายนพรัตน์ สร้างนอก และนายสมศักดิ์ โคตรวงศ์ ในฐานะคณะกรรมการดำเนินการผู้มีอำนาจกระทำการแทนสหกรณ์ ทำการเบิกถอนเงินของสหกรณ์ออมทรัพรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด โดยพลการ แล้วยักยอกไป รวมยอดเงินที่ผู้ถูกกล่าวหากับพวกยักยอกไปมีจำนวน 1,275,015,719.18 บาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 และวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ผู้ถูกกล่าวหากับพวกได้คืนเงินบางส่วนให้แก่สหกรณ์ฯ จำนวน 100,000,0000 บาท และจำนวน 770,000,0000 บาท ตามลำดับ คงเหลือเงินที่ผู้ถูกกล่าวหากับพวกยังไม่ได้คืนเป็นเงินจำนวน 405,015,719.18 บาท
หลังจากนั้นปรากฏว่าในทุก ๆ ปี ในช่วงปี 2554 - 2562 นายเอกราช กับพวก ได้ร่วมกันปลอมสมุดบัญชีเงินฝากประจำของสหกรณ์ฯ โดยแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขในรายการฝาก ถอน และยอดเงินคงเหลือ เพื่อปิดบังการยักยอกเงินของผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งได้ร่วมกันจัดทำและรับรองเอกสารรายงานสถานะทางการเงินของสหกรณ์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยแสดงงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสดอันเป็นความเท็จ เพื่อให้สหกรณ์และสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมในแต่ละปี หลงเชื่อว่าสหกรณ์มียอดเงินคงเหลือตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าวจริง โดยทำการยักยอกเงินของสหกรณ์ รวม 431,862,070.43 บาท
ในปี 2562 นายเอกราช ช่างเหลา ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 62 เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่วันที่ 24 มีค. 62 จากนั้นย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 65 พ้นจากวาระเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66 เนื่องจากยุบสภา และเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายเอกราช ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต (เขต 8) จังหวัดขอนแก่น
โดยในระหว่างวันที่ 4 ส.ค.2562 ถึงเดือน พ.ย. 2562 วันเวลาไม่แน่ชัด ซึ่งนายเอกราช มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการเพิ่มเติมตัวเลขขึ้นในหน้าที่ 3 บรรทัดที่ 3 - 4 ของรายการ สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี XXX ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด โดยมีสรุปยอดเงินคงเหลือ ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2562 (บรรทัดที่ 3) จำนวน 431,941,984. 59 บาท เพื่อปิดบังการยักยอกเงินของผู้ถูกกล่าวหากับพวก ทั้งที่ใบแจ้งรายการบัญชีฝากประจำ (Statement) มียอดเงินคงเหลือ ณ วันที่ 4 ส.ค. 2562 เพียง 79,714.16 บาท
วันที่ 27 ธ.ค. 2562 นายเอกราช ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้รับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด เป็นเงินจำนวน 431,862,070.43 บาท โดยรับว่าจะผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.75 ต่อปี หรือในอัตราดอกเบี้ยที่สหกรณ์เรียกเก็บจากสมาชิกของเงินต้นที่ค้างชำระ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2562 เป็นต้น ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และกำหนดให้ชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ธ.ค. 2563 และได้นำหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินจำนวน 10 แปลง รวมมูลค่า 169,710,750 บาท มาเป็นหลักประกันด้วย
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาชำระหนี้แล้ว นายเอกราช มิได้ชำระหนี้แต่อย่างใด สหกรณ์อออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด จึงยื่นฟ้องนายเอกราช ช่างเหลา จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พE1/2564 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ในฐานความผิดละเมิดเพื่อเรียกค่าเสียหายและติดตามเอาทรัพย์สินคืน ในทางคดีอาญา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น มีความเห็นสั่งฟ้องในฐานความผิด ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ์และใช้เอกสารสิทธิปลอม และร่วมกันยักยอก และพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นได้ยื่นฟ้อง นายนพรัตน์ สร้างนานอก นายสมศักดิ์ โคตรวงศ์ และนายนิวัฒร นิราศสูงเนิน เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดขอนแก่นก่อนเป็นคดีแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.89/2564
ส่วนนายเอกราช ช่างเหลา เนื่องจากอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร พนักงานอัยการจึงไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้
ต่อมาในวันที่ 1 เม.ย.2564 ช่วงปิดสมัยประชุมสภาแล้ว พนักงานอัยการก็ได้ยื่นฟ้องนายเอกราช ต่อศาลจังหวัดขอนแก่นในฐานความผิดร่วมกันยักยอกทรัพย์, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.528/2564 ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้รวมทั้งสองคดีพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 ศาลจังหวัดขอนแก่น ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พE1/2564 ได้ออกรายงานกระบวนพิจารณาความว่า มูลละเมิดในคดีนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตรงตามคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.89/2564 จึงเห็นควรให้รอฟังผลคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราว และในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.528/2564 ศาลจังหวัดขอนแก่นก็ได้ออกรายงานกระบวนพิจารณาความว่า โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันได้ 6 ข้อ โดยจำเลยประสงค์จะให้การรับสารภาพในข้อหายักยอกทรัพย์ทุกข้อกล่าวหาและจะปฏิบัติตามข้อตกลงทั้ง 6 ประการ
โดยจำเลยกับพวกจะร่วมกันกันหรือแทนชำระหนี้ให้กับโจทก์ร่วมอย่างน้อยปีละ 50,000,000 บาท และจะชำระให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีหรือภายในปี 2569 เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 งวดต่อไปภายในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น สำหรับข้อตกลงในคดีอาญาเรื่องนี้ โจทก์ร่วมและจำเลยจะนำไปเป็นข้อตกลงในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พE1/2564 ต่อไป โดยนายเอกราช ช่างเหลา ได้นำที่ดินมาจดจำนองเป็นหลักประกันหนี้เงินสดขาดบัญชีดังกล่าวด้วย
ต่อมาศาลจังหวัดขอนแก่นได้ออกรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.528/2564 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 ความว่า จำเลย (นายเอกราช ช่างเหลา) ยืนยันให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อกล่าวหา โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาศาลจึงนัดฟังผล การชำระเงินและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ม.ค.2566 ต่อไป
ผลการชำระหนี้งวดแรก ในช่วงเดือน ต.ค.ม 2565 นายเอกราช ได้ติดต่อขอชำระหนี้งวดแรกก่อนจำนวน 10 ล้านบาทเศษ และมีเงื่อนไขให้สหกรณ์ถอนฟ้องคดีอาญาในกรรมที่มีการยักยอกเงินจำนวน 9 ล้านบาท
คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจำนวนเงินที่ขอชำระนั้น มีจำนวนไม่เป็นไปตามข้อตกลงและในคดีอาญาไม่สามารถถอนฟ้องได้ จึงไม่รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าว นายเอกราช จึงนำเช็คลงวันที่ 14 ต.ค. 2565 สั่งจ่ายในนามสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ไปวางต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 จำนวน 10,539,818.78 บาท พร้อมนัดหมายให้สหกรณ์ฯ ไปรับเงินค่าเสียหายเพิ่มเติมอีกจำนวน 40 ล้านบาท ในวันที่ 28 ธันวาคม 2565 รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 50,546,535.84 บาท ซึ่งต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ได้ติดต่อขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากศาลจังหวัดขอนแก่นแล้ว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566
ทั้งนี้ เกี่ยวกับกรณีการทุจริตยักยอกเงินสหกรณ์ฯดังกล่าว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ก็ได้รับการร้องเรียนให้ดำเนินการตรวจสอบเช่นเตียวกัน ซึ่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ได้มีประกาศพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ปปง. เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน โดยระบุว่า คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวรายนายเอกราช ช่างเหลา กับพวก
เป็นเหตุทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ได้รับความเสียหาย จำนวน 431,862,070.43 บาท ทั้งได้รับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อผู้ถูกกล่าวหาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันหลักทางฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ
สาม . มติ คณะกรรมการ ป.ป.ช.
จากพฤติการณ์ นายเอกราช ช่างเหลา ดังที่กล่าวไปข้างต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเห็นชอบตามรายงานผลการไต่สวนว่า นายเอกราช ช่างเหลา ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จนทำให้สหกรณ์มียอดเงินขาดบัญชีตั้งแต่ปี 2554 - 2562 เป็นเงินจำนวนถึง 431,826,070.43 บาท และเพื่อเป็นการปิดบังอำพรางการกระทำความผิดของตนเอง ยังได้ทำการปลอมแปลงรายการในเอกสารสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำของสหกรณ์ และจัดทำหรือรับรองรายงานสถานะทางการเงินเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีอันเป็นความเท็จ เพื่อให้สหกรณ์และสมาชิกหลงเชื่อว่าสหกรณ์มียอดเงินคงเหลือตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าวจริง เป็นการกระทำต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 จนถึงเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้ว และนายเอกราช ช่างเหลา ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562
นอกจากนั้น ยังมีพฤติการณ์จงใจไม่ชำระหนี้เงินขาดบัญชีที่เกิดจากการกระทำของตนเองคืนให้กับสหกรณ์ ตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 จนในปี 2564 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ได้ยืนฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่นในข้อหาเกี่ยวกับการร่วมกันยักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง) ได้มีคำสั่งสั่งยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้เป็นการชั่วคราว
การกระทำของนายเอกราช ช่างเหลา ผู้ถูกกล่าวหา เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยประพฤติตนไม่อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน และกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 12 ข้อ 17 ประกอบข้อ 3 วรรคสอง และข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ต่อไป
***********
เหล่านี้ คือ รายละเอียดมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับเต็ม ชี้มูล นายเอกราช ช่างเหลา กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ขณะที่ในช่วงเวลา 14.30 น. วันที่ 7 ต.ค.2567 นี้ ศาลจังหวัดขอนแก่น มีนัดฟังคำพิพากษาตัดสินคดีทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ของ นายเอกราช ช่างเหลา เป็นทางการ
ผลเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกะพริบตาโดยเด็ดขาด