“...แต่ตอนนี้คือยังไม่ทำประชามติเลย รอแก้พ.ร.บ.ประชามติก่อน กว่าจะแก้พ.ร.บ.ประชามติก็อีกประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้นถ้ามีประชามติครั้งที่ 1 ใช้เวลา 3 เดือน แล้วยังต้องรวมกับตอนแก้พ.ร.บ.ประชามติอีก 3 เดือน รวมเป็น 6 เดือนขั้นตอนนี้สามารถตัดออกได้เลย ตัดออก 6 เดือน จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะเสร็จทันได้ ลดเวลาไป 6 เดือน โดยไม่ทำประชามติครั้งแรก ซึ่งการไม่ทำประชามติครั้งแรกก็ต้องตัดสินใจวันนี้แล้ว ภายในเดือนนี้ เพื่อที่จะลดเวลา 6 เดือนนี้ ถ้าตัดสินใจอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ประหยัดเวลาได้แค่ 3 เดือน ก็ไม่ทันอยู่ดี…”
“รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน”
นี่คือส่วนหนึ่งของคำแถลงนโยบายโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567
อย่างไรก็ดีนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพรรคเพื่อไทยก็เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนที่นายเศรษฐาจะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 การดำเนินการนโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้
‘คำถาม คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จทันในสมัยรัฐบาลแพทองธารหรือไม่ และจะมีการแก้ไขอะไรบ้าง?’
@ ผู้จัดการ iLaw ชี้รธน.ฉบับใหม่เสร็จไม่ทันก่อนรัฐบาลหมดวาระ
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก็สามารถเสร็จภายในวาระของรัฐบาลได้ เนื่องจากไม่ได้ใช้เวลามาก ถ้าสภาโหวตให้ 3-4 เดือนต่อ 1 เรื่อง แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทยเคยประเมินไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี เพราะตอนนี้เวลาที่เหลือไม่มีทางที่จะทันภายในวาระของรัฐบาลแพทองธารที่จะทำได้ ถ้าให้ต้องประเมินว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จเร็วที่สุดใช้เวลาประมาณ 2 ปี กับอีก 3-4 เดือน แต่ว่าตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้เมื่อปลายปี 2566 ว่า ใช้เวลา 3 ปี 2 เดือน
“ตอนนี้ถ้านับตามที่อาจารย์ชูศักดิ์บอกไว้ สามปีนิด ๆ ไม่ทันแน่ ๆ ถ้านับตามที่ผมนับ ประมาณ 2 ปี 4 เดือน ประมาณนี้ ยังมีโอกาส เพียงแต่เป็นการนับแบบคณิตศาสตร์ คือ ไม่เอาปัจจัยทางการเมืองเข้ามาคำนวณด้วย ทำให้เร็วที่สุดแบบทุกคนเห็นร่วมกัน แต่เราก็รู้ว่าความเป็นจริง จะมีกระบวนการอะไรก็ไม่รู้มาทำให้ช้าไปเรื่อยๆ” นายยิ่งชีพ กล่าว
@ ลดการทำประชามติเพื่อให้รธน.ฉบับใหม่เสร็จทัน
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า สิ่งที่เราเสนอวันนี้ทำให้มีโอกาสเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จทันภายในรัฐบาลชุดนี้ คือ ต้องทำกระบวนการให้มีขั้นตอนน้อยที่สุด อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำ ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยเคยตัดสินใจว่ากระบวนการที่ใช้จะใช้กระบวนการประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งกฎหมายไม่ได้สั่งให้ทำ 3 ครั้ง กฎหมายสั่งให้ทำ 2 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นถ้ามีเป้าหมายต้องการความเร็วหรือให้เสร็จทัน โอกาสเดียว คือ ครม.ของนางสาวแพทองธารสามารถตัดสินใจใหม่โดยไม่ต้องยึดกับมติที่นายเศรษฐา ทวีสิน เคยตัดสินใจไว้ คือ ทำประชามติ 2 ครั้งก็พอ เดิมครั้งแรกนายเศรษฐาบอกต้องทำ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกต้องทำเพื่อให้ สว.ชุดแต่งตั้งชุดที่แล้วเห็นด้วย เพราะถ้าไม่ทำ สว.อาจจะขัดขวาง แต่ตอนนี้สว.ชุดที่แล้วไม่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครที่จะขัดขวางแล้ว เช่นนั้นประชามติครั้งแรกไม่ต้องทำก็ได้ ถ้าไม่ทำประชามติครั้งแรก อย่างน้อยก็ย่นเวลาได้ 3-4 เดือน
“แต่ตอนนี้คือยังไม่ทำประชามติเลย รอแก้ พ.ร.บ.ประชามติ (พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ) ก่อน กว่าจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติก็อีกประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้นถ้ามีประชามติครั้งที่ 1 ใช้เวลา 3 เดือน แล้วยังต้องรวมกับตอนแก้พ.ร.บ.ประชามติ อีก 3 เดือน รวมเป็น 6 เดือนขั้นตอนนี้สามารถตัดออกได้เลย ตัดออก 6 เดือน จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะเสร็จทันได้ ลดเวลาไป 6 เดือน โดยไม่ทำประชามติครั้งแรก ซึ่งการไม่ทำประชามติครั้งแรกก็ต้องตัดสินใจวันนี้แล้ว ภายในเดือนนี้ เพื่อที่จะลดเวลา 6 เดือนนี้ ถ้าตัดสินใจอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ประหยัดเวลาได้แค่ 3 เดือน ก็ไม่ทันอยู่ดี” นายยิ่งชีพ กล่าว
@ ทำรธน.ฉบับใหม่ขอแค่มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้งหมด
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคเพื่อไทยจะจัดทำ จะมีการแก้ไขเรื่องใดบ้างตนเองไม่ทราบ แต่สิ่งที่เรียกร้องก็คือต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากการเลือกตั้งทั้งหมด คือถ้ามี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้งหมดแล้ว และระบบเลือกตั้งไม่ได้แย่ ไม่ได้ถูกกีดกันจากประชาชนมากจนเกินไป เนื้อหาที่เหลือจึงไม่เป็นไรอยู่ที่ ส.ส.ร.จะเขียน
“ให้ ส.ส.ร.เป็นผู้กำหนดว่าจะแก้อะไรบ้าง ถึงวันนั้นพอ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญมาเสร็จแล้ว ก็คงจะมีการทำประชามติกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่แย่เกินไป ประชาชนก็คงโหวตรับ แต่ถ้าแย่เกินไป ประชาชนก็ไม่โหวตรับ ดังนั้นสำหรับพวกเราแล้ว เนื้อหาไม่ได้ให้ความสำคัญมาก แต่ให้ความสำคัญและจริงจังเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายยิ่งชีพ กล่าว
@ ฝ่ายค้านชี้รัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการแก้รธน.
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.และโฆษกพรรคประชาชน กล่าวว่า จุดยืนพรรคประชาชนมองว่าเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำสองอย่างคู่ขนานกัน คือ 1. การเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมตามประชาธิปไตยเร็วที่สุด 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามข้อ 1 ต้องอาศัยเวลา เราเห็นว่าหากมีมาตราใดที่มีปัญหา ที่สมควรมีการแก้ไขเร่งด่วน ก็ควรจะเดินหน้าแก้ไขรายมาตราไปก่อน เหล่านี้คือภาพรวมที่วางไว้
“ผมมองว่า สองอย่างที่เราต้องการความชัดเจนของรัฐบาล เรื่องแรกต้องการให้ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะถูกจัดทำจาก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ เพราะในมุมของพรรคประชาชน หากต้องการจะให้การจัดทำฉบับใหม่โดยมีความชอบธรรม ส.ส.ร.ที่มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีตัวแทนที่หลากหลาย และสะท้อนความเห็นจากสังคม ตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคมจริง แต่ควรจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ที่ผ่านมาเราเห็นว่าพรรคเพื่อไทยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่อง ส.ส.ร. เข้าไป ที่ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง 100% แต่เรายังไม่เคยได้รับความชัดเจนจากรัฐบาล” นายพริษฐ์ กล่าว
@ รธน.ฉบับใหม่อาจเสร็จไม่ทันเลือกตั้งปี 2570
นายพริษฐ์ กล่าวว่า “เรื่องที่สองพรรคประชาชนคำนวณแล้ว เห็นว่ามีความเสี่ยงที่เราอาจจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันใช้กับการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้สมัยรัฐบาลเศรษฐา ว่า จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันใช้ก่อนเลือกตั้งปี 2570 ในส่วนนี้ก็ต้องการความชัดเจนของรัฐบาลว่า เร็วที่สุดของรัฐบาล วางแนวทางการดำเนินการไว้อย่างไร”
@ พรรคประชาชนเสนอร่างแก้รธน.รายมาตรา
นอกจากนี้ พรรคประชาชนได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 โดยร่างข้างต้นมีการเสนอให้แก้ไขในเรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี มาตรา 160 โดยให้ตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออก จึงถูกกระแสสังคมตีกลับและมีคนร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พรรคประชาชนถอนร่างดังกล่าว
ต่อมา วันที่ 26 ก.ย. 2567 นายพริษฐ์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่ได้เป็นการแก้เพื่อตัวเองหรือเป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แม้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นประเด็นที่หลายพรรคเคยยอมรับว่าเป็นปัญหา รวมถึงเคยมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แต่ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว ว่าทุกพรรคตัดสินใจว่าจะยังไม่เดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว เราไม่อยากให้ร่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับอื่น ๆ
เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชนพร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่พรรค ปชน.ยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และจะเห็นตรงกับเราในการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ทั้งนี้พรรคประชาชนเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้งหมด 7 ประการ (แพ็กเกจ) โดยแพ็กเกจที่ 2 เป็นเรื่องการแก้มาตรฐานจริยธรรมที่นายพริษฐ์ กล่าวว่าพรรคประชาชนจะพักการแก้ในส่วนข้างต้นไปก่อน
@ 7 แพ็กเกจแก้รธน.รายมาตราพรรคประชาชน
ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคประชาชน มีดังนี้
แพ็กเกจที่ 1 : ‘ลบล้างผลพวงรัฐประหาร’ ซึ่งพรรคประชาชนได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 ประกอบด้วย
1.1) ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับ คสช. ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะร่างขึ้นโดยมีคณะรัฐประหารเข้ามากำกับควบคุมตลอดกระบวนการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง โดยแนวทางการแก้ไขในส่วนนี้ คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการยกเลิกมาตรา 65 และหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นไปตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
1.2) ทลายเกราะคุ้มกันประกาศและคำสั่ง คสช. ด้วยการยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 279 จะเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่ง คสช. มีโอกาสได้โต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่ประกาศและคำสั่งนั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
1.3) ป้องกันการรัฐประหารด้วยการเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร เพิ่มความรับผิดชอบของทุกสถาบันทางการเมืองในการร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร และเพิ่มราคาสำหรับผู้ก่อการรัฐประหาร
แพ็กเกจที่ 2 : ‘ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ’
2.1) ยุติการผูกขาดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เพราะถึงแม้จริยธรรมจะเป็นเรื่องนามธรรมที่แต่ละบุคคลตีความไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดในการนิยามมาตรฐานทางจริยธรรม และมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม
แนวทางการแก้ไขประเด็นนี้ พรรคประชาชนจึงเสนอให้แยกกลไกตรวจสอบเรื่องจริยธรรมออกมาจากกลไกตรวจสอบเรื่องการทุจริตซึ่งมีนิยามและความรับผิดรับชอบทางกฎหมายอย่างชัดเจน ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดนิยามมาตรฐานทางจริยธรรมที่บังคับใช้กับทุกองค์กร และกำหนดให้แต่ละองค์กรออกแบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมขององค์กรตนเอง รวมถึงยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนกรณีจริยธรรม
2.2) ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันมีข้อจำกัดเรื่องการจัดตั้ง การเติบโต และการดำรงอยู่ของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้พรรคการเมืองพัฒนาไปเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความยึดโยงกับประชาชน
แพ็กเกจที่ 3 : ‘เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต’
3.1) ป้องกันการสมคบคิดกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช. ซึ่งมีความเป็นไปได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 236 ระบุว่า หากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อเพื่อร้องเรียนต่อประธานรัฐสภาว่า ป.ป.ช. ใช้อำนาจโดยมิชอบ ประธานรัฐสภามีสิทธิในการใช้ดุลยพินิจกลั่นกรองก่อนว่าควรดำเนินการให้มีการไต่สวนหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลและ ป.ป.ช. สมคบคิดกันเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ประธานรัฐสภา ก็สามารถใช้อำนาจปัดตกทุกข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ได้
พรรคประชาชนจึงเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของกลไกการเข้าชื่อร้องเรียนกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยการตัดอำนาจและดุลยพินิจของประธานรัฐสภาในการตัดสินใจว่าจะให้มีการไต่สวนตามข้อร้องเรียนหรือไม่ โดยให้ประธานรัฐสภาเป็นแค่ทางผ่านในการส่งทุกเรื่องร้องเรียนไปที่ประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ
3.2) เพิ่มอำนาจประชาชนในการร้องเรียนนักการเมืองแบบช่องทางเร่งด่วน (Fast-track) เพราะที่ผ่านมาถึงแม้ประชาชนจะมีอำนาจในการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่แล้ว แต่หลายครั้งการดำเนินการของ ป.ป.ช. มักใช้เวลานานกว่าที่ควรจะเป็น พรรคประชาชนจึงเสนอเพิ่มอำนาจให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อร้องเรียนนักการเมืองที่กระทำการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องด่วนและไต่สวนให้เสร็จภายใน 180 วัน
3.3) ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลรัฐอย่างโปร่งใส (Open Data)
3.4) เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและผู้เปิดโปงการทุจริต (Whistleblower Protection)
แพ็กเกจที่ 4 : ‘คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน’
4.1) สิทธิการศึกษา พรรคประชาชนเสนอให้ขยายสิทธิเรียนฟรีที่ถูกรับประกันในรัฐธรรมนูญจาก 12 ปี เป็นอย่างน้อย 15 ปี โดยครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
4.2) สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม พรรคประชาชนเสนอให้มีการยกระดับสิทธิของประชาชนในการดำรงชีพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับสิทธิของประชาชนในแสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และกำหนดให้มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาให้ความเห็นต่อโครงการที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
4.3) สิทธิความเสมอภาคทางเพศ พรรคประชาชนเสนอให้รัฐธรรมนูญรับประกันความเสมอภาคทางเพศภายใต้ความหลากหลายทางเพศ โดยปรับข้อความจาก ‘ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน’ มาเป็น ‘บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศ เพศสภาพ เพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศใด มีสิทธิเท่าเทียมกัน’
4.4) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม พรรคประชาชนเสนอให้รัฐธรรมนูญยกระดับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับสิทธิการประกันตัว หากไม่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าจะหลบหนี และยกระดับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงทนายความที่รัฐจัดหาให้
4.5) เสรีภาพในการแสดงออก พรรคประชาชนเสนอให้รัฐธรรมนูญยกระดับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน คุ้มครองการติชมด้วยความเป็นธรรมในทุกกรณี รวมถึงยกระดับเสรีภาพทางวิชาการ
4.6) เงื่อนไขการจำกัดสิทธิ พรรคประชาชนเสนอให้ปรับเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยรับประกันให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และตัดเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยเหตุผลเรื่อง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ หรือ ‘ความสงบเรียบร้อย’ ที่อาจถูกตีความเกินขอบเขต
แพ็กเกจที่ 5 : ‘ปฏิรูปกองทัพ’
5.1) ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และให้การบังคับเกณฑ์ทหารจำกัดอยู่เฉพาะในยามที่มีภัยสงครามเท่านั้น
5.2) จำกัดขอบเขตอำนาจศาลทหาร โดยกำหนดให้อำนาจศาลทหารจำกัดอยู่เฉพาะในยามที่มีการประกาศสงคราม
แพ็กเกจที่ 6 : ‘ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา’
6.1) ยกระดับกลไกกรรมาธิการ โดยปลดล็อกอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารหรือบุคคลภายนอกมาชี้แจง เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นที่กำลังพิจารณาศึกษา
6.2) ปรับนิยามฝ่ายค้าน โดยปลดล็อกความเป็นไปได้ที่ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ จะมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
6.3) เพิ่มอำนาจสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างการเงิน โดยปลดล็อกให้ สส. เสนอร่างกฎหมายการเงินเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ โดยไม่ต้องมีคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี .
แพ็กเกจที่ 7 : ‘ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ’
7.1) กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้หากได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และ 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาเป็นเงื่อนไขเฉพาะ รวมถึงกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการทำประชามติก็ต่อเมื่อเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
@ รบ.ชี้แก้รธน.รายมาตรา ทำพร้อมกับเขียนฉบับใหม่
นายชูศักดิ์ ศิรินิล
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลยืนอยู่บนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา สืบเนื่องมาจากนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีมาจนถึงนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับใหม่ ก็เป็นนโยบายที่ค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว ที่มีการตกลงว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายประชามติ เพื่อนำไปสู่การจัดทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็รอกฎหมายประชามติ เมื่อกฎหมายประชามติผ่านแล้ว ก็จะเริ่มต้นในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการถามประชาชนในเรื่องของประชามติ ว่าเห็นสมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ที่กล่าวมาคือเรื่องในเชิงนโยบายของรัฐบาล ส่วนเรื่องที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราในบางประเด็น เรียกว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม อันนี้ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล เป็นเพียงข้อเสนอแนะ หลังจากได้ใช้รัฐธรรมนูญมาพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต จริยธรรม ที่เห็นว่ามีปัญหาในภาคปฏิบัติ 1. ตีความได้กว้างขวาง 2. ไม่มีความชัดเจนในแง่ถ้อยคำ เงื่อนไข เงื่อนเวลา
“เราก็เห็นได้ชัดเจนว่าที่ผ่านมา การตีความที่ผ่านมาก็กว้างขวาง เสียง 5:4 ก็เอานายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง พรรคการเมืองก็มาคุยกันว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไหม ที่มันเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยจุดพลุมาจากพรรคประชาชน ฝ่ายค้าน เขาก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในการบังคับใช้ เขาก็เชิญชวนพรรคการเมืองทั้งหลายมาร่วมกัน พรรคเพื่อไทยก็คิดว่ามีบางประเด็นที่ควรแก้ไข ทำให้ชัดเจนขึ้น เราก็เลยยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอยู่ 2-3 ประเด็น เหตุที่เป็นเฉพาะ 2-3 ประเด็นเพราะคิดว่าเอาเรื่องเร่งด่วนก่อน เรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขก่อน ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขในอนาคต ก็ขอให้เป็นเรื่องของการแก้ทั้งฉบับในอนาคต” นายชูศักดิ์ กล่าว
@ ไม่ได้ยกเลิกมาตรามาตรฐานจริยธรรม แค่แก้ไขให้ชัดเจน
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าเราไม่ได้ไปถึงขนาดยกเลิกบางมาตรา แต่เพียงแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เช่น พฤติกรรมความซื่อสัตย์สุจริต เริ่มนับตั้งแต่เมื่อไร พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ก็เทียบเคียงว่าเอารัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อไร ก็นับพฤติกรรมการกระทำตั้งแต่นั้นมา เป็นต้น เหตุที่เราใช้แบบนี้ก็เพราะว่าศาลเคยวินิจฉัยกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเริ่มนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เป็นต้น
“สรุปก็คือ ให้มีความชัดเจนขึ้น เป็นรูปธรรมขึ้น มีกรอบที่ชัดเจนในแง่ของการพิจารณา ไม่ใช่ตีความได้อย่างกว้างขวาง แล้วท้ายที่สุดส่งผลต่อการปฏิบัติ นี่คือหลักทั่วไป โดยรวมก็คืออยากให้แยกแยะว่ารัฐบาลก็เป็นเรื่องของทั้งฉบับ ซึ่งจะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป แต่อันนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่เขานำเสนอ ซึ่งก็ต้องหารือกบพรรคการเมืองทั้งหลายว่าเห็นสมควรไหม อย่างไร นี่คือภาพรวม” นายชูศักดิ์ กล่าว
@ ฝ่ายรัฐบาลมั่นใจรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จทันก่อนหมดวาระ
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะต้องทำนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จ โดยกระบวนการถัดไป คือ ถามประชามติประชาชน ต่อจากนั้นเป็นแก้ไขให้มีตัวแทนหรือ ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็ถามประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เรื่องเหล่านี้ใช้ระยะเวลาพอสมควร เป้าหมายก็อยากทำให้เสร็จตามเจตนา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามที่แถลงไว้ต่อสภา
“ถ้าเสร็จไม่ทัน ก็ว่ากันไป ผมเข้าใจว่ามันคงเสร็จทัน คงใช้เวลาไม่พ้นของรัฐบาล ตอนนี้รัฐบาลมีเวลาอยู่ 3 ปี ดูแล้วระยะเวลาก็น่าจะทัน” นายชูศักดิ์ กล่าว
@ ได้ทำประชามติต้นปี 2568
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา และคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า นโยบายการแก้รัฐธรรมนูญในขั้นการทำประชามติเริ่มดำเนินการแล้ว ตนเองเป็นกรรมาธิการฯ ทราบมาว่ามติเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ อยู่ในขั้นการพิจารณาของ สว. ดังนั้นคาดว่ามีผลบังคับได้ทันตามปักธงไว้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นประมาณต้นเดือน ก.พ. 2568 ที่สามารถให้ทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งได้
นอกจากนี้การเห็นชอบในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เชื่อว่าจะผ่าน เมื่อมีการทำประชามติเสร็จแล้ว ต่อจากนั้นจะมีการเสนอแก้มาตรา 256 ซึ่งเป็นเป็นการแก้ไขมาตราว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีส.ส.ร. เพราะตามนโยบายรัฐบาลคือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หมายความว่า ต้องมีส.ส.ร. ประชาชนมีส่วนร่วม ต่อจากนั้นทางสภาก็จะดำเนินการไปตามบริบทของสภา
“เวลาที่เหลือ ก็ทำให้เร็วที่สุด ถึงจะออกมามีผลทัน เพราะเวลาเหลือ 3 ปี การทำประชามติ 3 ครั้งใช้เวลาเยอะ ครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณร้อยวัน บวกกับการเลือกตั้งส.ส.ร. ใช้เวลา 2-3 เดือน ต้องเร่งความเร็ว ในอีกด้านหนึ่งคือว่าถ้าไม่มีปัญหาใด เสียงของสภาตอนนี้ก็เยอะพอสมควร 300 กว่าเสียง ก็ผลักได้ไม่ยากนัก สรุปว่าจะทันหรือไม่ในรัฐบาลชุดนี้ คือยังประเมินไม่ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละระยะของประชามติแต่ละครั้ง แต่ตอนนี้กฎหมายประชามติจะเสร็จแล้ว เชื่อว่าทัน” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวว่า จะไม่ปักธงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม ปักธงไว้ไม่ได้ แล้วแต่ประชาชน ส่วนตัวต้องการแค่รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และก็รัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไขได้ง่ายกว่าฉบับนี้ เพราะในอนาคตอาจมีความเปลี่ยนแปลง
“ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากจะปรับตามสถานการณ์ของโลก ประเทศ สังคม ไม่ได้ จะมีปัญหา ธงส่วนตัวคือ 1. แก้รัฐธรรมนูญตามจากประชาชน มี ส.ส.ร. 2. แก้ไขง่าย ส่วนไหน ๆ บ้าง แล้วแต่ประชาชน เราไปคิดแทนเขาไม่ได้” นายนิกร กล่าว
@ สถานการณ์ล่าสุด: สว.มีมติใช้เสียงข้างมากสองชั้นทำประชามติ
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. (พ.ร.บ.ประชามติ) ให้คงไว้ซึ่งเสียงข้างมากสองชั้น (Double Majority) ในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้การที่สว.ให้คงไว้ซึ่งเสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลให้ไม่สามารถทำประชามติในช่วงต้นปี 2568 พร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ทำให้การเริ่มต้นดำเนินการ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ล่าช้า และอาจไม่สำเร็จในรัฐบาลแพทองธารก็เป็นได้
******
เหล่านี้คือความเห็นจากตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และนักวิชาการ ต่อคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จทันวาระรัฐบาลแพทองธารหรือไม่ และจะมีการแก้ไขอะไรบ้าง
ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะเสร็จทันแน่นอน แต่ฝ่ายค้านและนักวิชาการก้มองว่าอาจจะเสร็จไม่ทัน ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการแก้ไขอะไรบ้างนั้น หลาย ๆ ฝ่ายก็ไม่ได้ปักธงไว้อย่างชัดเจน แต่มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกเขียนโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ส่วนชะตากรรมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร จะมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมดหรือไม่ และจะเสร็จทันภายในวาระของรัฐบาลแพทองธารหรือไม่ ยังคงต้องติดตามต่อไป