"... ว่ากันว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘พรรคส้ม’ พ่ายแพ้การเลือกตั้งทั้ง 2 สนามดังกล่าว มีการวิเคราะห์กันในหมู่ ‘กูรูการเมือง’ ว่า เพราะ ‘บ้านใหญ่’ หลายจังหวัดรู้ทันการเดินเกมของ ‘พรรคส้ม’ แล้ว จึงชิงลาออกนายก อบจ.เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ ก่อนจะครบวาระ พร้อมผนึกกำลังกับ ‘ค่ายแดง’ โค่น ‘ส้ม’..."
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 กระแสของ ‘พรรคส้ม’ หรือปัจจุบันในชื่อ ‘พรรคประชาชน’ ค่อนข้างลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย
แม้ว่าในช่วงเดือน ‘สิงหาฯเดือด’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบ ‘พรรคก้าวไกล’ จะมีกระแสสูงขึ้นมาระยะหนึ่ง ด้วยการเตรียมความพร้อมของบรรดา ‘คีย์แมน-แกนนำ’ ที่รังสรรค์ ‘ยานพาหนะใหม่’ ในชื่อ ‘พรรคประชาชน’ ขึ้นมารองรับก็ตาม โดยมียอดบริจาคเข้าพรรคไม่ถึงสัปดาห์ 20 ล้านบาท
แต่ยอดสมัครสมาชิกกลับไม่ถึงเป้า 1 เดือนได้มาเพียง 7-8 หมื่นคน ไม่ตรงยอดที่วางไว้ 1 แสนคน
ส่วนสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘สถิติ’ ความพ่ายแพ้ในสนามการเลือกตั้งสำคัญ 2 สนาม ได้แก่ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี และการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ซึ่ง ‘พรรคส้ม’ พ่ายแพ้ทั้ง 2 สนาม ด้วยคะแนนห่างกันหลักหมื่นเสียง สะท้อนให้เห็นกระแสเสื่อมถอยของพรรค
โดยในการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี เมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ‘พรรคประชาชน’ ขนสรรพกำลังนำอดีตหัวหน้าพรรค 3 ยุคลงพื้นที่ทั้งหมด ไล่เรียงตั้งแต่ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-ชัยธวัช ตุลาธน’ 2 อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ‘เท้ง’ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนคนปัจจุบัน เพื่อหวังเรียกฐานมวลชน ‘ด้อมส้ม’ ให้มาเลือก ‘ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์’ ผู้สมัครจากพรรคส้ม ทว่าผลการเลือกตั้งได้ไปเพียง 175,353 เสียง พ่ายแพ้ ‘บ้านใหญ่ราชบุรี’ อย่าง ‘กำนันตุ้ย’ วิวัฒน์ นิติกาญจนา ที่ได้ไป 242,297 เสียง
ส่วนในการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 เมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฐานที่มั่นเดิมของ ‘พรรคส้ม’ มี ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต สส.พิษณุโลก 2 สมัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 อดีตแกนนำพรรคก้าวไกล (ก่อนถูกเทคนิคขับออกจากพรรค เนื่องจากเคยโดนครหาโพสต์ภาพคล้ายโฆษณาให้เบียร์ท้องถิ่น โดยย้ายไปสังกัดพรรคเป็นธรรม ในเครือข่ายฝ่ายค้าน) ที่แม้จะกรีฑา ‘ทัพใหญ่’ ไปไม่ต่างจากการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ก็ตาม
ทว่าในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ผลปรากฏว่า ‘บู้’ จเด็ศ จันทรา ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้ 35,230 คะแนน ขณะที่ ‘โฟล์ค’ ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาชน ได้ไป 28,486 คะแนน ห่างกันราว 6,744 คะแนน ทั้งที่ ‘เขต 1’ คือพื้นที่ ‘เขตเมือง’ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นกำลังหลักของ ‘พรรคส้ม’ มาโดยตลอดตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา
ว่ากันว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘พรรคส้ม’ พ่ายแพ้การเลือกตั้งทั้ง 2 สนามดังกล่าว มีการวิเคราะห์กันในหมู่ ‘กูรูการเมือง’ ว่า เพราะ ‘บ้านใหญ่’ หลายจังหวัดรู้ทันการเดินเกมของ ‘พรรคส้ม’ แล้ว จึงชิงลาออกนายก อบจ.เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ ก่อนจะครบวาระ พร้อมผนึกกำลังกับ ‘ค่ายแดง’ โค่น ‘ส้ม’
นอกจากนี้พรรคประชาชน แม้จะชนะการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพราะติดประเด็นนโยบายด้านการเมืองนำด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนในพื้นที่อาจไม่เชื่อมั่นมากพอว่าจะผลักดันวาระเพื่อช่วยเหลือคนในท้องถิ่นได้สำเร็จ
ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลขณะนี้ มีโอกาสผลักดันโอกาสให้คนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า แม้ว่านโยบาย ‘แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ ส่วนนโยบายอื่น ๆ ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนักอยู่ก็ตาม แต่ยี่ห้อ ‘ชินวัตร’ ยังคงขายได้เสมอ
ส่งผลให้ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า หนึ่งในศาสดาทางความคิดของ ‘พรรคส้ม’ ต้องออกมาบอกให้ถอดบทเรียนเรื่องนี้ เตรียมพร้อมต่อสู้กับทฤษฎี ‘ชนชั้นนำ 3 ฝ่าย’ ได้แก่ ชนชั้นนำดั้งเดิมจารีต ชนชั้นนำการเมืองจากทุกพรรค ทุกค่าย และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่จะนำ ‘พิษณุโลกโมเดล’ ไปขยายผลในการเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศ
“ต้องช่วยกันต่อสู้ ยืนหยัดยืนยันต่อไปว่า ประเทศไทยยังมีความหวัง ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ด้วยพลังทางการเมืองใหม่” ปิยบุตร ระบุ
ภาพจาก https://www.siamnews.com/
แน่นอนว่าผลจากศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี และเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ดังกล่าว จะสะเทือนลากยาวไปจนถึงศึกการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่เหลือเนื่องจากมีการลาออกในช่วงปี 2567 อีกราว 6 แห่ง ได้แก่ นายก อบจ.ชุมพร นายก อบจ.ปทุมธานี (เลือกตั้งครั้งที่ 2 เนื่องจาก ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ ผู้ชนะการเลือกตั้งถูก กกต.ให้ใบเหลือง ทำให้ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ แต่มีผู้สมัครชุดเดิม ซึ่งพรรคประชาชนมิได้ส่งใครสมัคร)
โดยผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั้ง 2 แห่งเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ‘บิ๊กแจ๊ส’ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง กลับมาคว้าแชมป์นายก อบจ.ปทุมธานี ได้สำเร็จ ส่วน ‘นายกโต้ง’ นพพร อุสิทธิ์ จาก ‘บ้านใหญ่จุลใส’ ผู้สมัครเพียงรายเดียว ได้นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ชุมพร อีกสมัย
ส่วนที่เหลือมีการเลือกตั้งนายก อบจ.ยโสธร นายก อบจ.ระนอง นายก อบจ.อุทัยธานี (พรรคประชาชนไม่ส่งผู้สมัคร โดยมีผู้สมัครรายเดียวคือ นายเผด็จ นุ้ยปรี สายตรง ‘บ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์’) และสนามสุดท้ายนายก อบจ.ขอนแก่น ก่อนจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งใหญ่ต้นปี 2568
สำหรับสนามนายก อบจ.ระนอง คาดว่าพรรคประชาชนคงจะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากในการเลือกตั้งนายก อบจ. 2563 ที่ ‘คณะก้าวหน้า’ ยังมีบทบาทในการส่งผู้สมัครนั้น (ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ก้าวไกลในปี 2566) ส่งผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. รวม 42 แห่งทั่วประเทศ มีภาคใต้ 5 จังหวัดคือ พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และนราธิวาส โดยไม่มีจังหวัดข้างต้น
ทำให้เหลือ 2 นายก อบจ.ที่ต้องโฟกัส นั่นคือ
1.นายก อบจ.ขอนแก่น ที่ ‘พรรคส้ม’ ยังพอมีฐานเสียงอยู่บ้าง โดยหากวัดจากการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 มี สส.พรรคก้าวไกล เข้าวิน 3 ที่นั่ง จากทั้งหมด 9 ที่นั่ง ได้แก่ วีรนันท์ ฮวดศรี อิทธิพล ชลธราศิริ และชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ส่วนที่เหลืออีก 6 ที่นั่ง ‘เพื่อไทย’ กวาดไปทั้งหมด
2.นายก อบจ.ยโสธร ในการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 พรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไป 3 เขต แต่พ่ายแพ้ทุกเขต ได้คะแนนเสียงรวมมา 35,819 เสียง เป็นลำดับ 3 รองจากพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) และพรรคเพื่อไทย ทำให้โอกาสที่ ‘พรรคประชาชน’ จะคว้าชัยเลือกตั้งนายก อบจ.ในเขตนี้ค่อนข้างน้อยลงไปอีก
ต้องเข้าใจว่าปัจจัยการ ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ ไม่เหมือน ‘การเลือกตั้งระดับชาติ’ เพราะสนามท้องถิ่น ส่วนมากเน้นระบบ ‘อุปถัมภ์’ เป็นหลักจึงเป็นเหตุให้ ‘บ้านใหญ่’ ยังคงครองใจ มีฐานเสียงแฟนคลับจำนวนมากในหลายจังหวัด ซึ่งเป็นความท้าทายตั้งแต่ยุค ‘คณะก้าวหน้า-ก้าวไกล’ จนถึง ‘พรรคประชาชน’ ต้องไปแก้ไขปัญหาในจุดนี้
ล่าสุด เมื่อ 21-22 ก.ย.ที่ผ่านมา ‘พรรคประชาชน’ จัดสัมมนาเป็นการภายใน เพื่อเลือกรองหัวหน้าพรรค 7 คน และรองเลขาธิการพรรค 10 คน โดยตำแหน่งรองเลขาฯพรรค เทียบชั้นกับ ‘แม่ทัพภาค’ เพื่อเฟ้นหา คัดสรร ดูแลผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.-ท้องถิ่นในภาคต่าง ๆ ทั่วไทย นอกจากนี้ยังมีการ ‘ถอดบทเรียน’ เพื่อกรุยทางสู้ศึกทางการเมือง หวังผลแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งปี 2570 อีกด้วย
ภาพจาก https://aec10news.com/
คงต้องรอวัดฝีมือดูอีกครั้งว่า พลันที่ ‘ประชาชน’ ขยับหมากแก้เกมในจุดนี้แล้ว จะทำได้สำเร็จหรือไม่
เพราะหากยังเหลวอีก มีแววโจทย์หินการเลือกตั้ง นายก อบจ.ครั้งใหญ่ปี 68 และการเลือกตั้ง สส.ปี 2570 โอกาสจัดตั้ง ‘รัฐบาลพรรคเดียว’ คงริบหรี่เต็มทน!