"...เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดอุทกภัยจากพายุโซนร้อน “นกเตน” ทำให้น้ำท่วมขังที่อำเภอท่าสองยาง ซึ่งได้มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ แต่ในการดำเนินการ นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก ได้ร่วมกันจัดหาผู้รับจ้าง โดยนายสมชาย ฯ ได้สั่งการให้ผู้ปกครองท้องที่ในเขตพื้นที่ทำการจดทะเบียนจัดตั้งร้านค้าและนำมาเป็นคู่สัญญาในโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง และในการดำเนินการของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ ..."
กรณี นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และจังหวัดอุทัยธานี แถลงข่าวผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา
หนึ่งในผลงานคดีทุจริตที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน คงหนีไม่พ้น กรณีกล่าวหา นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กับพวกรวม 10 ราย ทุจริตในการดำเนินการโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เมื่อปี 2554
ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาลงโทษ นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล และพวก อีก 5 ราย รวม 423 กระทง รวมลงโทษจำคุก 1,269 ปี 1,692 เดือน แต่ติดจริง 50 ปี ส่วนจำเลยที่เหลือโดนลงโทษคนละร้อยปีพันปีเช่นกัน
รายละเอียดการสอบสวนคดีเบื่องต้น ระบุว่า กรณีนี้มีการดำเนินโครงการจำนวน 423 โครงการ โดย เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดอุทกภัยจากพายุโซนร้อน “นกเตน” ทำให้น้ำท่วมขังที่อำเภอท่าสองยาง ซึ่งได้มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ แต่ในการดำเนินการ นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก ได้ร่วมกันจัดหาผู้รับจ้าง โดยนายสมชาย ฯ ได้สั่งการให้ผู้ปกครองท้องที่ในเขตพื้นที่ทำการจดทะเบียนจัดตั้งร้านค้าและนำมาเป็นคู่สัญญาในโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง และในการดำเนินการของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ เช่น บางโครงการไม่มีการควบคุมงาน บางโครงการไม่มีการตรวจการจ้าง อีกทั้งยังมีการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้อง ทั้งมีการเบิกจ่ายเงินไม่เต็มตามจำนวนที่รับจ้าง เบิกจ่ายเงินให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้รับจ้าง และเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการก่อสร้างจริง
โดยนายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก มีการกระทำในลักษณะเดียวกันถึง 3 ครั้ง ตามงบประมาณที่ ได้รับการจัดสรร รวมกว่า 73 ล้านบาท (ครั้งที่ 1 7,999,600 บาท, ครั้งที่ 2 7,999,600 บาท และครั้งที่ 3 ครั้งที่ 1 57,642,600 บาท) จำนวนโครงการรวม 423 โครงการ และในช่วงเวลาเกิดเหตุตรวจพบความเคลื่อนไหวทางการเงินหรือธุรกรรมทางการเงิน ของนายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท (26,595,780 บาท)
น่าสนใจว่า จำเลยในคดีนี้เป็นใครมาจากไหน? แต่ละรายถูกศาลฯ พิพากษาตัดสินลงโทษจำคุกคนละกี่ปี?
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยจำนวน 10 ราย ดังนี้
- นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล จำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่ง นายอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
- นางกมลทิพย์ ต๊ะอ่อน จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน (เสมียนตราอำเภอ) ที่ทำการปกครองอำเภอท่าสองยาง
- นายประทีป โพธิ์เที้ยม จำเลยที่ 3 เป็นปลัดอำเภอฝ่ายบริหารงานปกครอง ที่ทำการปกครองอำเภอท่าสองยาง
- นายขุนทอง จอมประเสริฐ จำเลยที่ 4 เป็นปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร ที่ทำการปกครองอำเภอท่าสองยาง
- นายกฤตธัช นนทวฤทธิ์ จำเลยที่ 5 เป็นปลัดอำเภอ ที่ทำการปกครองอำเภอท่าสองยาง
- นายเกรียงศักดิ์ ประโลม จำเลยที่ 6 เป็นปลัดอำเภอ ที่ทำการปกครองอำเภอท่าสองยาง
- นายเกรียงไกร ประไพศรี จำเลยที่ 7 เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญงาน ที่ทำการปกครองอำเภอท่าสองยาง
- นางสาวศิริลดา ธินา จำเลยที่ 8 เป็นพนักงานราชการ ที่ทำการปกครองอำเภอท่าสองยาง
- นายนพรัตน์ สมอนาค จำเลยที่ 9 เป็นหัวหน้าส่วนโยธาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง
- นางทองสี ศรีบัว จำเลยที่ 10 เป็นประชาชน มีอาชีพรับเหมาก่อสรา้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากจำเลยทั้ง 10 รายตามรายชื่อด้านบนแล้ว ยังมีนายฉลองชัย อร่ามรุ่งโรจน์ ตำแหน่งปลัดอำเภอ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ที่ทำการปกครองอำเภอท่าสองยาง อีกราย ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง
@ บทสรุปคำพิพากษา
ในการพิจารณาตัดสินคดีนี้ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ระบุว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาทั้งหมด มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 , 2 , 3 , 6 , 7 , 8 , 10 และพวกร่วมกันรู้เห็นเป็นขบวนการในการดำเนินการจัดจ้างงานโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) ปี 2554 พิพาททั้ง 3 ครั้ง รวม 423 โครงการ ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ 2552 ข้อ 39, 40 , 41 โดยไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้มีอาชีพรับจ้างรายอื่นๆ มากกว่า 1 ราย ขึ้นไปมีสิทธิเข้าเสนอราคาเพื่อให้มีการเจรจาต่อรองราคาเพื่อการแข่งขันไม่เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว และเป็นการเอื้ออำนวยให้จำเลยที่ 10 และหรือบุคคลผู้มีชื่อปรากฏตามใบสั่งจ้าง เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 10 และบุคคลผู้เป็นตัวการผู้รับจ้างที่แท้จริงในโครงการพิพาท ทั้ง 3 ครั้ง รวม 423 โครงการ ให้ได้สิทธิเข้าเป็นคู่สัญญากับอำเภอท่าสองยาง
โดยจำเลยที่ 9 ไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมงานโครงการพิพาททั้ง 3 ครั้ง รวม 423 โครงการ ให้ถูกต้องเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดตามสัญญาจ้างหรือใบสั่งจ้าง จำเลยที่ 3, 4 , 5 , 6 ไม่ได้ร่วมกันทำหน้าที่ตรวจการรับจ้างงานในโครงการที่ตนมีหน้าที่ตามโครงการพิพาททั้ง 3 ครั้ง รวม 423 ให้ถูกต้อง เป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดตามสัญญาจ้างหรือตามใบสั่งจ้าง จึงเป็นผลทำให้ไม่ทราบงานก่อสรา้งแต่ละโครงการพิพาททั้งหมดมีการดำเนินงานไปโดยถูกต้องครบถ้วนตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดตามสัญญาจ้างหรือใบสั่งจ้างหรือไม่ เพียงใด
จำเลยที่ 1 , 2 , 3 และที่ 6 เบิกจ่ายเงินค่าจ้างไปให้แก่ผู้มีชื่อปรากฏเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างหรือใบสั่งจ้างโครงการพิพาท ทั้ง 3 ครั้ง รวม 423 โครงการ เป็นเงินสด โดยไม่เบิกจ่ายเป็นเช็ค ไม่ถูกต้องตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 ข้อ 24, 47 และระเบียบและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.ศ. 2520 ข้อ 31, 32 , 38 , 39 อันเป็นการเอื้อประโยชน์และเปิดช่องทางให้มีการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเงิน หรือมีสิทธิรับแต่ได้รับไม่ครบจำนวนตามสัญญาจ้างหรือใบสั่งจ้าง โดยมีการเบียดบังเอาเงินค่าจ้างบางส่วนไปเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
โดยจำเลยที่ 10 มีส่วนร่วมเฉพาะงานในโครงการพิพาทที่เป็นงานปรับปรุงซ่อมแซมถนนดินโดยใช้เครื่องจักรขุดดิน 334 โครงการ จำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมเฉพาะงานตรวจับการจ้างโครงการพิพาทในหน้าที่ของตน 130 โครงการ และจำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมเฉพาะงานตรวจับการจ้างในโครงการพิพาทในหน้าที่ของตน 273 โครงการ
แต่เมื่อจำเลยที่ 10 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลย ที่ 10 จึงไม่อาจเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยที่ 10 จึงเป็นได้แต่เพียงผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยดังกล่าว
ส่วนจำเลยที่ 8 ในขณะเกิดเหตุไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่อาจเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวในฐานความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญาได้ การะทำของจำนลยที่ 8 จึงเป็นได้แต่เพียงผู้สนับสนุนจำเลยในการกระทำความผิดฐานตามประมวล กฎหมายอาญา
การกระทำของจำเลยทั้งสิบ จึงเป็นความผิดตามฟ้อง เมื่อการกระทำเป็นความผิดตามประมวงกฎหมายอาญามาตรา 147 , 151 ซึ่งเป็นบทความผิดเฉพาะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวางบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นความผิดทั่วไปอีก
@ บทลงโทษ
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 , 2 , 3 และ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม), 151 (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยการของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยที่ 8 มีความผิดตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยที่ 4 , 5 , 9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยที่ 10 มีความผิดตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การกระทำของจำเลยทั้งสิบเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1 , 2 , 3 , 6 , 7 และ 8 คนละ 2,115 ปี
ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 4 รวม 130 ปี จำเลยที่ 5 รวม 273 ปี จำเลยที่ 9 รวม 423 ปี
ลงโทษ จำคุก จำเลยที่ 10 รวม 1,002 ปี 1,336 เดือน
ทางนำสืบและคำให้การของจำเลยทั้งสิบในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นบางส่วน มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 สมควรลดโทษให้คนละกระทงละหนึ่งในสาม
จำเลยที่ 1 , 2 , 3 , 6 , 7 และ 8 คงจำคุกกระทงละคนละ 3 ปี 4 เดือน รวม 423 กระทง รวมคงจำคุกคนละ 1,269 ปี 1,692 เดือน
จำเลยที่ 4 , 5 และ 9 คงจำคุกกระทงละคนละ 8 เดือน จำเลยที่ 4 รวม 130 กระทง รวมคงจำคุก 1,040 เดือน จำเลยที่ 5 รวม 273 กระทง รวมคงจำคุก 2,184 เดือน จำเลยที่ 9 รวม 423 กระทง รวมคงเป็นจำคุก 3,384 เดือน
จำเลยที่ 10 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน รวม 334 กระทง รวมคงจำคุก 668 ปี 668 เดือน 6,680 วัน
แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดของจำเลยทั้งสิบแล้ว
ให้ จำคุก จำเลยที่ 1 , 2 , 3 , 6 , 7 , 8 และ 10 คนละไม่เกิน 50 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 4 , 5 แบะ 9 คนละไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) (3) /.
อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายผลการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล และพวก นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของข้าราชการไทย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่น ไม่ให้กระทำความผิด เดินย้ำซ้ำรอยเดียวกันทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไปอีกหนึ่งกรณี
โดยเฉพาะโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ที่บทลงโทษมีความรุนแรงจำคุกเป็นพันปีพันเดือนแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมความเดือนร้อนของประชาชนให้บอบช้ำรุนแรงมากขึ้นไปอีก