ร่างมาตรา 15 “ผู้ใดประสงค์จะเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง หรือผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย กัญชา กัญชง หรือสารสกัด ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต...การขอรับใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และต้องไม่มีผลเป็นการกีดกันหรือผูกขาดทางการค้า”
.............................................
‘กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ’ เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล ที่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : คำแถลงนโยบาย‘ครม.แพทองธาร’: 10 นโยบาย'เร่งด่วน-ทำทันที'มุ่ง'แก้หนี้-ลดรายจ่าย-กระตุ้นศก.')
อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ฯ ไม่ได้ถูกจัดไว้ในกลุ่ม 10 นโยบาย ‘เร่งด่วน’ ที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการในทันที โดยนโยบายนี้ถูกจัดไว้ในกลุ่มนโยบาย ‘ระยะกลางและระยะยาว’ แต่กระทรวงสาธารณสุข ที่มี ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ เป็นเจ้ากระทรวง ได้ให้ความสำคัญกับนโยบาย ‘กัญชาเพื่อการแพทย์ฯ’ มาเป็นลำดับต้นๆ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ซึ่งประกอบด้วย 77 มาตรา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ออกกม.หวังกำกับนำ‘กัญชา-กัญชง’ไปใช้ในทางที่เหมาะสม
ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....
เหตุผล
โดยที่กัญชาและกัญชงเป็นพืชที่มิได้ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ประชาชนอาจสามารถครอบครอง บริโภค และใช้กัญชาและกัญชงได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม กัญชาและกัญชงเป็นพืชที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา จึงสมควรกำหนดให้มีมาตรการในการควบคุม กำกับและดูแลการนำกัญชาและกัญชงไปใช้ในทางที่เหมาะสม
ตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนากัญชาและกัญชงเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุด รวมทั้งกำหนดให้มีระบบคณะกรรมการ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการควบคุมและส่งเสริมการใช้กัญชาและกัญชง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่างมาตรา 1 “พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....””
ร่างมาตรา 2 “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”
ร่างมาตรา 3 “การใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอาง ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้ รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การจำหน่ายและการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่มาตรา 42 มาตรา 43 และมาตรา 45”
ร่างมาตรา 4 “ในพระราชบัญญัตินี้
“กัญชา” หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา
“กัญชง” หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินปริมาณตามที่คณะกรรมการกัญชา กัญชง กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“สารสกัด” หมายความว่า สารที่่ได้จากกระบวนการสกัดช่อดอกกัญชา หรือช่อดอกกัญชง แต่ไม่รวมถึงยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
“ผลิต” หมายความว่า ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ สกัด เปลี่ยนรูป และรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุเพื่อจำหน่าย
“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
“ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร
“จำหน่าย” หมายความว่า ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือให้ โดยมีสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์อย่างอื่น และให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อจำหน่าย
“บริโภค” หมายความว่า กิน เคี้ยว ดื่ม อม สูบ หรือนำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ
“โฆษณา” หมายความรวมถึง การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
“การสื่อสารการตลาด” หมายความว่า การกระทำในรูปแบบต่างๆ โดยการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การสร้างข่าว การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดง ณ จุดขาย การตลาดแบบตรง การขาย หรือส่งเสริมการขายโดยใช่บุคคลเป็นการเฉพาะ และการตลาดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้าหรือบริการ หรือสร้างภาพลักษณ์
“ข้อความ” หมายความว่า การกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมาย หรือการกระทำอย่างใดๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตดังต่อไปนี้
(1) ใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง
(2) ใบอนุญาตผลิตกัญชา กัญชง หรือสารสกัด
(3) ใบอนุญาตนำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด
(4) ใบอนุญาตส่งออกกัญชา กัญชง หรือสารสกัด
(5) ใบอนุญาตนำเข้าเฉพาะคราว กัญชา กัญชง หรือสารสกัด
(6) ใบอนุญาตส่งออกเฉพาะคราว กัญชา กัญชง หรือสารสกัด
(7) ใบอนุญาตจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด
“ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้อนุญาต” หมายความว่า อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมอบหมาย
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกัญชา กัญชง
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้”
ร่างมาตรา 5 “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น รวมทั้งออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
การออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงขนาดพื้นที่เพาะปลูก จำนวนหรือปริมาณของกัญชา กัญชง หรือสารสกัด หรือขนาดและกิจการของผู้รับอนุญาตก็ได้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”
@ตั้ง‘บอร์ดกัญชาฯ’ชง‘ยุทธศาสตร์-นโยบาย’ให้ครม.เห็นชอบ
หมวด 1 บททั่วไป
ร่างมาตรา 6 “การยื่นคำขอ การอนุญาต การออกใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การสั่งการ และการแจ้งรวม ตลอดทั้งการออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีการดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่รัฐมนตรีกำหนดได้ด้วย
ร่างมาตรา 7 “การพิจารณาอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อนุญาตต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ แล้วแต่กรณี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้ผู้อนุญาตมีหนังสือแจ้งผู้ขออนุญาตขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน”
หมวด 2 คณะกรรมการกัญชา กัญชง
ร่างมาตรา 8 “ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกัญชา กัญชง” ประกอบด้วย
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ
(2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ
(3) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสิบสามคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนเจ็ดคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในด้านกฎหมาย ด้านการเกษตรและพันธุ์ พืช ด้านการตลาด ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวิจัยและพัฒนา และด้านสมุนไพร ด้านละหนึ่งคน ในจำนวนนี้ ให้แต่งตั้งจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่าสามคน ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
การได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
ร่างมาตรา 12 “ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการควบคุมและส่งเสริม กัญชา กัญชง และสารสกัด และการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(2) กำหนดมาตรการการส่งเสริม วิจัย พัฒนา การใช้กัญชา กัญชง และสารสกัด ทั้งในด้านการแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และประโยชน์อื่นๆ
(3) ให้ความเห็น คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรี หรือผู้อนุญาตในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(4) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(5) ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 42 (4) มาตรา 42 วรรคสอง มาตรา 42 วรรคสี่ มาตรา 43 วรรคสอง มาตรา 44 (5) มาตรา 44 วรรคสอง มาตรา 45 วรรคสอง และมาตรา 48 วรรคห้าและวรรคหก
(6) ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปรียบเทียบตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง
(7) ประกาศกำหนดสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ในกัญชง ตามมาตรา 4
(8) ติดตามประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายตาม (1)
(9) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย”
@ปลูก‘กัญชากัญชง’ต้องมีใบอนุญาตฯ-แบ่งพื้นที่เป็น 3 ขนาด
หมวด 3 การขออนุญาตและการอนุญาต
ร่างมาตรา 15 “ผู้ใดประสงค์จะเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง หรือผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย กัญชา กัญชง หรือสารสกัด ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
การขอรับใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และต้องไม่มีผลเป็นการกีดกันหรือผูกขาดทางการค้า”
ร่างมาตรา 16 “การดำเนินการตามมาตรา 15 ไม่ให้ใช้บังคับแก่
(1) การผลิต ส่งออก หรือจำหน่ายส่วนของราก กิ่ง ก้าน ใบ ลำต้น หรือเมล็ด ของกัญชา หรือกัญชง
(2) การสั่งจ่ายหรือแจกจ่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เพื่อการบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้กับมนุษย์เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายหรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย”
ร่างมาตรา 17 “การขอรับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงตามมาตรา 15 ให้แบ่งตามขนาดพื้นที่เพาะปลูก ดังต่อไปนี้
(1) พื้นที่ขนาดเล็ก ไม่เกินห้าไร่
(2) พื้นที่ขนาดกลาง เกินห้าไร่ขึ้นไป แต่ไม่เกินยี่สิบไร่
(3) พื้นที่ขนาดใหญ่ เกินยี่สิบไร่ขึ้นไป แต่ไม่เกินสี่ร้อยไร่”
ร่างมาตรา 18 “การนำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัดหรือการส่งออกกัญชา หรือสารสกัดของผู้รับอนุญาต นำเข้าหรือส่งออกตามมาตรา 15 นอกจากจะต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตราดังกล่าวแล้ว ในการนำเข้าหรือส่งออกของผู้รับอนุญาตในแต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวจากผู้อนุญาตทุกครั้งที่นำเข้าหรือส่งออกอีกด้วย
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ อาจกำหนดจำนวนหรือปริมาณของกัญชา กัญชง หรือสารสกัดที่จะนำเข้าแต่ละครั้งไว้ด้วยก็ได้”
ร่างมาตรา 19 “ผู้ขอรับใบอนุญาตต้อง
(1) เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี และมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และไม่มี ลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(ก) เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(ข) เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
(ค) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต
(ง) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามมาตรา 15 มาตรา 57 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 มาตรา 67 และ มาตรา 68 เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต
(2) เป็นนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย และ
(ก) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (1) (ข) (ค) และ (ง)
(ข) ผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (1)
(3) เป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล โดยผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการแทนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (1) ด้วย
(4) สภากาชาดไทยหรือเป็นหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวข้องตามกฎหมาย”
ร่างมาตรา 20 “ใบอนุญาตตามมาตรา 15 ให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต”
ร่างมาตรา 21 “ผู้รับอนุญาตตามมาตรา 15 ผู้ใดประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ
เมื่อได้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้ใบอนุญาตยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุ ใบอนุญาตนั้น
การขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
@กำหนดหน้าที่‘ผู้รับอนุญาต’-ฝ่าฝืนสั่งพัก-เพิกใบอนุญาตฯได้
หมวด 4 หน้าที่ของผู้รับอนุญาต
ร่างมาตรา 25 “ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีสถานที่เพาะปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย แล้วแต่กรณี และสถานที่จัดเก็บที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยจากบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
(2) จัดให้มีการเพาะปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย แล้วแต่กรณี ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
(3) เพาะปลูกตามขนาดพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาต
(4) ผลิต จำหน่ายและจัดเก็บ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
(5) จัดทำบัญชีรับจ่ายตามที่่ได้รับใบอนุญาตและเสนอรายงานต่อผู้อนุญาตทราบทุกสามเดือน
บัญชีดังกล่าวให้เก็บรักษาไว้เป็นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในบัญชี ทั้งนี้ การจัดทำบัญชีรับจ่ายและการเสนอรายงานดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(6) ปฏิบัติการตามหมวด 8 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจาก การบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด และการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด
(7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
ร่างมาตรา 26 “ผู้รับอนุญาต ต้องควบคุมดูแลมิให้มีการบริโภคกัญชาอันมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 46 ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาต”
หมวด 5 การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการเลิกกิจการ
ร่างมาตรา 27 "เมื่อปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่่ว่าผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 25 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (7) มาตรา 26 มาตรา 36 หรือมาตรา 37 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา 15 วรรคสอง หรือมาตรา 18 วรรคสอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตนั้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
หากผู้รับอนุญาตไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานต่อผู้อนุญาต เพื่อพิจารณาสั่งพักใช้ใบอนุญาต”
ร่างมาตรา 28 “ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 15 ได้ เมื่อปรากฏว่า
(1) ผู้รับอนุญาตไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง
(2) ผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง มาตรา 38 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 หรือมาตรา 48
(3) ผู้รับอนุญาตเคยถูกสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องและได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ต้องถูกสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องนั้นอีกตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง
ผู้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตต้องหยุดดำเนินการ ตามใบอนุญาตนั้น เว้นแต่กรณีการพักใช้ใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง ผู้รับอนุญาตสามารถดูแลกัญชาหรือกัญชงที่เพาะปลูกนั้น ได้ แต่จะเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงเพิ่มขึ้น และใช้ประโยชน์ใดๆ จากกัญชาหรือกัญชงที่ตนได้รับใบอนุญาตเพาะปลูกมิได้
การสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง มีกำหนดครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือในกรณีที่มีการฟ้องผู้รับอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้”
ร่างมาตรา 29 “ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 15 ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19 หรือฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 28”
@วางแนวทางโฆษณา‘กัญชาฯ’ห้ามใช้ข้อความก่อผลเสียส่วนรวม
หมวด 6 การโฆษณา
ร่างมาตรา 36 “ห้ามผู้ใดโฆษณา หรือทำการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับช่อดอกหรือยางของกัญชา หรือช่อดอกหรือยางของกัญชง หรือสารสกัด หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา”
ร่างมาตรา 37 “การโฆษณาหรือการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับกัญชา กัญชง หรือสารสกัดที่่ไม่ใช่กรณีต้องห้ามตามมาตรา 36 ต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม
ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม
(1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
(2) ข้อความที่่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงว่าสามารถบำบัดรักษา บรรเทา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือตามความเชื่อส่วนบุคคลหรือสามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ หรือใช้ถ้อยคำอื่นใดที่มีความหมาย ในทำนองเดียวกัน
(3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ”
ร่างมาตรา 38 “ในกรณีที่ผู้อนุญาตเห็นว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนมาตรา 37 ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ผู้โฆษณาระงับการโฆษณานั้น”
หมวด 7 การอุทธรณ์
ร่างมาตรา 39 “ในกรณีที่่ผู้อนุญาตไม่ออกใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาต หรือ ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาต มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่ออกใบอนุญาต หรือการไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต แล้วแต่กรณีคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งไม่ออกใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราว ไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตของรัฐมนตรี เมื่อมีคำขอของผู้อุทธรณ์ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตนำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด หรือส่งออกกัญชา กัญชง หรือสารสกัด นำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด หรือส่งออกกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเฉพาะคราวไปพลางก่อนได้ หรือสั่งอนุญาตให้ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตดำเนินการเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง หรือนำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด ส่งออก หรือจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด แล้วแต่กรณี ไปพลางก่อนได้”
ร่างมาตรา 40 “คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 27 หรือของผู้อนุญาตตามมาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 38ผู้ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งนั้นๆ แล้วแต่กรณี คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งนั้นๆ แล้วแต่กรณี”
ร่างมาตรา 41 “การพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 39 หรือมาตรา 40 ให้รัฐมนตรีพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้ว เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดระยะเวลานั้น ในการนี้ ให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว”
@ห้ามขาย‘กัญชาฯ’ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี-สตรีมีครรภ์
หมวด 8 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด และการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด
ร่างมาตรา 42 “ห้ามผู้ใดจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือให้โดยมีสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่ก็ตาม แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี
(2) สตรีมีครรภ์
(3) สตรีให้นมบุตร
(4) บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการให้ผู้จำหน่ายมีหน้าที่่ปิดประกาศหรือแจ้ง ณ สถานที่่จำหน่ายหรือผ่านช่องทางการจำหน่ายอื่น ให้ทราบถึงข้อห้ามจำหน่ายแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งคำเตือนในการบริโภค ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอายุของผู้ซื้อหรือผู้รับการให้ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้จำหน่าย แจ้งให้บุคคลดังกล่าวแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่แสดงอายุของบุคคลนั้นก่อน แล้วแต่กรณีความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช่บังคับแก่อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารตามชนิดและประเภทที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”
ร่างมาตรา 43 “ห้ามผู้ใดจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือให้โดยมีสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นหรือไม่ก็ตาม โดยวิธีการหรือในลักษณะอย่างหนึ่ง อย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) จำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อนำไปบริโภคในวัตถุประสงค์อื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 46
(2) จำหน่ายโดยใช้เครื่องจำหน่าย หรือจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัดโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
(3) จำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด โดยวิธีการแจก แถม ให้ แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น การให้บริการหรือสิทธิประโยชน์อื่น แล้วแต่กรณี
(4) จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการโดยมีการแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับกัญชา กัญชง หรือสารสกัด แล้วแต่กรณี
(5) เร่จำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด
(6) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อหรือแก่ผู้นำหีบห่อ หรือสลากหรือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับกัญชา กัญชง หรือสารสกัด มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ
(7) แสดงราคา ณ จุดจำหน่ายที่มีข้อความในลักษณะจูงใจเกี่ยวกับกัญชา กัญชง หรือสารสกัด
(8) ดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด ด้วยประการใดๆ
ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช่บังคับแก่อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารตามชนิดและประเภทที่่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”
ร่างมาตรา 44 “ห้ามผู้ใดจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เพื่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือให้โดยมีสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นหรือไม่ก็ตาม ในสถานที่ ดังต่อไปนี้
(1) วัดหรือสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
(2) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
(3) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
(4) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก
(5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ อาจประกาศกำหนดระยะห่างจาก
สถานที่ตามวรรคหนึ่ง เพื่อมิให้มีการจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด ภายในระยะห่างดังกล่าวก็ได้”
ร่างมาตรา 45 “ห้ามผู้ใดจำหน่ายอาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือให้ โดยมีสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นหรือไม่ก็ตาม ในสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับแก่อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารตามชนิดและประเภทที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”
@วางเกณฑ์บริโภค‘กัญชาฯ’-ห้ามขับขี่ยานพาหนะขณะ‘มึนเมา’
ร่างมาตรา 46 “ห้ามผู้ใดบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เว้นแต่เป็นการบริโภคโดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(1) การบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้กับมนุษย์ เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายหรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
(2) การศึกษาวิเคราะห์หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์
(3) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้”
ร่างมาตรา 47 “ห้ามผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยง ส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นบริโภคหรือใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด”
ร่างมาตรา 48 “ห้ามผู้ใดขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ
ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่่ยานพาหนะมีอาการมึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการควบคุม ดูแล หรือกำกับการจราจร และความปลอดภัยของยานพาหนะมีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดยานพาหนะและสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่ามึนเมากัญชา กัญชง หรือสารสกัดหรือไม่
ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคหนึ่งไม่ ยอมให้ทดสอบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามวรรคสองมีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หากผู้นั้นยอมให้ทดสอบและผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง
การทดสอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและมีเหตุอันเชื่อได้ว่า ผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ ได้กระทำการฝ่าฝืน ตามวรรคหนึ่ง หากบุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการทดสอบตามวรรคสอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามวรรคสองมีอำนาจขอให้แพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจพิสูจน์บุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”
ร่างมาตรา 49 “บทบัญญัติมาตรา 42 และมาตรา 44 ไม่ใช่บังคับแก้การจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัดตามวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(1) เพื่อการรักษาโรค บําบัด หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
(2) เพื่อการศึกษาวิเคราะห์หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ ศึกษาวิจัยหรือจัดการ เรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์”
@ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้นสถานที่ปลูก-จำหน่าย‘กัญชาฯ’
หมวด 9 พนักงานเจ้าหน้าที่
ร่างมาตรา 50 เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปในสถานที่เพาะปลูก สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่่ส่งออก สถานที่จำหน่ายไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือให้โดยมีสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นหรือไม่ก็ตาม หรือสถานที่เก็บกัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ ในเวลาทำการของสถานที่นั้น หรือเข้าไปในยานพาหนะที่บรรทุกกัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็นตามพระราชบัญญัตินี้
(2) นำกัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ ในจำนวนหรือปริมาณพอสมควรไปเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบหรือวิเคราะห์
(3) ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ อาจเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใดๆ เพื่อตรวจ ค้น ยึด หรืออายัดกัญชา กัญชง สารสกัด อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ หรือเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนภาชนะบรรจุหีบห่อ ฉลาก หรือสิ่งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบดังกล่าว ซึ่งสงสัยหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
(4) มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่
การปฏิบัติหน้าที่ตาม (3) ต้องมีหมายค้น เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้จะมีการยักย้าย ซุกซ่อน ทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม หรือทำลายหลักฐานที่่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้ทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น แต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการค้น
ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับอนุญาตหรือบุคคลที่อยู่ขณะนั้นอำนวยความสะดวกตามสมควร”
@ปลูกกัญชาฯโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ‘คุก’1-3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน
หมวด 10 บทกำหนดโทษ
ร่างมาตรา 55 “ผู้ใดเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15 ซึ่งมีขนาดพื้นที่เพาะปลูกตามมาตรา 17 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ร่างมาตรา 56 “ผู้ใดเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15 ซึ่งมีขนาดพื้นที่เพาะปลูกตามมาตรา 17 (2) หรือ (3) หรือผลิต ส่งออก หรือจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ร่างมาตรา 57 “ผู้ใดนำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ร่างมาตรา 58 “ผู้รับอนุญาตนำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัดหรือส่งออกกัญชา กัญชง หรือสารสกัดตามมาตรา 15 ผู้ใดนำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด หรือส่งออกกัญชา กัญชง หรือสารสกัดในแต่ละครั้งโดยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกินห้าพันบาท
ร่างมาตรา 59 “ผู้รับอนุญาตที่ฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ร่างมาตรา 60 “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 36 หรือมาตรา 37 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกินห้าหมื่นบาทนับแต่วันที่ฝ่าฝืนคำสั่ง ทั้งนี้จนกว่าจะระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนดังกล่าว”
ร่างมาตรา 61 “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 27 หรือคำสั่งของผู้อนุญาต ตามมาตรา 38 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
@ปลูก‘กัญชาฯ’อยู่แล้ว ต้องยื่นขอใบอนุญาตฯภายใน 60 วัน
บทเฉพาะกาล
ร่างมาตรา 74 “ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการตามมาตรา 8 (1) (2) และ (3) และให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 8 (4) ซึ่งต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ร่างมาตรา 75 “ให้คณะกรรมการพิจารณาศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด ในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรม เพื่อประโยชน์ในการทบทวน และกำหนดนโยบายตามมาตรา 12 (1) โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ระหว่างที่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง การนำเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัดให้กระทำได้เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้
(1) เพื่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัย
(2) เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยของผู้ขอใบอนุญาตที่เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือสภากาชาดไทย
(3) กรณีนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ส่วนขยายพันธุ์ หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใดของต้นกัญชา ที่ใช้ปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ได้เฉพาะเพื่อนำมาเพาะปลูก
ร่างมาตรา 76 “ให้ผู้ที่เพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์และสุขภาพและสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 15 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และให้สามารถดำเนินการได้ต่อไปจนกว่าผู้อนุญาตจะมีคำสั่งไม่อนุญาต"
ร่างมาตรา 77 “ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตให้ศึกษาวิจัยสมุนไพรควบคุม หรือใบอนุญาตให้จำหน่าย ส่งออก หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 แห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับให้ถือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ดังต่อไปนี้
(1) ใบอนุญาตให้ศึกษาวิจัยสมุนไพรควบคุม ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ถือเป็นผู้รับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง ใบอนุญาตผลิตกัญชาหรือกัญชง และใบอนุญาตจำหน่ายกัญชาหรือกัญชง เฉพาะพื้นที่ซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัตินี้
(2) ใบอนุญาตส่งออกสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ถือเป็นผู้รับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง ใบอนุญาตผลิตกัญชาหรือกัญชงเฉพาะพื้นที่ซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาตและใบอนุญาตส่งออกกัญชาหรือกัญชง ตามพระราชบัญญัตินี้
(3) ใบอนุญาตให้จำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ถือเป็นผู้รับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง ใบอนุญาตผลิตกัญชาหรือกัญชง และใบอนุญาตจำหน่ายกัญชาหรือกัญชง เฉพาะพื้นที่ซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต
ตามพระราชบัญญัตินี้ ใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นอายุใบอนุญาตและให้ต่ออายุใบอนุญาตได้ตามพระราชบัญญัตินี้”
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ....ฉบับล่าสุด ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯได้นำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 16-30 ก.ย.นี้ ก่อนเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ตามขั้นตอน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามนโยบาย 'รัฐบาลแพทองธาร' ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....
อ่านประกอบ :
'อนุทิน'ยัน รบ.เดินหน้า พ.ร.บ.กัญชาฯ พร้อมหนุน'กาสิโน'แจงเป็นมารยาทพรรคร่วม