เปิดคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับเต็ม (ตอนที่ 1) ล้มเลือก สว. ตัวละครลับ 'อดีตนายกเทศมนตรี' จิ๊กซอว์ - คนนัดแนะ สว.ระดับจังหวัด กลางโรงแรมดัง ย่านติวานนท์-ปทุมธานี จูงใจ ค่าเดินทาง-ตั๋วเครื่องบิน จ่ายสมนาคุณ แกะรอย-จับพิรุธหย่อนบัตร 'เลือกตามโพย' เปลี่ยนจากผู้รับเลือกเป็นโหวตเตอร์
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปก่อนหน้านี้ว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 นายดิเรก พรสีมา อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่ม 3 การศึกษาได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ และล่าสุดสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว
สำนักข่าวอิศราได้เรียงลำดับเหตุการณ์และพฤติการณ์ 'ตัวละครลับ' ที่เข้ามาพัวพันกับกระบวนการ เลือกสว. รวมถึง วัน-เวลา และสถานที่นัดแนะที่ระบุไว้ในคำร้องที่ส่งไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอนแรก
เรื่อง ขอให้การจัดการเลือก สว.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 224 มาตรา 213 และให้ผลที่เกิดจากการกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 มาตรา 77 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561
ข้าพเจ้าประสงค์จะร้องเรียน กกต. ใน 3 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้
1.กกต.มีหน้าที่และอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง สว. และต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 224 (1) และมาตรา 224 (2) ตามลำดับ แต่กกต.กลับละเลย ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว
2.การที่ กกต. ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม ข้อ 1 ได้ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้สมัครในกลุ่ม 3 - การศึกษาในครั้งนี้ด้วย เสียสิทธิ์ในการได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้
3.นอกจากนั้น กกต. ยังไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 ปล่อยปละละเลยให้มีการจัดทำโพยและนำโพยเข้ามาใช้ในหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการทำโพยด้วย เสียสิทธิ์ในการรับเลือกเป็น สว.ในครั้งนี้
รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาข้อร้องเรียน (ระบุเหตุที่ทำให้ต้องร้องเรียน พร้อมด้วยข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนตามสมควร)
@ เปิดโรงแรม นัดแนะผู้สมัคร สว.ระดับจังหวัด
จัดประชุม ผู้สมัคร สว.ที่ผ่านการเลือกขั้นต้น ระดับจังหวัด
ในเย็นวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2567 (จะมีการเลือกระดับประเทศในเช้าวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2567) ผู้ร้องได้ไปกราบขอพรจาก สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (รองสมเด็จพระสังฆราชวัดพระเชตุพล –วัดโพธิ์)
ผู้ร้องได้พบกับ 'ผู้ผ่านการเลือกระดับจังหวัดอุบลราชธานี' ซึ่งมาขอพึ่งบารมีของสมเด็จพระมหาธีราจารย์เช่นกัน ได้พูดคุยกันก็ได้ทราบว่า หลังจากขอพรเสร็จ 'ผู้ผ่านระดับจังหวัด อุบลราชธานี' มีนัดกับ 'อดีตนายกเทศมนตรีจังหวัดอุดรธานี' ซึ่งอยากรู้จักผู้สมัคร สว.ที่ผ่านการเลือกระดับจังหวัดทั้ง 20 กลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด และชวนผู้ร้องไปพบ 'อดีตนายกเทศมนตรีจังหวัดอุดรฯ' ด้วยที่ร้านอาหารนิตยา ไก่ย่าง สาขาบีไฮฟ์ เมืองทองธานี บนเส้นทางกลับบ้านของผู้ร้องที่ร้านนิตยา ไก่ย่าง
'อดีตนายกเทศมนตรีจังหวัดอุดรฯ' ได้ขอให้ผู้ร้องและ 'ผู้ผ่านระดับจังหวัดอุบลราชธานี' เชิญผู้ผ่านการเลือกระดับจังหวัดมาประชุมที่โรงแรม ปทุมธานีเพลส ในวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ให้ได้จำนวนผู้ผ่านการเลือกระดับจังหวัดทุกกลุ่มอาชีพให้ได้มากที่สุด โดยเขาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานที่ประชุม ค่าเดินทาง (เครื่องบิน ไป-กลับ) ค่าสมนาคุณตามความเหมาะสม
@ “เขาลงตัวกันหมดแล้วครับนาย...”
หลังอาหารเย็นที่ร้านนิตยา ไก่ย่าง ในคืนวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ผู้ร้องจึงได้โทรศัพท์สอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเลือก สว. ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2567 ไปยัง 'อดีตผู้ใต้บังคับบัญชา' สอง-สามคน ที่ผ่านการเลือกระดับจังหวัดมาแล้ว ก็ได้รับข้อมูลจาก 'อดีตผู้ใต้บังคับบัญชา' ตรงกันว่า
“เขาลงตัวกันหมดแล้วครับนาย มีการจ่ายค่าสัมมนาคุณกันไปหมดแล้ว เขาทำโพยทั้งการเลือกรอบเช้า และรอบบ่ายของวันที่ 26 มิถุนายน 2567 กันไปหมดแล้ว ตกลงค่าใช้จ่ายกันไปหมดแล้ว คงขยับอะไรลำบากแล้ว”
และผู้ร้องก็ได้รู้จากการบอกกล่าวทางโทรศัพท์ของ 'อดีตผู้ใต้บังคับบัญชา' ว่า ผู้ผ่านการเลือกระดับจังหวัดทุกกลุ่มอาชีพได้เดินทางมาพักรวมกันตามโรงแรมใน กทม. หรือรอบๆ กทม. ที่เดินทางไปยังเมืองทองธานี ซึ่งเป็นหน่วยเลือก สว.ได้สะดวก และมีผู้จัดการไว้ให้ล่วงหน้า
หลังจากได้รับข้อมูลจาก 'อดีตผู้ใต้บังคับบัญชา' ว่า “เขาลงตัวกันหมดแล้วครับนาย...” ผู้ร้องจึงไม่ได้เดินทางไปประชุมที่โรงแรมปทุมธานีเพลสในวันที่ 25 มิถุนายน 2567 แต่ได้คอยติดตามดูว่าผลการเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 จะออกมาอย่างไร จะเป็นไปตามคำบอกกล่าวของอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาที่ว่า “เขาลงตัวกันหมดแล้วครับนาย....” จริงหรือไม่ โพยการเลือก สว. จะมีอิทธิฤทธิ์เพียงใด ผู้ร้องจึงได้แต่คอยติดตามดู
@ จับพิรุธ เลือกตามโพย
เช้าวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2567 ผู้ผ่านการเลือกเป็นตัวแทนจังหวัดๆละ สองคนจาก 20 กลุ่มอาชีพ รวมจังหวัดละ 40 คน จาก 77 จังหวัดได้เดินทางไปรายงานตัวเพื่อเลือก สว. ตามกลุ่มอาชีพของตน ณ เมืองทองธานี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ กกต. จัดเตรียมไว้ แยกตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่ก็กลุ่มอาชีพละประมาณ 154 คนต่อห้อง (20 x 77) แต่อาจมีบางกลุ่มมาไม่ครบตามจำนวน
โพยการเลือก สว.แสดงอิทธิฤทธิ์
หลังจากฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับการลงคะแนนในเช้าวันที่ 26 มิถุนายน 2567 แล้ว ผู้สมัครก็เดินไปลงชื่อรับบัตรเลือก สว.และเดินเข้าคูหาลงคะแนนและหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นขั้นตอนปกติในการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไป
เมื่อผู้มาลงคะแนนลงคะแนนครบแล้ว กรรมการก็เปิดหีบบัตรนับคะแนน การนับคะแนน 20 ใบแรก ก็ดูเป็นปกติ จนกระทั่งถึงบัตรลงคะแนนประมาณใบที่ 30 (จากทั้งหมด 154 ใบ) เพื่อนที่นั่งข้างๆ ผู้ร้อง เขาขานคะแนนจากบัตรเลือก สว.ได้ก่อนที่กรรมการที่เป็นเจ้าหน้าที่ กกต. จะอ่าน ผู้ร้องจึงสงสัย และถามเขาไปว่ารู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่า หมายเลขต่อไปที่เจ้าหน้าที่จะอ่านจะเป็นหมายเลขอะไร เขาจึงตอบว่า
“ถ้าเลือกเบอร์นี้เป็นคนที่หนึ่งแล้ว เบอร์ที่สอง, สาม, สี่, ห้า...จะต้องเป็นเบอร์นี้ ....มันเป็นอย่างนี้มาหลายใบแล้วครับ มันมาเป็นชุด ๆ บัตรที่เริ่มด้วยคะแนนหมายเลขนี้ หมายเลขต่อๆไปก็จะเป็นหมายเลขนี้ คะแนนหมายเลขแรกเป็นเบอร์นี้ หมายเลขต่อๆไปก็จะเป็นหมายเลขอย่างนี้เสมอ เป็น pattern มาหลายใบแล้วครับ”ผู้ร้องจึงเริ่มสังเกตตามก็พบว่าเป็นอย่างที่เพื่อนที่นั่งข้างๆตั้งข้อสังเกตจริง
จนมีผู้สมัครยกมือประท้วงระหว่างที่กรรมการอ่านบัตรเลือก สว.ยังไม่จบว่า“เจ้าหน้าที่อ่านบัตรเลือกตั้งซ้ำ เพราะเบอร์ที่เลือกเหมือนกันกับใบก่อนๆเลย”เจ้าหน้าที่จึงชี้แจงว่า ไม่ใช่บัตรใบเก่า เป็นบัตรใบใหม่แล้ว บัตรใบก่อนๆ ใส่ลงไปในกล่องแล้ว
ผู้ร้องเองก็เห็นว่าเป็นบัตรใบใหม่ แต่เลือกเบอร์เดิมๆ เรียงลำดับหมายเลขเหมือนเดิม คือถ้าเลือกเบอร์ที่ 1 เป็น 123 เบอร์ต่อไปก็จะเป็น 133, 112, 150, 104, 110, .... เรียงลำดับกันอย่างนี้เสมอ
@ ไม่เลือกตัวเอง-มาเป็นเพียง voters
ภายหลังการนับคะแนนในรอบเช้า ผู้ร้องได้สอบถาม 'ผู้สมัครเลือกสว.' กลุ่มอาชีพที่ 20 กลุ่มอาชีพที่ 12 กลุ่มอาชีพที่ 10 กลุ่มอาชีพที่ 16 กลุ่มอาชีพที่ 13 กลุ่มอาชีพที่ 1 ก็ทราบว่ากลุ่มอื่นๆก็มีปรากฎการณ์คล้ายๆกันนี้เกิดขึ้นเช่นกัน
ผู้ร้องซึ่งสมัครในกลุ่ม 3 ไม่ได้บันทึกการนับคะแนนตามที่เจ้าหน้าที่ กกต.อ่าน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านครบทั้ง 154 ใบ จึงได้เดินไปดูที่ป้ายที่จดการนับคะแนน (Score Tally Board) จึงรู้ว่าจะมีประมาณ 30 ใบที่ได้คะแนนสูงมาก และมีประมาณ 20 คนที่ไม่ได้คะแนนเลย (คะแนนเป็นศูนย์) แสดงให้เห็นว่ามีผู้มาสมัครและมาลงคะแนนบางคน ยอมเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางมาเลือกคนอื่นให้ได้เป็น สว.แต่ไม่เลือกตนเอง (มาเป็นเพียง voters)
ในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 (หลังวันประกาศผลการนับคะแนนในวันที่ 27 มิถุนายน 2567) ผู้ร้องเดินทางไปที่สำนักงาน กกต. ที่ศูนย์ราชการ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ได้พบกับ 'ผู้สมัคร สว.' กลุ่ม 5 กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆในทำนองเดียวกัน และได้พบ 'ผู้สมัคร สว' กลุ่ม 10 ผู้ประกอบการกิจการอื่นนอกเหนือจากกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม
ทั้งสองคนได้รวบรวมข้อมูลการนับคะแนนรอบเช้าของผู้สมัครในกลุ่ม 6, กลุ่ม 6 และ กลุ่ม 14 ที่มีผู้จดบันทึกนำมาให้ โดยเขาได้จดบันทึกการอ่านคะแนนรอบเช้าของเจ้าหน้าที่ กกต. ของผู้สมัครอย่างละเอียดได้ครบทุกคน พบว่า
@ เลือกเบอร์เดียวกัน-เหมือนกัน
บัตรลงคะแนนของผู้สมัครกลุ่มอาชีพที่ 6 (ทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ) ทั้ง 152 ใบ มีการลงคะแนนคล้ายกันดังตารางที่ 1.1, 1.2, 1.3, 1.4. และ 1.5 ข้างล่าง (ดูตารางด้านล่างประกอบ)
จากบัตรลงคะแนนใบที่ 1-152 จากตารางที่ 1.1. ถึง 1.5.พบว่า บัตรลงคะแนนใบที่ 1, 7, 13,16, 18, 19, 20, 22, 26, 28, 38, 40, 42, 48, 54, 57, 63, 74, 88, 92, 102, 111, 116,125,127,129,133,139 และใบที่ 148 รวมจำนวน 30 ใบที่ พื้นหลัง hi-light สีฟ้า ‘ลงคะแนนเลือกเบอร์เดียวกัน เรียงลำดับหมายเลขที่เลือกเหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์’ คือ เลือกเบอร์ 79, 77, 46, 33, 16, 93,152, 26, 60,และ 74
นอกจากนั้นยังพบว่าบัตรลงคะแนนใบที่ 2, 3, 8, 17, 29, 35, 43, 44, 45, 49, 50, 56, 71, 76, 93, 96, 103, 104, 109, 110, 112, 118, 119, 120, 126, 131, 138, 142 และใบที่ 150 รวม 31 ใบ ที่พื้นหลัง hi-light สีชมพู ‘ลงคะแนนเลือกเบอร์เดียวกันเรียงลำดับหมายเลขที่เลือกเหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์’ คือเลือกเบอร์ 53, 122, 54, 99, 12, 70, 90, 146, 137, และ132
จากตารางชุดที่ 1 ข้างต้นจะเห็นว่าผู้สมัคร สว.ซึ่งมาจาก 77 จังหวัด ‘เลือกหมายเลขเดียวกันเหมือนกัน เรียงลำดับหมายเลขการเลือกเหมือนกันด้วย’ เป็น 2 ชุด คือ ชุดในช่องพื้นหลังสีฟ้า (30 คน = 19.73 %) และ พื้นหลังสีชมพู (31 คน = 20.39 %)
บัตรเลือก สว. ที่ hi-light ด้วยสีฟ้าและสีชมพู จึงได้คะแนนเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน และได้เข้าไปเลือกในรอบบ่ายทั้งสองกลุ่ม กลุ่มที่ hi-light ด้วยสีฟ้าได้รับเลือกเป็น สว. ตัวจริง หรือตัวสำรองเกือบทั้งหมด ส่วนบัตรที่ hi-light ด้วยสีชมพู ได้เข้าไปเป็น voters
ลักษณะการลงคะแนนของกลุ่มที่ 9 ก็ไม่ต่างจากลักษณะการลงคะแนนของกลุ่มที่ 6 ดังตารางที่ 2.1 ถึง 2.5 (ดูตารางประกอบ)
จากบัตรลงคะแนนใบที่ 1-144 (ตารางที่ 2.1. ถึง 2.5) พบว่า บัตรลงคะแนนใบที่ 4, 11, 12, 27, 31,40,46,37,49,52, 55,67, 69, 70, 73, 86, 90, 93, 96, 101,102,103,116,123,124,131, ใบที่ 136 รวม 27 ใบ = 18.75 % ที่พื้นหลัง hi- light เป็นสีฟ้าลงคะแนน เลือกเบอร์เดียวกัน เรียงลำดับหมายเลขที่เลือกเหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ เลือกเบอร์ 56, 131,104, 81,121, 60,26,1,38, และ 83
นอกจากนั้นยังพบว่าบัตรลงคะแนนใบที่ 9, 19, 21, 26, 28, 30, 32, 33, 43, 45, 53, 54, 58, 69, 79, 81, 84, 87, 88, 97, 100, 104, 109, 110, 111, 121, 127, 130, และใบที่ 133 รวม 29 ใบ = 20.13 % ที่พื้นหลัง hi-light เป็นสีชมพู ลงคะแนนเลือกเบอร์เดียวกันเรียงลำดับหมายเลขที่เลือกเหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ เลือกเบอร์ 107, 42, 109, 110, 57, 101, 19, 21, 89, และ เบอร์ 10
จากตารางชุดที่ 2 ข้างต้นจะเห็นว่าผู้สมัคร สว.ซึ่งมาจาก 77 จังหวัด เลือกหมายเลขเดียวกันเหมือนกัน เรียงลำดับหมายเลขการเลือกเหมือนกัน เป็น 2 ชุด คือชุดในช่องพื้นหลังเป็นสีฟ้า (27คน = 18.75%) และพื้นหลังเป็นสีชมพู (29 คน = 20.13 %)
บัตรเลือก สว. ที่ hi-light ด้วยสีฟ้าและสีชมพู จึงได้คะแนนใกล้เคียงกัน และได้เข้าไปเลือกในรอบบ่ายทั้งสองกลุ่ม และกลุ่มที่ hi-light ด้วยสีฟ้าได้รับเลือกเป็น สว. ตัวจริง หรือตัวสำรองแทบทั้งหมด ส่วนบัตรที่ hi-light สีชมพู ได้เข้าไปเป็น voters
การลงคะแนนของกลุ่ม 14 กลุ่มสตรี ก็มีลักษณะไม่แตกต่างกับการลงคะแนนของ 2 กลุ่มที่นำเสนอไปแล้วข้างต้น (กลุ่ม 6 และกลุ่ม 9) คือ มีการลงคะแนนให้เบอร์เดียวกัน เรียงลำดับของคะแนนคล้ายๆกัน ดังตารางที่แสดงในตารางที่ 3.1 – 3.6 (ดูตารางประกอบ)
จากบัตรลงคะแนนใบที่ 1-150 ของกลุ่มสตรีจากตารางที่ 3.1. ถึง 3.6.พบว่า บัตรลงคะแนนใบที่ 1, 3, 4, 7, 30, 38, 43, 47, 51, 62, 63, 75, 76, 78, 87, 88, 90, 91, 93, 106, 118, 121, 124, 125, 129, 134, 141, 145, และ ใบที่ 146 รวม 29 ใบ ที่พื้นหลัง hi-light เป็นสีฟ้า ลงคะแนนเลือกเบอร์เดียวกันเรียงลำดับหมายเลขที่เลือกเหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ เลือกเบอร์ 75, 26, 111,38, 152, 51, 154, 119, 101, และ 133
นอกจากนั้นยังพบว่าบัตรลงคะแนนใบที่ 1, 3, 4, 7, 24, 30, 38, 43, 47, 51, 62, 63, 75, 76 ,78, 87, 88, 90, 91, 93, 106, 118, 121, 124, 125, 129, 134, 141, 145, และใบที่ 146 รวม 27 ใบ ที่พื้นหลัง hi-light เป็นสีชมพู ยังลงคะแนนเลือกเบอร์เดียวกันเรียงลำดับหมายเลขที่เลือกเหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ เลือกเบอร์ 75, 26, 152, 154, 19, 146, 119, 101, 133, และ 128
จากตารางชุดที่ 3 ข้างต้นจะเห็นว่าผู้สมัคร สว. ซึ่งมาจาก 77 จังหวัด เลือกหมายเลขเดียวกันเหมือนกัน เรียงลำดับหมายเลขการเลือกเหมือนกันด้วย เป็น 2 ชุด คือชุดในข่องพื้นหลังเป็นสีฟ้า (29 คน = 19.33%) และพื้นหลังเป็นสีชมพู (30 คน = 20 %)
จากข้อมูลของ 3 กลุ่มอาชีพ คือ ชาวสวน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตรีที่ผ่านเข้ามาเลือกในรอบเช้า 446 คน มีมากถึง 176 คน (39.46 %) เลือกผู้สมัครเบอร์เดียวกัน ในขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆเลือกผู้สมัครกระจัดกระจาย ผู้สมัครที่มีเบอร์อยู่ในโพยส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่ผ่านการเลือกให้เข้าไปเลือกในรอบบ่าย ส่วนผู้สมัครที่ไม่มีชื่ออยู่ในโพยจึงไม่มีชื่อเข้าไปเลือกในรอบบ่าย ผู้ร้องไม่มีชื่อในโพยจึงไม่ได้เข้าไปเลือกในรอบบ่าย
บัตรเลือก สว. ที่ hi-light ด้วยสีฟ้าและสีชมพู จึงได้คะแนนเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน และได้เข้าไปเลือกในรอบบ่ายทั้งสองกลุ่ม กลุ่มที่ hi-light ด้วยสีฟ้าส่วนใหญ่ได้รับเลือกเป็น สว. ตัวจริง หรือตัวสำรองแทบทั้งหมด ส่วนบัตรที่ hi-light สีชมพู ได้เข้าไปเป็น voters
ผู้สมัครมาเป็น สว.แต่ไม่เลือกตนเอง และคนที่มาจาก 77 จังหวัด มาเลือกผู้สมัครเบอร์เดียวกัน เรียงลำดับเหมือนกัน ไม่น่าเป็นไปได้
จากตารางนำเสนอข้อมูลคะแนนผลการเลือกในรอบเช้าของทั้ง 3 กลุ่มอาชีพข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการจัดการเลือก สว. ครั้งนี้ ปี 2567 เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะการจัดการเลือกในรอบเช้า และรอบบ่ายของวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ก็ยังคงเป็นไปในลักษณะเดิม ดังตัวอย่างการเลือกของสาย ง. ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม 2, 3, 10, 14, และ 19 ที่นำเสนอใน ตารางที่ 4.1 – 4.4 ข้างล่าง (ดูตารางประกอบ)
ตารางชุดที่ 4.1 ตารางบันทึกคะแนนรอบบ่ายของสาย ง. ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอาชีพที่ 2 (กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม), 3 (การศึกษา), 10 (ผู้ประกอบการอื่นนอกจาก SME), 14 (สตรี) และ19 (ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) (เลือกไขว้ รอบบ่าย สมาชิก กลุ่ม 2 ที่ลงคะแนนเลือกสมาชิกกลุ่ม 10) (ดูตารางประกอบ)
จากบัตรลงคะแนนใบที่ 1 – 35 ของผู้เลือกในรอบบ่าย (เลือกไขว้) จากกลุ่ม 2 พบว่ามีผู้เลือกจากกลุ่ม 2 ที่เลือกผู้สมัครจากกลุ่ม 10 เหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มากถึง 19 คนจากผู้เข้าเลือกจากกลุ่ม 2 ทั้งหมด 35 คน หรือคิดเป็น 54.28 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครจากกลุ่ม 2 เลือกผู้สมัครเหมือนกัน
ตารางชุดที่ 4.2 ตารางบันทึกคะแนนรอบบ่ายของสาย ง. ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอาชีพที่ 2, 3, 10, 14 และ 19 (เลือกไขว้ รอบบ่าย สมาชิก กลุ่ม 3 ที่ลงคะแนนเลือกสมาชิกกลุ่ม 10) (ดูตารางประกอบ)
จากบัตรลงคะแนนใบที่ 1 – 35 ของผู้เลือกในรอบบ่ายจากกลุ่ม 3 พบว่ามีผู้เลือกจากกลุ่ม 3 ที่เลือกผู้สมัครจากกลุ่ม 10 เหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มากถึง 14 คนจากผู้เข้าเลือกจากกลุ่ม 3 ทั้งหมด 35 คน หรือคิดเป็น 40.0 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครจากกลุ่ม 3 เลือกผู้สมัครจากกลุ่ม 10 เหมือนกัน
ตารางชุดที่ 4.3 ตารางบันทึกคะแนนรอบบ่ายของสาย ง. ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอาชีพที่ 2, 3, 10, 14 และ 19 (เลือกไขว้ รอบบ่าย สมาชิก กลุ่ม 14 ที่ลงคะแนนเลือกสมาชิกกลุ่ม 10) (ดูตารางประกอบ)
จากบัตรลงคะแนนใบที่ 1 – 35 ของผู้เลือกในรอบบ่าย (เลือกไขว้) จากกลุ่ม 14 พบว่ามีผู้เลือกจากกลุ่ม 14 ที่เลือกผู้สมัครจากกลุ่ม 10 เหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มากถึง 16 คนจากผู้เข้าเลือกจากกลุ่ม 14 ทั้งหมด 35 คน หรือคิดเป็น 45.71 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครจากกลุ่ม 14 เลือกผู้สมัครจากกลุ่ม 10 เหมือนกัน
ตารางชุดที่ 4.4 ตารางบันทึกคะแนนรอบบ่ายของสาย ง. ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอาชีพที่ 2, 3, 10, 14 และ 19 (เลือกไขว้ รอบบ่าย สมาชิก กลุ่ม 19 ที่ลงคะแนนเลือกสมาชิกกลุ่ม 10) (ดูตารางประกอบ)
จากบัตรลงคะแนนใบที่ 1 – 35 ของผู้เลือกในรอบบ่ายจากกลุ่ม 19 พบว่ามีผู้เลือกจากกลุ่ม 19 ที่เลือก ผู้สมัครจากกลุ่ม 10 เหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มากถึง 16 คนจากผู้เข้าเลือกจากกลุ่ม 19 ทั้งหมด 35 คน หรือคิดเป็น 60.0 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครจากกลุ่ม 19 เลือกผู้สมัครจากกลุ่ม 10 เหมือนกัน
จากตารางที่ 4.1 – 4.4 พบว่าในการเลือกไขว้ในรอบบ่ายมีผู้เข้าเลือกไขว้จากกลุ่ม 2, 3, 14 และกลุ่ม 19 จำนวนมากถึง 70 คน เลือกผู้สมัครจากกลุ่ม 10 หมายเลขเดียวกัน
ซึ่งโดยสามัญสำนึกของวิญญูชนไม่น่าเชื่อว่าผู้สมัครเลือกไขว้ซึ่งมาจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ และต่างอาชีพกัน จะเลือกผู้สมัครจากกลุ่ม 10 ซึ่งแทบไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อนจะเลือกผู้สมัครได้เหมือนกันมากเช่นนี้
ข้อสังเกตจากผลการนับคะแนน
- ในการลงคะแนนในรอบเช้า มีผู้สมัครประมาณ 20 คน ในแทบทุกกลุ่มอาชีพ ได้คะแนนเป็น “0 – ศูนย์” ไม่เลือกตนเอง
- ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงๆ จะได้คะแนนจากผู้เลือกกลุ่มเดียวกัน
คำร้องตอนต่อไปจะเป็นการเปิดขบวนการจัดทำโพย-ตัวละครที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง