“…ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นรายบุคคลแต่ละรายแยกกัน จึงมิใช่กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลข้าราชการว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกันในเรื่องเดียวกัน ที่ต้องปฏิบัติตามหนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011/ว6 ลงวันที่ 14 ก.พ.2566…”
..................................
จากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีมติชี้มูลความผิด ‘ทางอาญาและทางวินัย’ ข้าราชการ 30 ราย ซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรณีการทุจริตปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ตรัง กระบี่ และสตูล
แต่ปรากฏว่า ในการดำเนินการพิจารณาลงโทษทางวินัยข้าราชการทั้ง 30 ราย ซึ่งสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่สังกัด ‘กรมต่างกัน’ นั้น เป็นกรณีการ 'กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกันในเรื่องเดียวกัน' หรือไม่ และผู้บังคับบัญชารายใด หรือ อ.ก.พ.ระดับใด ที่มีอำนาจพิจารณาลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ฯดังกล่าว ตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติ
ต่อมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำหนังสือไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือในเรื่องนี้ และล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.2567 ที่ผ่านมา ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@ขอหารือลงโทษวินัยฯ 30 จนท.จาก 3 กรม ถูก‘ป.ป.ท.’ชี้มูลฯ
เรื่องเสร็จที่ 890/2567 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การพิจารณาโทษทางวินัยแก่ข้าราชการกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0222.6/153 ลงวันที่ 27 พ.ค.2567ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า
1.ระหว่างวันที่ 4 ม.ค.2566 ถึงวันที่ 28 มี.ค.2566 สำนักงาน ป.ป.ท. มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมจำนวน 30 ฉบับ
เพื่อให้พิจารณาโทษทางวินัย แก่ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ราย ข้าราชการสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 25 ราย และข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 3 ราย ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริง
กรณีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติงานปลูกป่าและบำรุงพื้นที่ป่าชายเลน ใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดการและรักษาทรัพย์ ปลอมลายมือชื่อลูกจ้างชั่วคราวรายวันในบัญชีรายชื่อและหลักฐานการจ่ายเงิน และอาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เบียดบังค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวัน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย และมีมติว่ากระทำการทุจริตในภาครัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1 มูลความผิดทางอาญา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นความผิดตามมาตรา 147 มาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
แต่เนื่องจากความผิดตามมาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (4) คดีขาดอายุความ อันเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามมาตรา 39 (6) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงวินิจฉัยชี้มูลความผิดตามมาตรา 147 และมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับคณะกรรมการจ่ายเงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ไม่ปรากฤติการณ์และพยานหลักฐานว่า มีเจตนาที่จะร่วมกระทำการทุจริตเบิกเงินค่าจ้างมาตั้งแต่ต้น ทั้งจากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เพียงขอให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น ไม่ปรากฎพฤติการณ์และพยานหลักฐานเพียงพอแก่การแจ้งข้อกล่าวหา จึงเห็นควรยุติเรื่อง
1.2 มูลความผิดทางวินัย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดโดยให้พิจารณาลงโทษทางวินัยข้าราชการ 30 รายดังกล่าว ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ท.
โดยมิต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยอีก ตามมาตรา 40 และมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551
2.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหนังสือถึง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม ขอให้พิจารณาโทษทางวินัยแก่ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหา สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าวข้างต้น
โดยเห็นว่า สำนักงาน ก.พ. เคยตอบข้อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยในกรณีนี้แล้วว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่ข้าราชการต่างกรมในกระทรวงเดียวกัน ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร่วมกัน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องที่กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดินได้แจ้งให้ดำเนินการ
เมื่อกรณีนี้ ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 94 (2) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติชี้มูลความผิดแก่ข้าราชการดังกล่าวแล้ว
การพิจารณาลงโทษทางวินัยจึงต้องดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011/ว6 ลงวันที่ 14 ก.พ.2566 ซึ่งแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกันในเรื่องเดียวกันนั้น ให้เทียบเคียงกับกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการพลเรือนสามัญว่า หากจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ถูกชี้มูลความผิดดังกล่าว ผู้ใดเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อจะได้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. สามัญพิจารณาให้ถูกต้องตรงกัน
กรณีนี้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน จึงขอให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาโทษทางวินัยแก่ข้าราชการดังกล่าว เพื่อให้ อ.ก.พ. กระทรวง ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
3.ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหนังสือส่งเรื่องคืนให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อดำเนินการตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯต่อไป
โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้วินิจฉัยและมีมติชี้มูลความผิดข้าราชการเฉพาะรายบุคคลเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา เป็นความผิดเฉพาะรายบุคคลในการเบิกเงินค่าจ้างของแต่ละหน่วยปลูกป่าชายเลน มีมูลกรณีแต่ละเรื่องแยกกันในแต่ละราย แต่ละหน่วยปลูกป่าชายเลน
จึงไม่ใช่กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลข้าราชการว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกัน ตามความในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011/ว6ฯ และไม่เป็นการกระทำความผิดร่วมกันตามมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ
4.สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาโทษทางวินัยกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงข้าราชการในสังกัด โดยมีคำสั่งไล่ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาในสังกัดออกจากราชการ รวม 4 ราย และอีก 1 รายที่โอนไปสังกัดจังหวัดพัทลุง ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งไล่ออกจากราชการแล้วเช่นเดียวกัน
5.ในส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังไม่ได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 25 ราย แต่มีหนังสือหารือไปยังสำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับการดำเนินการพิจารณาโทษทางวินัย กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดแก่ข้าราชการในกรณีดังกล่าวว่าอยู่ในอำนาจการพิจารณาโทษทางวินัยของ อ.ก.พ. สามัญใด
6.สำนักงาน ก.พ. มีหนังสือตอบข้อหารือเกี่ยวกับการพิจารณาโทษทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด สรุปความได้ว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ สำนักงาน ก.พ. เคยพิจารณาแล้วว่า เป็นกรณีข้าราชการต่างกรมในกระทรวงเดียวกันถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร่วมกัน
ปลัดกระทรวงเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามนัยมาตรา 94 (2) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ และการพิจารณาว่า กรณีใดจะเป็นกรณีที่ข้าราราชการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยร่วมกัน ควรพิจารณาจากมูลกรณีที่ถูกกล่าวหาเป็นสำคัญ
กล่าวคือ เป็นการกล่าวหาในมูลกรณีเรื่องเดียวกันหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่ามีเจตนากระทำการร่วมกันหรือไม่ เพียงใด เนื่องจากเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฎ
สำหรับการพิจารณาว่า อ.ก.พ. สามัญใดมีอำนาจพิจารณาโทษทางวินัย กรณีข้าราชการต่างกรมในกระทรวงเดียวกันกระทำความผิดร่วมกัน นั้น สำนักงาน ก.พ. เห็นว่า มาตรา 94 (2) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราราชการพลเรือนฯ บัญญัติว่า กรณีข้าราชการพลเรือนสามัญต่างกรมในกระทรวงเดียวกัน ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร่วมกัน ให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
และข้อ 58 (3) ของกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 กำหนดว่า ในกรณีที่ปลัดกระทรวงเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่เป็นผู้พิจารณา
ประกอบกับตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011//ว6ฯ วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดแก่ข้าราชการว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกัน ให้เทียบเคียงกับกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวบสวนข้าราชการพลเรือนสามัญ ว่า หากจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดดังกล่าวผู้ใดเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
เมื่อเรื่องนี้เป็นกรณีที่ข้าราชการต่างกรมในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกัน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 94 (2) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ
ดังนั้น กรณีนี้นี้จึงต้องส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาลงโทษทางวินัยข้าราชการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท.มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
7.กรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นกรณีที่ความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจการพิจารณาสั่งลงโทษทางวินัย ตามรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่มีมติชี้มูลข้าราชการว่า การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าว เป็นกรณีข้าราชการกระทำผิดวินัยร่วมกันหรือไม่ อ.ก.พ.สามัญใดมีอำนาจพิจารณาโทษทางวินัย เพื่อให้การพิจารณาโทษทางวินัยดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
จึงขอหารือว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. ส่งสำเนารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อให้พิจารณาสั่งลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 30 ราย กรณีทุจริตในการปลูกป่าชายเลนดังกล่าว เป็นกรณีการกระทำความผิดวินัยร่วมกันหรือไม่ และ อ.ก.พ.สามัญใดมีอำนาจพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 97 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ
@ชี้มูลฯแต่ละบุคคล‘แยกกัน’ ต้องส่ง‘อ.ก.พ.’ต้นสังกัดพิจารณา
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) พิจารณาข้อหารือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานปลัดกระทรวง กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ท. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
เห็นว่า ข้อหารือนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การทุจริตในการปลูกป่าชายเลนตามที่คณะกะกรรมการ ป.ป.ท.มีมติชี้มูลความผิดข้าราชการผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 30 ราย เป็นการกระทำความผิดวินัยร่วมกันหรือไม่
เห็นว่า กรณีนี้ปรากฎข้อเท็จจริงตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และมติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ว่า ได้พิจารณาไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดข้าราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 30 ราย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในหน่วยปลูกฟื้นฟูป่าชายเลน และสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่แตกต่างกันในแต่ละเขตพื้นที่ กระจายอยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสตูล
โดยในการไต่สวนข้อเท็จจริงได้แยกพิจารณารายสำนวน ในแต่ละสำนวนมีข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาเพียง 1 ราย ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของผู้ถูกกล่าวหา หน้าที่และอำนาจของผู้ถูกกล่าวหา การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหา และช่วงเวลาที่กระทำความผิด
โดยไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวหาหรือมีพยานหลักฐานว่า ความผิดนั้นเกิดขึ้น โดยการกระทำร่วมกันของผู้ถูกกล่าวหาด้วยกันหรือร่วมกับบุคคลอื่นกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนเจตนาในการกระทำความผิดร่วมกัน การแบ่งงานกันทำ หรือการร่วมกันกระทำความผิดในพื้นที่เดียวกัน
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานว่า คณะกรรมการจ่ายเงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวมีเจตนาที่จะร่วมกระทำการทุจริตเบิกเงินค่าจ้างมาตั้งแต่ต้น ทั้งจากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็เพียงขอให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น ไม่ปรากฏพฤติการณ์ และพยานหลักฐานเพียงพอแก่การแจ้งข้อกล่าวหา จึงเห็นควรยุติเรื่อง
ดังนั้น การทุจริตในการปลูกป่าชายเลนตามข้อหารือนี้ จึงเป็นกรณีการกระทำความผิดของข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาเป็นรายบุคคลแต่ละรายแยกกัน มิได้เป็นการกระทำความผิดวินัยร่วมกัน การกระทำทั้งปวงเพียงแต่เป็นการกระทำอย่างเดียวกันในต่างพื้นที่และในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ใช่การร่วมกันทำในเรื่องเดียวกัน
ประเด็นที่สอง ผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ข้าราชการจำนวน 30 ราย กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
เห็นว่า โดยที่มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำการทุจริตในภาครัฐ และเป็นกรณีมีมูลความผิดทางวินัย
ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ท. ส่งรายงาน เอกสารและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และให้ถือว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดวินัยข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การพิจารณาสั่งลงโทษทางวินัยของผู้บังคับบัญชาผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการนั้น
โดยที่การดำเนินการทางวินัย กรณีการทุจริตในการปลูกป่าชายเลนตามข้อหานี้ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ
แต่เป็นการดำเนินการทางวินัยตามการชี้มูลความผิดทางวินัย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ท. และผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นรายบุคคลแต่ละรายแยกกัน
จึงมิใช่กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลข้าราชการว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกันในเรื่องเดียวกัน ที่ต้องปฏิบัติตามหนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011/ว6 ลงวันที่ 14 ก.พ.2566
ซึ่งมาตรา 97 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ กำหนดว่า กรณีข้าราราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.จังหวัด อ.ก.พ.กรม หรือ อ.ก.พ.กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ แล้วแต่กรณีพิจารณา
ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุข้าราชการซึ่งถูกชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีนี้ จึงได้แก่ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงต้องส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ แล้วแต่กรณี พิจารณาโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติ
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ เกี่ยวกับแนวทางการลงโทษทางวินัยข้าราชการ 30 คน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดฯ และเนื่องจากกรณีดังกล่าว ‘ไม่ใช่การร่วมกันทำในเรื่องเดียวกัน’ จึงต้องให้ 'ผู้บังคับบัญชา' ส่งเรื่องไปให้ 'อ.ก.พ.กรม' หรือ 'อ.ก.พ.กระทรวง' ที่ข้าราชการรายนั้นๆสังกัดอยู่ พิจารณาลงโทษตามฐานความผิดต่อไป