"...จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ทำการเบิกจ่ายเงินงบประมาณโครงการพิพาททั้งสามโครงการ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำเอกสารการเสนอโครงการประมาณการค่าใช้จ่าย เอกสารหลักฐานการเบิกจ่าย ไม่ว่าจะเป็นใบสำคัญรับเงินพร้อมหลักฐานประกอบและใบตรวจรับแล้วเสนอให้จำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 ลงลายมือชื่อเพื่อให้ครบขั้นตอน ในการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด..."
นายมนตรี หาเรือนทอง อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับพวก รวม 7 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐข้าราชการครูกลุ่มล่าสุด ที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำคุกจากการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
โดยนายมนตรี หาเรือนทอง ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนพวกอีกหลายราย มีตำแหน่งเป็นครูผู้ช่วยอายุราชการยังน้อย ศาลฯ เห็นว่าอาจถูกครอบงำสั่งการจากฝ่ายบริหารได้ง่าย ไม่เคยทำผิดมาก่อน ให้โอกาสรอลงอาญาโทษจำคุกเพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดี
ข้อเท็จจริงคดีนี้ ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบฐานข้อมูลคดีทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2565 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด นายมนตรี หาเรือนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพมหาราช กับพวก รวม 7 ราย กรณีกล่าวหากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการรวม 3 ข้อกล่าวหา (ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด) ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 157 และ 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ.มาตรา 83
โดยคดีนี้ ปรากฏชื่อ นายมนตรี หาเรือนทอง เป็นจำเลยที่ 1, นายอภิชาต ชุติรัตนา จำเลยที่ 2, นายสมภาพ ขนุนทอง จำเลยที่ 3 , นายสรณวิชญ์ ชูพรหม จำเลยที่ 4, นายศรายุทธ สุทธิพันธ์ จำเลยที่ 5, นายชาญวิทย์ กอแก้ว จำเลยที่ 6 และนายวัฒนพงศ์ ทรงประดิษฐ์ จำเลยที่ 7
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาดังนี้
1. นายมนตรี หาเรือนทอง จำเลยที่ 1 และนายอภิชาต ชุติรัตนา จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม มาตรา 157 (เดิม) พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิขอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 มาตรา123/1 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90
ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี
ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างเห็นสมควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตาม มาตรา 78
คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 24 เดือน
2. นายสมภาพ ขนุนทอง จำเลยที่ 3 , นายสรณวิชญ์ ชูพรหม จำเลยที่ 4, นายศรายุทธ สุทธิพันธ์ จำเลยที่ 5, นายชาญวิทย์ กอแก้ว จำเลยที่ 6 และนายวัฒนพงศ์ ทรงประดิษฐ์ จำเลยที่ 7 มีความผิดตามมาตรา 157 (เดิม) และมาตรา 162 (1) (4) (เดิม) พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 มาตรา 123/3
การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90
จำคุกจำเลยที่ 3 และ ที่ 7 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท
จำคุกจำเลยที่ 4 ถึง ที่ 6 คนละกระทงละ 1 ปี และปรับคนละและกระทงละ 20,000 บาท
จำเลยที่ 4 และที่ 5 กระทำความผิดคนละ 2 กระทง รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 4 และ ที่ 5 คนละ 2 ปี และปรับคนละ
40,000 บาท
จำเลยที่ 6 กระทำความผิด 3 กระทง รวมเป็นจำเลยที่ 6 จำคุก 3 ปีและปรับ 60,000 บาท
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นสมควรโทษให้ คนละกระทงละกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 7 มีกำหนดคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท
จำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 มี กำหนดคนละ 12 เตือน และ ปรับคนละ 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 18 เตือน 30,000 บาท
3. ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้น
จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ทำการเบิกจ่ายเงินงบประมาณโครงการพิพาททั้งสามโครงการ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำเอกสารการเสนอโครงการประมาณการค่าใช้จ่าย เอกสารหลักฐานการเบิกจ่าย ไม่ว่าจะเป็นใบสำคัญรับเงินพร้อมหลักฐานประกอบและใบตรวจรับแล้วเสนอให้จำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 ลงลายมือชื่อเพื่อให้ครบขั้นตอน ในการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด
จำเลยที่ 3 เข้าใจว่า สามารถกระทำได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 แล้ว และจะเป็นประโยชน์แก่วิทยาลัยมหาราชกับนักเรียนนักศึกษา
ส่วนจำเลยที่ 4 ถึง ที่ 7 อยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2
ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ถึง ที่ 7 มีตำแหน่งเป็นครูผู้ช่วยอายุราชการยังน้อย จึงอาจถูกครอบงำหรือสั่งการ โดยฝ่ายบริหารไต้โดยง่าย
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 กระทำความผิดลงไป เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการทุจริต แต่เป็นเพียงการที่จำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่รอบครอบและรัตกุมไม่เคร่งครัดต่อระเบียบ คำสั่งหรือกฎหมายอันเกี่ยวด้วยการเงินการคลัง และการพัสดุ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบงานของราชการ
แต่อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 ได้รับโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ถูกลงโทษตัดเงินเดือนและถูกฟ้องตำเนินคดีอาญาเป็นคดีนี้แล้ว
น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 น่าจะเข็ดหลาบและพึงใช้ความระมัตระวังเกี่ยวกับเรื่องตังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้น และตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ
จำเลยที่ 4 ถึง ที่ 7 พิจารณาถึงประวัติ ความประพฤติ สติปัญญาการศึกษาอบรมและนิสัยของจำเลยที่ 4 ถึง ที่ 7 แล้ว ไม่มีข้อเสียหายร้ายแรง อยู่ในวิสัยสามารถพัฒนาปรับปรุงตนเองเป็นพลเมืองดีได้ ทั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาต่อศาล
แสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 รู้สำนึกในความผิด เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 โทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 7 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษา ตามมาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่)
หากจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)
ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2567 เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุดจำเลยทั้งหมด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายผลการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มข้าราชการครู รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่น ไม่ให้กระทำความผิด เดินย้ำซ้ำรอยเดียวกันทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไปอีกหนึ่งกรณี