อีกสิ่งที่สหรัฐฯน่าจะและควรจะทำก็คือการเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย โดยวิธีหนึ่งก็คือผ่านแนวร่วมระหว่างบริษัทการลงทุนและหุ้นส่วนอินโดแปซิฟิกที่เพิ่งมีการประกาศขึ้นใหม่เมื่อไม่นานนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนดังกล่าวนี้ระบุชัดเจนถึงความตั้งใจที่จะลงทุน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (850,250,000,000 บาท) ในภูมิภาค ซึ่งนี่ดูจะเป็นโอกาสของสหรัฐฯ ในการสร้างอิทธิพลที่ใหญ่ขึ้นในภูมิภาคนี้
กรณีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจากนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องลงจากตำแหน่งหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไปเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งผลทำให้มีการวิจารณ์กันว่าประเทศไทยนั้นอาจจะเข้าไปหาประเทศจีนมากขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม บทความจากเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์มีการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยโดยรวม และวิเคราะห์ตอนหนึ่งว่าความวุ่นวายทางการเมืองไทยจะส่งผลกับการที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าหาไทยอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงนำเอาบทความดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สําคัญของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน โดยทั้งสองประเทศพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางทหารและเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพในปี 2557 ประเทศไทยได้หันไปหาจีนเพื่อขอความช่วยเหลือมากขึ้น
แม้วอชิงตันจะพยายามอย่างเต็มที่ในการโน้มน้าวให้กรุงเทพฯ กลับเข้าสู่วงโคจรประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์ภายในประเทศและระหว่างประเทศล่าสุดของไทยบ่งชี้ว่าการปรับเปลี่ยนกับตะวันตกไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วสำหรับทางตะวันตก ดูจะให้ความหวังอยู่บ้าง เมื่อพรรคก้าวไกลสามารถรวบรวมเสียง 312 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่งแต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพซึ่งบังคับใช้ในปี 2560 กําหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร แน่นอนว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้เสียงจา สว.สนับสนุนแค่ 13 เสียงและการโจมตีครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล จนสมาชิกต้องไปตั้งพรรคประชาชน
ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องออกจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน เปิดทางให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรขึ้นเป็นรัฐมนตรีคนถัดไป
คำถามสำคัญคือภายใต้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ประเทศไทยน่าจะโน้มเอียงไปทางไหน และตะวันตกจะกลับเข้าหาไทยได้หรือไม่
แม้ว่านายทักษิณไม่ได้แสดงท่าทีว่าปกครองประเทศในฐานะนักการเมืองที่โน้มเอียงไปทางจีนอย่างเปิดเผย แต่มีข้อบ่งชี้ว่านายทักษิณมีหมุดหมายในใจอยู่แล้วว่าจีนนั้นเป็นพันธมิตรที่ดีกว่า เพราะย้อนไปในช่วงรัฐบาลนายเศรษฐามีการตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนกลับมายังประเทศไทย และต้องการให้ประเทศไทยมีระดับการท่องเที่ยวไปถึงระดับเดียวกับตอนก่อนการระบาดของโควิด-19
โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ค. ปีนี้ ไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว 20.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยหวังว่าจีนสามารถช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมที่สําคัญ เช่น ภาคการผลิตรถยนต์ BYD โดยผู้ผลิตรถยนต์จีนได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่า 1.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (49,204,800,000 บาท) การย้ายฐานการผลิตรถไฟฟ้าครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยขยายธุรกิจนอกเหนือจากการผลิตรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่
นอกจากไทยพยายามที่จะเข้าใกล้จีนมากขึ้นในหลายด้านอาทิ การดึงดูดการลงทุน และการท่องเที่ยวของจีน ไทยยังเพิ่มความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศอีกด้วย
โดยข้อบ่งชี้ที่แสดงว่าไทยตั้งใจจะเพิ่มความสัมพันธ์กับจีนในด้านการทหารก็คือ ข้อตกลงที่จะซื้อเรือดําน้ำชั้นหยวน S26T ที่สร้างโดยจีน ข้อตกลงดังกล่าวประสบกับอุปสรรค รวมถึงเรือดําน้ำไม่มีเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตในเยอรมนีอีกต่อไป ทว่าในที่สุดประเทศไทยก็ยอมรับเครื่องยนต์ดีเซล CHD620 ที่ผลิตในจีน
ความพยายามที่จะควบคุมสิ่งต่างๆของทั้งฝ่ายกองทัพและฝ่ายอนุรักษ์นิยมดูมีลักษณะที่แน่นขึ้นมากกว่าเดิม หลังจากที่มีการยุบพรรคก้าวไกล และการห้ามไม่ให้ผู้นำมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี รวมไปถึงการที่นายทักษิณ ชินวัตร ยังต้องเผชิญหน้ากับข้อหามาตรา 112 ที่เกี่ยวกับความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2558
ข่าวบริษัทรถยนต์ BYD เปิดโรงงานที่ประเทศไทย (อ้างอิงวิดีโอจาก The Business Time)
ย้อนไปในช่วงการเลือกตั้ง สว.จำนวน 200 คนเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา นี่ก็เป็นสิ่งที่เสริมสร้างให้กองทัพยังคงมีความครอบงำเหนือวุฒิสภา โดยการเลือกตั้ง สว.ดังกล่าวนั้นมีประเด็นถกเถียงกันต่างๆมากมาย อาทิ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับข้อร้องเรียนนับหลายพันเรื่อง รวมถึงข้อกล่าวหาว่าผู้สมัครบิดเบือนคุณสมบัติของตน
ผู้ชนะรายใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้ง สว.ดังกล่าวได้แก่พรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งก็คือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งแม้พรรคนี้จะไม่ได้เชื่อมโยงกับทหารโดยตรง แต่ก็ยังคงรักษาจุดยืนทางอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกันและสอดคล้องกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม
แม้ว่าวุฒิสภาจะไม่สามารถออกกฎหมายได้ด้วยตัวเอง แต่ก็มีอำนาจในการอนุมัติเพื่อให้ร่างกฎหมายใด ๆ กลายเป็นกฎหมาย ได้ นอกจากนี้ยังคัดเลือกสมาชิกของหน่วยงานองค์กรดูแลอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และแน่นอนว่าต้องมีการลงคะแนนเสียงของวุฒิสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้นี่คือความจริงของประเทศไทย แต่ไทยก็ยังคงยอมรับสหรัฐฯ ว่าเป็นมิตรที่สำคัญอยู่ดี จากการสำรวจของมูลนิธิเอเชียพบว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยยังคงมองว่าสหรัฐฯ มีความสําคัญต่ออนาคตของประเทศไทย 75 เปอร์เซ็นต์ ให้ความสําคัญกับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในสามประเด็นแรกที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่สูงที่สุดในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด
ดังนั้นสหรัฐฯ จึงควรพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยไว้และพยายามทำให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางการส่งออกที่สําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวโน้มกลุ่มอำนาจนิยมในไทยมีเพิ่มมากขึ้นทําให้ความร่วมมือทางทหารเป็นเรื่องยาก
สำนักข่าว WION ของอินเดียรายงานข่าวกรณีนายกฯแพทองธารยืนยันว่าจะมีการสานสัมพันธ์กับจีนเพิ่มมากขึ้น
ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. สหรัฐฯ แซงหน้าจีนในฐานะจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในขณะที่การส่งออกไตรมาสแรกของไทยไปยังจีนลดลง 5.1เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบเป็นรายปี
อีกสิ่งที่สหรัฐฯน่าจะและควรจะทำก็คือการเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย โดยวิธีหนึ่งก็คือผ่านแนวร่วมระหว่างบริษัทการลงทุนและหุ้นส่วนอินโดแปซิฟิกที่เพิ่งมีการประกาศขึ้นใหม่เมื่อไม่นานนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนดังกล่าวนี้ระบุชัดเจนถึงความตั้งใจที่จะลงทุน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (850,250,000,000 บาท) ในภูมิภาค ซึ่งนี่ดูจะเป็นโอกาสของสหรัฐฯ ในการสร้างอิทธิพลที่ใหญ่ขึ้นในภูมิภาคนี้
แม้ว่าประเทศไทยจะยังคงขยับใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นต่อไป แต่การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจจากวอชิงตันแสดงให้ว่ากรุงเทพฯคือประโยชน์ที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆในกลุ่มเสรีนิยม
เรียบเรียงจาก:https://www.scmp.com/opinion/asia-opinion/article/3274472/how-thailands-political-turmoil-complicates-ties-us