"...สำหรับ ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ ที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยเห็นเขาเดินเคียงข้าง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงยุค ‘พิธา-ชัยธวัช’ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เขาคือหนึ่งในคนเก่าแก่ของพรรค มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับดีกับ ‘ธนาธร’ มาหลายปีแล้ว โดยเมื่อครั้งตั้งพรรคก้าวไกล ในส่วนตึกแรกที่ใช้เป็นที่ทำการพรรคย่านบางแค กทม. ก็เป็นตึกของนายณัฐพงษ์..."
นับหนึ่งอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ ‘พรรคประชาชน’ ยานพาหนะคันที่ 3 ของ ‘พลพรรคสีส้ม’ ต่อจาก ‘อนาคตใหม่-ก้าวไกล’ 2 พรรคที่ถูกยุบไปในช่วงเวลาเพียงแค่ 4 ปีเศษ จากข้อหาปล่อยกู้เงินให้พรรคโดยมิชอบ และล้มล้างกับปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ตามลำดับ
หลังจากเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2567 แกนนำยุทธศาสตร์ของพรรคพร้อมด้วยที่ประชุม สส.อดีตก้าวไกล จำนวน 143 คน ได้เคาะชื่อโหวตเลือก ‘เท้ง’ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ อดีตรองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัลพรรคก้าวไกล ขึ้นมาเป็น ‘ผู้นำพรรครุ่น 4’ ต่อจาก ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ (อนาคตใหม่) ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-ชัยธวัช ตุลาธน’ (ก้าวไกล)
สำหรับการประชุมดังกล่าว สส.อดีตก้าวไกล ได้ย้ายไปสังกัด ‘พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล’ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น ‘พรรคประชาชน’ พร้อมกับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ใหม่ เบื้องต้น 5 คน ได้แก่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค นายศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรค นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายทะเบียนพรรค น.ส.ชุติมา คชพันธ์ เหรัญญิกพรรค และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กรรมการบริหารพรรค
จุดยืนเบื้องต้นของ ‘พรรคประชาชน’ ตามการแถลงของ ‘ณัฐพงษ์’ ยืนยันเป็นพรรคที่สืบทอดอุดมการณ์ ‘อนาคตใหม่-ก้าวไกล’ ขณะที่โลโก้พรรคใหม่นั้นเป็น 3 เหลี่ยมมุมกลับ มี 6 ด้าน ซึ่งสืบทอดจากหลัก 6 ประการของ ‘คณะราษฎร’ เมื่อปี 2475 โดยเจ้าตัวยืนยันจะเดินหน้าทำงานหนัก เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งปี 2570 หวังได้เสียงในสภาฯเกินครึ่ง เพื่อจัดตั้ง ‘รัฐบาลพรรคเดียว’ แต่ถ้าได้เสียงไม่เพียงพอ ก็ไม่ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับพรรคอื่น แต่ต้องไม่ขัดอุดมการณ์ของพรรคตัวเอง
- อดีตก้าวไกลตั้ง ‘พรรคประชาชน’ ‘เท้ง ณัฐพงษ์’ นั่งหัวหน้า ประกาศเป็นรัฐบาลพรรคเดียว
- จากแถวหลังสู่แถวหน้า! เปิดประวัติ 5 กรรมการบริหารชุดแรก พรรคประชาชน เป็นใคร ?
ประเด็นที่หลายฝ่ายโฟกัสพรรคใหม่นี้จะยังเดินหน้าแก้ไข มาตรา 112 อยู่เช่นเดิมหรือไม่ ‘ณัฐพงษ์’ ตอบชัดถ้อยชัดคำว่า ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ห้ามแก้ไข ดังนั้นพรรคยืนยันจะยังแก้ไขมาตรา 112 อยู่ เพราะยังมีปัญหาในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีจะทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง โดยศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียด และนำเข้าไปหารือในสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับ ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ ที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยเห็นเขาเดินเคียงข้าง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงยุค ‘พิธา-ชัยธวัช’ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เขาคือหนึ่งในคนเก่าแก่ของพรรค มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับดีกับ ‘ธนาธร’ มาหลายปีแล้ว โดยเมื่อครั้งตั้งพรรคก้าวไกล ในส่วนตึกแรกที่ใช้เป็นที่ทำการพรรคย่านบางแค กทม. ก็เป็นตึกของนายณัฐพงษ์
ประวัติส่วนตัว ‘ณัฐพงษ์’ อายุ 37 ปี เกิดวันที่ 18 พ.ค. 2530 เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของนายสุชาติ เรืองปัญญาวุฒิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชนันธร ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด (ประกอบธุรกิจด้านพัฒนาอสังหารัมทรัพย์) และประธานกรรมการ บริษัท เรืองปัญญา เคหะการ จำกัด
‘ณัฐพงษ์’ จบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนทวีธาภิเศก หลังจากนั้นเริ่มทำงานในฐานะผู้บริหาร absolute.co.th ผู้ให้บริการคลาวด์ โซลูชัน
ต่อมาช่วงปลายปี 2561 หลังจาก ‘ธนาธร’ พร้อมเพื่อนรวม 24 คนก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ถัดมาไม่นาน ‘ณัฐพงษ์’ ได้เข้ามาล่มหัวจมท้าย ด้วยความที่เขาเชี่ยวชาญด้านระบบไอทีดิจิทัลเป็นอย่างมาก จึงได้รับมอบบทบาทให้ขับเคลื่อนงานด้านดิจิทัลทางหลังบ้าน จนสามารถขยายฐานเสียง ‘ด้อมส้ม’ ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคส่งเขาชิงเก้าอี้ สส.กทม.สมัยแรก ในเขตบางแค และได้รับการเลือกตั้ง พร้อมกับได้รับความไว้วางใจให้เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณตั้งแต่ปี 2562-2566 ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณด้วย
ช่วงการเลือกตั้งปี 2566 ‘ณัฐพงษ์’ พัฒนาระบบไอทีดิจิทัลของพรรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเขาร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘ก้าว Geek’ มีส่วนสำคัญในการผลักดันหลักการ Open Data, Open Government รวมทั้งการ Digitize งบประมาณแผ่นดินให้เป็นรูปแบบของ Machine-readable ทำให้กระบวนการตรวจสอบและจัดทำงบประมาณแผ่นดินนั้นสะดวกมากยิ่งขึ้นทั้งต่อหน่วยงานรัฐและประชาชนทั่วไป
ในมุมทรัพย์สิน ‘ณัฐพงษ์’ แจ้งเมื่อปี 2566 ระบุว่า ตนและ น.ส.ณัฐพร จันทร์อินทร์ คู่สมรส มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 402,520,543 บาท และหนี้สิน 10,000,421 บาท แบ่งเป็นทรัพย์สินของ นายณัฐพงษ์ จำนวน 396,530,423 บาท และคู่สมรสจำนวน 7,164,006 บาท
โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่ของ ‘ณัฐพงษ์’ เป็นเงินลงทุน 82,258,941 บาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นสามัญ บจก.ชนันธร ดีเวลลอปเม้นท์ 65,000,000 บาท หุ้นสามัญ บจก.เรืองปัญญา เคหะการ 15,600,000 บาท ที่ดิน จำนวน 4 แปลง มูลค่า 108,000,000 บาท ในจำนวนนี้เป็นโฉนดที่ดิน ที่แขวงบางเชือกหนัง เขตลิ่งชัน กทม. มูลค่า 80,000,000 บาท
โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 4 หลัง มูลค่า 200,000,000 บาท ได้แก่ บ้านพักอาศัย 2 ชั้น ที่แขวงบางเชือกหนัง 12,000,000 บาท อาคารซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างที่แขวงบางเชือกหนัง มูลค่า 160,000,000 บาท บ้านพักอาศัย 2 ชั้น ที่เขตบางซื่อ 2 หลัง 28,000,000 บาท ขณะเดียวกัน แจ้งว่า มีนาฬิกา 2 เรือน เป็นนาฬิกา Rolex 150,000 บาท และ Tag Heuer 80,000 บาท และมีหนี้สิน 10,131,374 บาท
ณัฐพงษ์ แจ้งว่ามีรายได้ต่อปีโดยประมาณ 2,820,000 บาท ซึ่งมาจากเงินเดือนสุทธิประจำตำแหน่ง และมีรายจ่ายต่อปี 1,101,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวในชีวิตประจำวัน 600,000 บาท และค่าผ่อนกู้ซื้อบ้าน 501,000 บาท
ในมุมธุรกิจ เขาถือหุ้นอยู่ 2 แห่งคือ
1.บริษัท ชนันธร ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ถือหุ้น 65 ล้านบาท) บริษัทแห่งนี้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2550 ทุนปัจจุบัน 500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 22 ซอยเพชรเกษม 47/2 แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ มีกรรมการ 3 คนคือ 1.นายสุชาติ เรืองปัญญาวุฒิ (บิดานายณัฐพงษ์) 2.นางสุนา เรืองปัญญาวุฒิ 3.นางสาวศรินญา เรืองปัญญาวุฒิ
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 1,341,422,829 บาท รายได้รวม 224,583,908 บาท กำไรสุทธิ 2,104,263 บาท
2.บริษัท เรืองปัญญา เคหะการ จำกัด (ถือหุ้น 15.6 ล้านบาท) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2537 ทุนปัจจุบัน 120 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 22 ซอยเพชรเกษม 47/2 แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ มีกรรมการ 3 คนคือ 1.นายสุชาติ เรืองปัญญาวุฒิ (บิดานายณัฐพงษ์) 2.นางสุนา เรืองปัญญาวุฒิ 3.นางสาวศรินญา เรืองปัญญาวุฒิ
นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 284,714,349 บาท รายได้รวม 140,079,186 บาท กำไรสุทธิ 6,262,044 บาท
ถัดมานอกเหนือจากการตั้ง ‘ณัฐพงษ์’ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แล้ว ยังมีชื่อของ ‘ศรายุทธ ใจหลัก’ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาชน ด้วย สำหรับ ศรายุทธ หรือ ‘ติ่ง’ อดีต ผอ.พรรคอนาคตใหม่ อดีต ผอ.พรรคก้าวไกล เป็น 1 ใน 3 ‘เพื่อนรัก’ ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ชัยธวัช ตุลาธน’ ที่คบค้าสมาคมกันมาเกิน 20 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตนักศึกษาเลยทีเดียว
โดยในการแถลงข่าวภายหลังมติที่ประชุมพรรคประชาชน ‘ศรายุทธ’ ตอบคำถามสื่อถึงความเป็นเพื่อนกับนายธนาธรว่า ไม่ปฏิเสธ เรารู้จักกันมา 20 กว่าปี ตั้งแต่เป็นรองสหพันธ์นิสิตนักศึกษาปี 2543 เราคบค้าสมาคมตลอดในฐานะมิตรสหาย ร่วมตั้งพรรคด้วยกันตั้งแต่อนาคตใหม่ ความคิดเราปกติ คุยกันตลอดเวลา ในฐานะเพื่อนแลกเปลี่ยน แม้วันนี้อยู่คนละองค์กร ก็ต้องมีเจอบ้างในฐานะเพื่อน ก็คุยกัน แต่เราเข้าใจกันดีว่า การบริหารงานแต่ละองค์กร จะมีผู้บริหารแต่ละองค์กร มีโครงสร้างการทำงานของมัน ความเห็นต่าง ๆ อาจผ่านหูตน อาจเสนอบ้าง แต่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่กรรมการบริหารพรรค เราทำงานด้วยความเข้าใจอย่างดี
“ส่วนการดีลลับต่าง ๆ มั่นใจเพื่อนเราทุกคน ไม่ว่านายธนาธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายชัยธวัช ตุลาธน ในการคุยกับคนอื่น ไม่ใช่เรื่องมีปัญหาอะไร ในการรับฟังว่า คนนั้นคนนี้คิดเห็นอย่างไร มาเล่าสู่กันฟัง ไม่ได้มีปัญหาอะไรในความคิดของตน ปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการบริหารจะตัดสินใจอย่างไรกับข้อมูลที่ได้รับมา นี่คือหลักการสำคัญ เรายืนบนหลักการนี้ตลอดตั้งแต่ก้าวไกล” ศรายุทธ ยืนยัน
สำหรับความสัมพันธ์ของ ‘ศรายุทธ-ธนาธร-ชัยธวัช’ เริ่มตั้งแต่ยุคศรายุทธ เป็นอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2543 ขณะที่ธนาธร เป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2542 และรองเลขาธิการ สนนท.ปี 2543 ส่วนชัยธวัช ตุลาธน เป็นเลขาธิการ สนนท. ปี 2541
หากสังเกตจะเห็นว่า การขยับก้าวขึ้นมาของ ‘คนใกล้ชิด’ ของ ‘ธนาธร’ ขณะนี้เหลือเพียง ‘ศรายุทธ’ เพียงคนเดียว หลังจาก ‘ชัยธวัช’ ที่ถูกผลักดันให้ขึ้นมารั้งบังเหียน ‘หัวหน้าก้าวไกล’ ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี จากคดียุบพรรคก้าวไกลไปแล้ว
บทบาทของ ‘ศรายุทธ’ ที่ผ่านมาคือการวางโครงสร้างการทำงาน ‘หลังบ้าน’ เป็นหลัก ตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ จนถึงก้าวไกล โดยเฉพาะนโยบาย ‘ปักธงความคิด’ ไปยังประชาชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองของ ‘ก้าวไกล’ โดยทำงานสอดคล้องประสานกันกับ ‘ธนาธร-ชัยธวัช’ ซึ่งทั้ง 3 คนถูกสื่อมวลชนหลายสำนักขนานนามว่า ‘กลุ่มเพื่อนเอก’ ที่เป็นคนกำหนดทิศทาง-นโยบายของ ‘พรรคส้ม’ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา
ที่น่าสนใจคือปกติ ‘ติ่ง ศรายุทธ’ มักรับบทเดินเกมทำงานหลังบ้าน เป็น ‘คีย์แมนสำคัญ’ ที่คอยขับเคลื่อนโยบาย แต่คราวนี้ถูกผลักดันให้มารับบท ‘หน้าฉาก’ สะท้อนให้เห็นว่า ‘พรรคประชาชน’ แน่วแน่แค่ไหนในการเดินหน้าคว้าชัยศึกเลือกตั้งปี 2570 ตามปณิธานของ ‘ธนาธร’ ที่ประกาศไว้หลัง ‘ก้าวไกล’ ถูกยุบเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งหมด คือ โพรไฟล์ 2 คีย์แมนหลักพรรคส้ม ในยานพาหนะคันที่ 3 ที่เตรียมพร้อมเดินเกมยาวไปอีกอย่างน้อยถึงการเลือกตั้งปี 2570 อย่างไรก็ดี ที่ต้องจับตาคือนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 พรรคนี้จะขับเคลื่อนเดินเกมไปในทิศทางไหน และจะมีอายุถึงการเลือกตั้งปี 2570 ได้หรือไม่ ต้องติดตาม