ภายใต้ข้อตกลงใหม่ แรงงานเก็บเบอร์รี่สามารถทำข้อตกลงการทำงานสูงสุดหกวันต่อสัปดาห์ คิดเป็นกะละ 11 ชั่วโมง โดยไม่มีการเพิ่มชั่วโมงอีกแต่อย่างใด ซึ่งระยะเวลานี้รวมถึงการทำงานล่วงเวลา 3 ชั่วโมง และการทำงานในวันเสาร์เพิ่มอีก 11 ชั่วโมงแล้ว ชั่วโมงการทํางานใด ๆ นอกเหนือรายละเอียดเหล่านี้จะต้องมีค่าจ้างล่วงเวลาในอัตรารายชั่วโมงที่สูงขึ้น
ประเด็นการกล่าวหาเรื่องขบวนการพาแรงงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่ไปเก็บเบอร์รี่ที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเชื่อมโยงกับกิจกรรมการค้ามนุษย์ ถือเป็นความไม่สบายใจทั้งจากทางประเทศไทยและประเทศฟินแลนด์จนนำไปสู่การเรียกร้องไม่ให้มีการส่งแรงงานไทยไปยังฟินแลนด์
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่านายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากการพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานฟินแลนด์ ขอยืนยันว่าปีนี้จะมีการส่งแรงงานไทยไปเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์แน่นอน
จากข่าวดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้ไปสืบค้นข้อมูลจากสื่อในประเทศฟินแลนด์เพื่อดูว่าเงื่อนไขใหม่ที่มีการระบุว่าเพื่อคุ้มครองแรงงานเก็บเบอร์รี่คนไทยนั้นมีอะไรกันบ้าง มีรายละเอียดดังนี้
ถ้าหากแรงงานเก็บเบอร์รี่จากประเทศไทยเดินทางถึงยังประเทศฟินแลนด์ในช่วงฤดูร้อนนี้ (20 มิ.ย.-22 ก.ย.) นี่จะถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ทำงานภายใต้ระเบียบใหม่ซึ่งมาจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างสหภาพอุตสาหกรรมและสหพันธ์นายจ้างเกษตรของฟินแลนด์
ที่ผ่านมาทางการไทยปฏิเสธที่จะอนุญาตให้แรงงานเก็บเบอร์รี่เดินทางมาฟินแลนด์ในช่วงฤดูร้อน เหตุผลก็มาจากข่าวปัญหาการทุจริต,การจัดการที่ไม่เหมาะสม ข่าวการสอบสวนประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ในบริษัทแปรรูปเบอร์รี่ที่กินเวลานานหลายปี
วิธีการแก้ปัญหาซึ่งมีการเสนอและได้รับการอนุญาตจากทางการไทยก็คือว่าแรงงานเก็บเบอร์รี่จะได้รับการปฏิบัติเทียบเท่ากับพนักงานบริษัท ไม่ใช่ผู้ประกอบการจ้างเหมาทั่วไป โดยมีข้อตกลงร่วมกับทางฟินแลนด์ว่าจะเป็นผู้ควบคุมเงื่อนไขการทำงาน
ภายใต้สัญญาใหม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานสูงสุดที่จะทำได้ และช่วงเวลาพักผ่อนของแรงงาน มีการกำหนดภาคผนวกเกี่ยวข้องกับแรงงานเก็บเบอร์รี่โดยเฉพาะ ที่จะมีผลครอบคลุมในฤดูกาลนี้ และคาดว่าจะมีการเจรจากันใหม่ในฤดูหนาวนี้ ซึ่งจะเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับภาระผูกพันของคนงานและนายจ้าง ดูว่าค่าใช้จ่ายใดที่จะเรียกกับจากคนงานได้และค่าใช้จ่ายใดที่นายจ้างต้องจ่าย ซึ่งที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายเช่นการหักค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทําให้รายได้ของแรงงานไทยต้องลดลงเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างการเก็บเบอร์รี่ในฟินแลนด์ช่วงปี 2561 (อ้างอิงวิดีโอจาก MLCtheone)
แต่รายละเอียดสัญญาใหม่จะมีครอบคลุมอาทิ ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าวีซ่าจ่ายโดยนายจ้าง และค่าใช้จ่ายสามารถหักออกจากค่าจ้างได้
นางคริสเตล ไนบอนด์ จากสหพันธ์ฯ กล่าวว่าข้อตกลงท้องถิ่นที่ตกลงกัน ระบุว่าการชําระค่าล่วงเวลาจะต้องลงนามโดยทั้งสหภาพอุตสาหกรรมและสหพันธ์นายจ้างการเกษตรหลังจากนั้นจะต้องตกลงกันในพื้นที่ทํางานด้วย
การบังคับใช้กะเก็บเบอร์รี่ซึ่งกินเวลา 24 ชั่วโมง นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ข้อตกลงใหม่อนุญาตให้ทำงานได้เป็นเวลานานตราบเท่าที่พวกเขาได้รับเงิน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ต้องการทำงานในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ตราบใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าได้ประโยชน์ทางการเงิน
นางไนบอนด์กล่าวต่อไปว่าการทำงานกะพิเศษและการทำงานล่วงเวลาจะต้องเป็นไปโดยสมัครใจเสนอ และจะต้องมีการทำบันทึกเวลาทำงานซึ่งจะเป็นข้อบังคับสำหรับนายจ้าง และขอให้แรงงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยเก็ยรายละเอียดบันทึกชั่วโมงการทำงานตอนตัวเองไว้ด้วย
@ช่วงเวลาพักผ่อนภาคบังคับ
ภายใต้ข้อตกลงใหม่ แรงงานเก็บเบอร์รี่สามารถทำข้อตกลงการทำงานสูงสุดหกวันต่อสัปดาห์ คิดเป็นกะละ 11 ชั่วโมง โดยไม่มีการเพิ่มชั่วโมงอีกแต่อย่างใด ซึ่งระยะเวลานี้รวมถึงการทำงานล่วงเวลา 3 ชั่วโมง และการทำงานในวันเสาร์เพิ่มอีก 11 ชั่วโมงแล้ว ชั่วโมงการทํางานใด ๆ นอกเหนือรายละเอียดเหล่านี้จะต้องมีค่าจ้างล่วงเวลาในอัตรารายชั่วโมงที่สูงขึ้น
นี่หมายความว่าจะมีสัดส่วนการทำงานพิเศษอยู่ที่ 26 ชั่วโมง จากช่วงเวลาการทำงานปกติ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (8 ชั่วโมงนับแต่วันจันทร์ถึงศุกร์) ซึ่งการทำงานล่วงเวลาสามารถทำได้ตราบใดที่คำนึงถึงช่วงเวลาการพักผ่อนของคนทำงาน
โดยหลักการแล้วต้องมี 11 ชั่วโมงระหว่างกะ แต่กะการทำงานสามารถหดสั้นลงเหลือเจ็ดชั่วโมงได้หากมีเหตุผลจำเป็น หรือในสถานการณ์พิเศษกะการทำงานสามารถลดเหลือห้าชั่วโมงได้
“เหตุผลสําหรับข้อยกเว้นเหล่านี้ เนื่องจากว่าคุณต้องทํางานตามฤดูกาล ซึ่งการเก็บเบอร์รี่ บางทีก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ สภาพแวดล้อมและสานการณ์การเก็บเกี่ยว” นางไนบอนด์กล่าว
ชั่วโมงการทำงานสำหรับแรงงานเก็บเบอร์รี่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยสมัครใจตามชั่วโมงการทำงานของธนาคาร โดยต้องยึดความยืดหยุ่นที่มีสมดุลประกอบกัน
ระบบเวลาที่มีความยืดหยุ่นทำให้มีช่วงเวลาการทำงานปกติอยู่ที่ 50 ชั่วโมงในระยะเวลาจํากัด โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ตราบใดที่ยังมีความสมดุลสำหรับพนักงานที่ถูกว่าจ้าง
ทางด้านของนางริคก้า วาซามา หัวหน้าหน่วยแรงงานต่างด้าวที่สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่าในช่วงเวลาการจ้างงานที่มีความสั้นลงก็จะทำให้งานมีความสมดุลมากขึ้น เช่นเดียวกับกรณีทำงานให้ธนาคาร ถ้ามีการทำงานล่วงเวลาก็จะได้รับการชดเชยเช่นกัน
@แรงงานเก็บเบอร์รี่ควรออกจากฟินแลนด์พร้อมกับเงินในกระเป๋า
ข้อตกลงร่วมรับประกันว่าแรงงานเก็บเบอร์รี่จะได้รับค่าจ้างในระดับหนึ่ง รายได้ของพวกเขาจะมาจากชั่วโมงการทํางานและปริมาณผลเบอร์รี่ที่พวกเขาเก็บ โดยค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานเก็บเบอร์รี่จะอยู่ที่ 9.61 ยูโร (370.66 บาท) ต่อชั่วโมง หากมีผลเบอร์รี่ให้เก็บและเก็บเกี่ยวได้ดีค่าจ้างจะเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์
ทางด้านของนางไนบอนด์กล่าวว่าอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานส่วนใหญ่น่าจะอยู่ที่ 11.53 ยูโร (444.82 บาท) ต่อชั่วโมง
ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานฟินแลนด์ได้จัดทําการประมาณการที่ชี้ให้เห็นว่าค่าจ้างสุทธิขั้นต่ำสําหรับแรงงานเก็บเบอร์รี่หลังจากหักเงินจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ยูโร (65,565 บาท) ในฤดูร้อนนี้หากพวกเขาทํางานห้าวันต่อสัปดาห์ คิดเป็นระยะเวลาแปดชั่วโมงต่อวัน
โฆษณาชวนไปเก็บสตรอว์เบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ช่วงปี 2566 (อ้างอิงวิดีโอจาก Travel Abroad Aide)
อย่างไรก็ตามรายได้ประมาณการที่กระทรวงเศรษฐกิจฯ ประเมินยังไม่ครอบคลุมถึงการหักเงินค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าอาหาร และที่พัก
ถ้าหากแรงงานทำงานหกวันต่อสัปดาห์ คิดเป็นวันละ 11 ชั่วโมง ก็มีการคำนวณว่าพวกเขาน่าจะเก็บเงินกลับประเทศไปได้ 4,000 ยูโร (154,372 บาท)
นางวาซามากล่าวเพิ่มเติมว่านายจ้างบางรายมีความกังวลว่าความสัมพันธ์ในการจ้างงานอาจจะทำให้รายได้ของแรงงานเก็บเบอร์รี่ลดลงได้ ซึ่งตัวเธอได้กล่าวกับเหล่าบรรดานายจ้างแล้วว่าข้อตกลงร่วมกันนั้นกําหนดระดับรายได้ขั้นต่ำเท่านั้น คนงานและนายจ้างสามารถทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นได้เสมอ
เนื่องจากรายได้ของแรงงานไทยยังคงน้อยเพราะฤดูเก็บเบอร์รี่ในปีนี้ซึ่งเหลืออยู่ไม่นานแล้ว ดังนั้นค่าจ้างของแรงงานเก็บเบอร์รี่คนไทยจึงยังคงปลอดภาษี
เรียบเรียงจาก:https://yle.fi/a/74-20102786