"...ผลการตรวจสอบโครงการดังกล่าวพบความบกพร่องในการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ และก่อให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงินสูงถึง 102.06 ล้านบาท..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2567 นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดแถลงข่าวรายงานผลปฏิบัติงานประจำปี 2566 ของสตง. และผลการตรวจสอบโครงการสำคัญซึ่งมีกรณีศึกษาโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสู่ความเข้มแข็งและสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจ BCG วงเงินกว่า 500 ล้านบาท ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคอีสาน พบข้อบกพร่องการจัดซื้อจัดจ้างหลายประเด็นที่ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
***************
สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดอุดรธานี ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสู่ความเข้มแข็งและสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจ BCG ของหน่วยงานแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่มาของการตรวจสอบครั้งนี้มาจากจากกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินส่งเรื่องตามข้อปรึกษาหารือจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบกลางสำหรับโครงการดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานได้เสนอโครงการเพื่อของบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี วงเงินจำนวน 1,790 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงินจำนวน 503.27 ล้านบาท กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี เลย นครพนม สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
โดยคัดเลือกกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) จำนวน 2,400 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน รวมจำนวน 24,000 คน มีกิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรและอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ รวมจำนวน 6 หลักสูตร ประกอบด้วย
โดยมีการจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการ ระยะเวลา 6 เดือน (เมษายน ถึง กันยายน2566) และเบิกจ่ายงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการโครงการ จำนวน 450.88 ล้านบาท คงเหลือ 52.39 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2566)
แต่จากการสุ่มตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ การจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์ให้กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพในชุมชน จำนวน 2 หลักสูตร คือการผลิตอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องจากวัตถุดิบในท้องถิ่น และ ระบบการปลูกพืชมูลค่าสูงแบบปลอดภัยในโรงเรือนอัจฉริยะ และตรวจสอบสังเกตการณ์ ณ พื้นที่เป้าหมาย จำนวน 5 จังหวัด พบข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ จำนวน 6 ประเด็น ดังนี้
1. ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งรับผิดชอบจัดทำร่างขอบเขตงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จัดซื้อตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 21 ทำให้ทางราชการมีความเสี่ยงหรืออาจได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่มีคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการตจัดทำร่างขอบเขตงานหรือรายละเอียดพัสดุอย่างชัดเจน เพื่อให้ได้พัสดุเป็นไปตามความต้องการหรือวัตถุประสงค์และมีความถูกต้องและยังเป็นผลต่อเนื่องทำให้ขั้นตอนการกำหนดราคากลาง การจัดทำใบสั่งซื้อและการตรวจรับพัสดุเกิดข้อบกพร่อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
2. การกำหนดราคากลางไม่ถูกต้อง สูงกว่าราคากลางที่ควรจะเป็น/ราคาที่เหมาะสม จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการหรือจัดทำเพื่อให้ได้มาซึ่งราคากลางตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งไม่มีการอ้างอิงที่มาซึ่งสอดคล้องหรือเป็นไปตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทำให้ราคากลางที่กำหนดไม่ถูกต้อง สูงกว่าราคากลางที่ควรจะเป็น/ราคาที่เหมาะสม
@ สภาพสินค้าที่จัดซื้อมา ราคา 4 หมื่นบาท
@ สตง..สืบราคาในท้องตลาดอยู่แค่หลักหมื่น
โดยจากการสุ่มตรวจสอบพบว่าราคากลางสูงกว่าราคากลางที่ควรจะเป็น/ราคาที่เหมาะสมและมีการเบิกจ่ายตามใบสั่งซื้อซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ดังนี้
3. วิธีการจัดซื้อจัดจ้างอาจเข้าข่ายเป็นการไม่เป็นไปตามระเบียบฯ โดยการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดแยกดำเนินการโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในวงเงินคราวละไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งรายการพัสดุที่จัดซื้อส่วนใหญ่เป็นพัสดุชนิด/ประเภทเดียวกันจากผู้ขายรายเดียวกันและดำเนินการจัดซื้อในห้วงเวลาใกล้เคียงกันประกอบโครงการดังกล่าวได้รับจัดสรรเงินงบประมาณในครั้งเดียวกัน
นอกจากนี้ยังพบข้อเท็จจริงว่าผู้ขายส่งมอบในวันเดียวกันหลายเขตพื้นที่ เช่น กรณีการจัดซื้อเครื่องสับย่อยและบด จำนวน 800 เครื่อง จัดทำใบสั่งซื้อรวม 52 ใบสั่งซื้อจากผู้ขายรายเดียวกัน รวมเบิกจ่ายเงินเป็นจำนวน 15.98 ล้านบาท ซึ่งการแยกดำเนินการดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในคราวเดียวกันเพื่อให้วิธีการซื้อหรือจ้างหรืออำนาจในการสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไป เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อ 20 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเคร่งครัด
4. การจัดทำเอกสารสัญญาหรือข้อตกลง (ใบสั่งซื้อ) ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือขอบข่ายแห่งวัตถุประสงค์และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการรับประกันความชำรุดบกพร่อง จากการตรวจสอบพบว่าเอกสารสัญญาหรือข้อตกลง (ใบสั่งซื้อ) ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของโครงการทั้งหมด ระบุสถานที่ส่งมอบ ณ สถานที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุชี้แจงว่าในการดำเนินโครงการกำหนดให้ผู้ขายส่งมอบพัสดุ ณ พื้นที่ของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น(Startup) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงรวมถึงไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการรับประกันความชำรุดบกพร่องของพัสดุที่จัดซื้อในสัญญาหรือข้อตกลงในกรณีที่ปรากฏความชำรุดบกพร่องของพัสดุที่ส่งมอบตามสัญญาหรือข้อตกลงเพื่อแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขหรือซ่อมแซมเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 165 และที่เกี่ยวข้อง และมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเคร่งครัด
5. การตรวจรับพัสดุไม่เป็นไปตามระเบียบฯ หนังสือสั่งการกำหนด และข้อกำหนดสัญญา (ใบสั่งซื้อ) จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์การส่งมอบพัสดุในพื้นที่จริง ณ สถานที่ดำเนินโครงการของกลุ่มวิสาหกิจฯ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี เลย สกลนคร นครราชสีมา และขอนแก่น รวมจำนวน 42 กลุ่ม ตามรายละเอียดคุณลักษณะวัสดุอุปกรณ์ที่จัดซื้อและใบสั่งซื้อของพัสดุจำนวน 4 รายการ พบว่าการตรวจรับพัสดุไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วนตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนด/ข้อตกลง(ใบสั่งซื้อ) แต่ได้มีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างทั้งหมดแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการดังนี้
@ส่งของไม่ครบถ้วน
นอกจากนี้ยังพบว่าคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่ได้ตรวจรับพัสดุ ณ สถานที่ซึ่งกำหนดไว้ในข้อตกลง (ใบสั่งซื้อ) กล่าวคือ มีทั้งการตรวจรับ ณ สถานที่ส่งมอบและการตรวจรับออนไลน์ โดยใช้การพูดคุยผ่านโทรศัพท์มือถือและการถ่ายภาพเพื่อยืนยันซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อ 175 ข้อ 165 และ ข้อ 203 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และมาตรา 97 พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 279 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เรื่อง แนวทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อดำเนินการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐและมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเคร่งครัด
6. ไม่มีการติดตั้งพัสดุที่ได้รับมอบหรือยังไม่มีการเปิดใช้งานพัสดุอาจส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ตามที่ได้กำหนดไว้
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สถานที่ส่งมอบพัสดุในพื้นที่จริง ณ สถานที่ดำเนินโครงการของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) /กลุ่มอาชีพในชุมชน
พบว่ากลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น(Startup) /กลุ่มอาชีพในชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการติดตั้งพัสดุที่ได้รับมอบหรือยังไม่มีการเปิดใช้งานพัสดุตั้งแต่วันที่ได้รับมอบ จึงไม่มีการใช้ประโยชน์จากพัสดุที่ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการตามที่ได้กำหนดไว้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีการใช้และการบริหารพัสดุที่เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 และมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเคร่งครัด
@ สุทธิพงษ์ บุญนิธิ
ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ผลการตรวจสอบโครงการดังกล่าวพบความบกพร่องในการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ และก่อให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงินสูงถึง 102.06 ล้านบาท ซึ่งในระหว่างการตรวจสอบ สตง. ได้ให้คำแนะนำกรณีข้อบกพร่องอันมิใช่สาระสำคัญหรือข้อบกพร่องที่ไม่เกิดความเสียหายเพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้องและป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องลักษณะดังกล่าวอีกในโอกาสต่อไปและหน่วยรับตรวจได้ยอมรับเกี่ยวกับข้อผิดพลาดหรือความบกพร่องทั้งหมดตามผลการตรวจสอบและได้ดำเนินการเรียกคืนเงินจากผู้ขายส่งคืนคลังแล้ว เป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท อีกทั้งยังได้มีการแจ้งติดตามเร่งรัดเรียกเงินคืนจากผู้ขายและแจ้งให้ดำเนินการส่งมอบพัสดุให้ถูกต้องครบถ้วนพิ่มเติมเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สตง. ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการเพื่อชดใช้ความเสียหาย
รวมทั้งการแก้ไขข้อบกพร่องและการเยียวยาหรือป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในส่วนที่ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถดำเนินการได้สำหรับกรณีการส่งมอบพัสดุที่ผู้ขายยังส่งมอบพัสดุไม่ครบถ้วน แต่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ทำการตรวจรับพัสดุและทำใบตรวจรับการจัดซื้อโดยรับรองผลการตรวจรับว่าผู้ขายได้ส่งมอบพัสดุถูกต้องครบ ถ้วนและได้มีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ขายไปทั้งหมดแล้วนั้น
พฤติการณ์เป็นการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ซึ่งเป็นกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ สตง. จะได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
เมื่อถามว่า หน่วยงานที่ถูกตรวจโครงการฯ นี้ คือ หน่วยงานใด นายสุทธิพงษ์ ตอบว่า เป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ส่วนกลุ่มคน ที่จะถูกส่งชื่อให้ ป.ป.ช.สอบส่วนใหญ่ จะเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง