"...ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนโหวตเลือกประธานสภาฯสูง มีอีกกลุ่มผุดขึ้นมาคือ ‘สว.สีขาว’ นำโดย ‘หมอเปรมศักดิ์ เพียยุระ’ ที่พยายามเซตกลุ่มนี้ขึ้นมาอย่างหลวม ๆ จากบรรดา สว.สายอื่น ๆ โดยไม่ได้หวังผลเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯสูงแต่อย่างใด แต่มองไปถึงฉากทัศน์ในอนาคต นั่นคือส่งคนในกลุ่มเข้าไปมีตำแหน่งแห่งที่ในกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่าง ๆ ของ สว.ชุดใหม่แทน..."
ในช่วงสัปดาห์หน้า วันที่ 25 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภา (สว.) อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยมีวาระสำคัญ คือ การโหวตเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาทั้ง 2 คน หลังจาก 200 สว.เข้ารายงานตัวกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ครบถ้วนเรียบร้อยตั้งแต่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
ผ่าสาแหรก 200 สว. สามารถชำแหละออกมาได้เป็น ‘ค่ายน้ำเงิน’ ที่ได้รับการผลักดันจาก ‘นายใหญ่อีสานใต้’ อย่างน้อย 140-150 คน ‘ค่ายส้ม’ ที่ได้รับแรงหนุนจาก ‘เสียงโหวตอิสระ’ อย่างน้อย 20-30 คน ‘ค่ายแดง’ ที่เป็นกำลังหลักของ ‘บ้านใหญ่’ บางจังหวัด ราว 10 คน ส่วนที่เหลือมาจากสาย ‘บ้านป่า-กลุ่มทุน’ ราว 6-7 คน และกลุ่มนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สายอนุรักษนิยมอีกราวเกือบ 30 คน
หากกางจำนวนคนแล้วเห็นได้ว่า สว.ที่ได้รับแรงหนุนจาก ‘ค่ายน้ำเงิน’ ค่อนข้าง ‘กินรวบ’ เสียงข้างมากในสภาฯสูง และการันตีเก้าอี้ ‘ประธานวุฒิสภา’ อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีภายใน สว.กลุ่มนี้ ยังคงไม่เคาะตัวคนชิงอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังซาวเสียงกันไม่สะเด็ดน้ำ มี 2 ชื่อเป็นแคนดิเดต และ ‘ดีกรี’ สูสีกินกันไม่ลงอยู่
คนแรก คือ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เขาเรียนจนเตรียมทหารรุ่นที่ 22 ตท.22) และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 33 (จปร.33) รุ่นเดียวกับ ‘บิ๊กบี้’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีต ผบ.ทบ.
โดย ‘พล.อ.เกรียงไกร’ คือ เพื่อนรักกับ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากทั้งคู่เรียนหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 61 (วปอ.61) มาด้วยกัน ซึ่ง พล.อ.เกรียงไกร ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ยืนยันเช่นกันว่า เป็นเพื่อนสนิทของ ‘เสี่ยหนู’ ตั้งแต่สมัยเรียน วปอ.
อย่างไรก็ดี ท่าทีของ ‘พล.อ.เกรียงไกร’ ยังออกอาการ ‘แบ่งรับ-แบ่งสู้’ ในตำแหน่งดังกล่าว ทำให้ตัวเต็งนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯสูงอาจหวยออกที่ตัวเต็ง
@ มงคล สุระสัจจะ
คนต่อมาคือ ‘มงคล สุระสัจจะ’ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ อดีตประธานคณะทำงานของนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกมองว่าเป็น ‘สายตรง’ ของ ‘บ้านใหญ่อีสานใต้’ มีภาษีจากสายการปกครอง มิใช่สายทหาร จึงมีท่าทีประนีประนอม เหมาะที่จะทำงานในสภาฯที่ต้องอยู่ร่วมกับ ‘นักเลือกตั้ง’ หลากสายพันธุ์มากกว่า
1 ใน 2 คนนี้ คาดว่าจะมีสักคนได้รับการเสนอชื่อนั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภา และได้รับเสียงโหวตแบบ ‘ผ่านฉลุย’ ไปอย่างไม่ยากเย็น จากการคุมเกมของ ‘สภาฯสีน้ำเงิน’ ในครั้งนี้
ส่วนตำแหน่ง 2 รองประธานวุฒิสภา นั้น ว่ากันว่าขณะนี้ ‘ค่ายแดง-สว.บ้านป่า’ เริ่มต่อสายดีล ‘ค่ายน้ำเงิน’ ต่อรองขอแบ่งโควตาตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 มาไว้ครอบครอง เพื่อ ‘บาลานซ์’ ขั้วการเมืองในสภาฯสูง เปิดทางถึงสารพัดดีลต่าง ๆ ในอนาคต
@นพดล อินนา
โดย สว.กลุ่มนี้เริ่มโยนหินถามทางถึงชื่อของ ‘นพดล อินนา’ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย อดีตเลขานุการรมว.ยุติธรรม (ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ยุคก่อตั้งกับนายทักษิณ ชินวัตร)
แม้อดีตเขาจะเคยอยู่กลุ่มเดียวกับ ‘ร.ต.อ.ปุระชัย’ ที่ในช่วงท้ายของพรรคไทยรักไทยจะบาดหมางกับ ‘ทักษิณ’ ก็ตาม แต่ปัจจุบันเขาสลัดภาพลักษณ์ดังกล่าวทิ้งไปแล้ว จึงคาดว่าอาจถูกเสนอชื่อให้นั่งเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ได้อย่างที่ ‘นายใหญ่’ ไม่มีปัญหา เพราะไม่มีทางเลือกมากนัก
@ นันทนา นันทวโรภาส
ข้ามฟากมาที่ สว.สีส้ม ถูกมองว่านำโดย ‘นันทนา นันทวโรภาส’ สว.สายสื่อสารมวลชน พร้อมกลุ่มก๊วนอดีตนักวิชาการ-สื่อบางส่วนที่เรียกตัวเองว่า ‘สว.พันธุ์ใหม่’ ตอนแรกอ้างว่ามีเสียงสนับสนุนราว 30 เสียง แต่เมื่อถึงเวลาจริง ‘ทีเด็ดทีขาด’ คาดว่าอาจไม่ถึง และคงได้ประมาณ 20 เสียง จะเสนอชื่อตัวเป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เพื่อไปเชิงสัญลักษณ์ตัวแทนสัดส่วนสตรี ชิงกับคนของ ‘ค่ายแดง-สว.บ้านป่า’
นอกจากนี้ยังหนุน ‘บุญส่ง น้อยโสภณ’ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เพราะมีประสบการณ์ทำงาน เคยเป็นที่ปรึกษา ‘ศุภชัย สมเจริญ’ อดีต กกต. และอดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในสภาฯสูงชุดก่อน อย่างไรก็ดี ‘บุญส่ง’ ยังไม่ ‘เซย์ เยส’ หรือ ‘เซย์ โน’ ที่จะร่วมขึ้นเรือไปกับก๊วน ‘สว.พันธุ์ใหม่’ หรือไม่
อย่างไรก็ดี ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนโหวตเลือกประธานสภาฯสูง มีอีกกลุ่มผุดขึ้นมาคือ ‘สว.สีขาว’ นำโดย ‘หมอเปรมศักดิ์ เพียยุระ’ ที่พยายามเซตกลุ่มนี้ขึ้นมาอย่างหลวม ๆ จากบรรดา สว.สายอื่น ๆ โดยไม่ได้หวังผลเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯสูงแต่อย่างใด แต่มองไปถึงฉากทัศน์ในอนาคต นั่นคือส่งคนในกลุ่มเข้าไปมีตำแหน่งแห่งที่ในกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่าง ๆ ของ สว.ชุดใหม่แทน
ทั้งหมดคือบทบาทของแต่ละกลุ่มที่เซตขึ้นมาหวังต่อรองเก้าอี้ประธานวุฒิสภา กับ 2 รองประธานฯ รวมถึงเก้าอี้ใน กมธ.ชุดต่าง ๆ ส่วนจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ คงต้องติดตามกันในช่วงหน้างานวันจริง 25 ก.ค.เท่านั้น