ทว่าอินโดนีเซียกลับอ้างว่าตัวเองจะไม่เผชิญปัญหาแบบเดียวกับไทยแน่นอน ถ้ามีการสั่งซื้อเรือดำน้ำ S26T เนื่องจากเชื่อว่ากฎระเบียบการห้ามส่งออกนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวดเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน
ข่าวการจัดซื้ออาวุธในต่างประเทศ ที่คนไทยให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้นกรณีที่ประเทศจีนขายเรือดำน้ำรุ่น S26T ให้กับกองทัพเรืออินโดนีเซีย ซึ่งเรือดำน้ำรุ่นดังกล่าวนี้ ประเทศจีนได้เคยเสนอขาย และกองทัพเรือไทยได้ทำสัญญาจัดซื้อไปแล้ว
แต่กลับประสบปัญหาว่ากองทัพเรือไทยไม่ได้เครื่องยนต์เรือดำน้ำจากเยอรมนี ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ส่งผลทำให้ต้องมีการแก้ไขสัญญา ทำให้จนถึงบัดนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ากองทัพเรือไทยจะได้รับเรือดำน้ำรุ่นนี้หรือไม่ หรือว่าต้องเปลี่ยนเป็นการจัดซื้ออย่างอื่นแทน
แต่กับประเทศอินโดนีเซียนั้นดูเหมือนว่าจะมีความมั่นใจในเรื่องของเครื่องยนต์เรือดำน้ำมากว่าน่าจะได้เครื่องยนต์จากเยอรมนี และอินโดนีเซียไม่น่าจะประสบปัญหาเท่ากับประเทศไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้เอาบทความจากสำนักข่าว Zona Jakarta ที่วิเคราะห์การจัดซื้อของกองทัพเรืออินโดนีเซียมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ประเทศจีนยังคงมองหาประเทศลูกค้าที่มีศักยภาพสำหรับเรือดำน้ำหยวนคลาส S26T ที่พวกเขาผลิตและกำลังทำการตลาด
หนึ่งในประเทศผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ที่จีนมองไว้ก็คือประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากมีสิทธิประโยชน์มากมายที่ประเทศเหล่านี้ได้ทำการค้าร่วมกัน
ข้อเสนอเรือดำน้ำ S26T ถูกเสนอขายให้กับอินโดนีเซีย หลังจากที่มีข่าวว่าประเทศไทยได้ปฏิเสธข้อเสนอเรือดำน้ำด้วยเหตุผลบางประการ
ตามรายงานข่าว Zona Jakarta วันที่ 4 ก.ค. ระบุว่าอินโดนีเซียได้รับข้อเสนอจากจีน โดยมีเหตุผลบางอย่างรองรับ
เหตุผลที่ว่านี้ก็คือประโยชน์หลายประการตามข้อเสนอที่มีการอธิบายไว้โดยบรรษัทต่อเรือแห่งรัฐจีน (CSSC) ที่เคยมาเยือนอินโดนีเซียก่อนหน้านี้
บรรษัท CSCC อธิบายเอาไว้ว่ายังสามารถแก้ไขรายละเอียดของ S26T ได้ หากทางอินโดนีเซียตัดสินใจสั่งซื้อ เพื่อให้เรือดำน้ำชั้นหยวนตรงตามความต้องการของทัพเรืออินโดนีเซียได้
ข่าวอินโดนีเซียเสนอเกี่ยวกับเรือดำน้ำ S26T (อ้างอิงวิดีโอจาก Gudang Gokil)
อินโดนีเซียในฐานะลูกค้ายังมีสิทธิเลือกเครื่องยนต์จากผู้ขายได้ และแน่นอนว่าเครื่องยนต์ที่อินโดนีเซียเลือกก็คือเครื่องยนต์ MTU จากเยอรมนี
นอกจากนี้อินโดนีเซียยังได้ประโยชน์อื่นๆที่จะส่งผลทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพขึ้น ได้แก่จรวดร่อนต่อต้านเรือรบรุ่น YJ-18 ที่สามารถต่อกรได้กับเรือหลายประเภท
ด้วยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวนั้น ทำให้ข้อเสนอดูมีความน่าเชื่อถือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออินโดนีเซียต้องเผชิญกับความขัดแย้งในพื้นที่สำคัญเช่นในพื้นที่ทะเลนาตูนาเหนือ
เรือดำน้ำหยวนคลาส S26T ยังติดตั้งระบบ Air Independent Propulsion หรือระบบ AIP ประกอบกัน
อ้างอิงจากบทความชื่อว่า “China again offers Thailand-ordered S26T submarine to Indonesia” ที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Janes Defense เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 ระบุว่าระบบ AIP นั้นเป็นคุณลักษณะแบบเดียวกับที่จีนได้เคยขายให้กับกองทัพเรือไทย
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้ตกลงทําสัญญาซื้อ S26T ในรุ่นดัดแปลงของชั้นหยวนที่เป็นของกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLAN) มูลค่า 366.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13,355,260,000 บาท) แต่ก็มีรายงานข่าวว่ากรุงเทพฯคิดจะยกเลิกข้อตกลง
ปัญหาสำคัญก็คือเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่เป็นสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากเครื่องยนต์ CHD 620 ที่นำเสนอโดยประเทศจีนนั้นดีไม่เท่าเครื่องยนต์ MTU จากเยอรมนี
นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดการห้ามการส่งออก หมายความว่าเยอรมนีในฐานะผู้ผลิตเครื่องยนต์ MTU ไม่สามารถส่งออกเครื่องยนต์ได้เพราะมันถูกแบนจากสหภาพยุโรปหรืออียู
ทว่าอินโดนีเซียกลับอ้างว่าตัวเองจะไม่เผชิญปัญหาแบบเดียวกับไทยแน่นอน ถ้ามีการสั่งซื้อเรือดำน้ำ S26T เนื้องจากเชื่อว่ากฎระเบียบการห้ามส่งออกนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวดเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน
เครื่องยนต์ MTU ผลิตที่เยอรมนี (อ้างอิงวิดีโอจาก WELT)
บรรษัท CSSC ในฐานะผู้ผลิตเรือดำน้ำได้ยืนยันกับกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียว่าข้อจำกัดการส่งออก นำเข้ามาในอินโดนีเซียนั้นจะไม่เกิดขึ้น
เนื่องจากว่าอินโดนีเซียไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะถูกคว่ำบาตรเกี่ยวกับเรื่องนี้
แม้ว่าสัญญากับประเทศไทยอาจจะถูกยกเลิก แต่กระบวนการต่อเรือก็คืบหน้าไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว
ดังนั้นหากรัฐบาลยอมรับข้อเสนอการซื้อเรือดำน้ำจากจีนประเทศนี้จะได้รับเร็วขึ้น เพราะถ้าหากมีการเซ็นสัญญาระหว่างอินโดนีเซียและจีน กระบวนการผลิตจะเป็นการทำอย่างต่อเนื่องจากหลายส่วนที่ค้างอยู่
ขณะที่ประเทศไทยอาจจะมีการเปลี่ยนข้อตกลงเรือดำน้ำจากจีน ทั้งๆที่จ่ายเงินไปแล้ว