อ่านชัดๆ ฉบับเต็ม! คำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คดี 3 สส.ภูมิใจไทย ‘ฉลอง-ภูมิศิษฏ์-นาที’เมีย รมต. เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน เหตุผล ไม่ลงโทษสถานเบา กระทำผิดซ้ำซ้อน สร้างรอยด่าง ไม่ซื่อสัตย์ เป็นเรื่องร้ายแรงต่อการปค.ระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้หลาบจำ หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯสั่งคุกคนละ 9 เดือน ไม่รอลงโทษ ถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ
วันที่ 11 มิ.ย.2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคดี หมายเลขดำ ที่ อม.อธ.6/2566 อัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ ยื่นฟ้องนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ อดีต ส.ส.เขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย, นายภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต ส.ส.เขต 1 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย, นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย(ภรรยานายพิพัฒน์รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีเสียบบัตร ส.ส. แทนกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ศาลฎีกาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คงจำคุก 9 เดือน โดยศาลวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ทำนองเดียวกันว่าโทษ 1 ใน 4 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหนักเกินไป เนื่องจากจำเลยทั้งสามมีอายุมากแล้ว จึงขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ฟังไม่ขึ้น องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มีโทษจำคุก 1-10 ปี การที่ศาลฎีกาวางโทษคนละ 1 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 1 ใน 4 เป็นโทษอัตราต่ำที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุแก้ไขโทษของจำเลย
ส่วนการขอรอลงโทษจำคุก นั้น เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสาม ไม่ซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ให้รอลงโทษจำคุก เพื่อให้จำเลยหลาบจำและไม่ให้มีใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้ว
ยืนโทษ! คุก 9 ด.3 สส.ภูมิใจไทย คดีเสียบบัตรแทนกัน -ไม่ให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา นำคำพิพากษาขององค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกามาฉบับเต็มซึ่งมีความยาว 10 หน้ากระดาษ รายงาน
คำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 6 /2566 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 3 /2567 ศาลฎีกา วันที่ 11 เดือน มิถุนายน พุทธศักราช 2567
ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์
นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ที่ 1 นายภูมิศิษฏ์ คงมี ที่ 2 นางนาที รัชกิจประการ ที่ 3 จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
จำเลยทั้งสาม อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 18 เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช 2566 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ รับอุทธรณ์วันที่ 23 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2567
เปิดคำฟ้องโจทก์ที่มาแห่งคดี ลงคะแนนเท็จ-อิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดพัทลุง จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดพัทลุง จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ จำเลยทั้งสาม สังกัดพรรคภูมิใจไทย จำเลยทั้งสามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยประชุมตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563 เวลา 9.30 นาฬิกา ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 17.41 นาฬิกา เป็นการประชุมต่อเนื่องกันตามระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 4 โดยมีการลงชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมประชุมเพียงวันแรก คือ วันที่ 8 มกราคม 2563 แต่ไม่มีการลงชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 9 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563
ในการใช้สิทธิออกเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกทุกคนมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัวเพื่อใช้ในการแสดงตนและลงมติ สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 120 วรรคสาม การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรคสาม
จำเลยทั้งสามเข้าร่วมประชุมและลงชื่อเข้าร่วมประชุมโดยมิได้ลาประชุม จำเลยทั้งสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กล่าวคือ
ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 นาฬิกา ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 17.38 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน ขณะจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 1 ร่วมกับบุคคลใดไม่ปรากฏชัด โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่น หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใด เป็นผลให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 แสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เรียงตามรายมาตรา โดยปรากฎข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ในการประชุมดังกล่าวยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร แสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 30 ถึงมาตรา 34 มาตรา 37 ถึงมาตรา 43 และมาตรา 45 ถึงมาตรา 53 กับวาระที่สามและข้อสังเกต อันเป็นความเท็จ
ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 นาฬิกา ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 11.10 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน ขณะจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 2 ร่วมกับบุคคลใดไม่ปรากฏชัด โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่น หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใด เป็นผลให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 6 แสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เรียงตามรายมาตรา โดยปรากฎข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ในการประชุมดังกล่าวยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรแสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 30 ถึงมาตรา 34 และมาตรา 37 ถึงมาตรา 40 อันเป็นความเท็จ
และระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 14.28 นาฬิกา ถึง 15.46 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน ขณะจำเลยที่ 3 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 3 ร่วมกับบุคคลใดไม่ปรากฏชัด โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่น หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใด เป็นผลให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 แสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เรียงตามรายมาตรา โดยปรากฏข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ในการประชุมดังกล่าวยืนยันว่า จำเลยที่ 3 เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร แสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 43 และมาตรา 45 ถึงมาตรา 49 อันเป็นความเท็จ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 2 - 3/2563 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า การใช้สิทธิออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่อยู่ร่วมประชุมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใดและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน เมื่อการออกเสียงลงคะแนนดังกล่าวเป็นการออกเสียงที่ไม่สุจริต
ทำให้ผลการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระที่สองและวาระที่สามในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว วาระที่สองและวาระที่สามตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าพนักงานของรัฐโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ กระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติในการตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 172
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำคุกคนละ 9 เดือน-ถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสาม มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 จำคุกคนละ 1 ปี องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ทางไต่สวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำโดยทุจริตถือเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลยทั้งสามตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
อุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา-ยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพ-ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอสละประเด็นข้อต่อสู้ตามอุทธรณ์ทุกข้อและขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ กับขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่ามิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประการหนึ่งขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกอีกประการหนึ่ง
แก้คำให้การในชั้นอุทธรณ์ กระทำมิได้-ต้องทำก่อนศาลฎีกาฯมีคำพิพากษา
การที่จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ แม้จะถือว่าเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่อาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม
และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม เพราะจำเลยทั้งสามยังติดใจอุทธรณ์ในประเด็นขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
อย่างไรก็ดี การที่จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องต่อองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไปว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ตั้งประเด็นวินิจฉัย สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่
คดีมีประเด็นวินิจฉัยเพียงว่า สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามหรือไม่
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ทำนองเดียวกันว่า ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวางโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยลดโทษให้หนึ่งในสี่นั้นหนักเกินไป การประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด มีการขยายระยะเวลาโดยประชุมต่อเนื่องไปอันเป็นกรณีที่ไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ จำเลยทั้งสามมีภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะที่นัดหมายไว้ก่อนหน้าแล้ว ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาและประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายทันต่อการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีอายุมากแล้วในข้อที่ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น
วางโทษจำคุกคนละ 1 ปี ก่อนลดโทษ 1 ใน 4 เป็นคุณแก่ทั้ง 3 มากแล้ว
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า ความผิดฐานเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวางโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการลงโทษในอัตราขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และยังลดโทษให้อีกหนึ่งในสี่เพราะทางไต่สวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามมากแล้ว ไม่มีเหตุที่องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
มอบบัตรให้คนอื่นลงคะแนน ทำลายความไว้วางใจจากประชาชน-ทำลายหลักอิสระ
ส่วนที่ขอให้รอการลงโทษนั้นองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามการเปิดอภิปรายทั่วไป เป็นต้น โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 114, 115
ซึ่งอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรคสาม การกำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนกระทำโดยวิธีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัวในการแสดงตนและลงมติ เป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันมิให้การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ใด และช่วยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นสามารถใช้ดุลพินิจในขณะออกเสียงลงคะแนนได้อย่างมีอิสระ ดังนั้น การมอบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัวให้บุคคลอื่นนำไปใช้ออกเสียงลงคะแนนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากจะเป็นการทำลายความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นแล้ว ยังเป็นการทำลายกลไกคุ้มครองความเป็นอิสระทำให้การแสดงเจตจำนงแทนประชาชนถูกควบคุมหรือบิดเบือนโดยบุคคลซึ่งหวังประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่เป็นไปตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่จะให้รัฐบาลนำเงินของแผ่นดินไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ผ่านความเห็นชอบหรือเกิดความล่าช้าจากสภาผู้แทนราษฎรย่อมส่งผลกระทบถึงการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจของประเทศ
กระทำผิดซ้อนกระทำผิด-สร้างรอยด่างต่อระบบรัฐสภา
แม้จำเลยทั้งสามอ้างกำหนดนัดที่มีก่อนวันนัดประชุมอันเป็นการขาดประชุมโดยมิได้ลาประชุมตามระเบียบและเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามไม่อาจออกเสียงลงคะแนนก็เป็นความผิดส่วนหนึ่งแต่จำเลยทั้งสามกลับมอบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของตนให้บุคคลอื่นแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนอันเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา
จำเลยทั้งสามในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมทราบดีว่าการออกเสียงลงคะแนนในการตรากฎหมายเป็นการทำหน้าที่แทนปวงชนซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าภารกิจอื่น แต่จำเลยทั้งสามกลับละเลยหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนไปปฏิบัติงานอย่างอื่นโดยไม่ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจนทำให้เกิดความด่างพร้อยต่อระบบรัฐสภา ทำให้เห็นเจตนาที่ไม่ชอบของจำเลยทั้งสามมากยิ่งขึ้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การใช้สิทธิออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่อยู่ร่วมประชุมเป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกำหนดคำบังคับให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เฉพาะการพิจารณาลงมติในวาระที่สอง วาระที่สาม และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ซึ่งต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าวก็ตาม นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าแล้วยังมีความเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าวใหม่ จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างมาก
ไม่รอการลงโทษจำคุก เพื่อให้หลาบจำ ป้องปรามไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ทำให้ประโยชน์ส่วนรวมได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และคำปฏิญาณที่ให้ไว้ และไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ถือเป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
การไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามก็เพื่อให้จำเลยทั้งสามหลาบจำ เป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างกระทำความผิดเช่นนี้อีก แม้ต่อมาจำเลยทั้งสามรู้สำนึกในการกระทำความผิดโดยให้การรับสารภาพและไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ทั้งได้กระทำคุณความดีต่อสังคมตามที่จำเลยทั้งสามอ้าง ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
ข่าวเกี่ยวข้อง: