"...หากทั้ง 3 คดีร้อนดังกล่าวมีผลลัพธ์ ‘เป็นลบ’ ทั้งหมด แน่นอนว่า ‘ตาอยู่’ ที่พร้อมจะกระโจนเข้ามาอีกครั้ง หนีไม่พ้น ‘ลุงบ้านป่า’ ที่แม้ทุกวันนี้จะถอยหลังหลบฉากอยู่เงียบ ๆ แต่ยังถูก ‘คนใกล้ชิด’ ใช้ยาเสน่ห์เป่าหูอยู่ตลอดว่า มีโอกาสสานฝัน ‘คัมแบ็ก’ กลับขึ้นหลังเสือ นั่งเก้าอี้นายกฯสมัยแรกได้?..."
การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จบลงไปแล้ว
สาธารณชนน่าจะทราบกันแล้วว่าเป็นชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ของ ‘ค่ายน้ำเงิน’ โดยเฉพาะฟาก ‘บ้านใหญ่อีสานใต้’ ที่ล้างแค้น ‘ค่ายสีแดง’ ได้สำเร็จ นำพา สว.เข้าสภาฯสูงได้กว่าครึ่ง คะแนนแบบไม่เป็นทางการ จังหวัดที่มี ว่าที่ สว. มากที่สุด คือ บุรีรัมย์ 14 คน แถมมีลุ้นส่ง ‘ตัวเต็ง’ เข้าชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา และ 2 รองประธานวุฒิสภาด้วย
แต่สิ่งที่น่าสนใจ บนกระดานการเมืองไทยตอนนี้ การเลือก สว.ดังกล่าวเป็นแค่การขยับหมากสู้ตาหนึ่งของ ‘บ้านใหญ่อีสานใต้’ เท่านั้น แม้จะเดินเกมเฉียบคม แต่ยังไม่พ้นความเสี่ยงเพลี้ยงพล้ำได้ทุกเมื่อ
โดยเฉพาะคดีร้อนที่ปักหลัง ‘พรรคภูมิใจไทย’ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีกล่าวหาว่าได้รับเงินบริจาคโดยมิชอบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 72 หรือไม่ และมีบทลงโทษถึงขั้น ‘ยุบพรรค’ ตามมาตรา 92 ซ้ำรอยกรณี ‘พรรคอนาคตใหม่’ ในอดีตหรือเปล่า?
คดีนี้มีสารตั้งต้นมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยให้ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ พ้นเก้าอี้ รมว.คมนาคม เนื่องจากขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง เพราะมีการใช้ ‘นอมินี’ เข้าไปถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ดำเนินการแทน นอกจากนี้ศาลยังตั้งข้อสังเกตกรณีการบริจาคเงินเข้าพรรคภูมิใจไทยเป็นจำนวนมากจาก ‘นอมินี’ ของนายศักดิ์สยามด้วย
ปัจจุบันเรื่องดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ กกต. และยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ออกมา นอกจากการนำคำวินิจฉัยฉบับเต็มคดีนายศักดิ์สยาม มาวิเคราะห์อยู่
แต่ที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้สมัคร สว.หลายคน บางคนมีดีกรีเป็นถึงอดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. บางคนเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรี ออกมาแฉว่า เลขาธิการ กกต.คนปัจจุบัน อาจมีสายสัมพันธ์กับ ‘บ้านใหญ่บุรีรัมย์’ เนื่องจากเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานของ ‘ปู่ชัย ชิดชอบ’ อดีตประธานสภาฯ ผู้ล่วงลับ แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง และยังไม่มีคำชี้แจงจากเลขาธิการ กกต.แต่อย่างใด
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดียุบพรรคภูมิใจไทย ความเร็วในการทำคดีสวนทางกับคดียื่นยุบพรรคก้าวไกล ที่คืบหน้าไปมาก มีการชงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา โดยอาศัยช่องมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ โดยไม่เปิดไต่สวนตามมาตรา 93 แห่งกฎหมายฉบับเดียวกัน และศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพิจารณาในวันพุธที่ 3 ก.ค. 2567 พร้อมกำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ก.ค. 2567
เมื่อพูดถึง ‘ก้าวไกล’ แน่นอนว่ามีหลายคนกล่าวขานถึงการเลือก สว.ที่ผ่านมาเช่นกัน ผ่านแคมเปญของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า ที่เปรียบเหมือน ‘ศาสดาสีส้ม’ ร่วมมือกับ ‘ไอลอว์’ ป่าวประกาศเชิญชวนประชาชนใช้ ‘เสียงอิสระ’ เพื่อโหวตเลือก สว.ประชาชน แต่สุดท้ายพ่ายแพ้ไม่ประสบผลสำเร็จ ปัจจัยหลักมาจากผู้สมัครมีจำนวนน้อยมาก ไม่ถึง 50,000 คน ทั้งที่ตั้งเป้าไว้ราว 1-2 แสนคน ส่งผลให้มี สว.เครือข่ายสีส้ม ได้เข้าสภาฯราว 20 คนเท่านั้น
ว่ากันว่าสาเหตุสำคัญที่ให้ ‘ค่ายสีส้ม’ ต้องพ่ายแพ้หมากกระดานเลือก สว.หนนี้ เพราะการเดินเกมผิดพลาด โดยเฉพาะผู้สมัคร สว.ฝ่ายซ้ายบางคนไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนระเบียบการแนะนำตัวของ กกต. นำไปสู่การเปิด ‘ช่องโหว่’ มโหฬารที่ ‘บ้านใหญ่อีสานใต้’ สบช่องใช้ยุทธวิธีลับ นำพา สว.เข้าป้ายได้จำนวนมาก ขณะที่ สว.สีส้ม พ่ายแพ้ย่อยยับ
@ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
นอกจากนี้บรรดาผู้สมัคร สว.นอกเหนือจากบรรดานักวิชาการเอียงซ้าย เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และสื่อมวลชนบางคน ที่พร้อมล่มหัวจมท้ายกับ ‘เครือข่ายสีส้ม’ อยู่แล้ว แต่กลุ่มผู้สมัคร สว.อื่น ๆ ที่มาจากท้องถิ่นทั่วประเทศ ต่างไม่กล้าเดินตาม ‘ค่ายสีส้ม’ เพราะยังกังวลคดีที่ถูกกล่าวหา ‘ยุบพรรค’ ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญอยู่ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พ่ายแพ้ไป นี่ยังไม่นับการเลือกตั้ง นายก อบจ.เก็บตกอีก 2 จังหวัดทั้งปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ที่ ‘ก้าวไกล’ มิได้ส่งผู้สมัคร เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในของ สส. รวมถึงความหวาดกลัวคดียุบพรรคเช่นกัน
ตัดภาพกลับมาที่ ‘ค่ายสีแดง’ มีคดีสำคัญปักหลังอยู่ 2 คดีคือ กรณีกล่าวหา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ ผู้มากบารมี คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ปัจจุบันเรื่องถึงชั้นศาล และศาลอนุญาตให้ประกันตัวออกมาแล้ว อีกคดีคือกรณีกล่าวหา ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯคนที่ 30 กรณีการแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯโดยมิชอบ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาในวันที่ 10 ก.ค.ที่จะถึงนี้
2 คดี ‘ค่ายสีแดง’ ดังกล่าว เขย่าความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดเกม ‘พลิกขั้ว’ ทางการเมือง นำไปสู่ ‘ซูเปอร์ดีล’ ต่าง ๆ นานาที่ ‘นายใหญ่’ เคยทำไว้เมื่อครั้งกลับเข้าไทยเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2566 อาจ ‘ถูกล้ม’ และเขียนขึ้นใหม่ในคนละรูปแบบกับตอนนี้ก็เป็นไปได้
เศรษฐา ทวีสิน /ภาพจาก www.thairath.co.th
ถ้าสังเกต 3 คดีร้อนของ 3 ค่ายการเมืองดังกล่าว จะเป็นลักษณะ ‘วนลูป’ กล่าวคือ ‘ค่ายน้ำเงิน’ ชนะเกมเลือก สว.แต่ยังมีชนักปักเป็นคดียุบพรรคที่เสี่ยงเพลี้ยงพล้ำได้ทุกเมื่อ ส่วน ‘ค่ายสีแดง’ แม้จะพ่ายแพ้เลือก สว.แบบหมดรูป แต่ยังมีสถานะ ‘ผู้นำรัฐบาล’ อยู่ ทว่าก็ยังมี 2 คดีในชั้นศาลที่สุ่มเสี่ยงให้หมดอำนาจ เช่นเดียวกับ ‘ค่ายสีส้ม’ ที่เหลือคดียุบพรรคอยู่เรื่องเดียว แม้คะแนนทางโซเชียลฯจะยังคงนำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ บรรดา ‘งูเห่าสีส้ม’ เริ่มต่อสายดีลหลายพรรคขั้วรัฐบาล เพื่อเตรียมย้ายไปซบหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแล้ว ทำให้ขุมกำลังสีส้มใน ‘ยานพาหนะคันใหม่’ อาจมีจำนวน สส.น้อยลง
หากทั้ง 3 คดีร้อนดังกล่าวมีผลลัพธ์ ‘เป็นลบ’ ทั้งหมด แน่นอนว่า ‘ตาอยู่’ ที่พร้อมจะกระโจนเข้ามาอีกครั้ง หนีไม่พ้น ‘ลุงบ้านป่า’ ที่แม้ทุกวันนี้จะถอยหลังหลบฉากอยู่เงียบ ๆ แต่ยังถูก ‘คนใกล้ชิด’ ใช้ยาเสน่ห์เป่าหูอยู่ตลอดว่า มีโอกาสสานฝัน ‘คัมแบ็ก’ กลับขึ้นหลังเสือ นั่งเก้าอี้นายกฯสมัยแรกได้?
แม้ปัจจุบัน ‘มนต์ขลังบ้านป่าฯ’ จะเริ่มเสื่อมถอยลงตามบารมีของผู้นำ แต่คอนเนกชั่นทั้งฝ่ายลายพราง-บิ๊กข้าราชการ-บ้านใหญ่บางจังหวัด ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง และพร้อมจะร่างดีลขึ้นมาใหม่ เพื่อหวังมาเสียบรัฐบาลแทน ‘ค่ายสีแดง’ ก็เป็นไปได้
ดังนั้นศึกเลือก สว.จึงเป็นแค่ ‘ยกแรก’ ในเกมการต่อสู้ทางการเมือง ที่ยังกินเวลาอีกค่อนข้างยาวนาน
ฝ่ายใดงัดกลยุทธออกมาได้แพรวพราวมากที่สุด ถึงจะเป็นผู้ชนะ!