ฉบับเต็ม!ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำคุก‘ชาติชาย’อดีต ผอ.แบงก์ออมสิน –รองฯ คนละ 2 ปี ปรับ 60,000 บาท ให้รอลงโทษ 1 ปี ฐานฟ้อง-เบิกความเท็จ คดีสั่งเด้งนิติกร 7 ลูกน้อง ไม่เป็นธรรม ลดระดับจากภาค 11 ไปอยู่เขตขอนแก่น ระบุชัดมุ่งหมายให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาทั้งที่รู้อยู่แล้วคดีทางแพ่งถึงที่สุด ย้ายมิชอบ
สืบเนื่องกรณี เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2567 ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 (พิพากษาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567) พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำคุก นายชาติชาย พยุหนาวีชัย อดีตผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน และนางพัชลีพร วรวิบูลย์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 11 ( อดีตรองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน) จำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ในความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ อันเนื่องมาจากกรณีการสั่งย้าย น.ส.นคินทร ปันทวังกูร พนักงาน นิติกร 7 ธนาคารออมสิน ภาค 11 ไปอยู่ในตำแหน่ง นิติกร 7 สังกัด หน่วยบริหารคดี ธนาคารออมสินเขต ขอนแก่น 1 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผิดสภาพการจ้าง ลดตำแหน่งลงจากเดิม โดย น.ส.นคินทร โจทก์ ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดขอนแก่นต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง น.ส.นคินทร อุทธรณ์ ตามที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้ว (ข่าวเกี่ยวข้อง: ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกอดีตผอ.แบงก์ออมสิน-พวก 2 ปี เบิกความเท็จคดีย้ายลูกน้อง-รอลงโทษ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงคำพิพากษามา รายงานอย่างละเอียด
ว่า กรณีพิพาทเรื่องการโยกย้าย น.ส.นคินทร นั้น น.ส.นคินทรได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 4 ดำเนินคดีต่อ นายชาติชาย และธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2559 ศาลแรงงานได้พิพากษาให้โจทก์ (น.ส.นคินทร) เป็นฝ่ายชนะคดีระบุว่า เป็นการโยกย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมเป็นการลดตำแหน่ง ไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และให้จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ (น.ส.นคินทร) กลับไปตำแหน่งเดิม ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 4 และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินซึ่งเป็นจำเลยในคดีแรงงานดังกล่าวฎีกา โดยให้ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสิน
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง – โจทก์ยื่นอุทธรณ์
คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ที่มาของคดี คำสั่งย้ายฉบับ 16 ก.ค.2558
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นพนักงานของธนาคารออมสิน ตำแหน่งนิติกร 7 หน่วยธุรกิจธนาคารออมสินภาค 11 ธนาคารออมสินเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 11
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 คณะกรรมการสรรหาโดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการเสนอให้จำเลยที่ 1 โยกย้ายโจทก์ ธนาคารออมสิน โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์จากตำแหน่งนิติกร 7 หน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยบริหารคดี ธนาคารออมสินเขตขอนแก่น 1 ธนาคารออมสินภาค 11 ตามคำสั่งธนาคารออมสินที่ บค.2(2)-24/2558 เรื่องย้ายพนักงานเพื่อความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เป็นจำเลยที่ 1 ธนาคารออมสินเป็นจำเลยที่ และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลแรงงานภาค 4 เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 188/558 กล่าวหาว่าคำสั่งโยกย้ายโจทก์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับและเพิกถอนคำสั่งที่โยกย้ายโจทก์ดังกล่าว
โดยให้จำเลยทั้งสามแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือหน่วยสนับสนุนธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นไปตามเดิมหรือตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวที่ให้พนักงานปฏิบัติงานจนถึงเวลา 18 นาฬิกา ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย 300,000 บาทแก้โจทก์ ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 222/2559 โดยพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์ ให้ธนาคารออมสินจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสินแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยสนับสนุนธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 ตามเดิมหรือในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ตามสำเนาคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 4 เอกสารหมาย จ.4
จำเลยอุทธณ์-ศาลฯคดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน-ไม่อนุญาตให้ฎีกา-จำเลยยื่นฟ้องต่อ
จำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1128/2560 เอกสารหมาย จ.5 จำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามฎีกา ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสาม ตามคำสั่งของศาลฎีกาที่ ครพ.ร. 2162/2563 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวให้คู่ความฟัง โดยถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 และที่ 1 ในคดีดังกล่าวทราบคำสั่งของศาลฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ตามสำเนาคำสั่งศาลฎีกาและรายงานกระบวนพิจารณาการอ่านคำสั่งให้คู่ความฟังเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 จำเลยทั้งสองยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2992/2561 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 175, 177 ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1
ตั้งประเด็นวินิจฉัย จำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นพนักงานธนาคารออมสินย่อมได้รับความคุ้มครองในการทำงานและการโยกย้ายอย่างเป็นธรรม การที่จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งโยกย้ายโจทก์จากตำแหน่งนิติกร 7 หน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 สายงานกิจการสาขา 4 ไปดำรงตำแหน่งนิติกร 7 หน่วยบริหารคดี ธนาคารออมสินเขตขอนแก่น 1 ธนาคารออมสินภาค 11 สายงานกิจการสาขา 4 โดยจำเลยที่ 2 เสนอชื่อโจทก์ให้โยกย้ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินเป็นจำเลย ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือในหน่วยสนับสนุนธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นไปตามเดิมหรือตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โดยมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์ดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินแต่งตั้งโจทก์ ตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยสนับสนุนธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 ตามเดิม หรือในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม
โจทก์ชนะไปแล้ว-คดีถึงที่สุด-ไม่นำพาคำพิพากษายังมาฟ้องมุ่งหมายให้รับโทษอาญาอีก
การที่จำเลยทั้งสองนำข้อความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์ว่ากระทำความผิดอาญาต่อศาลชั้นตันเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2992/2561 และจำเลยที่ 1 โดยนายวัชรินทร์ ผู้รับมอบอำนาจและจำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันข้อความในคดีดังกล่าวตามที่ได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลขั้นต้น จึงถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น
เห็นว่า คดีที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินเป็นจำเลยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินดำเนินการโยกย้ายโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขัดต่อระเบียบและข้อบังคับของธนาคารออมสิน ซึ่งในคดีดังกล่าว ศาลแรงงานภาค 4 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ถูกโยกย้ายจากนิติกรภาคมาเป็นนิติกรเขต ถือว่าตามปกติประเพณีปฏิบัติของธนาคารออมสินเป็นการลดตำแหน่งลงโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์เปรียบเสมือนโจทก์ถูกลงโทษ ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนที่มีการปรับโครงสร้างของธนาคารออมสินนั้นไม่มีกรณีที่มีการโยกย้ายนิติกรภาคมาเป็นนิติกรเขตโดยไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงานที่จะถูกโยกย้ายและการโยกย้ายดังกล่าวจะต้องเป็นคุณต่อผู้ประสงค์ที่จะขอย้ายหรือเป็นกรณีสอบเลื่อนตำแหน่งได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุแห่งการโยกย้ายรับฟังได้ว่าเกิดจากโจทก์โต้แย้งคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้เลิกงานโดยกำหนดเวลาที่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ซึ่งศาลแรงงานภาค 4 เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า คำสั่งให้โยกย้ายโจทก์ดังกล่าวโดยการพิจารณาอนุมัติมีจำเลยที่ 2 เสนอชื่อโจทก์ให้โจทก์ถูกโยกย้ายโดยมิชอบ จึงขัดต่อกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของธนาคารออมสิน พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์ ให้ธนาคารออมสินโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสินแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยสนับสนุนธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 ตามเดิมหรือในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป
ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสองในคดีนี้และธนาคารออมสินซึ่งเป็นจำเลยในคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 4 ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ซึ่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 4 จำเลยทั้งสองในคดีนี้และธนาคารออมสินได้ยื่นฎีกาและยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองในคดีนี้และธนาคารออมสินซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวฎีกา โดยยกคำร้องและไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสามตามสำเนาคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 4 สำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และสำเนาคำสั่งของศาลฎีกาเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6
ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 โดยถือว่าจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินได้ทราบคำสั่งและคำวินิจฉัยคดีอันถึงที่สุดแล้วในวันที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลฎีกาให้คู่ความฟัง แต่จำเลยทั้งสองกลับไม่นำพาต่อคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลที่ได้วินิจฉัยคดีที่โจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งโยกย้ายโจทก์ตามที่จำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 จำเลยทั้งสองนำข้อเท็จจริงที่โจทก์เบิกความต่อสู้คดีเพื่อให้ตนได้รับความเป็นธรรมในคดีที่ถูกจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินโยกย้ายโจทก์โดยไม่เป็นธรรมมาฟ้องร้องกล่าวหาโจทก์ว่ากระทำความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และ 177 ขอให้ลงโทษโจทก์ตามความผิดที่จำเลยทั้งสองยื่นฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมถือได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสอง มีเจตนาที่มุ่งหมายจะให้โจทก์ได้รับการลงโทษทางอาญา โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และมาตรา 177
โดยจำเลยทั้งสองรู้ดีอยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงและข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องเพื่อให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งที่โยกย้ายโจทก์โดยมิชอบและแต่งตั้งโจทก์ให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นความจริงซึ่งศาลแรงงานภาค 4 ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 และมาตรา 9 ซึ่งประเด็นปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินเป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 188/2558 วินิจฉัยเป็นยุติโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 4 และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินซึ่งเป็นจำเลยในคดีแรงานดังกล่าวฎีกาโดยให้ยกคำร้องและไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสิน ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าการโยกย้ายโจทก์ที่กระทำโดยจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินนั้นเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของธนาคารออมสิน
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 หลังจากที่จำเลยทั้งสองทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 4 และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษซึ่งพิพากษายืนตามคำพิพากษษของศาลแรงงานภาค 4 และคดีถึงที่สุดโดยคำวินิจฉับของศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานที่ไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 แต่จำเลยทั้งสองกลับยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โดยบรรยายฟ้องในคดีอาญาดังกล่าวว่าโจทก์ เบิกความอันเป็นเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีแพ่งของศาลแรงงานภาค 4 โดยกล่าวหาว่า โจทก์เบิกความว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้าง และเป็นคำสั่งที่ลดตำแหน่งโจทก์ลงจากเดิม เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โดยอ้างว่า คำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวเป็นความเท็จ
ซึ่งคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงตามที่ศาลแรงงานภาค 4 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและศาลฎีกาที่ได้วินิจฉัยคดีอันเป็นที่สุดแล้วว่า คำสั่งให้โยกย้ายโจทก์ เป็นคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของธนาคารออมสินและพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์ ให้ธนาคารออมสิน โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสินแต่งตั้งโจทก์ ให้ดำรงตำแหน่ง นิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือ ตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยสนับสนุนธุรกิจธนาคารออมสินภาค 11 ตามเดิม หรือในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2558 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ถือได้ว่าศาลเห็นว่าข้อความที่โจทก์เบิกความในการต่อสู้คดีที่กล่าวอ้างว่าการโยกย้ายโจทก์ของจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินเป็นไปโดยมิชอบ เป็นการออกคำสั่งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ลดตำแหน่งโจทก์ให้ต่ำลงกว่าเดิม อันถือได้ว่า เป็นการโยกย้ายที่ลดความสำคัญและภาระหน้าที่ในตำแหน่งของโจทก์ลงจากเดิม เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ และเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์
สั่งย้าย ไม่เป็นธรรมจริง –ปราศจากข้อสงสัย นำข้อความเท็จมาฟ้องเพื่อให้รับโทษ
กรณีจึงฟังได้ว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในการฟ้องคดีแรงงาน และเบิกความต่อศาลในคดีแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองและธนาคารออมสินดังกล่าวเป็นความจริง ศาลแรงงานภาค 4 และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงพิพากษาสอดคล้องกันให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี และคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา เช่นนี้
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โดยนายวัชรินทร์ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยทั้งสองเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว และจำเลยที่ 1 โดยนายวัชรินทร์ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เบิกความยืนยันตามข้อความที่จำเลยทั้งสองบรรยายในคำฟ้องดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองได้นำข้อความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์ว่ากระทำผิดอาญาเพื่อให้รับโทษทางอาญา และจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จและความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 6 หมื่น โทษจำคุกรอการลงโทษ 1 ปี
พิพากษากลับ เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175,177 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จ จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 30,000 บาท ฐานเบิกความเท็จ จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 30,000 บาท รวมจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 60,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 1 ปีนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้จำเลยทั้งสองฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30. (คดีหมายเลขดำที่ 1849/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 793/2567 ศาลอุทธณ์ภาค 4 วันที่ 6 มีนาคม 2567)
ข่าวเกี่ยวข้องคดีโยกย้ายพนักงานก่อนหน้านี้
- บิ๊ก ธ.ออมสินแพ้อีกคดี!ปมให้ทำงานจนถึงหกโมงเย็น-ยื่นฟ้องศาลอาญาทุจริตฯ 13 คน
- บิ๊ก ธ.ออมสินแพ้คดีย้าย รอง ผอ. 2 ครั้งใน 15 วัน ปมรายงานหนี้ลูกค้า ศาลสั่งชดใช้ 3 แสน
- เปิดคำพิพากษา บิ๊ก ธ.ออมสิน ย้ายกลั่นแกล้งลูกน้อง ไม่รับคำสั่งให้ทำงานถึงหกโมงเย็น
- ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกอดีตผอ.แบงก์ออมสิน-พวก 2 ปี เบิกความเท็จคดีย้ายลูกน้อง-รอลงโทษ