“…รัฐบาล คือ ข้อจำกัดของประเทศ ผมเป็นการเมืองมาแล้ว ผมพูดได้ นโยบายการเมืองที่ไม่ต่อเนื่อง ทำนโยบายสั้นๆ กระตุ้นเศรษฐกิจสั้นๆ แต่นโยบายเชิงโครงสร้าง เทคโนโลยี เรื่องคน ยาวเกินไป ที่ทำวันนี้แต่ได้ผลยาวไปอีกหลายสิบปี เขาไม่ทำ เพราะไม่ได้คะแนน นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่ดีขึ้น มีถนนเจ็ดชั่วโคตร มุ่งระยะสั้นเกินไป…”
.......................................
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานเสวนาเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน’ โดยในการเสวนาหัวข้อ ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาค’ นั้น ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเศรษฐกิจมหภาค ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้
ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาในช่วงเปิดการเสวนาฯ ตอนหนึ่ง โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ว่า เรื่องเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เราทำไปมากแล้ว ต้องทำต่อ และต้องทำให้เสร็จ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่สุด คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
“ผมมีความเชื่อว่า เรื่อง EEC เราทำไปเยอะมาก ต้องทำต่อ ต้องทำให้เสร็จ และ achievement (ความสำเร็จ) ที่สำคัญที่สุดของ EEC คือ อู่ตะเภา ซึ่งเป็นสนามบินที่อเมริกามาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม เป็นสนามบินที่แข็งแรงมาก พัฒนาต่อได้ไม่ยาก และตอนนี้มีเครื่องบินบินอยู่ที่
เพราะฉะนั้น ถ้าทำเป็น MRO (ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน) สำหรับสายการบิน ทำเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ได้หมดเลย ทำเป็นเมืองการบินได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องลงทุนมากอย่างที่จำเป็น ส่วนจะเป็นกาสิโนด้วยหรือไม่ ก็แล้วแต่ แต่ว่า เขาทำงานไปเยอะมากเรื่อง EEC ต้องชมทีมงานที่ทำไว้ในสมัยนั้น” ณรงค์ชัย กล่าว
ณรงค์ชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ต้องทำต่อ แต่ต้องพยายามลดค่าโทรทัศน์และค่าอินเตอร์เน็ตลงมา เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่ต้องกลับมา หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ริเริ่มเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2545-46 และต้องลงทุนเรื่องระบบน้ำ (water supply system) ด้วย
นอกจากนี้ จะต้องลงทุนระบบการขนส่งหลายรูปแบบ (multi-modal transportation system) เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ EEC ระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ (corridor economy) และพื้นที่เอเชียใหม่ ซึ่งประกอบด้วย จีน อินเดีย และอาเซียน เพื่อเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“ตอนนี้ผมขยายขาย ‘New Esan’ เพราะถ้า EEC ไปเชื่อมกับ northeast corridor โยงข้ามแม่น้ำโขง 5 สะพาน มีทางรถไฟไปจีน มีทางเชื่อมต่อไปเวียดนาม กว่างสี ก็จะเป็นซุปเปอร์คอนเนคทิวิตี้เลย และเราก็รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร เราต้องสร้างเอเชียใหม่ที่มีจีน อินเดีย และอาเซียน ที่ต้องอยู่ด้วยกันให้จงได้” ณรงค์ชัย กล่าว
(ณรงค์ชัย อัครเศรณี)
@แนะเชื่อมโยง‘เอเชียใหม่’-ค้านแจก‘เงินหมื่น’ทุกคน
ณรงค์ชัย ระบุว่า ประเทศไทยจะต้องทำ 4R คือ Relief (ช่วยเหลือ) ,Recover (ฟื้นฟู) ,Restructure (ปรับโครงสร้าง) และ Reform (ปฏิรูป)
“Relief ต้องช่วยประชาชน แต่ต้องช่วยเฉพาะคนที่ต้องช่วย ไม่ใช่แจก 1 หมื่นบาททุกคน มันไม่ make sense ใดๆเลย อย่างผม ถ้ามีค่ากับข้าว 1 หมื่นบาท รัฐบาลบอกว่าไม่ต้อง เอาเงินรัฐบาลไป แต่ขายพันธบัตร ผมก็เอาเงินไปซื้อพันธบัตร ถามว่า money supply เกิดจากตรงไหน ไม่รู้ใครเรียนหนังสือเศรษฐศาสตร์มา แล้วไปอธิบายเรื่องนี้ให้เขาฟัง
อันที่สอง Recover แบบมิยาซาว่า (โครงการเงินกู้ มิยาซาว่า) เป็นสิ่งจำเป็น เพราะตอนนี้ธุรกิจขนาดเล็กลำบากมาก จำเป็นต้องทำสไตร์มิยาซาว่า หรือคล้ายๆกับตอนที่เกิดโควิด ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ต้องสนใจ ดอกเบี้ยเขาต่ำ เขาสามารถอยู่ได้ อันที่สาม Restructure ตัวที่สำคัญที่สุด
และต้อง Reform โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งผมมีความเชื่อว่า กฎระเบียบที่ต้องทำอย่างเร็วในแง่นโยบายการลงทุนภาครัฐ คือ ปฏิรูประบบจัดซื้อจัดจ้าง ไม่อย่างนั้นแล้ว รัฐอย่ามาลงทุนเลย เสียเวลา ถ้าปฏิรูประบบจัดซื้อจัดจ้างได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง” ณรงค์ชัย กล่าว
@วอน‘แบงก์ชาติ’ทบทวนโยบาย-อย่าทำแบบเดิม
ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ ‘ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยใน 20 ปีที่ผ่านมา และนโยบายการเงินที่ควรพิจารณาใหม่’ ว่า ในช่วงปี 2548-2554 เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนโดยการ ‘เกินดุลบัญชีเดินสะพัด’ แต่มีอัตราการเติบโตที่ช้าลงเมื่อเทียบกับหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง
ขณะเดียวกัน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องดังกล่าว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าไปแทรกแซง เพื่อพยายามทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่า
“ในปี 2005-2011 (พ.ศ.2548-2554) ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยเริ่มโตช้าลง จีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 3.4% ต่อปี แน่นอนว่าช่วงนั้นมีปัจจัยต่างๆที่มีผลลบต่อประเทศไทย เช่น วิกฤติซับไพรม์ ประเทศไทยมีปัญหาการเมืองและน้ำท่วมใหญ่ แต่ถ้าไปดูตัวเลขในช่วงนั้น จะเห็นว่าเราขับเคลื่อนโดยการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวเฉลี่ย 13.2% ต่อปี
โดยการส่งออกโตมากกว่าเศรษฐกิจ 3 เท่าตัว และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 2% ครึ่ง ต่อปี แม้ว่าในตอนนั้นยังเป็นภาพที่มองว่าค่อนข้างปกติ เพราะเรายังมีเงินทุนไหลเข้ามาสิทธิเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จะสังเกตได้ว่า เราเกินดุลชำระเงินตลอดเวลา และเราเกินดุลชำระเงิน 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
แต่การเกินดุลอย่างต่อเนื่อง แปลว่า แบงก์ชาติต้องเข้ามาไปแทรกแซง เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ และขายเงินบาทออกมา ทำให้ทุนสำรองของแบงก์ชาติเพิ่มขึ้นไปจาก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 เป็น 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2011 เพราะตอนนั้นแบงก์ชาติต้องพยายามทำให้เงินบาทไม่แข็ง” ศุภวุฒิ กล่าว
ศุภวุฒิ กล่าวว่า ต่อมาในช่วงปี 2012-2016 (พ.ศ.2555-2559) แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ย 3.5% ต่อปี เมื่อดูผิวเผินแล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2548-2554 แต่มีสิ่งที่แตกต่างกัน คือ การส่งออกสินค้าไม่ขยายตัว แต่การท่องเที่ยวขยายตัวอย่างมาก ในขณะที่เงินทุนเริ่มไหลออกตั้งแต่ปี 2012 หรือ พ.ศ.2555 ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส
“ในปี 2012 (พ.ศ.2555) เป็นปีแรกที่ไทยเกินดุลบัญชีบริการ โดยส่วนที่เกินดุลฯมาจากการท่องเที่ยวที่บูมอย่างมาก จนกระทั่งในปี 2016 ประเทศไทยมีการเกินดุลบริการสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของการส่งออกทั้งหมด และปีนั้นเราเริ่มเห็นเงินทุนไหลออกเฉลี่ยปีละ 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่แบงก์ชาติยังต้องเข้ามาไปแทรกแซง เพราะมีการเกินดุลเฉลี่ยปีละ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงนั้นเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 6.9% ของจีดีพีในปี 2555 และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 10.5% ในปี 2559 ทำให้ในช่วงนั้นเงินบาทแข็งค่าขึ้น และมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ทำไมต้องยอมให้ตัวเองเสียโอกาส
ปล่อยให้เงินทุนไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ แทนที่จะลงทุนในไทย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจข้างในให้โต หรือ พูดง่ายๆ คือ เวลาคุณเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่า กำลังซื้อในประเทศมีไม่พอกับผลิตของประเทศ ทำไมจึงไม่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว ไปขยายการลงทุน การผลิต และการบริโภคในประเทศให้มากกว่านี้” ศุภวุฒิ กล่าว
ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2017-2019 (พ.ศ.2560-2562) ตัวเลขก็ยืนยันว่าแนวโน้มยังเป็นเหมือนเดิม โดยการส่งออกมีการขยายตัวเฉลี่ย 3.5% เท่ากับจีดีพี ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีการเกินดุลเฉลี่ย 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อไปอีก แต่ที่น่ากลัว คือ เงินทุนไหลออกหนักขึ้น โดยไหลออก 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
(ศุภวุฒิ สายเชื้อ)
“ถ้าดูเร็วๆ สิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ ดุลบริการเริ่มเกินดุลในปี 2012 ไทยมีการไหลออกของเงินทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี 2016 และเราเริ่มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากมาตั้งแต่ปี 2015 ที่สำคัญ หลังจากปี 2015 เป็นต้นมา เงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อที่อเมริกา
โดยเงินเฟ้อของประเทศไทยในช่วงปี 2005-2011 (พ.ศ.2548-2554) อยู่ที่เฉลี่ย 3.5% ในช่วงปี 2012-2016 (พ.ศ.2555-2559) เหลือแค่ 1.3% และในช่วงปี 2017-2019 ( พ.ศ.2560-2562) เหลือแค่ 0.8% ประเด็นของผม คือ สิ่งพวกนี้แล้ว มันเป็นตัวสะท้อนว่านโยบายการเงินตึงตัวเกินไป
ส่วนการไหลออกของเงินทุนนั้น แม้ว่าเงินทุนจะไหลออก แต่แบงก์ชาติก็ยังต้องเข้าไปแทรกแซง เพราะเงินทุนไหลออกไม่พอ เนื่องจากไทยเกินดุลชำระเงินและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากมาย และตอนที่เรากำลังทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไปข้างหน้า ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม คือ หวังให้การส่งออกสินค้าโต หวังให้ท่องเที่ยวกลับมา มันก็จะเหมือนเดิม
ดังนั้น ขอให้ท่านที่ร่วมเสวนาในครั้งนี้ เอาไปช่วยคิดดูว่า อย่าทำให้เหมือนเดิมเลย เพราะตอนที่เราทำเหมือนเดิม ก็มีแต่ทำให้ทุนสำรองของแบงก์ชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยเพิ่มจาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปสู่จุดสูงสุดที่ระดับ 2.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดโควิด แต่ส่วนอื่นของเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวดีเท่าไหร่เลย
โดยเฉพาะในช่วงที่เงินทุนที่ไหลออกไปเยอะๆ คือ ในปี 2556 ถึง 2564 มีเงินทุนไหลออกไป 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าคูณอัตราแลกเปลี่ยนในวันนี้ ก็จะเท่ากับ 20% ต่อจีดีพีปัจจุบัน มองในแง่หนึ่งก็เป็นการสูญเสียโอกาส เพราะเงินทุนของคนไทย เราควรหาทางทำให้มาการลงทุนในประเทศไทย” ศุภวุฒิ กล่าว
ศุภวุฒิ ยังกล่าวถึงแนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ว่า ในภาพใหญ่แล้ว เราต้องคุยกันเรื่องโครงสร้างด้านอุปทาน เพราะสิ่งที่ชัดเจน คือ ประเทศไทยจะมีจำนวนเด็กน้อยลงประมาณ 1-2 ล้านคนในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 5-6 ล้านคนในช่วง 20 ปีข้างหน้า จึงต้องทำให้เศรษฐกิจรองรับประเด็นเหล่านี้ให้ได้
“เรายังมีปัญหาพลังงานที่ค่อยๆหมดไป เราจะหาพลังงานใหม่มาอย่างไร และต้องทำไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่กรีน รวมทั้งเรื่องพลังงานสะอาด ส่วนเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เราต้องรู้ว่าเราจะวางตัวอย่างไรในเรื่องห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่ถูกแบ่งแยก เราจะยืนอยู่ตรงไหน ขณะเดียวกัน เรายังต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย
ส่วนภาคที่ต้องดูแลมากที่สุด คือ ภาคการเกษตร ซึ่งคิดเป็น 6.3% ของจีดีพี แต่มีแรงงานอยู่ในภาคนี้ 30% ของประเทศ และมีจีดีพีต่อแรงงานแค่ 0.2% เท่านั้นเอง ในขณะที่ภาคเกษตรมีผลิตภาพแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม 7-9 เท่า ถ้าพัฒนาอุตสาหกรรมความแตกต่างจะยิ่งเพิ่มขึ้น ทำไมจึงไม่ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรพร้อมกัน” ศุภวุฒิ ย้ำ
@รัฐบาลเป็น‘ข้อจำกัด’เหตุดำเนินนโยบายระยะสั้นๆ
ด้าน กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในหัวข้อ ‘ยกเครื่องเศรษฐกิจไทย แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน’ ว่า แม้ว่าขณะนี้เราจะเผชิญกับวิกฤติต่างๆ เช่น วิกฤติหนี้ครัวเรือน แต่วิกฤติที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทย คือ เศรษฐกิจไม่เติบโต เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างครั้งยิ่งใหญ่
“วิกฤติที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย คือ เราไม่โต วิกฤติอื่นก็มี เช่น หนี้นอกระบบ หนี้ครัวเรือน และอื่นๆ แต่ที่หนักหน่วงจริงๆ และเป็นประเด็นจริงๆ คือ เราไม่โต” กอบศักดิ์ กล่าวและว่า “โลกกำลังเข้าสู่ Disruption แต่เราเปลี่ยนช้าเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ”
กอบศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่อง และถึงเวลาต้องยกเครื่องอย่างแท้จริง ได้แก่ 1.เรื่องดิจิทัล ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนใน 3 ด้านได้แก่ การปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล (Digital Transformation) ,การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) และการเปลี่ยนผ่านทางด้านการเงิน (financial transition)
“เรื่องเทคโนโลยี ผมว่าเรามาถึงสุดทางแล้ว เราเจริญมาจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ช่วงนั้นมีเงินลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาเยอะ มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาสู่บันไดของเทคโนโลยีได้ แต่ ณ วันนี้ เทคโนโลยีของญี่ปุ่นเริ่มตกเทรนด์แล้ว ดูโซนี่เป็นตัวอย่าง โซนี่หายไป แต่เรายังผูกติดกับเขา
แล้วรถยนต์ของเขาก็ตกเทรนด์เช่นเดียวกัน ซูบารุ ซูซูกิ และนิสสัน ที่กำลังปิดโรงงานไปนั้น เพราะเขากำลังไปต่อไม่ได้ เทคโนโลยีที่เราพึ่งพาและผูกติดร่วม 20 ปีที่ผ่านมา และนำไปสู่ความสำเร็จ ณ วันนี้ ไม่ทันแล้ว จึงต้องมานั่งคิดเรื่องเทคโนโลยี โดยเราต้องเปลี่ยนโรงงานของเราให้กลายเป็นดิจิทัลให้ได้” กอบศักดิ์ กล่าว
2.เรื่องคนและคุณภาพของคน แม้ว่าจำนวนเด็กจะน้อยลง แต่ประเทศไทยไม่ได้ขาดคน เพียงแต่ว่าคนที่เรามี เราทำลายเขา เพราะจากผลการศึกษาของแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าเด็กไทยเมื่อแรกเกิดนั้น มีไอคิวไม่แตกต่างจากเด็กที่เกิดในโลกตะวันตก แต่เมื่ออายุ 6 ปี เด็กไทยกลับมาไอคิวเหลือ 80-90 ในขณะที่โลกมีไอคิว 100-110
“เราเลี้ยงเขาไม่ดี ทำให้ไอคิวเขาหายไป โดยในต่างจังหวัด พบว่าในชนบทต่ำกว่าในเขตเทศบาล และในอิสาน ในภาคเหนือต่ำกว่ากรุงเทพฯ ผมอยากถามว่า คลอดลูกกันมา 7-8 แสนคน แต่แล้วภายใน 6 ปี เราทำร้ายไอคิวเขาให้เหลือต่ำกว่ามาตรฐานเกินครึ่ง แล้วเราจะสู้ได้อย่างไร โดยเฉพาะในโลกของเทคโนโลยีและทักษะ
และเราก็ยังทำร้ายทักษะของเด็กอีก เพราะโรงเรียนที่ใกล้บ้านกว่า 3-4 หมื่นแห่ง เป็นโรงเรียนที่ไม่ได้ให้ความรู้กับเด็ก เพราะแม้ว่าเขาจะได้เข้าเรียนตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่พอถึงเวลาผลสอบ มาตรฐานของเขาแย่ โดยเฉพาะโรงเรียนเล็กในภาคอิสานได้คะแนนต่ำกว่า 150 คะแนน จาก 500 คะแนน เราต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้” กอบศักดิ์ กล่าว
(กอบศักดิ์ ภูตระกูล)
3.เรื่องรัฐบาล รัฐบาลถือเป็นข้อจำกัดของประเทศ เพราะรัฐบาลมีนโยบายการเมืองไม่ต่อเนื่อง และเน้นทำนโยบายระยะสั้นๆเท่านั้น ในขณะที่คุณภาพของข้าราชการลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงมีปัญหากฎหมายล้าสมัย และกระบวนการต่างๆทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่น
“รัฐบาล คือ ข้อจำกัดของประเทศ ผมเป็นการเมืองมาแล้ว ผมพูดได้ นโยบายการเมืองที่ไม่ต่อเนื่อง ทำนโยบายสั้นๆ กระตุ้นเศรษฐกิจสั้นๆ แต่นโยบายเชิงโครงสร้าง เทคโนโลยี เรื่องคน ยาวเกินไป ที่ทำวันนี้แต่ได้ผลยาวไปอีกหลายสิบปี เขาไม่ทำ เพราะไม่ได้คะแนน นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่ดีขึ้น มีถนนเจ็ดชั่วโคตร มุ่งระยะสั้นเกินไป
ส่วนข้าราชการก็อ่อนคุณภาพลงไปเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แม้กระทั่งในเรื่องกฎหมาย กฎหมายของเราล้าสมัยมาก เราสะสมกฎหมาย แต่ไม่ทำลายกฎหมาย และกฎหมายเก่าๆ เป็นกฎหมายที่สร้างภาระ ทำให้เกิดต้นทุน และขั้นตอนต่างๆ กระบวนการต่างๆ ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น
ที่สำคัญ เราไม่ตัดสินใจ เรามีเรื่องใหญ่เยอะมากที่ต้องตัดสินใจ แต่เราไม่ตัดสินใจในการเปลี่ยนเรื่องต่างๆเหล่านี้ และเราไม่สนใจว่าโลกทุกวันนี้ มันเปลี่ยนโครงสร้างไปหมดแล้ว สิ่งที่เราเคยสำเร็จ เมื่อปี 1985-1990 เพราะเรายังไม่มีคู่แข่ง แต่วันนี้ เวียดนาม อินโดนีเซีย แม้กระทั่งจีน อินเดีย เขาขึ้นมาหมดแล้ว แต่เรายังไม่เปลี่ยนตัวเอง” กอบศักดิ์ ระบุ
กอบศักดิ์ ย้ำว่า “ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยน เราสุดทางเดิมแล้ว สุดทางเดิน บุญเก่าที่เราเคยสำเร็จสมัยญี่ปุ่น น่าจะจบรอบแล้ว ถ้าเราไม่กลับมานั่งคิดเรื่องการเปลี่ยนเทคโนโลยี เปลี่ยนเรื่องคน แม้กระทั่งเปลี่ยนรัฐบาลให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลให้มากขึ้น เอาคนออกไป และลดความซับซ้อนของกฎหมายต่างๆ ซึ่งนี่คือปัญหา”
กอบศักดิ์ ระบุว่า “ประเทศไทยขณะนี้ เราสร้างโครงสร้างมา เพื่อที่จะไม่ทำอะไร เพราะการทำอะไร มันเป็นความเสี่ยงของคนที่ทำ”
@เตือน‘ภาคการคลัง’สั่นคลอน รายได้ลด-รายจ่ายเพิ่ม
ขณะที่ รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาท้าทายเชิงโครงสร้างภาคการคลัง แต่มีสัญญาณเตือนที่บอกว่า รากฐานของประเทศไทยกำลังสั่นคลอน เนื่องจากการขาดดุลการคลังที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
“สิ่งที่ผมคิดว่าควรให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องหนี้สาธารณะ คือ ดุลการคลัง โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ดุลการคลังของเราขาดดุลแทบจะทุกปี และแม้ว่าคนจะมองว่าเป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลต้องมองสั้นเป็นหลัก
แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ขนาดของการขาดดุลฯมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราขาดดุลแค่ 1% ต่อจีดีพี แล้วขยับมาเป็น 2-3% แต่ ณ วันนี้มันเฉียด 4% แล้ว แม้กระทั่งในแผนการคลังระยะปานกลางล่าสุดที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ก็เฉียด 4% อยู่ดี” รศ.ดร.อธิภัทร กล่าว
รศ.ดร.อธิภัทร กล่าวว่า ปัญหาการขาดดุลการคลัง ‘เรื้อรัง’ จะมีผลกระทบ คือ 1.ภาคการคลังไม่ได้เป็นจุดแข็งของประเทศไทยอีกแล้ว และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยถูกอันดับความน่าเชื่อถือ และ 2.ภาระหนี้ของประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ และไปจำกัดความสามารถของภาครัฐในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและรองรับวิกฤติในอนาคต
รศ.ดร.อธิภัทร ระบุว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยท้าทายเชิงโครงสร้างของภาคการคลังไทย พบว่า รายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการจัดเก็บภาษีที่ลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ และมีนโยบายลดและบรรเทาภาษีให้กับครัวเรือนและประชาชน รวมทั้งธุรกิจขนาดเล็กหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบภาษี Vat
(รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ)
ขณะเดียวกัน ในด้านคุณภาพการใช้จ่ายภาคการคลังนั้น แม้ว่าการใช้จ่ายฯจะทรงตัวอยู่ที่ 18% ต่อจีดีพี แต่มีรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน เช่น รายจ่ายบุคลากร รายจ่ายสวัสดิการ และรายจ่ายชำระหนี้ เป็นต้น มีสัดส่วนสูงถึง 70% ของงบประมาณ และเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำโครงการใหม่ๆได้ ในขณะที่งบลงทุนทรงตัวอยู่ที่ 4% ของจีดีพีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
“รัฐเร่งลงทุนในสิ่งที่ตัวเองทำได้ง่ายที่สุด โดยจะเห็นได้ว่า 1 ใน 3 เป็นงบสร้างถนน และกว่าครึ่งเป็นเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งสร้างคำถามต่อมาว่า การลงทุนตัวนี้จะยกระดับผลิตภาพของประเทศได้จริงๆหรือเปล่า” รศ.ดร.อธิภัทร ย้ำ
นอกจากนี้ การที่ภาคการคลังไทย ขาดแคลนแผนการบริหารการคลังในระยะยาว โดยเน้นวางนโยบายที่มุ่งผลระยะสั้นเป็นหลัก ไม่ได้ใส่ใจผลกระยะยาวเท่าที่ควร ทำให้ความสามารถในการรับมือสิ่งต่างๆในอนาคตถูกจำกัดลง และหากจีดีพีขยายตัวต่ำกว่า 2% จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพี้เกิน 70% ทันที
“รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐเพิ่ม 8% ต่อปี ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย รายจ่ายที่ยากลดทอนจะยิ่งมากขึ้น ถ้ามีวิกฤติขนาดใหญ่ ‘พื้นที่ทางการคลัง’ เราก็แทบจะไม่มีแล้ว ทำให้มีปัญหาตามมา และถ้าดูภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะต่อจีดีพี วันนี้เราอยู่ที่ 1% แต่อีก 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ
และในอีก 5 ปีจะเป็นเกือบๆ 2% ต่อจีดีพี นี่คือต้นทุน หากเราไม่ทำอะไรเลย ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยในวันนี้ ในอนาคตเราอาจถูกบังคับให้ทำอะไรที่ยากๆ เช่น ขึ้นภาษี การตัดรายจ่ายอย่างฉับพลัน และวันนั้นต้นทุนการทำเรื่องนี้อาจจะสูงกว่าวันนี้อย่างมหาศาล” รศ.ดร.อธิภัทร กล่าวตอนท้าย