"...ว่ากันว่า ‘เต็งหนึ่ง’ คนที่จะมานั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่คือ ‘พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์’ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในผู้สมัคร สว. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงจาก จ.สุราษฎร์ธานี โดยเขาเป็นเพื่อนร่วมเรียนหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 61 (วปอ.61) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นเดียวกับ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยทั้ง 2 คนมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างมาก..."
จบลงไปแล้วสำหรับการเลือก สว.ครั้งประวัติศาสตร์ ที่เป็นการเลือก ‘ครั้งแรก’ ในรอบ 16 ปีจากภาคประชาชน นับตั้งแต่ปี 2551 ที่กฎหมายขณะนั้นให้มีการเลือก สว.จังหวัดละ 1 คน รวมกับ สว.สรรหาอีก 74 คน
อย่างไรก็ดี ยังมีสารพัดปัญหาถาโถมเข้าใส่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะโต้โผใหญ่ที่จัดการเลือก สว.ปี 2567
เงื่อนปมสำคัญที่ถูกสังคมตั้งคำถามคือ ประเด็นการ ‘ล็อบบี้-บล็อกโหวต’ มีจริงหรือไม่ โดยปรากฏทั้งข้อเท็จจริงทั้งทางแจ้ง-ทางลับว่า มีกลุ่มผู้สมัครหลายคน รวมตัวกันที่โรงแรมหลายแห่ง มีการจัดสัมมนาต่าง ๆ ก่อนวันเลือกระดับประเทศเมื่อ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เรื่องนี้ กกต.มิได้นิ่งนอนใจ ‘แสวง บุญมี’ เลขาธิการ กกต.ออกโรงสยบข่าวนี้ว่า สายสืบของ กกต.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเรื่องนี้ โดยปรากฏข้อมูลว่ามีกลุ่มผู้สมัคร สว.รวมกันที่โรงแรมกว่า 20 แห่ง ใกล้อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี สถานที่จัดเลือก สว.ระดับประเทศ ก่อนวันเลือก สว.
@ ‘แสวง บุญมี’ เลขาธิการ กกต.
ขณะนี้อยู่ระหว่างสาวหาต้นตอว่า ใครเป็นคนจองที่พัก ใครออกค่าใช้จ่ายทั้งการพัก อาหารการกิน โดยหากพบว่ามีการจัดเลี้ยงในโรงแรมดังกล่าว จะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือก สว.ทันที
ประเด็นที่น่าสนใจ เลขาธิการ กกต.ยืนยันว่า ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีการ ‘ยกเลิก’ ระเบียบเดิมการแนะนำตัวเดิมของ กกต.ที่ห้ามมิให้รวมตัว หรือแลกคะแนนโหวตกัน แต่เมื่อมีผู้สมัคร สว.ไปร้องศาลปกครอง และศาลมีคำพิพากษาให้ยกเลิกบางข้อในระเบียบดังกล่าว ส่งผลให้มีการ ‘เปิดช่อง’ แก่ผู้สมัคร สว.ในการไปรวมตัวขอคะแนน หรือแลกโหวตกันได้อย่างอิสระ โดยกฎหมายห้ามแค่มิให้ใช้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้บุคคลลงคะแนนเท่านั้น
นั่นจึงไม่แปลกที่ปรากฏภาพกลุ่มผู้สมัคร สว.มาใน ‘ธีม’ เดียวกัน เช่น ใส่เสื้อสีเดียวกัน หรือเหมารถมาคันเดียวกัน กลุ่มหนึ่งหลายสิบคน และเวลาโหวตผลคะแนนออกมา มีหลายสิบคนได้แค่ 0 คะแนน หรือบางคนได้คะแนนเท่า ๆ กัน เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการ ‘จ่ายเงิน-ให้ประโยชน์’ ถือว่า ‘ไม่มีความผิด’ แต่อย่างใด
แต่ควันหลงเลือก สว.ที่ผ่านมา ปรากฎการณ์ที่สร้างความ ‘ช็อค’ ให้แก่ประชาชนที่สนใจการเมืองทั่วประเทศคือ ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ อดีตนายกรัฐมนตรี อีกสถานะหนึ่งสวมหมวกเป็น ‘น้องเขย’ อดีตนายกฯผู้มากบารมีอย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ต้อง ‘พ่ายแพ้ย่อยยับ’ ชนิดหมอไม่รับเย็บ แม้แต่สถานะตัวสำรองยังไม่ติดด้วยซ้ำ ทั้งที่ตอนแรกมีกระแสข่าวมาว่า ‘ค่ายสีแดง’ ต้องการเก็บชัยชนะในการเลือก สว.หนนี้ ก่อนจะให้ ‘สมชาย’ ลงสมัคร สว.เพื่อปูทางนั่งเก้าอี้ ‘ประธานวุฒิสภา’ ในอนาคต
เรื่องนี้ทำเอา ‘นายใหญ่’ ถึงกับหน้าแตก และควันออกหู เมื่อเจออิทธิฤทธิ์ ‘บิ๊กเนมอีสานใต้’ ใช้กลยุทธ์ระดับเซียน เจาะช่องโหว่ ‘ระเบียบใหม่’ จนพา สว. ‘ค่ายน้ำเงิน’ เข้าสภาฯสูงเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นการ ‘เอาคืน’ ของ ‘บ้านใหญ่บุรีรัมย์’ ที่รอชิงจังหวะได้เปรียบมานาน หลังจากช่วงเลือกตั้ง 2566 ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และ ‘ทักษิณฟีเวอร์’ กำลังอยู่ในช่วงกระแสสูง
เมื่อเกมชิงสภาฯสูงออกมาพลิกล็อกอย่างนี้ ทำให้ ‘สมการการเมือง’ ถูกเขย่าอีกครั้ง โดยเฉพาะแรงต่อรองทางการเมืองของ ‘ค่ายน้ำเงิน’ ในขั้วรัฐบาลกลับมา ‘แข็งแกร่ง’ อีกรอบ เพราะมี สว.ในกำมือค่อนข้างมาก พร้อมทั้งวางตัว ประธานวุฒิสภา-2 รองประธานฯ ไว้เรียบร้อยแล้ว
ว่ากันว่า ‘เต็งหนึ่ง’ คนที่จะมานั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่คือ ‘พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์’ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในผู้สมัคร สว. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงจาก จ.สุราษฎร์ธานี โดยเขาเป็นเพื่อนร่วมเรียนหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 61 (วปอ.61) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นเดียวกับ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยทั้ง 2 คนมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างมาก
หากสังเกตในช่วงกลางปี 2565 ‘พล.อ.เกรียงไกร’ เมื่อครั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ขัดข้อง ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ชายแดนใต้ จนต้องลงจอดฉุกเฉินที่ จ.สงขลา และเขาได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานหลายเดือน ‘อนุทิน’ เมื่อครั้งเป็น รมว.สาธารณสุข รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขับเครื่องบินลงไปเยี่ยมด้วยตัวเอง
ส่วนคนที่จะถูกชงชื่อขึ้นมาเป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 มีชื่อของ ‘มงคล สุระสัจจะ’ อดีตผู้ว่าฯบุรีรัมย์ เกษียณในตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยเขาลงสมัคร สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงจาก จ.บุรีรัมย์ ว่ากันว่าคนนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง ‘สายตรง’ ที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน ส่วนรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ยังไม่มีการโยนชื่อขึ้นมา แต่คาดว่าหนีไม่พ้น สว.สาย ‘บ้านใหญ่บุรีรัมย์’ อีก
ด้าน สว.สีส้ม ที่มีการเดินสายโปรโมตกันตั้งแต่ไก่โห่ นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนั้นมีการปรับบทบาท โดย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมมือกับ ‘ไอลอว์’ เสนอแคมเปญ ‘เสียงอิสระ’ โหวตเลือก สว.ประชาชน รวมตัวบรรดา ‘นักวิชาการฝ่ายซ้าย’ หลายสิบคน รวมถึงกลุ่มสื่อมวลชน ภาคประชาชน NGO หลายกลุ่ม เข้าไปชิงดำเลือก สว. หวังเข้าไปนั่งในสภาฯสูงให้ได้ 1 ใน 3 หรือ 67 คนขึ้นไป เพื่อสร้างแรงต่อรองในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
แต่ด้วยกระแส ‘ขาลง’ ของค่ายสีส้ม โดยเฉพาะคดีความ ‘ยุบพรรค’ ที่คาราคาซังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้คนมาเข้าร่วมแคมเปญนี้น้อยมาก เห็นได้จากตัวเลขผู้สมัครรับเลือก สว.ทั่วประเทศ มีแค่จำนวน 43,818 คน ไม่ตรงตามเป้าที่คาดว่าจะมีผู้สมัครสูงถึงหลักแสนคน ทำให้แผนการนี้ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล แถมระเบียบของ กกต.ค่อนข้างปิดกั้นในการแนะนำตัว ซึ่งสวนทางการกับการพีอาร์ในโซเชียลของ ‘ค่ายสีส้ม’ ทำให้ไปยื่นร้องศาลปกครองเพื่อปลดล็อค จนสุดท้ายได้แนะนำตัวผ่านโซเชียลมีเดียสมใจ
ทว่าวิธีการนี้กลายเป็น ‘กับดัก’ อันเบอเร่อ เมื่อ ‘บิ๊กเนมอีกสานใต้’ สบช่องจากการปลดล็อคระเบียบดังกล่าว เดินกลยุทธ์ชั้นเซียน จนพา สว.ค่ายน้ำเงิน เข้าสภาฯสูงได้เกินครึ่ง เป็นอันว่าการเดินหมากเกมนี้ของ ‘ค่ายสีส้ม’ ล้มเหลวอย่างหนัก
แม้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือก สว.ระดับประเทศ จะมีความพยายามของผู้สมัคร สว.สีส้ม จัดสัมมนา เพื่อตรึงเสียงคะแนนโหวตให้อยู่ในกลุ่มตัวเองก็ตาม แม้แต่ ‘ธนาธร’ ยังต้องโพสต์ดึงสติผู้สมัคร สว.ผ่านเฟซบุ๊กช่วงดึกก่อนคืนวันเลือก สว.ระดับประเทศ เพื่อโน้มน้าวให้มีอุดมการณ์ไปต่อ แต่สุดท้ายก็ไม่ไหว พ่ายแพ้ไป โดยมีจำนวน สว.สีส้ม เข้าสภาฯไปไม่ถึง 20 คน
ภาพรวมสภาฯสูงตอนนี้ มี สว.ค่ายน้ำเงินเกินกว่าครึ่ง รองลงมาคือ สว.ค่ายสีแดง ส่วนที่เหลือผสมปนเปไประหว่าง สว.จากกลุ่มทุนพลังงาน ข้าราชการ และ สว.สีส้ม ดังนั้นแนวโน้มการเมืองหลังจากนี้ ทำให้ ‘ค่ายสีน้ำเงิน’ มีแรงต่อรอง ในการผลักดันกฎหมายหลายอย่างเข้าสภาฯเป็นอย่างมาก
ที่สำคัญสะท้อนให้เห็นว่าบารมี ‘นายใหญ่’ ลดลงอย่างน่าใจหาย เพราะแม้แต่ ‘น้องเขย’ จากตัวเต็ง กลายเป็นพ่ายแพ้แบบย่อยยับ แถมตอนนี้ยังมีจุดเสี่ยงหลายอย่าง เช่น คดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ยังค้ำคอ หรือคดีคุณสมบัติของนายกฯ ยังคงอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ แม้แต่นโยบาย ‘เรือธง’ ที่ยังไม่สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม จนแฟนคลับสีแดงหลายคนตั้งคำถาม และถูกองค์กรอิสระเข้าตรวจสอบอยู่ตอนนี้
สิ่งเดียวที่พอจะกู้หน้า ‘ค่ายสีแดง’ ให้กลับมาผงาดได้อีกครั้ง คงต้องรอการเลือก อบจ.ที่จะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2568 ว่า จะกลับมาช่วงชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อปูทางสู่ชัยชนะการเลือกตั้ง 2570 ได้หรือไม่ นี่ยังไม่นับต้องไปแย่งชิงฐานเสียงกับศัตรูเบอร์ 1 อย่าง ‘ค่ายสีส้ม’
แต่คราวนี้ต้องไม่ลืมว่า ศัตรูตัวฉกาจ คู่แค้นระดับตำนานอย่าง ‘ค่ายสีน้ำเงิน-บ้านใหญ่บุรีรัมย์’ คัมแบ็กกลับมาแล้ว และรอบนี้ดูเหมือนว่าจะ ‘เอาจริง’ หวังโค่น ‘ค่ายสีแดง’ ให้พ้นสารบบการเมืองไทยเสียด้วย?