"...ล่าสุดพบว่า เจ้าของเครื่องมือประมงโพงพางไม่ได้ทำการรื้อถอนออกไปแต่อย่างใด สำนักงานประมงจังหวัดสงขลาและสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา จึงได้ทำการร่วมกันเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโพงพาง ทั้ง 158 ช่องแล้ว ซึ่งเป็นการแจ้งความในภาพรวมทั้งหมด ในความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และความผิดตามกฎหมายเจ้าท่าและขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อทำการแจ้งความดำเนินคดีเฉพาะรายต่อไป..."
เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องจับมอง!
กรณี “รื้อ-ไม่รื้อ โพงพางทะเลสาบสงขลา” อันเป็นผลมาจากปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกรณีการใช้เครื่องมือโพงพางทำการประมงดักสัตว์น้ำกีดขวางการสัญจรในการเดินเรือทะเลสาบสงขลา
โดยในการเปิดแถลงผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในเขตพื้นที่ภาค 9 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในช่วงปลายเดือน พ.ค.2567 ที่ผ่านมา
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกการตรวจสอบเรื่องนี้ ระบุว่า โพงพางนับเป็นปัญหาเครื่องมือประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลาที่ถือเป็นปัญหา ยืดเยื้อมายาวนานที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 1,000 ช่อง ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอสิงหนคร ของจังหวัดสงขลา
ในจำนวนนี้ มีจำนวน 13 แถว 158 ช่อง ที่ถูกระบุว่ากีดขวางร่องน้ำการเดินเรือ และเป็นเฟสแรก ที่จะต้องทำการรื้อถอนออกไป
โพงพางเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ อันเป็นภูมิปัญญาลักษณะคล้ายถุงกรองกาแฟโบราณ ปากถุงกว้าง ก้นถุงเล็กตัวถุงทำจากอวนหรือไนลอนที่มีตาถี่หรือห่างตามต้องการ
โดยรูปแบบแล้วจะใช้กางในแม่น้ำหรือลำคลอง ส่วนใหญ่จะกาง 3 ใน 4 ส่วนของลำน้ำ เพื่อให้เรือสามารถสัญจรไปมาได้ และมีไม้ไผ่กางขวางตามความกว้างของปากโพงพาง ลึกตามความลึกของลำคลอง ก้นโพงพางจะมัดด้วยเชือกอย่างแน่นหนา ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำหลุดออกไป
แต่ในอีกด้านหนึ่ง "โพงพาง" เป็นเครื่องประมงที่จับสัตว์น้ำ โดยไม่แยกชนิดและขนาด ถือเป็นการตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำที่มีการโยกย้ายถิ่นในการขยายพันธุ์ รวมทั้งกีดขวางลำน้ำ ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ทำให้ร่องทางเดินเรือตื้นเขินซึ่งก่อให้เกิดอันตราย
@ การแก้ไขปัญหา
สำหรับการแก้ไขปัญหาเครื่องมือโพงพางได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับจาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 รวมระยะเวลากว่า 65 ปี สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเครื่องมือโพงพางได้แล้วทั้งสิ้น 66 จังหวัด และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการรื้อถอนอีก 11 จังหวัด เช่นเดียวกับจังหวัดสงขลา โดยสำนักงานประมงจังหวัดและสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา ได้กำหนดวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ให้เจ้าของเครื่องมือประมงโพงพางทั้ง 158 ช่อง ทำการรื้อถอนออกไปเอง เพื่อให้สามารถนำวัสดุต่างๆ ไปใช้ประ โยชน์อื่นๆได้
แต่ล่าสุดพบว่า เจ้าของเครื่องมือประมงโพงพางไม่ได้ทำการรื้อถอนออกไปแต่อย่างใด สำนักงานประมงจังหวัดสงขลาและสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา จึงได้ทำการร่วมกันเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโพงพาง ทั้ง 158 ช่องแล้ว ซึ่งเป็นการแจ้งความในภาพรวมทั้งหมด ในความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และความผิดตามกฎหมายเจ้าท่าและขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อทำการแจ้งความดำเนินคดีเฉพาะรายต่อไป
@ การดำเนินการปัจจุบัน
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา ขอความร่วมมือปฏิบัติราชการ กรณีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย การใช้เครื่องมือโพงพางทำการประมงดักสัตว์น้ำกีดขวางการสัญจรในการเดินเรือทะเลสาบสงขลา จนเกิดปัญหาความเดือดร้อนกับประชาชนในการใช้เส้นทางการเดินเรือ รวมทั้งประชาชนมีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรื้อถอนและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ 2561
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลาได้ขอความร่วมมือในการปฏิบัติราชการ ดังนี้
1. ขอทราบข้อมูล/ทะเบียนรายชื่อของบุคคลที่ใช้เครื่องมือโพงพางทำการประมงดักสัตว์น้ำกีดขวางการสัญจรการเดินเรือทะเลสาบสงขลา
2. ขอทราบแผนหรือแนวทางการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อกรณีการใช้เครื่องมือโพงพางทำการประมงดักสัตว์น้ำกีดขวางการสัญจรในการเดินเรือทะเลสาบสงขลา
3. ขอทราบผลการดำเนินการที่ผ่านมาของหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหากรณีการใช้เครื่องมือโพงพางทำการประมงดักสัตว์น้ำกีดขวางการสัญจรในการเดินเรือทะเลสาบสงขลา โดยมีกำหนดเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา และศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลสงขลา ร่วมลงพื้นที่สังเกตการณ์กรณีดังกล่าว
ขณะที่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ได้นำส่งหลักฐานเพื่อประกอบการสอบสวนผู้ใช้เครื่องมือโพงพาง (เพิ่มเติม) ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา เป็นรายชื่อบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิด กว่า 30 ราย เพื่อประกอบการขอรื้อถอนโพงพางและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อพนักงานอัยการต่อไป
คำตอบสุดท้าย “รื้อ-ไม่รื้อ โพงพางทะเลสาบสงขลา” จะออกมาเป็นอย่างไร
ปัญหานี้ จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในเชิงการเอื้อประโยชน์ด้วยหรือไม่
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
ภาพประกอบเรื่องจาก https://thainews.prd.go.th/