"...กระทำของนายยอดชาย หรือนายธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็ถือเป็นความบกพร่องที่ไม่นำพาหรือปล่อยให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาหาข้อมูลที่บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง อันเป็นความผิดทางวินัยตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ชอบที่บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด จะเลิกจ้างโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนแก่นายยอดชาย หรือธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตามที่บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ได้เลิกจ้างนายยอดชาย หรือธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555..."
กรณี นายยอดชาย แก้วเพ็ญศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่ สายงานสิทธิประโยชน์และสมาชิกสัมพันธ์บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด กับพวก พ้นข้อกล่าวหากรณีแจ้งรายละเอียด ออกแบบหรือกำหนดเงื่อนไขโครงการเช่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบตามข้อเสนอคณะไต่สวนตีตกข้อกล่าวหา นายยอดชาย แก้วเพ็ญศรี กับพวก คดีนี้ไปแล้ว หลังพิจารณาเห็นว่าจากพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า นายยอดชาย แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และพวก อีก 1 ราย ในคดีนี้ ได้ยินยอมอนุญาตให้บริษัท แอ็ดวานซ์ฯ เข้ามาที่บริษัท ไทยแลนด์ฯ โดยมีเจตนามุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท แอ็ดวานซ์ฯ ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับบริษัท ไทยแลนด์ฯ
เมื่อฟังว่า นายยอดชาย แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และพวก ไม่ผิดอาญา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา กลุ่มกรรมการซึ่งเป็นเพียงผุ้สนับสนุน จึงไม่เป็นความผิดอาญาด้วย
อย่างไรก็ตาม การกระทำของนายยอดชาย แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถือเป็นความบกพร่องที่ไม่นำพาหรือปล่อยให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาหาข้อมูลที่บริษัท ไทยแลนด์ฯ อันเป็นความผิดวินัย ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ไทยแลนด์ฯ แต่เนื่องจากบริษัท ไทยแลนด์ฯ ได้เลิกจ้างผู้ถุกกล่าวหาที่ 1 แล้ว จึงไม่มีเหตุที่ต้องส่งเรื่องทางวินัยอีก
ต่อไปนี้ เป็นรายงานสรุปผลการสอบสวนเกี่ยวกับพฤติการณ์ข้อกล่าวหา และผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเป็นทางการ
คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 7 ราย ได้แก่
1. นายยอดชาย หรือนายธนเดช หรือนายภูรี แก้วเพ็ญศรี
2. นายพีรภาส หรืออิสระ หรือเธียร์สิทธิ์ชัยเชาวรินทร์
3. นายวุฒิพันธ์ ประภาพาณิชย์
4. นายสุรพร รักตประจิต
5. นายกิจจา เหล่าบุญชัย
6. นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์
7. บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ระบุว่า บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ได้มีประกาศที่ 023- 024/2551 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ขอเชิญเสนอราคาเช่าระบบสำนักงานอัตโนมัติและระบบสำรองบริการผ่านระบบออนไลน์ (Office Automation & Online Reservation) หรือ OA และระบบบริหารสมาชิกสัมพันธ์และการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ (CRM System Integration) หรือ CRM กำหนดรับเอกสาร TOR /ขอบเขตงานและรับฟังการชี้แจงรายละเอียด ของโครงการในวันที่ 4 ธันวาคม 2551 รับฟังการชี้แจงรายละเอียดของโครงการในวันที่ 8 ธันวาคม 2551 กำหนดยื่นซองประกวดราคาและเปิดซองเสนอราคาในวันที่ 11 ธันวาคม 2551
แต่ปรากฏว่าก่อนหน้านั้น เมื่อประมาณ ต้นปี พ.ศ. 2551 ผู้ถูกกล่าวหา ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ สายงานสิทธิประโยชน์และสมาชิกสัมพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลและบริหารงานในสายงาน ฝ่ายสิทธิประโยชน์ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ และฝ่ายบริหารเทคโยโลยีสารสนเทศ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่แต่ละแผนกมาในบริษัทฯ มาประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AIT) ที่เข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูลและสอบถามความต้องการของแต่ละแผนกว่าอยากให้แต่ละระบบมีข้อมูลอย่างไร เพื่อนำไปจัดทำร่าง TOR
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างบริษัท โปรแกรมไทย จำกัด ให้จัดทำโปรแกรมและระบบสมาชิกสัมพันธ์และการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเช่าใช้ระบบสำนักงานอัตโนมัติและระบบสำรองบริการผ่านระบบออนไลน์ (Office Automation & Online Reservation) หรือ OA และโครงการเช่าใช้ระบบบริหารสมาชิกสัมพันธ์และการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ (CRM System Integration) หรือ CRM และได้ส่งพนักงานเข้าไปศึกษาและรวบรวมข้อมูลลักษณะการดำเนินธุรกิจและความต้องการระบบของบริษัท TPC โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ทั้งที่ในขณะนั้นบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ยังมิได้ประกาศเชิญผู้เสนอราคา และบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ก็ยังมิได้เป็นผู้ชนะในการประกวดราคาแต่อย่างใด
ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ประกอบการรายอื่นได้รับทราบข้อมูลของโครงการก่อนเช่นเดียวกับบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AIT) แต่อย่างใด จากพฤติการณ์ดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าการที่บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามารับทราบข้อมูลก่อนที่บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด จะมีการเปิดให้มีการเสนอราคาและได้ทราบข้อมูลของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ไว้ล่วงหน้า โดยได้มีการติดต่อเพื่อว่าจ้างบริษัท โปรแกรมไทย จำกัด จัดทำโปรแกรมระบบบริหารสมาชิกสัมพันธ์และการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ ย่อมส่งผลให้บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้เปรียบผู้เข้าร่วมประกวดราคารายอื่นเป็นอย่างมาก และเมื่อปรากฏว่าบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาในครั้งนี้
จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้ควบคุมกำกับดูแล ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ ที่ได้ยินยอมหรืออนุญาตให้บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เข้ามารับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างก่อนผู้เสนอราคารายอื่น อันถือเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งการกระทำของนายยอดชาย หรือนายธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายพีรภาส หรืออิสระ หรือเธียร์สิทธิ์ ชัยเชาวรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในการยินยอมหรืออนุญาตให้บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เข้ามารับทราบรายละเอียดของโครงการก่อนดำเนินการประกวดราคา เป็นการกระทำใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
เมื่อไม่ปรากฏว่าการกระทำของนายยอดชาย หรือนายธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายพีรภาส หรืออิสระ หรือเธียร์สิทธิ์ ชัยเชาวรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ตามที่ถูกกล่าวหา ดังนั้น การกระทำของนายวุฒิพันธ์ ประภาพาณิชย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายสุรพร รักตประจิต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายกิจจา เหล่าบุญชัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ และบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จึงไม่เป็นความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
อย่างไรก็ตาม การกระทำของนายยอดชาย หรือนายธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บริหารระดับสูง และในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาผลในโครงการทั้งสอง แม้จะมิได้เป็นการกระทำใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ก็ตาม
แต่การกระทำของนายยอดชาย หรือนายธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็ถือเป็นความบกพร่องที่ไม่นำพาหรือปล่อยให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาหาข้อมูลที่บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง อันเป็นความผิดทางวินัยตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ชอบที่บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด จะเลิกจ้างโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนแก่นายยอดชาย หรือธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตามที่บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ได้เลิกจ้างนายยอดชาย หรือธนเดช หรือภูรี แก้วเพ็ญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555
กรณีจึงไม่มีเหตุให้ต้องส่งเรื่องทางวินัยให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยอีก
ปิดฉากคดีนี้เป็นทางการ หลังจากรับเรื่องเข้าสู่กระบวนการมาตั้งแต่ปี 2563