“…ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มิได้บัญญัติเหตุที่ทำให้จำนองเป็นอันระงับสิ้นไปไว้เป็นประการอื่น กรณีจำต้องพิจารณาตามมาตรา 744 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโดยที่ข้อเท็จจริงที่กรมธนารักษ์หารือมานี้ ไม่เข้าเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว จำนองจึงยังไม่ระงับสิ้นไป…”
........................................
นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ ได้เกิดประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจ
นั่นก็คือ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้ ‘อสังหาริมทรัพย์’ อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิดเป็น ‘ที่ราชพัสดุ’ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่งผลให้ ‘สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน’ จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินและคดีถึงที่สุด ให้ ‘กรมธนารักษ์’
แต่ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ นั้น เป็น 'อสังหาริมทรัพย์' ที่มี ‘ภาระจำนอง’ ติดมากับทรัพย์ฯ จะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเป็นของกระทรวงการคลังโดยปลอดจำนองได้หรือไม่ และเมื่อทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หนี้จำนองจะระงับไปหรือไม่ อย่างไร ?
ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.2566 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้มีคำวินิจฉัย เรื่อง การบริหารจัดการที่ราชพัสดุในกรณีศาลมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน แต่มีภาระจำนองติดมากับทรัพย์สิน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ขอหารือ‘กฤษฎีกา’ปมศาลฯสั่ง‘ทรัพย์’ติดภาระ‘จำนอง’
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การบริหารจัดการที่ราชพัสดุในกรณีศาลมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน แต่มีภาระจำนองติดมากับทรัพย์สินนั้น (เรื่องเสร็จที่ 786/2566)
กรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0312/5361 ลงวันที่ 15 พ.ค.2566 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า ตามที่กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0312/9831 ลงวันที่ 16 ส.ค.2565 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า
ตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิดเป็นที่ราชพัสดุ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่งผลให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน และคดีถึงที่สุดให้กรมธนารักษ์
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมธนารักษ์ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกำหนด ซึ่งเป็นไปตามข้อ 5 (4) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2556
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า ไม่อาจพิจารณาให้ความเห็นได้ เนื่องจากยังมิได้มีการปรึกษาหารือระหว่างส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือรักษาการตามกฎหมาย ดังนั้น สมควรที่กรมธนารักษ์จะได้หารือกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน
ต่อมากรมธนารักษ์ ได้จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน และสำนักงาน ปปง. เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 โดยสำนักงาน ปปง. และกรมที่ดิน ยังมีความเห็นในข้อกฎหมายไม่ตรงกัน โดยสรุปดังนี้
1.1 สำนักงาน ปปง. เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ทรัพย์สินฯย่อมปลอดภาระผูกพันใดๆ
ประกอบกับเมื่อพิจารณาศักดิ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มีศักดิ์สูงกว่ากฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าจะมีเนื้อหาเกินขอบเขตอำนาจที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้ไว้มิได้ และหากเนื้อหาของกฎหมายมีความขัดแย้งกัน ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ ไม่ว่ากฎหมายศักดิ์สูงกว่านั้นจะออกก่อนหรือหลังกฎหมายศักดิ์ต่ำกว่า
1.2 กรมที่ดิน เห็นว่า ถ้าโฉนดที่ดินมีชื่อไม่ตรงกับกรณีศาลสั่งมา หรือมีการจดทะเบียนผูกพันอยู่ เช่น จำนอง เช่า ภาระจำยอม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ศาลทราบ เมื่อศาลแจ้งมาอย่างไร ให้ปฏิบัติตามควรแก่กรณี
แต่ที่ผ่านมาเมื่อดำเนินการสอบถามไปยังศาลแล้ว ศาลจะแจ้งว่าให้ดำเนินการตามคำสั่งศาล ซึ่งศาลมิได้มีคำสั่งให้ระงับจำนองหรือการจำนองได้ระงับสิ้นไปตามมาตรา 744 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การจำนองจึงยังคงมีอยู่และมีผลผูกพันต่อผู้ถือกรรมสิทธิ์
ดังนั้น การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดิน ซึ่งได้มาโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมตามนัยมาตรา 77 และมาตรา 78 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเป็นของกระทรวงการคลังโดยปลอดจำนองได้ นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายของสำนักงาน ปปง. อาจขัดกับสิทธิของพลเมืองด้วย
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือหารือไปยังกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นทำนองเดียวกับกรมที่ดิน โดยเห็นว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจะตกเป็นของแผ่นดิน ตามพ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ได้ ก็ต่อเมื่อศาลมีคำสั่ง มิใช่ตกเป็นของแผ่นดินทันทีโดยผลของกฎหมาย
หากศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ โดยมิได้ระบุให้จำนองระงับสิ้นไปด้วย ก่อนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 9 (4) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497)ฯ
การจดทะเบียนดังกล่าว จึงเป็นการจดทะเบียนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้รับจำนองตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์มีปัญหาในการรับโอนทรัพย์สินดังกล่าว กรณีที่มีภาระจำนองตกติดมากับตัวทรัพย์ จึงได้หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือว่า
เมื่อศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่มีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธิตามสัญญาจำนองของผู้รับจำนอง และพ้นระยะเวลา 1 ปี นับแต่คำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด อันเป็นระยะเวลาที่ผู้รับจำนองอาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลตามกฎหมายแล้ว
ทรัพย์สินย่อมตกเป็นของแผ่นดินตามคำสั่งศาล โดยปลอดจำนองตามมาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 52 และมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ
กรมธนารักษ์ จึงได้ออกหนังสือเวียนให้ธนารักษ์พื้นที่ทั้งประเทศ ประสานสำนักงานที่ดินจังหวัดให้ดำเนินการจดทะเบียนโอนเปลี่ยนนามอสังหาริมทรัพย์ที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ และคดีถึงที่สุดแล้วทุกกรณี เป็นของกระทรวงการคลังโดยไม่มีภาระใดๆ ตกติดมากับตัวทรัพย์
แต่กรมที่ดิน ซึ่งทำหน้าที่ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในอสังหาริมทรัพย์เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวติดจำนองกับธนาคาร จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์โดยปลอดจำนองได้ จึงส่งผลให้ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ที่ติดจำนองยังไม่สามารถโอนเปลี่ยนนามเป็นของกระทรวงการคลังได้
ดังนั้น กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ จึงขอหารือประเด็นดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
@‘ภาระจำนอง’ไม่ระงับ แม้ศาลฯสั่งทรัพย์ฯตกเป็นของแผ่นดิน
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมธนารักษ์ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า ทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินจะทำให้หนี้จำนองระงับไปหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ในกรณีที่สำนักงาน ปปง. ได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ยังติดจำนองดังกล่าวให้แก่กรมธนารักษ์ตามข้อ 5(4) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นที่ราชพัสดุ ที่กรมธนารักษ์สามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุได้ต่อไป
ส่วนปัญหาว่าจำนองจะระงับไปด้วยหรือไม่นั้น โดยที่มาตรา 744 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติเหตุที่ทำให้จำนองระงับสิ้นไปไว้ 6 ประการ ได้แก่ (1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ (2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
(3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น (4) เมื่อถอนจำนอง (5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนองหรือเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 729/1 และ (6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มิได้บัญญัติเหตุที่ทำให้จำนองเป็นอันระงับสิ้นไปไว้เป็นประการอื่น
กรณีจำต้องพิจารณาตามมาตรา 744 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโดยที่ข้อเท็จจริงที่กรมธนารักษ์หารือมานี้ ไม่เข้าเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว จำนองจึงยังไม่ระงับสิ้นไป
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ ที่น่าสนใจ ในกรณีที่ศาลฯมีคำพิพากษาให้ ‘ทรัพย์สิน’ ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย โดยหากเป็น ‘อสังหาริมทรัพย์’ ที่ติดภาระจำนองอยู่ ภาระจำนองนั้น จะยังไม่ระงับสิ้นไป หากยังไม่มีการดำเนินการตาม มาตรา 744 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในขณะที่ ‘กรมธนารักษ์’ สามารถบริหารจัดการ ‘อสังหาริมทรัพย์’ ที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ โดยให้ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุต่อไป