"...เมื่อรัฐมนตรีคนใดไม่ประสงค์จะรับผิดชอบในหน้าที่ของตนหรือในนโยบายทั่วไปอีกต่อไป จึงต้องถือว่าเป็นสิทธิของรัฐมนตรีคนนั้นที่จะลาออกเมื่อใดก็ได้ และไม่อยู่ภายใต้การยับยั้งของผู้ใด ดังนั้น ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจา การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบการแสดงเจตนานั้น..."
กำลังจะกลายเป็นประเด็นร้อน สุ่มเสี่ยงให้เกิดการยื่นการตรวจสอบคุณสมบัติของ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงการลาออกแล้วหรือไม่
ต่อกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยื่นหนังสือลาออกตำแหน่งว่า ได้โทรหานายกฤษฎา ทางนายกฤษฎาบอกว่าใบลาออกกำลังมา ซึ่งได้บอกว่าให้คิดไว้ก่อนคืนหนึ่งเดี๋ยวค่อยว่ากันใหม่ พร้อมยืนยันว่า ได้แจ้งให้ นายกฤษฎา ระงับการลาออกไว้ก่อนแล้ว จึงขอให้นายกฤษฎาคิดดูอีกคืนหนึ่งก่อน และขอให้รอคำตอบเรื่องแบ่งงานใหม่ วันที่ 9 พ.ค.2567 นี้
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล ว่า การลาออกของนายกฤษฎา ถือว่ามีผลสมบูรณ์แล้ว ตั้งแต่นายกฤษฎา แสดงเจตนาว่าจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และได้แจ้งให้ นายเศรษฐาทวีสิน นายกมนตรีทราบ แม้จะไม่ได้มีการส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ให้กับ นายเศรษฐาก็ตาม
ดังนั้น การที่นาย เศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่าได้เบรก การลาออกและให้นายกฤษฎา ไปทบทวน ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะถือว่า นายเศรษฐา รับทราบเจตนาการลาออกของนายกฤษฎาแล้ว
แหล่งข่าวกล่าว ยังระบุด้วยว่า กรณีคล้ายๆ กันดังกล่าว เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเคยทำเรื่องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้เป็นบรรทัดฐานว่า รัฐมนตรีเพียงแต่แสดงเจตนาว่าจะลาออกอย่างชัดเจนก็ถือว่ามีผลแล้วไม่จำเป็นต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดขั้นตอนหรือรายละเอียดในการลาออกของรัฐมนตรีเหมือนกับกฎหมายฉบับอื่นๆ
“ ในกรณีนี้นายเศรษฐายอมรับในการให้สัมภาษณ์ว่านายกฤษฎา ขอลาออกออกจากตำแหน่ง เพียงแต่ นายเศรษฐาแจ้งว่าโทรไปบอก ให้ไม่ต้องส่งหนังสือลาออกมาก็แสดงว่านายกฤษฎาได้แสดงเจตนาว่าจะลาออกจึงชัดเจนแล้วซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความไว้” แหล่งข่าวกล่าว
- 'เศรษฐา' รับโทรเบรก ‘กฤษฎา’ ลาออก 'รมช.คลัง' คาดน้อยใจแบ่งงานลดชั้นอันดับ 3
- เทียบความเห็นกฤษฏีกา 'กฤษฎา' แจ้งนายกฯ ขอลาออก รมต.ถือว่ามีผลแล้ว-'เศรษฐา' ยับยั้งไม่ได้
เพื่อตรวจสอบยืนยันเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลความเห็นทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่า ในช่วงเดือน ก.พ.2525 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยเผยแพร่บันทึกเรื่องปัญหาการลาออกของรัฐมนตรี ระบุว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ลับมาก ที่ สร.0203/1104 ลงวันที่ 25 มกราคม 2525 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า ตามที่รัฐสภาเปิดการประชุมเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2525 ได้พิจารณาญัตติในปัญหาเกี่ยวกับการที่รัฐมนตรีท่านหนึ่งได้ให้ข่าวเกี่ยวกับการลาออก ว่า จะมีผลเป็นการลาออกชื่งจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดตามมาตรา 155 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือไม่ ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ขอรับเรื่องนี้จากรัฐสภามาเพื่อพิจารณา นั้น
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขอความเห็นทางกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) ว่า การ"ลาออก"ที่จะมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 155 (2) นั้น มีความหมายเพียงใด และในการลาออกดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างไร จึงจะมีผลเป็นการลาออกตามบทบัญญัติดังกล่าว อนึ่ง ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 155 วรรคสอง นั้น ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีสงสัยในฐานะภาพของรัฐมนตรีร่วมคณะ คณะรัฐมนตรีจะมีสิทธินำเรื่องเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้เพียงใด หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวประกอบกับคำชี้แจงของผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้แทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาแล้ว มีความเห็นดังนี้
1. สำหรับปัญหาที่ว่า การลาออกที่จะมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 155 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีความหมายเพียงใด และจะต้องดำเนินการอย่างไร นั้นเนื่องจากมาตรา 155 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติแต่เพียงว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ"ลาออก" โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า การลาออกนั้นจะต้องทำอย่างไร และจะมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อใด
ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาโดยเทียบเคียงกับกฎหมายต่าง ๆ ว่าได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการลาออกไว้อย่างใดบ้าง
บทบัญญัติเกี่ยวกับการลาออกในกฎหมายต่าง ๆ นั้นได้บัญญัติไว้แตกต่างกันบางฉบับกำหนดขั้นตอนและวิธีการลาออกไว้อย่างชัดเจน บางฉบับกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะลาออกต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งเสียก่อน และบางฉบับก็บัญญัติแต่เพียงว่า ผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ "ลาออก"' โดยมิได้กำหนดรายละเอียดไว้
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติเกี่ยวกับการลาออกในกฎหมายต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ในกรณีที่กฎหมายประสงค์จะกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการลาออกว่าจะต้องกระทำอย่างไรเช่น ใบลาจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ และจะต้องยื่นใบลาต่อผู้ใด รวมทั้งการลาออกจะมีผลเมื่อใด กรณีต่าง ๆ เหล่านั้นกฎหมายจะบัญญัติไว้อย่างชัดเจน
ดังนั้น เมื่อมาตรา 155 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้กำหนดว่าการลาออกของรัฐมนตรีนั้นจะต้องกระทำอย่างไร รัฐมนตรีซึ่งประสงค์จะลาออกจึงอาจแสดงเจตนาขอลาออกด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรการลาออกด้วยวาจาจะต้องกระทำด้วยวิธีแสดงให้รู้ถึงเจตนาว่ามีความประสงค์จะลาออกอย่างแน่นอน มิใช่เป็นการปรารภหรือปรึกษาหารือ หรือกล่าวลอย ๆ
ส่วนการลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร อาจกระทำได้ทั้งในรูปหนังสือราชการหรือจดหมายส่วนตัวซึ่งมีข้อความที่แสดงให้รู้ถึงเจตนาที่ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีสำหรับหลักเกณฑ์ที่ว่าจะต้องขอลาออกต่อผู้ใดนั้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีตามรายชื่อบุคคลที่นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อทรงถอดถอนรัฐมนตรี จึงเห็นว่า รัฐมนตรีซึ่งประสงค์จะลาออกต้องแสดงเจตนาขอลาออกต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งรัฐมนตรี
ส่วนปัญหาที่ว่าการลาออกจะมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อใดนั้น โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนและรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาตามบทเฉพาะกาล
เมื่อรัฐมนตรีคนใดไม่ประสงค์จะรับผิดชอบในหน้าที่ของตนหรือในนโยบายทั่วไปอีกต่อไป จึงต้องถือว่าเป็นสิทธิของรัฐมนตรีคนนั้นที่จะลาออกเมื่อใดก็ได้ และไม่อยู่ภายใต้การยับยั้งของผู้ใด ดังนั้น ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจา การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบการแสดงเจตนานั้น
ส่วนในกรณีที่การแสดงเจตนาลาออกกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่ได้กำหนดไว้ในใบลาออกซึ่งได้ยื่น ณ สถานที่และต่อบุคคลตามระเบียบปฏิบัติราชการ โดยไม่จำต้องยื่นต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง
2. สำหรับปัญหาที่ว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีสงสัยในฐานะภาพของรัฐมนตรีร่วมคณะ คณะรัฐมนตรีจะมีสิทธินำเรื่องเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้เพียงใดหรือไม่ นั้น
ในเบื้องต้นพึงเข้าใจว่า ความในวรรคสองของมาตรา 155 ซึ่งบัญญัติให้นำมาตรา 81 มาตรา 82 มาตรา 83 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (3) (4) หรือ (6) ด้วยนั้น มีความหมายว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีผู้ใดสิ้นสุดลงเพราะลาออกตาม (2) หรือขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือมีลักษณะต้องห้ามตาม (3) หรือต้องคำพิพากษาให้จำคุกตาม (4) หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 149 ตาม (6) ของมาตรา 155 ถ้ารัฐมนตรีผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาอยู่แล้ว และมีเหตุที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาตามมาตรา 81 หรือมาตรา 82 แล้วแต่กรณี
ในกรณีเช่นว่านี้การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (3) (4) หรือ (6) ไม่เป็นเหตุให้ต้องระงับการดำเนินการตามมาตรา 81 หรือ มาตรา 82 ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 83 ซึ่งมาตรา145ให้นำมาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (3) (4) หรือ (6) ด้วยนั้น มีความหมายว่า ความสิ้นสุดของรัฐมนตรีดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่รัฐมนตรีผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่รัฐมนตรีก่อนที่รัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง
เมื่อเจตนารมณ์ของมาตรา 155 วรรคสอง มีลักษณะดังที่ได้กล่าวไว้ในวรรคก่อน คณะรัฐมนตรีจึงไม่มีสิทธินำเรื่องเกี่ยวกับฐานะภาพของรัฐมนตรีร่วมคณะเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง พึงระลึกไว้อีกด้วยว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีความสำคัญยิ่งองค์กรหนึ่งของบรรดาองค์กรที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถ้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประสงค์จะให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ใดหรือวินิจฉัยปัญหาใด ก็ต้องบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เพื่อความแน่นอน
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีได้อยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะช่วยสนับสนุนว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้สิทธิคณะรัฐมนตรีเสนอคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับฐานะภาพของรัฐมนตรีร่วมคณะได้
********
จากความเห็นของกฎหมายของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่นำเสนอไป จะเห็นได้ว่าตรงตามกับข้อมูลที่แหล่งข่าวระบุไว้ โดยเฉพาะการที่นายเศรษฐายอมรับในการให้สัมภาษณ์ว่านายกฤษฎา ขอลาออกออกจากตำแหน่ง เพียงแต่ นายเศรษฐาแจ้งว่า โทรไปบอก ว่า ไม่ต้องส่งหนังสือลาออกมาก็แสดงว่านายกฤษฎาได้แสดงเจตนาว่าจะลาออกจึงชัดเจนแล้ว ซึ่งเป็นไปตามการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา
หาก นายเศรษฐา รับทราบเรื่อง รู้กันแค่ 2 คน ไม่ป่าวประกาศต่อสาธารณะ เรื่องอาจไม่เป็นแบบนี้
เศรษฐา ทวีสิน /ภาพจาก www.thairath.co.th
ส่วนประเด็นที่ว่า หากนายกฤษฎา เกิดเปลี่ยนใจไม่ยอมลาออก จะทำให้เกิดการยื่นการตรวจสอบคุณสมบัติของนายกฤษฎา ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงการลาออกแล้วหรือไม่
มีรายงานข่าวทางลับแจ้งว่า มีหลายฝ่าย คอยจับตามองเก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว
ผลเป็นอย่างไร นายกฤษฎา รวมไปถึงนายเศรษฐา จะตัดสินใจอย่างไร
ภายในวันที่ 9 พ.ค.2567 ทุกอย่างน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน