“…เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการเงินนอกงบประมาณเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ ให้คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจโอนเงินหรือทรัพย์สินจากทุนหมุนเวียน 8 กองทุน มาเป็นของ กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ตามจำนวนที่กำหนด…”
.........................................
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. .... หรือ ‘พ.ร.บ.THACCA’ ผ่านเว็บไซต์ระบบกฎหมายกลาง (www.law.go.th)
ทั้งนี้ หลังจากการปิดรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 30 เม.ย.2567 แล้ว สศส. จะรวบรวมความคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังฯ เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ.... สรุปได้ ดังนี้
@ส่งเสริม‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ 11 สาขา
หมวด 1 บททั่วไป
-กำหนด ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ ที่จะได้รับการส่งเสริมตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกอบด้วยสาขาดังต่อไปนี้ (1) การจัดงานเทศกาล (2) การท่องเที่ยว (3) กีฬา และการแข่งขัน (4) เกมอิเล็กทรอนิกส์ และอีสปอร์ต (5) งานแฟชั่น งานอัญมณี งานประดิษฐ์ งานฝีมือ และเครื่องสำอาง (6) งานออกแบบสถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ กราฟิก และงานออกแบบอื่น
(7) ดนตรี (8) ภาพยนตร์แอนิเมชัน ละคร การแสดง และรายการโทรทัศน์ (9) ศิลปะ และศิลปะการแสดง (10) หนังสือ วรรณกรรม การ์ตูน และสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด (11) อาหารและเครื่องดื่ม และ (12) อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์สาขาอื่นที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 5)
หมวด 2 คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติ
-กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติ’ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีกรรมการ 2 ประเภท ได้แก่ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ร่างมาตรา 7)
-กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(1) จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(2) ติดตามและตรวจสอบการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของ หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการดำเนินงาน ตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ
(3) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้จัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์และการลดอุปสรรค ในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
(4) เสนอให้คณะรัฐมนตรีโอนเงินจากทุนหมุนเวียนอื่นมาเป็นของกองทุนตามมาตรา 55
(5) แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษตามมาตรา 12 หรือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงาน ตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย
(6) ออกระเบียบหรือประกาศเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย หรือตามที่มีกฎหมาย กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย (ร่างมาตรา 11)
หมวด 3 สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
-กำหนดให้มี ‘สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ โดยให้สำนักงานฯดังกล่าว เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น (ร่างมาตรา 15)
-กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ มีสำนักงานแห่งใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง และจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใด ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ (ร่างมาตรา 16)
หมวด 4 แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
-กำหนดให้ คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติ จัดให้มีแผนระดับชาติเรียกว่า ‘แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ เพื่อกำหนดเป้าหมายและกรอบนโยบายระยะยาวของประเทศในการดำเนินการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทุกสาขาตามมาตรา 5 (ร่างมาตรา 44)
ส่วนที่ 2 แผนปฏิบัติการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
-เมื่อ ‘แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ ใช้บังคับแล้ว ให้คณะกรรมการนโยบายฯ จัดให้มีแผนปฏิบัติการเรียกว่า ‘แผนปฏิบัติการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ เพื่อกำหนดรายละเอียดมาตรการและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในแต่ละสาขาของประเทศอย่างเป็นระบบโดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ (ร่างมาตรา 47)
@ตั้ง‘กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมฯ’ มีรายได้จาก‘กองสลาก’
หมวด 5 กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
-กำหนดให้จัดตั้ง ‘กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ ในสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ รวมตลอดทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ การส่งเสริมและพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
การส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ การดำเนินการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และการทำการตลาด การเผยแพร่และการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของประเทศไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศและในระดับระหว่างประเทศ (ร่างมาตรา 53)
-กำหนดให้ ‘กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (3) เงินที่คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายให้โอนมาเป็นของกองทุนตามมาตรา 55
(4) เงินรายได้ที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (5) ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตามกฎหมายว่าด้วยนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ทั้งนี้ ตามอัตราที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
(6) ผลตอบแทนหรือรายได้จากการลงทุน การร่วมทุน หรือการให้การส่งเสริมของสำนักงานหรือกองทุน รวมถึงผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาจากการลงทุน การร่วมทุนหรือการให้การส่งเสริมดังกล่าวที่เป็นของสำนักงานหรือกองทุน (7) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ (8) เงินค่าปรับเป็นพินัยที่ปรับตามพระราชบัญญัตินี้
(9) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมาย รวมตลอดถึงเงินที่ได้รับตามสัญญาที่ทำขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ (10) ดอกผลและผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนเงินและทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งให้เป็นของสำนักงาน เพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (ร่างมาตรา 54)
@ดึงเงิน '7 กองทุนฯ’โปะ‘กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมฯ’
-เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการเงินนอกงบประมาณเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ ให้คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจโอนเงินหรือทรัพย์สินจากทุนหมุนเวียนดังต่อไปนี้ มาเป็นของ กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ตามจำนวนที่กำหนด ประกอบด้วย
(1) กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย (2) กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (3) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(4) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (5) กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามกฎหมายว่าด้วยนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
(6) กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย (7) กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมตามกฎหมายว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งชาติ (8) ทุนหมุนเวียนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ทั้งนี้ ให้ถือว่าทุนหมุนเวียนตาม (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) และ (8) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ และให้สามารถใช้จ่ายเงินของทุนหมุนเวียนดังกล่าวเพื่อจัดสรรเป็นเงินแก่กองทุนได้
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนเงินหรือทรัพย์สินจากทุนหมุนเวียนใดแล้ว ให้ทุนหมุนเวียนนั้นโอนเงินหรือทรัพย์สินนั้นให้แก่กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มต้นปีงบประมาณถัดไป โดยคณะรัฐมนตรีจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการโอนเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วยก็ได้ (ร่างมาตรา 55)
-กำหนดใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์เพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นเงินสำหรับส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามหมวด 6 การส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์หรือหมวด 7 การส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
(2) เป็นเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ในการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์หรือผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม รวมถึงการเพิ่มสมรรถนะในการรับและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
(3) เป็นเงินให้กู้ยืมโดยมีหลักประกันหรือใช้จัดหาหลักประกันให้แก่ผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์เฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหา หรือเพื่อช่วยเหลือหรือฟื้นฟูผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
(4) เป็นเงินทุนสำหรับการดำเนินการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา 53
(5) จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนหรือเป็นเงินทุนให้แก่สำนักงานในการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 17 (7) (8) หรือ (13) หรือมาตรา 18 (4) เฉพาะในกรณีที่รายได้ของสำนักงานไม่เพียงพอต่อการดำเนินการดังกล่าว
(6) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน (ร่างมาตรา 56)
(เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2567 ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล)
@จัดทำ‘แนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ’ อุตฯวัฒนธรรมสร้างสรรค์
หมวด 6 การส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
-เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะระดับสูงของผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ ให้คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดอาชีพในสาขาของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ตามมาตรา 5 ให้เป็นอาชีพที่ได้รับการส่งเสริม โดยจะกำหนดเงื่อนไขสำหรับอาชีพดังกล่าวด้วยก็ได้ (ร่างมาตรา 64)
-เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมตามมาตรา 64คณะกรรมการนโยบายอาจมีมติให้บุคคลผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมซึ่งขึ้นทะเบียนกับสำนักงานได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรก็ได้ (ร่างมาตรา 74)
หมวด 7 การส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 การส่งเสริมการเริ่มประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ,ส่วนที่ 2 การส่งเสริมผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ,ส่วนที่ 3 การส่งเสริมโครงการวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ,ส่วนที่ 4 การลงทุนหรือร่วมทุนในกิจการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และส่วนที่ 5 มาตรการส่งเสริมอื่น
โดยเฉพาะในส่วนที่ 5 มาตรการส่งเสริมอื่น นั้น มีการกำหนดให้สำนักงานฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจัดทำ ‘แนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ’ ในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม และปฏิบัติต่อผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นธรรม
ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานฯ ว่า ผู้ประกอบกิจการรายใดอาจดำเนินการฝ่าฝืนแนวทางปฏิบัติแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ให้สำนักงานฯ มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) มีหนังสือเตือนหรือเสนอแนะไปยังผู้ประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติฯให้ถูกต้องและรายงานผลการปฏิบัติมายังสำนักงานภายในระยะเวลาที่กำหนด
(2) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ โดยอาจมีข้อแนะนำหรือคำเตือนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติฯด้วยก็ได้
(3) ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนแนวทางปฏิบัติฯ เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนตาม พ.ร.บ.นี้ หากเป็นกรณีร้ายแรงหรืออาจกระทบต่อการให้การส่งเสริมหรือการสนับสนุน สำนักงานฯอาจพิจารณาระงับหรือยกเลิกสิทธิประโยชน์หรือการส่งเสริมหรือสนับสนุนนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้
(4) ในกรณีที่อาจมีการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าหรือกฎหมายอื่น ให้สำนักงานฯ ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป (ร่างมาตรา 108)
@ตั้ง‘ศูนย์อำนวยความสะดวกฯ’ มีอำนาจตามกม.20 ฉบับ
หมวด 8 ศูนย์อำนวยความสะดวกในการขออนุญาตด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์
-กำหนดให้สำนักงานฯ จัดตั้ง ‘ศูนย์อำนวยความสะดวกในการขออนุญาตด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ ทำหน้าที่รวบรวมและประมวลกระบวนการขออนุญาตเกี่ยวกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอและติดตามคำขอในกระบวนการขออนุญาต (ร่างมาตรา 114)
-เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับกระบวนการขออนุญาตตามมาตรา 114 ให้สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตตามกฎหมาย ต่อไปนี้
(1) กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน (2) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง (3) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร (4) กฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ (5) กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการท างานของคนต่างด้าว (6) กฎหมายว่าด้วยการพนัน (7) กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาอาชีพ (8) กฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า
(9) กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (10) กฎหมายว่าด้วยกีฬามวย (11) กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (12) กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตการกีดขวางการจราจร ขบวนแห่ และการแข่งรถในทาง (13) กฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแจ้งการแต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตำรวจในการแสดงภาพยนตร์ ละครหรือการแสดง
(14) กฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (15) กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (16) กฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (17) กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตผลิตหรือขายสุรา (18) กฎหมายว่าด้วยศุลกากร
(19) กฎหมายว่าด้วยอาหาร (20) กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตเพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์วีดิทัศน์ สารคดีการถ่ายภาพ และการท่องเที่ยวในเขตการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และ (21) กฎหมายอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 115)
หมวด 9 มาตรการปรับเป็นพินัย
-กำหนดให้ผู้ใดใช้หรือแสดงเครื่องหมายหรือข้อความในประการที่น่าจะทำให้ประชาชน เข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ได้รับการรับรองคุณภาพหรือแหล่งกำเนิดตามมาตรา 105 หรือเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมประจำท้องถิ่นตามมาตรา 106 โดยไม่มีสิทธิต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 200,000 บาท (ร่างมาตรา 118)
-กำหนดผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 108 วรรคสาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000 บาท (ร่างมาตรา 119)
บทเฉพาะกาล
-เมื่อ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับแล้ว ให้ พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2561 เป็นอันยกเลิก และให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน เจ้าหน้าที่ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ ไปเป็นของสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (ร่างมาตรา 120)
เหล่านี้เป็นสรุปสาระของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.THACCA ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) นำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ‘ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์’ ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน!
อ่านเพิ่มเติม : ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. .... หรือ ‘พ.ร.บ.THACCA’