"...ในคดีนี้เป็นการต้องหาคดีอาญา ที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และมีการกระทำความผิดร่วมกันกับข้าราชการตำรวจและพลเรือนอีกหลายคน ซึ่งตำรวจนั้นมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาญา แต่กลับต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาเสียเอง และเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับการฟอกเงิน กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง ถ้าให้คงอยู่ในราชการอาจเกิดความเสียหายต่อราชการได้..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : จากกรณีปรากฏข่าว พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะรักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และพวกอีก 4 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากมีความผิดวินัยร้ายแรง ในคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์
ต่อไปนี้ เป็นคำสั่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ที่ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และพวกอีก 4 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน รวมถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมี พล.ต.อ. สราวุฒิ การพานิช รองผบ.ตร.เป็นประธานกรรมการ
@ คำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และพวกอีก 4 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน
@ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมี พล.ต.อ. สราวุฒิ การพานิช รองผบ.ตร.เป็นประธานกรรมการ
ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ โดย พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณี สน.เตาปูน ได้มีการดำเนินคดีอาญากับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และข้าราชการตำรวจ รวม 5 คน ในคดีความผิดฐานฟอกเงินและอื่นๆ ตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้รายงานผลการดำเนินการมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกฎหมายและคดี และกองวินัย ซึ่งเป็นฝ่ายอำนวยการของ ผบ.ตร. ได้เสนอเรื่องมายัง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. พิจารณาตามข้อกฎหมาย พฤติการณ์แห่งคดี และความร้ายแรงที่เกิดขึ้น จึงได้มีคำสั่ง ตร.ที่ 177/67 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการวินัย อย่างร้ายแรงกับข้าราชการตำรวจทั้ง 5 นาย ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ทั้งนี้ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นการใช้อำนาจของ รรท.ผบ.ตร. ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ และเห็นว่าถ้าให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้ การสอบสวนทางวินัยจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 131 ประกอบกฏ ก.ตร.ว่าด้วยการพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ซึ่งในคดีนี้เป็นการต้องหาคดีอาญา ที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และมีการกระทำความผิดร่วมกันกับข้าราชการตำรวจและพลเรือนอีกหลายคน ซึ่งตำรวจนั้นมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาญา แต่กลับต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาเสียเอง และเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับการฟอกเงิน กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง ถ้าให้คงอยู่ในราชการอาจเกิดความเสียหายต่อราชการได้
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ รรท.ผบ.ตร. จึงได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กับข้าราชการตำรวจ รวม 5 คน ออกจากราชการไว้ก่อน และได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อรับทราบแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ส่งตัว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ กลับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ดี ในช่วงเย็นวันที่ 18 เม.ย. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเบื้องต้นว่า “ยังไม่ทราบว่าถูกเซ็นให้ออกจากราชการ” เมื่อถามว่ายังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่ ก็ปฏิเสธว่า “ไม่ทราบ ให้ไปสอบถามกับนายกรัฐมนตรี อยากทราบเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนให้ไปถามนายกรัฐมนตรี หลังจากนี้จะไม่ตอบคำถามใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว”
เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะยื่นเรื่องไปยังศาลปกครองหรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตอบเพียงว่า ก็ให้ไปสอบถามกับนายกรัฐมนตรีอีกเช่นกัน
เมื่อสอบถามย้ำว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวเหมือนเดิมว่า ขอไม่ตอบใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากกำลังประชุมอยู่ หรือหากมีคำสั่งมาจริงๆ ก็ให้ไปสอบถามกับนายกรัฐมนตรี