"...แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่ทําคําคัดค้านคําให้การ รวมทั้งมิได้แจ้งเป็นหนังสือต่อศาลว่าประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ศาลหาจําต้องมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความตามข้อ 47 วรรคสี่ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 เสมอไปไม่ ..."
เมื่อประชาชนดำเนินการฟ้องร้องกับบศาลปกครองในคดีต่าง ๆ ก็มีหลายกรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
อย่างไรก็ดีแม้ศาลปกครองชั้นต้นจะไม่รับพิจารณาคดี แต่ประชาชนก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นคำพิพากษาน่าสนใจมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ
โดยคดีนี้เป็นคดีที่หญิงรายหนึ่งขอให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ลบประวัติอาชญากรรม แต่ถูกปฏิเสธ หญิงรายนี้จึงไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองชั้นต้น แต่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยให้เหตุผลว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคําสั่งศาลโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีเพิกเฉยไม่ทําคําคัดค้านคําให้การยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด และไม่แจ้งเป็นหนังสือให้ศาลทราบว่าผู้ฟ้องคดีไม่ประสงค์จะทําคําคัดค้านคําให้การแต่ประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป จึงเป็นกรณีที่ศาลจะมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
ต่อมาหญิงรายนี้ยื่นอุทธรณ์ต่อ โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคําสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่จําหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ และให้ดําเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไป
สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงรายละเอียดเกี่ยวกับคดีข้างต้น ดังนี้
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
ระหว่าง
นางสาวธณัณณัฐ นาคํา ผู้ฟ้องคดี
ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร ที่ 1
คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คําร้องอุทธรณ์คําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ)
ผู้ฟ้องคดียื่นคําร้องอุทธรณ์คําสั่ง ในคดีหมายเลขดําที่ 1022/2565 หมายเลขแดงที่ 396/2566 ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)
@ ขอให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรลบประวัติอาชญากรแต่ถูกปฏิเสธ
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดของศาลแขวงดอนเมือง ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ คดีหมายเลขดําที่ อ 528/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ 809/2563 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 พิพากษาลงโทษจําคุก 1 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 1 ปี โดยประวัติการต้องโทษดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรในสารบบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อผู้ฟ้องคดีสมัครงาน จึงถูกปฏิเสธเพราะประวัติดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีขาดโอกาสในการทํางาน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือ ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขอให้คัดแยกหรือลบประวัติอาชญากรพร้อมทั้งให้ดําเนินการทําลายแผ่นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ฟ้องคดี
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีหนังสือ ที่ ตช 0032.34/3839 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ถึงผู้ฟ้องคดี แจ้งปฏิเสธการคัดแยกและทําลายทะเบียนประวัติอาชญากร เนื่องจากกรณีของผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การคัดแยกและทําลายแผ่นลายพิมพ์นิ้วมือ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือ ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อุทธรณ์คําสั่งปฏิเสธการคัดแยกหรือทําลายทะเบียนประวัติ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําวินิจฉัยที่ สค 115/2565 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติให้ยกอุทธรณ์ โดยมีหนังสือ ที่ นร 0108/1459 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2565 แจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาล
ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคําสั่งและคําวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น
ขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ดังนี้
1. เพิกถอนคําสั่งปฏิเสธการคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากรซึ่งแจ้งตามหนังสือที่ ตช 0032.34/3839 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดําเนินการ คัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากรของผู้ฟ้องคดีออกจากสารบบความ
2. เพิกถอนคําวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ สค 115/2565 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
@ ศาลปกครองชั้นต้นจำหน่ายคดี เหตุผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นคําคัดค้านคําให้การ
ศาลปกครองชั้นต้นมีคําสั่งไม่รับคําฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขอให้เพิกถอน คําสั่งปฏิเสธการคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากรซึ่งแจ้งตามหนังสือ ที่ ตช 0032.34/3839 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ไว้พิจารณา
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นคําให้การแล้ว ศาลได้มีคําสั่ง ลงวันที่ 26 กันยายน 2565 ให้ผู้ฟ้องคดีทําคําคัดค้านคําให้การยื่นต่อศาล ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคําสั่ง และในคําสั่งศาลมีคําเตือนระบุว่า หากผู้ฟ้องคดีไม่ประสงค์จะทำคำคัดค้านคำให้การ แต่ประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ให้ผู้ฟ้องคดีแจ้งเป็นหนังสือให้ศาลทราบภายในระยะเวลาที่กําหนด มิฉะนั้น ศาลอาจสั่งจําหน่ายคดีออกจาก สารบบความไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว โดยได้ส่งคําสั่งเรียกให้ทําคําคัดค้านคําให้การทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ของผู้รับมอบอํานาจจากผู้ฟ้องคดี ซึ่งปรากฏหลักฐานตามใบตอบรับ ว่ามีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565
ภายหลังจากนั้น ผู้รับมอบอํานาจจากผู้ฟ้องคดี มีหนังสือลงวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ขอขยายระยะเวลาทําคําคัดค้านคําให้การออกไป อีก 30 วัน นับแต่ครบกําหนดเดิม ซึ่งศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 แต่เมื่อครบกําหนดเวลาดังกล่าวผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นคําคัดค้านคําให้การหรือแจ้งไม่ประสงค์ทําคําคัดค้านคําให้การแต่ประสงค์ให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคําสั่งศาลโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีเพิกเฉยไม่ทําคําคัดค้านคําให้การยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด และไม่แจ้งเป็นหนังสือให้ศาลทราบว่าผู้ฟ้องคดีไม่ประสงค์จะทําคําคัดค้านคําให้การแต่ประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป จึงเป็นกรณีที่ศาลจะมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ ตามข้อ 47 วรรคสี่ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
ศาลปกครองชั้นต้นมีคําสั่งให้จําหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ
@ ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คําสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ผู้ฟ้องคดียื่นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ความว่า เมื่อผู้รับมอบ อํานาจจากผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาคําให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแล้วไม่มีประเด็นที่จะโต้แย้งเหตุที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้แจ้ง และได้ถือเอาคําฟ้องเป็นข้อโต้แย้งคําให้การของผู้ถูกฟ้องจากเกิดความผิดพลาดทางธุรการ ซึ่งได้จัดทำหนังสือ ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เพื่อแจ้งความประสงค์ขอให้ศาล พิจารณาคดีต่อแล้ว แต่ไปเก็บรวมไว้กับสํานวนคดีปกครองคดีอื่น ผู้รับมอบอํานาจก็รอว่าเมื่อไหร่ ศาลจะส่งหมายแจ้งกําหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะว่าในบางคดีที่เกี่ยวกับทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ศาลได้มีหมายแจ้งคําสั่งให้ทราบว่าข้อเท็จจริงในสํานวนคดีนั้น เพียงพอต่อการวินิจฉัยคดีแล้ว ผู้รับมอบอํานาจจากผู้ฟ้องคดีไม่ต้องจัดทําคําคัดค้านคําให้การ อีกทั้งข้อ 47 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 เป็นข้อที่ให้ศาลปกครองกําหนดดุลพินิจว่าจะจําหน่ายคดีหรือ ไม่จําหน่ายคดีก็ได้ ถ้าหากศาลได้มีหมายแจ้งคําสั่งศาลเตือนผู้ฟ้องคดีอีกครั้งก็จะถือได้ว่าศาลได้พยายามที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงในระบบไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ตามมาตรา 55 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
นอกจากนี้ ข้อ 5 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ศาลปกครองสามารถตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้จนกว่าจะทําให้ความจริง ปรากฏหรือรับฟังได้เป็นที่ยุติ คือ สามารถนํามาปรับกับข้อกฎหมายและวินิจฉัยคดีได้ ด้วยเหตุนี้ในศาลปกครองจึงไม่มีการยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี เพราะในคดีที่ศาลปกครองพิพากษาจะต้องมีข้อเท็จจริงที่ยุติชัดเจนหรือฟังได้แล้วว่าเข้าองค์ประกอบของกฎหมาย ซึ่งวิธีพิจารณาในระบบไต่สวนจะทําให้คู่กรณีฝ่ายที่ด้อยกว่า คือ ประชาชนสามารถต่อสู้กับรัฐ หรือฝ่ายปกครองได้อย่างเสมอภาค การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นคําคัดค้านคําให้การต่อศาลนั้น เกิดจากความผิดพลาดทางธุรการของผู้รับมอบอานาจจากผู้ฟ้องคดีเอง ไม่ได้เป็นการเพิกเฉย ท้าทาย หรือไม่ใส่ใจต่อคําสั่งศาลแต่อย่างใด ประกอบกับผู้รับมอบอํานาจได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ในเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรหลายสํานวนคดี จึงเกิดความผิดพลาดทางสํานวนเกิดขึ้นตามมา
ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคําสั่งจําหน่ายคดีของศาลปกครองชั้นต้น และมีคําสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไป
@ ศาลพิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 55 วรรคสาม บัญญัติว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลปกครองอาจตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ในการนี้ศาลปกครองจะรับฟังพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจาก พยานหลักฐานของคู่กรณีได้ตามที่เห็นสมควร
ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 47 วรรคหนึ่ง กําหนดว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดี ยื่นคําให้การแล้ว ให้ศาลส่งสําเนาคําให้การพร้อมทั้งสําเนาพยานหลักฐานไปยังผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ วรรคหนึ่ง กําหนดว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีคัดค้านหรือยอมรับคำให้การหรือพยานหลักฐานที่ผู้ถูกฟ้องคดียื่นต่อศาล ในการนี้ตุลาการเจ้าของสํานวนจะกําหนดประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีต้องชี้แจง หรือให้จัดส่งพยานหลักฐานใด ๆ ก็ได้
วรรคสอง กําหนดว่า ถ้าผู้ฟ้องคดีประสงค์จะคัดค้านคําให้การ ให้ทําคําคัดค้านคําให้การยื่นต่อศาลพร้อมสำเนาหนึ่งชุดหรือตามจำนวนที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำให้การ หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด
วรรคสาม กําหนดว่า ถ้าผู้ฟ้องคดีไม่ประสงค์จะทําคําคัดค้านคําให้การ แต่ประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ให้ผู้ฟ้องคดีแจ้งเป็นหนังสือให้ศาลทราบภายในกําหนดระยะเวลาตามวรรคสอง และวรรคสี่ กําหนดว่า ถ้าผู้ฟ้องคดีไม่ดําเนินการตามวรรคสองหรือวรรคสาม ศาลจะสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความก็ได้
@ แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่ทําคําคัดค้านคําให้การ ศาลก็ไม่จำเป็นต้องจําหน่ายคดีออกจากสารบบความเสมอไป
คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคําสั่งรับคําฟ้องไว้พิจารณาแล้ว และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นคำให้การแก้คำฟ้องรวมทั้งส่งเอกสารประกอบคำให้การมาด้วยแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาเอกสารในสํานวนคดีแล้ว เห็นว่า เป็นกรณีที่คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยประเด็นตามคําฟ้องของผู้ฟ้องคดีได้ โดยไม่จําต้องให้ผู้ฟ้องคดีทําคําคัดค้านคำให้การอีก หรือหากศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า เป็นกรณีที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ศาลปกครองชั้นต้นย่อมมีอํานาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม ตามมาตรา 55 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ดังนั้น ศาลปกครองชั้นต้นจึงชอบที่จะดําเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไปได้ตามที่เห็นว่าเป็นการยุติธรรม แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่ทําคําคัดค้านคําให้การ รวมทั้งมิได้แจ้งเป็นหนังสือต่อศาลว่าประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ศาลหาจําต้องมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความตามข้อ 47 วรรคสี่ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 เสมอไปไม่
@ ยกเลิกคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น-ให้ดําเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อ
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคําสั่งจําหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
จึงมีคําสั่งยกคําสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่จําหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความและให้ศาลปกครองชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไป
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการยกเลิกคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น
หากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่น่าสนใจสำนักข่าวอิศราจะนำมารายงานให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
ทั้งนี้สามารถเข้าไปดูรายละเอียดคำร้องได้ที่ www.admincourt.go.th/admincourt/Casefile/admcase/document/signed/2024