"....จากการตรวจสอบเอกสาร สัมภาษณ์ผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบ DSSและเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานระบบ DSS ของ ศภช. รวมทั้งสังเกตการณ์การใช้งานระบบ สําหรับสาธารณภัย 3 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก/ดินโคลนถล่ม และวาตภัย พบว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์แผนที่คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 3 วัน ของระบบ DSSเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ แจ้งเตือนล่วงหน้า โดยมีการใช้ประโยชน์ระบบ DSS คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน แต่ระบบ DSS คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วันในระดับพื้นที่ยังไม่แม่นยํา..."
กรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารระบบเตือนสาธารณภัย ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ในช่วงปี 2563-2565 จำนวน 1,074.95 ล้านบาท พบว่า การพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับพื้นที่ขาดความแม่นยำ การเตรียมความพร้อมรับมือและอพยพไม่เป็นไปตามแนวทางและวัตถุประสงค์ที่กำหนด ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถ นำข้อมูลที่มาจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่จริงมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และคาดการณ์สาธารณภัยเพื่อแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยยังไม่สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และทำให้รัฐอาจต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในการบรรเทาและฟื้นฟูสาธารณภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเฝ้าระวังและ แจ้งเตือนภัยเป็นจำนวนเงินประมาณ 514 ล้านบาท
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเชิงลึกรายงานผลการตรวจสอบ สตง. เรื่องนี้ มาเสนอไปแล้วว่า หน่วยงานเจ้าของระบบเตือนสาธารณภัย ที่ถูก สตง.ตรวจสอบพบปัญหาเรื่องผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพดังกล่าว คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
สำหรับประเด็นข้อตรวจสอบการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดนั้น ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบรายงานการตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศของโทรมาตร พบว่า การทำงานและการแสดงผลของระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) เป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่องและไม่ครบถ้วน กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องไม่มีการใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยและข้อมูลสภาพอากาศบน Smart Phone "DPM Alert" ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เป็นต้น
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด ส่งผลกระทบทำให้ ปภ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัยไม่สามารถนำข้อมูลที่มาจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยงภัยจริง ถูกต้องตามความเป็นจริง มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และคาดการณ์สาธารณภัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งทำให้การแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติไปยังเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถกระทำได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำและรวดเร็ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียโอกาสในการนำข้อมูลจากระบบโทรมาตรมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณโครงการพัฒนาระบบฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) เกิดความไม่คุ้มค่า จำนวน 432.70 ล้านบาท
คราวนี้ มาดูข้อมูลในส่วนระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับพื้นที่ ที่สตง.ตรวจสอบพบว่ามีความไม่แม่นยํา กันบ้าง?
ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ระบุว่า ปภ. ได้ดําเนินการพัฒนาปรับปรุงระบบ DSS โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบซอฟต์แวร์ศูนย์ข้อมูลปฏิบัติการเพื่อการตัดสินใจ ให้เป็นระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (DSS) โดยปรับปรุงแบบจําลอง ระบบวิเคราะห์คาดการณ์สาธารณภัยให้ครอบคลุมภารกิจของหน่วยงานให้มีความถูกต้อง แม่นยํา และรวดเร็วในระดับพื้นที่ เพื่อใช้สําหรับเป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจแจ้งเตือนภัย
จากการตรวจสอบเอกสาร สัมภาษณ์ผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบ DSSและเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานระบบ DSS ของ ศภช. รวมทั้งสังเกตการณ์การใช้งานระบบ สําหรับสาธารณภัย 3 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก/ดินโคลนถล่ม และวาตภัย พบว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์แผนที่คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 3 วัน ของระบบ DSSเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ แจ้งเตือนล่วงหน้า โดยมีการใช้ประโยชน์ระบบ DSS คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน แต่ระบบ DSS คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วันในระดับพื้นที่ยังไม่แม่นยํา
โดยจากการสุ่มตรวจสอบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ 7 จังหวัด เปรียบเทียบกับแผนที่คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน สําหรับอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก/ ดินโคลนถล่ม และวาตภัยจากระบบ DSS ในระดับพื้นที่ (ระดับจังหวัด อําเภอ และตําบล) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564-กันยายน 2565 พบว่า
1) การคาดการณ์การเกิดอุทกภัยล่วงหน้า 1 วัน ไม่แม่นยำ
จากการตรวจสอบ พบว่าเกิดอุทกภัยจริง จำนวน 90 ครั้ง ซึ่งระบบ DSS คาดการณ์การเกิดอุทกภัย ล่วงหน้า 1 วัน ในระดับตำบลได้อย่างแม่นยำ จำนวน 30 ครั้ง และระบบ DSS ไม่คาดการณ์แต่เกิดอุทกภัยจริง จำนวน 60 ครั้ง แบ่งเป็นระบบไม่มีการคาดการณ์ตำบลที่จะเกิดอุทกภัยแต่เกิดอุทกภัยจริง จำนวน 39 ครั้ง และระบบมีการคาดการณ์การเกิดอุทกภัยแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกตำบลที่เกิดอุทกภัยจริง จำนวน 21 ครั้ง
2) การคาดการณ์การเกิดวาตภัยล่วงหน้า 1 วัน ไม่แม่นยำ
จากการตรวจสอบ พบว่าเกิดวาตภัยจริง จำนวน 80 ครั้ง ซึ่งระบบ DSS คาดการณ์การเกิดวาตภัย ล่วงหน้า 1 วันในระดับตำบลได้อย่างแม่นยำ มีจำนวน 27 ครั้ง และระบบ DSS ไม่คาดการณ์แต่เกิดวาตภัยจริง จำนวน 53 ครั้ง แบ่งเป็นระบบไม่มีการคาดกรณ์ตำบลที่จะเกิดวาตภัยแต่เกิดวาตภัยจริง จำนวน 50 ครั้ง และมีการคาดการณ์การเกิดวาตภัยแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกตำบลที่เกิดวาตภัยจริง มีเพียงจำนวน 3 ครั้ง
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้งานระบบ D5 ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต (ศูนย์ ปภ.เขต และ สนง.ปภ.จังหวัด ไม่มีการใช้งานระบบดังกล่าว ซึ่งมีเพียงเจ้าหน้าที่ของ ศภช. ใช้งานระบบ DSS เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในการแจ้งเตือนภัยใช้งานหน้าจอสถานการณ์ปัจจุบัน ระบบ Reatime สำหรับสาธารณภัย 2 ประเภท ได้แก่ สึนามิ และแผ่นดินไหวการที่ระบบ DSS คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับพื้นที่ไม่แม่นยำส่งผลทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินพัฒนา ปรับปรุงระบบบ DSS จำนวน 21.33 ล้านบาท เกิดความไม่คุ้มค่า และปภ. ต้องขอรับสนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบ DSS เพิ่มเติม จำนวน 2 โครงการ รวมเงินทั้งสิ้น 31.60 ล้านบาท
รวมทั้งทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดสาธารณภัยแต่ระบบ DSS ไม่ได้คาดการณ์ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้น ไม่สามารถเตรียมความพร้อมรับมืออพยพกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
โดยมีสาเหตุสำคัญเกิดจากระบบ DSS ยังไม่สามารถบูรณาการข้อมูลในแต่ละด้านทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก เนื่องจาก ข้อมูสมีการจัดเก็บอยู่ในรูปแบบไฟล์ที่แตกต่างกันทำให้ปริมาณข้อมูลนำเข้าเพื่อประกอบการวิเคราะห์ และตัดสินใจยังมีไม่เพียงพอครอบคลุมถึงระดับพื้นที่(ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน) และ ปภ. โดย ศภช. ไม่ได้กำหนดแนวทางในการใช้งานระบบ DSSให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่
เบื้องต้น สตง. มีข้อเสนอแนะเพื่อให้ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วันในระดับพื้นที่ได้อย่างแม่นยำตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
โดยผู้ว่าการตรวจเงินเผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทสาธรณภัย พิจารณาสั่งการให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติดำเนินการ ดังนี้
1. พัฒนา ปรับปรุงระบบ DSSให้สามารถใช้งานได้อย่างแม่นยำตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภายในและภายนอกหน่วยงาน เพื่อให้หน่วยงานมีข้อมูลในการสนับสนุนการวิเคราะห์ตัดสินใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งในส่วนกลาง และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์ ปภ.เขต สนง.ปภ.จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานในการแจ้งเตือนภัยในระดับพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2. กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากระบบ DSS ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยทั้งในส่วนกลาง และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์ ปภ.เขต และ สนง.ปภ.จังหวัด เพื่อให้ระบบ DSS มีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด และพิจารณากำหนดตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของหน่วยงานในการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้ง กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังและเตือนภัยใช้ประโยชน์จากระบบ DSS ที่มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบแล้วให้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ของโครงการที่กำหนดไว้
ส่วนรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างงานส่วนนี้ สำนักข่าวอิศรา อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอยู่ หากมีความชัดเจนจะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อ