"...การแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติไปยังเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถกระทำได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำและรวดเร็ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียโอกาสในการนำข้อมูลจากระบบโทรมาตรมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณโครงการพัฒนาระบบฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) เกิดความไม่คุ้มค่า จำนวน 432.70 ล้านบาท..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารระบบเตือนสาธารณภัย ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ในช่วงปี 2563-2565 จำนวน 1,074.95 ล้านบาท พบว่า การพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับพื้นที่ขาดความแม่นยำ การเตรียมความพร้อมรับมือและอพยพไม่เป็นไปตามแนวทางและวัตถุประสงค์ที่กำหนด ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถ นำข้อมูลที่มาจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่จริงมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และคาดการณ์สาธารณภัยเพื่อแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยยังไม่สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และทำให้รัฐอาจต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในการบรรเทาและฟื้นฟูสาธารณภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเฝ้าระวังและ แจ้งเตือนภัยเป็นจำนวนเงินประมาณ 514 ล้านบาท
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายละเอียดรายงานผลการตรวจสอบ สตง. เรื่องนี้ พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า หน่วยงานเจ้าของระบบเตือนสาธารณภัย ที่ถูก สตง.ตรวจสอบพบปัญหาเรื่องผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพดังกล่าว คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
โดยผลการตรวจสอบดังกล่าว เป็นผลมาจากการตรวจสอบเอกสาร สัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานในส่วนกลาง ได้แก่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ศูนย์อํานวยการบรรเทาสาธารณภัย (ศอ.) กองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย (สส.) กองนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นส.) และส่วนภูมิภาค ได้แก่ สํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (สนง.ปภ.จังหวัด) จํานวน 7 แห่ง รวมทั้งสังเกตการณ์อุปกรณ์โทรมาตร จํานวน 35 แห่ง และทดสอบอุปกรณ์เตือนภัย จํานวน 82 แห่ง ในพื้นที่ จันทบุรี เชียงราย นครราชสีมา พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสุโขทัย
สำหรับประเด็นข้อตรวจสอบการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดนั้น
ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง.ระบุว่า โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) มีวัตถุประสงค์ในการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดและบันทึกข้อมูลสภาพอากาศ ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศไทย และกําหนด ให้อุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดและบันทึกข้อมูลสภาพอากาศ ทั้งประเภทการตรวจวัดสภาพอากาศ และคุณภาพอากาศต้องสามารถทํางานได้อย่างต่อเนื่องได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทุกวัน และสามารถแสดงข้อมูลตามที่กําหนดได้อย่างครบถ้วน และดําเนินการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยและข้อมูลสภาพอากาศบน Smart Phone ผ่านทาง Mobile Application “DPM Alert” ที่แสดงผลข้อมูลทั้งทางด้านลักษณะอากาศและข่าวสารแจ้งเตือนภัย ที่สามารถแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติไปยังเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ได้รับการเตือนเหตุภัยพิบัติอย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบรายงานการตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศของโทรมาตร สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สังเกตการณ์จุดติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตร และการทำงานของอุปกรณ์โทรมาตรผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DPM Alert จำนวน 35 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด พบว่า
1.1 การทำงานและการแสดงผลของระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) เป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่องและไม่ครบถ้วน
จากการตรวจสอบข้อมูลรายงานการตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศของโทรมาตรที่แสดงผลผ่านทางเว็บไซต์ในแพลตฟอร์ม "DPM Alert" ทั้ง 3 ระยะ จำนวน 555 แห่ง พบว่า
1) โทรมาตรไม่สามารถตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อมูลการตรวจวัดเป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 2 วันขึ้นไป จำนวน 318 แห่ง แบ่งเป็นโทรมาตรที่ตรวจวัดสภาพอากาศไม่ต่อเนื่อง จำนวน 71 แห่ง โทรมาตรที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ต่อเนื่องจำนวน 57 แห่ง และโทรมาตรที่ตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศไม่ต่อเนื่อง จำนวน 190 แห่ง
จากการสังเกตการณ์จุดติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตรใน 7 จังหวัด จำนวน 35 แห่ง พบว่า โทรมาตรไม่สามารถตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีจำนวน 26 แห่ง
2) โทรมาตรแสดงผลข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วน โดยขาดการแสดงผลข้อมูลบางรายการอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 1 วัน จำนวน 539 แห่ง แบ่งเป็นการแสดงผลข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วน จำนวน 370 แห่ง การแสดงผลข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศไม่ครบถ้วน จำนวน 164 แห่ง และการแสดงผลข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วนจำนวน 5 แห่ง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการแสดงผลข้อมูลไม่ครบถ้วน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการแสดงผลข้อมูลตามรายการตรวจวัดสภาพอากาศไม่ครบถ้วน ได้แก่ ข้อมูลรายการความกดอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และความเร็วและทิศทางลม มีจำนวน 534 แห่ง ส่วนโทรมาตรที่มีการแสดงผลข้อมูลตามรายการตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วน ได้แก่ ข้อมูลรายการฝุ่นขนาด PM25 และ PM10 ก๊าซโอโซน (O3) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) มีจำนวน 375 แห่ง
1.2 กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องไม่มีการใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยและข้อมูลสภาพอากาศบน Smart Phone "DPM Alert" ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
1) ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศและคุณภาพอากาศ ข้อมูลข่าวสาร และการแจ้งเตือนภัยผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันDPM Alert โดยจากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน จำนวน 34 ราย และประชาชนในพื้นที่ จำนวน 70 ราย รวมจำนวน 104 ราย พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าในพื้นที่มีอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศ จำนวน 88 ราย ไม่ทราบว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศและคุณภาพอากาศผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DPM Alert ได้ จำนวน 99 ราย และไม่เคยใช้งานแอปพลิเคชัน DPM Alert จำนวน 86 ราย ซึ่งมีผู้นำชุมชนที่ไม่ทราบว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือน/แจ้งข่าวเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวังภัยได้ จำนวน 32 ราย ของจำนวนผู้นำทั้งหมด 34 ราย
2) สนง.ปภ.จังหวัด ไม่ได้นำเข้าข้อมูลแจ้งเตือนในแต่ละพื้นที่เข้าสู่ฐานข้อมูล และไม่ได้นำข้อมูลจากแอปพลิเคชัน DPM Alert มาใช้งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเจ้าหน้าที่ สนง.ปภ.จังหวัด ทั้ง 7 แห่ง ให้ข้อมูลว่า ไม่ได้นำเข้าข้อมูลการแจ้งเตือนในแต่ละพื้นที่เข้าสู่ฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน DPM Alert และไม่มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน DPM Alert เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการช่วยเหลือประชาชนทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย
นอกจากนี้ พบว่า โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2564 ทั้งในระยะที่ 1 และ 2 ยังไม่ได้เปิดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเดือนภัยพิบัติ ทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค และไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DPM Alert อีกทั้งจากการสุ่มตรวจสอบข้อมูลที่แสดงผลการแจ้งเตือนผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DPM Alert ของจุดติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตรที่สังเกตการณ์ที่มีการตรวจรับงานแล้วของโครงการระยะที่ 1 และ 2 จำนวน 33 แห่ง เปรียบเทียบกับโทรสารแจ้งเตือนของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด (กอปภ.จ.) จำนวน 7 ฉบับ พบว่า ทุกฉบับไม่ปรากฎข้อมูลการแจ้งเตือนในแอปพลิเคชัน DPM Alertตามช่วงวันที่และพื้นที่ตามประกาศแจ้งเตือนภัยตามโทรสารแจ้งเตือนโดยพบเพียงการแจ้งข่าวที่ปรากฏในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน DPM Alert ที่ตรงกับการแจ้งเตือนตามโทรสารเพียง 3 ฉบับ และเป็นเพียงการแจ้งข่าวเท่านั้น
การพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด ส่งผลกระทบทำให้ ปภ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัยไม่สามารถนำข้อมูลที่มาจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยงภัยจริง ถูกต้องตามความเป็นจริง มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และคาดการณ์สาธารณภัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งทำให้การแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติไปยังเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถกระทำได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำและรวดเร็ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียโอกาสในการนำข้อมูลจากระบบโทรมาตรมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณโครงการพัฒนาระบบฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) เกิดความไม่คุ้มค่า จำนวน 432.70 ล้านบาท
รายงานตรวจสอบ สตง. ยังระบุด้วยว่า สาเหตุสำคัญเกิดจาก ปภ. โดย ศภช. ไม่มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาและตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของระบบโทรมาตรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่อง และไม่มีแผนการบำรุงรักษาระบบโทรมาตรหลังสิ้นสุดระยะประกันความชำรุดบกพร่อง รวมทั้งไม่ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์โทรมาตรและสภาพแวดล้อมบริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อให้โทรมาตรมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ปภ.ไม่จัดให้มีการประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชันอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ในแต่ละระยะของโครงการ รวมทั้งไม่ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการนำระบบโทรมาตรมาใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจน ศภช. ขาดการติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการ
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งข้อเสนอแนะเพื่อให้การพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยผู้ว่าฯ สตง. มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพิจารณาสั่งการให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติดำเนินการ ดังนี้
1. มอบหมายหน้าที่ให้มีผู้รับผิดชอบในการดูแลบำรุงรักษาและตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของระบบโทรมาตรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้มีการดูแลบำรุงรักษาและตรวจสอบการทำงานของระบบบโทรมาตรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ หากพบความชำรุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข ให้รีบแจ้งผู้รับจ้างให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข และกำกับให้ผู้รับจ้างดำเนินการตามสัญญาจ้างอย่างเคร่งครัด ทั้งการตรวจสอบและการบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โทรมาตร และจัดส่งรายงานให้ ปภ. ทราบเป็นประจำทุกเดือน และให้ส่งมอบเอกสารที่มีรายการการปรับปรุง แก้ไขเกี่ยวกับระบบโทรมาตรทุกครั้ง ให้ ปภ. เพื่อบันทึกเป็นประวัติการบำรุงรักษาอุปกรณ์โทรมาตร ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการต่อไปในอนาคตหลังสิ้นสุดระยะเวลาประกัน ตลอดจนให้มีการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับการแจ้งเตือนสถานะขัดข้องของระบบโทรมาตรให้สามารถระบุรายละเอียดของปัญหาว่าเกิดจากส่วนใดหรือขั้นตอนใด เพื่อให้ตรงตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถทราบปัญหาและแก้ไขปัญหาความขัดข้องของระบบได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ระบบโทรมาตรสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
2. จัดทำแผนการบำรุงรักษาระบบโทรมาตรหลังสิ้นสุดระยะประกันความชำรุดบกพร่อง และมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบดำเนินการตามแผนการบำรุงรักษาดังกล่าว เพื่อให้ระบบโทรมาตรสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า
3. กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์โทรมาตรและสภาพแวดล้อมบริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตรให้กับ สนง.ปภ.จังหวัด และให้มีการกำหนดหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์โทรมาตรให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างชัดเจน รวมทั้งจัดให้มีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับ อปท. ชุมชน ประชาชน หรือเครือข่ายเฝ้าระวังภัยในพื้นที่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของชุดเครื่องมือตรวจวัดและบันทึกข้อมูลสภาพอากาศอัตโนมัติ (โทรมาตร) ที่ติดตั้งในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมบริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตรให้เหมาะสม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่อุปกรณ์โทรมาตรอาจได้รับอันตรายหรือความเสียหายจากสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ติดตั้ง ช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน และเพื่อให้โทรมาตรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
4. จัดให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลทางด้านลักษณะอากาศและข่าวสารแจ้งเตือนภัยทางแอปพลิเคชันของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) และประโยชน์ที่ได้รับจากข้อมูลดังกล่าวให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัย ได้แก่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต (ศูนย์ ปภ.เขต) และ สนง.ปภ.จังหวัด อย่างทั่วถึงและเพียงพอรวมถึงการส่งเสริมความรู้ในการใช้งานให้กับภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังภัย/ภาคประชาชน เพื่อให้การติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับสาธารณภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล
5. กำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้งานระบบโทรมาตรผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกำหนดให้มีแนวทางในการนำเข้าข้อมูลการแจ้งเตือนสาธารณภัยจากพื้นที่เข้าสู่แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของระบบโทรมาตรให้กับหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วจากพื้นที่เสี่ยงภัยจริง ทำให้ผู้ใช้งานระบบโทรมาตรสามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า
6. ดำเนินการติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร)เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของการใช้งานข้อมูลโทรมาตรผ่านทางเว็บไชต์หรือแอปพลิเคชันDPM Alert เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาให้สามารถตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสาธารณภัยมากที่สุด ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป
*********
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ขยายผลการตรวจสอบ สตง. พบว่า ในช่วงปี 2563-2565 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) จำนวน 3 โครงการ คือ
1. ประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 142,000,000.00 บาท ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 63
2. ประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) เพิ่มเติม ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 142,200,000.00 บาท ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 64
3. ประกวดราคาจ้างโครงพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) เพิ่มเติม ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 148,500,000.00 บาท ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 65
รวมวงเงินกว่า 432,700,000 บาท เอกชนเจ้าเดียวเป็นผู้รับงานทุกสัญญา (ตัวเลขวงเงินตรงตามรายงาน สตง.)
ทั้งนี้ ข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ยังไม่จบ ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับพื้นที่ขาดความแม่นยำ การเตรียมความพร้อมรับมือและอพยพไม่เป็นไปตามแนวทางและวัตถุประสงค์ที่กำหนด
รายละเอียดเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอในตอนต่อไป