"...การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นบ่อเกิดของปัญหาการทุจริตตามมา เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยนับมูลค่ามหาศาล ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ห้ามเจ้าพนักงานของรัฐและผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้ว ยังไม่ถึง 2 ปี รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดที่นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้รับตามกฎหมาย ..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานป.ป.ช.ได้เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ประเด็น การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด บ่อเกิดของปัญหาการทุจริต โดยยกตัวอย่าง 3 กรณีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับทรัพย์สิน มีรายละเอียด ดังนี้
การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด บ่อเกิดของปัญหาการทุจริต
สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง จากภารกิจดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันประชาชน กลุ่มบุคคล หน่วยงานต่างๆ และสื่อมวลชน มีความตื่นตัวถึงผลกระทบที่เกิดจาการทุจริต และเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในมิติต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงเล็งเห็นความสำคัญของการส่งสริมองค์ความรู้หรือกรณีศึกษาตัวอย่างคดีต่าง ๆ โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักและขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ซึ่งกรณีศึกษาในครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องการให้ประชาชน กลุ่มบุคคล หน่วยงานต่าง ๆ และสื่อมวลชนได้รับรู้เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาการทุจริต
การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นบ่อเกิดของปัญหาการทุจริตตามมา เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยนับมูลค่ามหาศาล ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ห้ามเจ้าพนักงานของรัฐและผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้ว ยังไม่ถึง 2 ปี รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดที่นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้รับตามกฎหมาย เว้นแต่เป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑและจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2563 ใน 2 กรณี ดังนี้
1) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดซึ่งมิใช้ญาติที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท
2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
หากมีการฝ่าฝืนถือวาเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ มีกรณีศึกษาจากตัวอย่างคดีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันควรได้ตามกฎหมาย ดังนี้
กรณีที่ 1 เจ้าพนักงานเรียกรับเงินจากผู้รับจ้างช่างติดตั้งและปรับปรุงไฟฟ้าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
จำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจหน้าที่ควบคุมงานติดตั้งและปรับปรุงไฟฟ้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับจ้างช่างจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการติดตั้งและปรับปรุงไฟฟ้าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าว บอกว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินเนื่องจากบุตรสาวจะเปิดภาคการศึกษาขอให้โอนเงินเขาบัญชีเงินฝากของบุญสาวของจำเลย ผู้เสียหายเกรงว่างานที่ทำอาจมีปัญหาและถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งอาจทำให้ผิดสัญญาและจะถูกยกเลิกสัญญา หรือถูกปรับ จึงโอนเงินเขาบัญชีลูกสาวจำเลยจำนวน 20,000 บาท
ต่อมาจำเลยโทรศัพทหาผู้เสียหายบอกว่าจะไปดูงานต่างประเทศกับคณะ ยังไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายอีกจำนวนหนึ่ง แต่ผู้เสียหายได้ต่อรองเหลือ 40,000 บาท ผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยผู้เสียหายไม่ยินดีที่จะมอบให้ เหตุที่มอบให้เนื่องจากเกรงว่างานที่ทำจะมีปัญหา ขณะที่ให้เงินแกจำเลยงานของผู้เสียหายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นผู้เสียหายได้ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานติดตั้งและปรับปรุงไฟฟ้าดังกล่าว
คดีนี้ ศาลอุทธรณพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 กับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปองกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 หรือมาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดีหมายเลขแดงที่ 695/2561)
กรณีที่ 2 เจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับส่วนแบ่งจากเงินโบนัส
นาย ม. ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายรับผิดชอบการบริหารราชการ ตลอดจนมีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นเงินจำนวน 1,151,172 บาท เพื่อจ่ายให้แก่บุคลากรที่มีสิทธิ์ไดรับเงินดังกล่าว รวม 28 คน นาย ม. ได้เรียกส่วนแบ่งเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษจากบุคลากรที่มีสิทธิ์รับเงิน 10% ซึ่งหากตกลงยินยอมก็จะลงนามในเช็ค ผู้มีสิทธิ์ไดรับเงินเกรงว่าจะไม่ไดรับเงินหรือได้รับเงินดังกล่าวล่าช้าและอาจถูกกลั่นแกล้งในการปฏิบัติงาน จำต้องยอมตกลงจ่ายเงินให้แก่ นาย ม. รวมเป็นเงิน 105,218.75 บาทจากนั้น นาย ม. จึงลงนามในเช็คและโอนเงินเขาบัญชีธนาคารของผู้มีสิทธิ์รับเงิน
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การกระทำของ นาย ม. เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลและผู้มีสิทธิ์ได้รับเงิน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการปองกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 122 วรรคหนี่ง (กฎหมายฉบับปัจจุบัน คือมาตรา 128 มาตรา 169) (ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 9849/2561)
กรณีที่ 3 เจ้าพนักงานของรัฐเรียกค่าดำเนินการโดยมิได้มีตำแหน่งหน้าที่ดำเนินการดังกล่าว
ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งนักบริหารงานช่างระดับ 7 ทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองช่าง ของเทศบาลตำบล ช. มีหน้าที่บริหารงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่จำเลยเรียกค่าดำเนินการตัดแต่งต้นไม้สักจากผู้เสียหาย โดยบอกว่าได้รับอนุญาตให้ตัดแต่งได้แล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าตนเองเป็นผู้อนุญาต บอกแค่ภาพรวม ๆ ว่าได้รับอนุญาตแล้ว ซึ่งผู้เสียหายก็ไม่ได้เข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่ที่มีอำนาจอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด
ในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น แต่การที่จำเลยเรียกค่าดำเนินการจากผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท โดยที่ผู้เสียหายไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย แม้ผู้เสียหายเต็มใจ จะจ่ายให้จำเลยก็ตาม การกระทำของจำเลยเป็นการรับทรัพย์สินจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินอันควรได้ตามกฎหมาย จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรไดตามกฎหมาย กฎ หรือขอบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
คดีนี้ ผู้เสียหายต้องการปลูกอาคารที่อยูอาศัยซึ่งหน้าของแปลงที่ดินดังกล่าวมีต้นไม้สักขนาดใหญ่และเกรงว่าเมื่อมีลมพัดมาจะทำให้เศษกิ่งต้นสักหักโค่นลงมาถูกอาคารเสียหาย จึงไปยื่นคำร้องขอตัดแต่งต้นสักดังกล่าวต่อกองช่างของเทศบาลตำบล ช. และกองช่างมีหนังสือขออนุญาตตัดแต่งกึ่งต้นไม้สักไปยังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย จำเลยเป็นผู้อำนวยการกองช่างของเทศบาลตำบล ช. ซึ่งมิได้มีตำแหน่งหน้าที่ในการอนุญาตให้ตัดแต่งต้นสัก ได้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่าไดรับอนุญาตให้ตัดแต่งต้นสักแล้วแต่ต้องเสียค่าใช้จายเอง โดยรู้อยู่แล้วว่ายังมิได้รับหนังสืออนุญาตจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจอนุญาตให้ตัดแต่งต้นสัก ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงว่าจ้างผู้มีชื่อที่จำเลยจัดหามาให้ตัดแต่งต้นสักในราคา 40,000 บาท และจำเลยเรียกรับเงินค่าดำเนินการจากผู้เสียหาย จำนวน 10,000 บาท (คำพิพากษาศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 คดีหมายเลขแดงที่ อท.63/2561)
จากตัวอย่างคดีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าว คงจะพอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดฐานเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้รับตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 กับความผิดฐานเจ้าพนักงานรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
รวมทั้งควรพีงระวังในการประพฤติปฏิบัติตนหรือปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อมิให้มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญา
สำนักงาน ป.ป.ช คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้กรณีศึกษาตัวอย่างคดีต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และหวังว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จะนำไปสู่การเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ช่วยเป็นหูเป็นตาในการสอดส่องดูแลสังคม ชุมชน ใกล้ตัว อันจะนำไปสู่สังคมที่ปลอดการทุจริตอย่างยั่งยืน
อ้างอิง : หนังสือคดีสินบนกับการรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ สำนักงาน ป.ป.ช.