ย้อนรอยร่างกม.ประวัติศาสตร์ ‘สมรสเท่าเทียม’ จากแรก ‘รักร่วมเพศ’ มีโทษทางอาญาสู่วันผ่านสภาฯ ลุ้นต่อชั้น สว. ผ่าสาระสำคัญทั้งการหมั้น-แต่งงานทำได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี ถึงวันเลิกร้างจากสารพัดสาเหตุ 7 ประการ
400 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
ด้านบนคือมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3
ขั้นตอนต่อจากนี้ ตามที่มีการแถลงหลัง สส.โหวตจบวันเดียวกัน (27 มี.ค. 67) ‘ดนุพร ปุณณกันต์’ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ตั้งโต๊ะแถลงร่วมกับนายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย และนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา (สว.) ในวันที่ 2 เม.ย.นี้
โดยกรรมาธิการในชั้น สส.ยังเชื่อว่า สว. จะยกมือโหวตผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้ง 3 วาระ แต่หากมีอุบัติเหตุ วุฒิสภาไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็จะเสนอตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาเพื่อพิจารณาต่อไป
ด้านนายธัญวัจน์ ระบุว่า หลังจากกฎหมายฉบับนี้ผ่านแล้ว ก็จะมีการผลักดันกฎหมายที่เพิ่มเติมในประเด็นการสมรสเท่าเทียมอีก เช่น กฎหมายรับรองเพศสภาพ และคำนำหน้านาม เพื่อให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้นิยามตัวตนในบทบาทผู้ปกครอง บิดา มารดาตามเจตจำนงของเขา ซึ่งจะอยู่ในหมวดการแสดงเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศ
ส่วนกฎหมายประเด็นตั้งครรภ์ทางเทคโนโลยี มีการพูดคุยและเริ่มทำงานกันแล้ว คู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศจะต้องกำหนดเงื่อนไขที่ต่างออกไป ซึ่งอาจต้องใช้การตั้งครรภ์ทางเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการแก้ไขต่อไป โดยภาพรวมวันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมให้สิทธิศักดิ์ศรีกับกลุ่มคนทุกเพศ และมีขั้นตอนที่จะต้องก้าวต่อไป
นี่คือ เบื้องต้นของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา
‘ดนุพร ปุณณกันต์’ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ร่วมกับนายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย และนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงหลังสภาฯลงมติผ่านวาระ 2-3
ที่มาภาพ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
@’สมรสเท่าเทียม’ จากมีโทษทางอาญา สู่ การผลักดันที่เท่าเทียม
หากจะย้อนกลับไปสำรวจการผลักดันให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ คงต้องกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ ‘การสมรสของพวกรักร่วมเพศ’ จัดทำโดยคุณณนุช คำทอง เมื่อปี 2546 ระบุถึงความเป็นมาว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการต่อต้านบุคคลรักร่วมเพศขึ้น พระองค์จึงได้ทรงดัดแปลงกฎหมายลักษณะฐานความผิดโซโดมี (Sodomy) ขึ้น ซึ่งฐานความผิดนี้ คือ การที่กำหนดให้บุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน จะมีความผิดทางอาญาฐานกระทำชำเราผิดมนุษย์ โดยให้รวมอยู่ในพระราชกำหนดลักษณะข่มขืนล่อลวงประเวณี ร.ศ.118 และเมื่อมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อปี พ.ศ. 2452 ก็มีการตรามาตราที่เกี่ยวกับประเด็นนี้คือ มาตรา 242 ที่บัญญัติว่า
“"ผู้ใดทำชำเรา ผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือทำชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงสามปี แลให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไป จนถึงห้าร้อยบาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง"”
อย่างไรก็ตามเมื่อล่วงกาลต่อมาในปี พ.ศ. 2499 มีการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ โดยยกเลิกฐานความผิดนี้ออกไป ซึ่งคณะกรรมการร่างกฎหมายเห็นว่า ในขณะนั้นคดีที่เกิดจากฐานความผิดนี้มีน้อยมาก และเป็นการเสื่อมเสียเกียรติของชาติ ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 จึงไม่มีกฎหมายลงโทษผู้ที่รักร่วมเพศอีกเลย
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127
จากนั้น อ้างอิงวิทยานิพนธ์ ‘สิทธิในการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในประเทศไทย’ โดยคุณวสิทธิ์ เส้งเลี่ยม ระบุความเคลื่อนไหวต่อจากนั้นว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2545 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือรับรองอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า คนรักเพศเดียวกันไม่ถือเป็นความผิดปกติทางจิตอีกต่อไป ต่อมาในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 กลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญคุ้มครองต่อความหลากหลายทางเพศ และ อัตลักษณ์ทางเพศ โดยให้เพิ่มข้อความในมาตรา 30 วรรค 2 จากเดิมระบุว่า ‘ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน’ เป็น ‘ชาย หญิง และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิเท่าเทียมกัน’ แต่ในท้ายที่สุดข้อเสนอนี้ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ในขณะเดียวกัน ปี พ.ศ2550 กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็พยายามผลักดันถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำนำหน้านามบุคคล ที่สามารถให้ชายหญิงที่เป็นกลุ่มรักร่วมเพศเลือกคำนำหน้านามว่า ‘นาย’ หรือ ‘นางสาว’ ก็ได้ แต่ร่างดังกล่าวถูกดัดแปลงเป็น พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิงแทน แต่ยังมีข่าวดีอยู่นั่นคือ ในปี พ.ศ 2550 เช่นกัน มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาอีกครึ่งหนึ่ง โดยได้เพิ่มนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ในมาตรา 276 ให้ครอบคลุมถึง "การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" ซึ่งเป็นการคุ้มครองทั้งผู้ชายและผู้หญิงจากการถูกกระทำชำเรา เพราะความในกฎหมายฉบับเดิมคุ้มครองเฉพาะผู้หญิงที่ถูกผู้ชายกระทำเท่านั้น
และเมื่อปี พ.ศ. 2554 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้กระทรวงกลาโหมเพิกถอนคำว่า "เป็นโรคจิตถาวร" ในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (สด. 43), ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (สด.5) และใบสำคัญให้รับราชการทหาร (สด.9) ของบุคคลที่ยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศ แต่มีการเสริมหน้าอก เนื่องจากคำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมจึงแก้ข้อความในพระราชบัญญัติราชการทหาร พ.ศ. 2497 เป็น "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" แทน เพื่อแสดงให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่อาจเข้ารับราชการทหารได้ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
@จาก ‘คู่ชีวิต’ สู่ ‘สมรสเท่าเทียม’
ภาพของการเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมเริ่มชัดเจนขึ้น ในปี พ.ศ 2556 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตขึ้นเป็นฉบับแรก มีจำนวน 15 มาตรา ยกร่างในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีการเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ว่าด้วย ครอบครัว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและเป็นการให้สิทธิและเสรีภาพ ในการสมรสของบุคคลเพศทางเลือกอย่างแท้จริง จึงทำให้ยังไม่ได้เสนออะไร
จนเข้าสู่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 9 ปี (พ.ศ.2557-2566) ก็ยังผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยพ.ร.บ.คู่ชีวิตได้รับการวิจารณ์อย่างมากว่า มีหลายประเด็นที่ยังไม่เอื้อประโยชน์ ให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศ มีช่องว่างทางกฎหมายสองมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น การอุ้มบุญ จำกัดแค่ชายกับหญิง แต่กลุ่มหลากหลายทางเพศ ไม่มีสิทธิมีลูก เพื่อมาเติมเต็มชีวิตครอบครัว
จนกระทั่งวันที่ 18 มิ.ย. 2563 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. พรรคก้าวไกล และคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และในช่วงปีพ.ศ. 2563-2566 ปี ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว ในวันที่ 15 มิ.ย.2565 แต่ด้วย สภาล่มบ่อยครั้ง จึงไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ ทำให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมตกไปตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาล ‘นายกนิด-เศรษฐา ทวีสิน’ วันที่ 19 ธ.ค. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่… พ.ศ... ตามที่ได้มีการเสนอ จากนั้นวันที่ 21 ธ.ค. 2566 สภาฯ มีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระแรก โดยเป็นการเอาร่างกฎหมาย 4 ฉบับพิจาณราร่วม ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ, ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ, ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,611 คน เป็นผู้เสนอ และร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง นายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะเป็นผู้เสนอ ก่อนจะมีมติรับร่างทั้ง 4 ฉบับด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระที่ 2 จำนวน 39 คน โดยใช้ร่างกฎหมายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ
นำมาสู่การลงมติรับร่างในวาระ 2-3 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา
@สาระสำคัญ ‘สมรสเท่าเทียม’
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่… พ.ศ...ที่สำคัญๆมีทั้ง 68 มาตรา ดังนี้
-การหมั้นทำได้เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 5) ส่วนการสมรสจะทำได้เมื่ออายุครบ 18 ปีเช่นกัน (มาตรา 13)
-คู่สมรส ต้องอยู่กินฉันคู่สมรส ต้องเลี้ยงดูช่วยเหลืออุปาการะกันตามความสามารถและฐานะของตน (มาตรา 18)
-ถ้าคู่สมรสไม่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ ให้บังคับตามบทบัญญัตินี้ (มาตรา22)
-คู่สมรสไม่สามารถทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนตนให้แก่บุคคลใดได้ (มาตรา 29)
-คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สามารถขอศาลเป็นผู้จัดการสินสมรสโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้ (มาตรา 31)
-ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระหนี้ส่วนตัวต้องชำระที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ใช้ชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน หากไม่พอจึงค่อยชำระด้วยสินสมรส แต่ถ้าคู่สมรสเป็นหนี้ร่วมกันให้ขำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย (มาตรา 33)
-ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มละลาย สินสมรสจะแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมาย นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย (มาตรา 35)
-สิทธิในการขอเพิกถอนสมรส เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือในการสมรสระหว่างชายหญิง เมื่อหญิงตั้งครรภ์ (มาตรา 43) และเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้ว การหย่าจะสมบูรณ์เมื่อคู่สมรสจดทะเบียนหย่าเท่านั้น (มาตรา 44)
-เหตุในการฟ้องหย่าประกอบด้วย
1.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกย่องคนอื่นฉันคู่สมรส เป็นชู้ มีชู้ร่วมประเวณีกับคนอื่นเป็นอาจิณ
2.มีพฤติกรรมประพฤติชั่ว ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ แต่หากทำให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
3.ถูกเกลียดชังเพราะคู่สมรสประพฤติชั่ว หรือ ได้รับความเสียหายเกินควร หรือทำร้ายร่างกาย ทรมานจิตใจ หมิ่นประมาท เหยียดหยามอีกฝ่ายหรือไปถึงบุพการีของอีกฝ่าย
4.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทิ้งร้างไปเกิน 1 ปี
5.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลหายสาบสูญ
6.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่าย / ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่ออีกฝ่ายอย่างรุนแรง
7.ฝ่ายหนึ่งฝ่ายหนึ่งกลายเป็นผู้วิกลจริตเกิน 3ปี เป็นต้น (มาตรา 45)
นี่คือข้อมูลเบื้องต้น และสาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังต้องนั่งลุ้นกันต่อในชั้น สว. จะผ่านจนประเทศไทยจะเข้าสู่ประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือไม่
ต้องติดตาม
ที่มาภาพปก: https://pixabay.com/th/