"....สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อ Honda รุ่น CRV จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางมณฑาฯ พี่สาวของผู้ถูกกล่าวหา มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2550 โดยนางมณฑาฯ เป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวด้วยเงินของตนเอง แต่ได้มอบให้นายชัยณรงค์ ฯบุตรชายของผู้ถูกกล่าวหา (หลาน) นำไปใช้งาน ดังนั้น รถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อ Honda รุ่น CRV จึงเป็นทรัพย์สินนางมณฑาฯ โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่ผู้ที่ออกเงินซื้อทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด..."
นายวันชัย สุระกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รอดพ้นข้อกล่าวหาคดีร่ำรวยผิดปกติ!
ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า นายวันชัย กระทำความผิดให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ นายวันชัย สุระกุล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2567 ตีตกข้อกล่าวหา นายวันชัย สุระกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คดีร่ำรวยผิดปกติ จากการมีคอนโดมิเนียม , ซื้อรถป้ายแดง 2 คัน , มีที่ดินจำนวน 7 แปลง และรับมอบคอนโดมีเนียมจากบุคคลภายนอก
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่าจากการไต่สวนเบื้องต้น พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่านายวันชัย สุระกุล ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีดังนี้
1. ห้องชุดตั้งอยู่ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่า อยู่ในความครอบครองของนายปริญญาฯ ซึ่งเป็นหลานชายของผู้ถูกกล่าวหา โดยนายปริญญาฯ ได้ซื้อห้องชุดดังกล่าวจากบริษัท นารายณ์พร็อพเพอตี้ ในราคา 5,700,000 บาท เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 ซึ่งในการซื้อขายห้องชุดดังกล่าวได้ความจากนายปริญญาฯ ว่า ได้ชำระค่าห้องชุดดังกล่าวเป็นเงินสด โดยแบ่งเป็นการชำระ โดยการวางมัดจำ จำนวน 50,000 บาท นายวันชัยฯ เป็นผู้ชำระให้ก่อน ชำระ ณ วันที่ทำสัญญาซื้อขาย (18 เมษายน 2550) จำนวน 1,090,000 บาท และส่วนที่เหลือได้ชำระในวันที่ไปจดทะเบียนโอนที่สำนักงานที่ดิน (20 เมษายน 2550) โดยเงินมัดจำดังกล่าวนั้นได้คืนให้แก่นายวันชัยฯ ในภายหลังครบถ้วนแล้ว (21 เมษายน 2550) ซึ่งเงินที่นายปริญญาฯ นำมาใช้เป็นค่าห้องชุดดังกล่าวนั้นมีทั้งเงินที่ได้จากการขายกุ้ง และเงินที่ได้รับมาจากบิดามารดา
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ช่วงเวลาประมาณปี 2547-2550 นั้น นายปริญญาฯ มีการประกอบธุรกิจบ่อกุ้ง โดยได้เช่าที่ของนายฟ้าแลบฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยมีบ่อกุ้งทั้งหมด 3 บ่อ โดยเสียค่าเช่าปีละประมาณ 75,000 บาท และเช่าที่ของนายเธียรฯ โดยมีบ่อกุ้งทั้งหมดจำนวน 11 บ่อ ซึ่งเสียค่าเช่าประมาณปีละ 1,000,000 บาท จึงน่าเชื่อว่านายปริญญาฯ มีรายได้จากการประกอบธุรกิจบ่อกุ้งจริง
นอกจากนั้นจากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2550 นั้น นายพัลลภฯ บิดาของนายปริญญาฯ ได้ขายที่ดินของบิดา (นายตุ้นกี่ฯ) ซึ่งได้รับเงินมาประมาณ 5 ล้านบาท นายพัลลภฯ และนางมณฑาฯ จึงได้ให้เงินส่วนหนึ่งแก่นายปริญญาฯ และในช่วงเวลาดังกล่าว นางมณฑาฯ (มารดา) ได้มอบเงินให้แก่ นายปริญญาฯ อีกจำนวนหลายครั้ง เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ประกอบกับตามคำกล่าวหานั้นระบุพฤติการณ์การครอบครองห้องชุดดังกล่าวว่า นางสาวทินสิริฯ เป็นผู้พักอาศัยที่ห้องชุดดังกล่าว
แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในช่วงปี 2550-2554 นั้น นางสาวทินสิริฯ ไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่คอนโดดังกล่าวแต่อย่างใด แต่พักอาศัยอยู่ที่คอนโด บริเวณสี่แยกวงศ์สว่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยได้เช่าอยู่กับนางสาวศิริรัตน์ฯ ซึ่งได้คบหาเป็นแฟนกับนางสาวทินสิริฯ และต่อมานางสาวทินสิริฯ ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านของนางสาวศิริรัตน์ฯ บริเวณซอยอินทามระ เขตสุทธิสาร กรุงเทพมหานคร
นอกจากนั้น จากการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของนายปริญญาฯ ตั้งแต่ปี 2549 - 2554 นั้นไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหา มีการโอนเงินให้แก่นายปริญญาฯ แต่อย่างใด อีกทั้งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับห้องชุดดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แน่นหนาเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ห้องชุดดังกล่าวนั้น นายวันชัยฯ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าของที่แท้จริงโดยให้นายปริญญาฯ ครอบครองแทน แต่อย่างใด
2. ผู้ถูกกล่าวหาได้ซื้อรถป้ายแดงจำนวน 2 คัน ให้นางสาวทินสิริฯ และนายชัยณรงค์ฯ บุตรชาย เป็นรถยนต์ฮอนด้ารุ่นซีวิค หรือซิตี้ สีดำ และรุ่น CRV หรือไม่ อย่างไร
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่า นางสาวทินสิริฯ มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อ Honda รุ่น Civic สีดำ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2550 โดยนางสาวทินสิริฯ ได้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวในราคาประมาณ 800,000 บาท โดยได้ชำระเป็นเงินดาวน์จำนวนประมาณ 400,000 บาท ซึ่งเงินดาวน์ดังกล่าวนั้นได้จากการขายรถยนต์คันเก่า (รถยนต์ส่วนบุคคลยี่ห้อ Honda รุ่น City) ในราคา 300,000 บาท และอีกประมาณ 100,000 บาท นั้น นางสาวศิริรัตน์ฯ แฟนของนางสาวทินสิริฯ เป็นผู้ช่วยชำระให้
ส่วนยอดเงินที่เหลืออีกจำนวนประมาณ 400,000 บาท ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ฮอนด้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยผ่อนชำระประมาณงวดละ 17,000 บาท จำนวน 24 งวด โดยผู้ที่จ่ายเงินค่าผ่อนชำระรถยนต์คันดังกล่าวนั้น ได้แก่ นางสาวศิริรัตน์ฯ แฟนของนางสาวทินสิริฯ เป็นผู้จ่ายเงินชำระให้ทุกงวด
ดังนั้น รถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อ Honda รุ่น Civic สีดำ จึงเป็นทรัพย์สินของนางสาวทินสิริฯ โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่ผู้ที่ออกเงินซื้อทรัพย์สินดังกล่าวให้แต่อย่างใด
สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อ Honda รุ่น CRV จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางมณฑาฯ พี่สาวของผู้ถูกกล่าวหา มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2550 โดยนางมณฑาฯ เป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวด้วยเงินของตนเอง แต่ได้มอบให้นายชัยณรงค์ ฯบุตรชายของผู้ถูกกล่าวหา (หลาน) นำไปใช้งาน
ดังนั้น รถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อ Honda รุ่น CRV จึงเป็นทรัพย์สินนางมณฑาฯ โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่ผู้ที่ออกเงินซื้อทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด
3. ผู้ถูกกล่าวหารับมอบห้องชุด อาคารเพรสซิเดนท์คอนโดทาวน์ จากบริษัทยิบอินซอย เป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากการประมูล IT ซึ่งมีนายชาติสยามฯ พนักงานบริษัทยิบอินซอย เป็นเจ้าของห้อง หรือไม่ อย่างไร
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีชื่อเป็นผู้ครอบครองห้องชุดอาคารชุดเพรสซิเด้นท์คอนโดทาวน์ ๒ แขวงอรุณอมรินท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2550 โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ซื้อห้องชุดดังกล่าวจากนายโกมลฯ ด้วยเงินสด ในราคา 750,000 บาท โดยมีนายชาติสยามฯ พนักงานบริษัทยิบอินซอย เป็นผู้ดำเนินการประสานงานระหว่างนายวันชัยฯ กับนายโกมลฯ เนื่องจากนายชาติสยามฯ ปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน
นอกจากนั้นนายชาติสยามฯ ได้พักอาศัยอยู่ที่ห้องชุดอาคารเพรสซิเด้นท์คอนโดทาวน์ 2 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยนายชาติสยามฯ ได้ซื้อห้องชุดดังกล่าวโดยการกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ และนายชาติสยามฯ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการนิติบุคคลของอาคารเพรสซิเด้นท์คอนโดทาวน์ 2 ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีนายโกมลฯ เป็นผู้จัดการนิติบุคคลฯ อาคารชุดดังกล่าว
แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า นายชาติสยามฯ ทำหน้าที่เป็นเพียง คนกลางหรือผู้ประสานงานระหว่างนายวันชัยฯ และนายโกมลฯ ในการซื้อขายห้องชุดเท่านั้น โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยนายชาติสยามฯ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ซื้อห้องชุดให้แก่นายวันชัยฯ เนื่องจากในช่วงนั้นนายชาติสยามฯ มีเงินเดือนเพียงประมาณเดือนละ 30,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น การซื้อทรัพย์สินดังกล่าวจึงอยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้
4. ผู้ถูกกล่าวหาได้ซื้อที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง จำนวนรวม 7 แปลง ในช่วงเวลาเดียวกัน คือ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 หรือไม่ อย่างไร
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 ผู้ถูกกล่าวหา ได้รับมอบที่ดินตั้งอยู่ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง รวม 2 แปลงจากนายพัลลภฯ พี่เขย ซึ่งเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด โดยที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวนั้นเดิมเป็นของนางมณีฯ มารดาของผู้ถูกกล่าวหา นอกจากนั้นในวันเดียวกันผู้ถูกกล่าวหายังได้รับมอบที่ดิน ตั้งอยู่ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง รวม 5 แปลง จากนางมณฑาฯ ซึ่งเป็นการให้โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความจากนางมณฑาฯ ว่าเดิมที่ดินทั้ง 7 แปลงข้างต้นนั้นเป็นของ นางมณีฯ (มารดาของนางมณฑาฯ และผู้ถูกกล่าวหา) ต่อมานางมณีฯ ได้แบ่งที่ดินที่อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ให้แก่ลูกๆ ซึ่งที่ดิน 7 แปลงข้างต้นนั้น นางมณีฯ มีเจตนาจะยกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นลูกคนสุดท้อง แต่ตอนแบ่งที่ดินนั้นได้โอนมาเป็นชื่อของนายพัลลภฯและชื่อของนางมณฑาฯ ก่อน แต่นางมณีฯ ได้สั่งกับนางมณฑาฯ ไว้ว่าที่ดินทั้ง 7 แปลงดังกล่าวนั้นให้แบ่งแก่ผู้ถูกกล่าวหา นางมณฑาฯ และนายพัลลภฯ จึงได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในที่ดินให้เป็นของนายวันชัยฯ ตามเจตนารมณ์ของนางมณีฯ ในวันที่ 23 มกราคม 2550
ดังนั้น ที่ดินทั้ง 7 แปลงที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับมา จึงเป็นการรับโดยการให้ โดยไม่เสียค่าตอบแทนแต่อย่างใด
5. จากข้อมูลการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหา มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือไม่ อย่างไร
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนและคู่สมรส กรณีเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีรายได้ (ต่อปี) ประมาณ 3,567,064.52 บาท มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 18,902,160.84 บาท โดยแบ่งเป็นเงินฝากจำนวน 6,398,160 บาท ที่ดิน 9,015,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1,850,000 บาท ยานพาหนะ 300,000 บาท และทรัพย์สินอื่น 1,309,000 บาท
ต่อมาเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2554 ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนและคู่สมรส กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (พ้นจากตำแหน่งวันที่ 1 ธันวาคม 2554) โดยมีรายได้ปีสุดท้ายที่อยู่ในตำแหน่ง(ปี 2554) รวมประมาณ 4,865,857.67 บาท มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 28,127,841.04 บาท โดยแบ่งเป็นเงินฝากจำนวน 14,469,385.89 บาท เงินลงทุน 1,109,455 บาท ที่ดิน 9,015,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1,850,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 300,000 บาท และทรัพย์สินอื่น 1,354,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า รายการทรัพย์สินและหนี้สินที่แสดงถูกต้องและมีอยู่จริง และผลการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินไม่เพิ่มขึ้นผิดปกติ
ในเดือนธันวาคม 2555 ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนและคู่สมรส กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลครบ 1 ปี โดยมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 29,130,208.09 บาท โดยแบ่งเป็นเงินฝากจำนวน 10,965,407 บาท เงินลงทุน 1,458,000.78 บาท ที่ดิน 9,015,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1,850,000 บาท ยานพาหนะ 4,350,000 บาท และทรัพย์สินอื่น 1,624,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า รายการทรัพย์สินและหนี้สินที่แสดงถูกต้องและมีอยู่จริง และผลการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินไม่เพิ่มขึ้นผิดปกติ
นอกจากนี้ จากการไต่สวนเบื้องต้น โดยตรวจสอบบัญชีเงินฝากของนางสาวนภาทิพย์ฯ โดยละเอียด พบว่าเงินที่มีการนำมาฝากไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆ ซึ่งแต่ละรายการจะมีรายการฝากและถอนในระยะเวลาอันสั้น และบางรายการมีการฝากและถอนในวันเดือนปีเดียวกัน แต่ต่างบัญชีกันเท่านั้น เชื่อว่าอันเป็นการกระทำที่มีลักษณะแสดงเจตนาให้เห็นว่า ผู้กระทำกระทำไปในลักษณะการเดินบัญชีทางการเงิน เพื่อให้เห็นว่ามีรายได้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับใช้ประโยชน์ในการพิจารณาขอสินเชื่อกับธนาคารต่อไป ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับถ้อยคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และเงินที่นำมาฝากเข้าบัญชีธนาคารต่างๆ เชื่อได้ว่าเป็นเงินของนางสาวนภาทิพย์ฯ จริง ที่มีที่มาจากรายได้ของตน และเงินที่ยืมมาจากนางวิไลวรรณฯ
เมื่อพิจารณาฐานะทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน แล้ว เห็นว่านางสาวนภาทิพย์ฯ มีศักยภาพเพียงพอที่จะมีเงินเพื่อที่จะนำไปฝากธนาคารได้
ประกอบกับ สถานะทางการเงินและความสัมพันธ์ระหว่างนางสาวนภาทิพย์ฯ กับ นางวิไลวรรณฯ พบว่า นางวิไลวรรณฯ มีศักยภาพเพียงพอที่จะให้นางสาวนภาทิพย์ฯ ยืมเงินได้ และเป็นการยืมเงินและคืนเงินยืมในช่วงระยะเวลาอันสั้น อีกทั้ง บุคคลทั้งสองดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติใกล้ชิดเป็นอย่างมาก เนื่องจากนางวิไลวรรณฯ เป็นน้าของนางสาวนภาทิพย์ฯ โดยนางวิไลวรรณฯ สถานภาพเป็นหม้าย ไม่มีบุตร และเป็นผู้เลี้ยงดู และส่งเสียให้การศึกษานางสาวนภาทิพย์ฯ ตั้งแต่เยาว์วัย แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษ มีเหตุผลน่าเชื่อถือว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริงระหว่างน้ากับหลานสาว
ประกอบกับ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาได้โอนเงินหรือเงินในบัญชีเงินฝากของนางสาวนภาทิพย์ฯ เป็นเงินของผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด หรือผู้ถูกกล่าวหา ให้นางสาวนภาทิพย์ฯ ถือครองทรัพย์สินแทนผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ดังนั้น เงินฝากในธนาคารต่างๆ จึงเป็นเงินที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวนภาทิพย์ฯ
ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ นายวันชัย สุระกุล จึงรอดพ้นข้อกล่าวหาคดีร่ำรวยผิดปกติ เป็นทางการ
หลัง ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนคดีมาต่อเนื่องยาวนานหลายปี