"...มูลเหตุพิพาทคดีนี้เป็นกรณีกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับการสอบสวนและดำเนินคดีตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษของผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อํานาจการทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง..."
'ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ'
เป็นกฎหมายที่พบได้บ่อยเมื่อเห็นข่าวเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดต่าง ๆ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงสืบค้นคำพิพากษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นมานำเสนอสาธารณชน
กรณีนี้เป็นคดีที่หญิงรายหนึ่งฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับคดีถูกบุกรุกบ้าน แต่เวลาผ่านไป 5 ปี คดียังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ อีกทั้งเมื่อเดือน พ.ย. 2565 ยังส่งหนังสือเร่งรัดคดี แต่ผ่านไป 30 วันทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จึงไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยศาลระบุว่า
'คดีพิพาทที่จะนํามาฟ้องต่อศาลปกครองได้จะต้องเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง เมื่อการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าของผู้ถูกฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง เป็นการใช้อํานาจในการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในคดีต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การใช้อำนาจทางปกครอง'
ต่อมาหญิงรายนี้ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีข้างต้น ดังนี้
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่ 23 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2567
ระหว่าง
นางกชพร จันทร์เพ็ง ผู้ฟ้องคดี
ผู้บัญชาการตารวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 96/2566 หมายเลขแดงที่ 150/2566 ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)
@ ไปแจ้งความคดีบุกรุกแต่ผ่านไป 5 ปียังไม่คืบหน้า เลยมาร้องศาลว่าตำรวจผิด ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับ คดีบุกรุกบ้านของผู้ฟ้องคดี แต่คดียังไม่มีความคืบหน้า โดยผู้ถูกฟ้องคดีรับว่าจะดำเนินการ แต่เวลา ผ่านมาเกือบ 5 ปี ยังไม่ดำเนินการใดๆ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเร่งรัดคดี แต่เวลาผ่านมากว่า 30 วัน สํานักงานตำรวจแห่งชาติยังคงไม่มีการดำเนินการใดๆ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเมื่อได้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้แล้ว หากมีพยานหลักฐานว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย พนักงานสอบสวนต้องสั่งฟ้องคดีผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย หากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มีโทษถึงออกจากราชการและมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้ฟ้องคดีจึงได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิด อันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น
ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
1. ลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีกรณีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 3,000,000 บาท
2. ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลและผู้ฟ้องคดีได้ทำการสาบานตนไว้แล้ว เมื่อศาลพิจารณาคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดีขอจ่ายค่าธรรมเนียมศาลในภายหลัง
@ ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับพิจารณาคดี : ตำรวจทำงานเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การใช้อํานาจทางปกครอง
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่ ผู้ฟ้องคดีไปแจ้งความร้องทุกข์ในท้องที่ต่างๆ แต่คดีไม่มีความคืบหน้า ผู้ฟ้องคดีได้เร่งรัดผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งในคดีอาญาแผ่นดินหากมีพยานหลักฐานแล้ว พนักงานสอบสวนต้องสั่งฟ้องผู้กระทำผิด ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษผู้ถูกฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี
เห็นว่า คดีพิพาทที่จะนํามาฟ้องต่อศาลปกครองได้นั้นจะต้องเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง เมื่อการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าของผู้ถูกฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง เป็นการใช้อํานาจในการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในคดีต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การใช้อํานาจทางปกครอง ตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง จึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 1477 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
เมื่อศาลไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว กรณีไม่จำต้องพิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของผู้ฟ้องคดี
@ ผู้ฟ้องอุทธรณ์ต่อ : ตำรวจไม่ปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ความว่า มูลเหตุที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานอัยการที่ไม่ดำเนินการฟ้องหย่าสามีของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกรณีผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์ว่ามีผู้บุกรุกบ้านของผู้ฟ้องคดีเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 โดยพนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แต่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งขอให้ลงบันทึกประวันเกี่ยวกับคดี ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้ถูกฟ้องคดีในขณะนั้นรับว่าจะดำเนินการเรื่องดังกล่าว แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ให้กับผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดี มีอำนาจออกค้าสั่งให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ หากไม่ดำเนินการย่อมเป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา และเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลปกครอง
ขอให้มีศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษผู้ถูกฟ้องคดี และขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาท โดยผู้ฟ้องคดีขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
@ ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง อันเนื่องมาจากการใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 197 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง อันเนื่องมาจากการใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสําคัญที่กำหนดไว้สําหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้าง ขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับ การกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิด จากการใช้อํานาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลย ต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(4) คดีพิพาท เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
(6) คดีพิพาท เกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอํานาจศาลปกครอง
@ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ไม่รับพิจารณาคดี
คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องและคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีอาญากรณีพนักงานอัยการที่ไม่ดำเนินการฟ้องหย่าสามีของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกรณีมีผู้บุกรุกบ้านของผู้ฟ้องคดีเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีรับว่าจะดำเนินคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่เวลาผ่านไปเกือบ 5 ปี สํานักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ดำเนินการใดๆ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2515 เพื่อเร่งรัดคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่ดำเนินการ อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี
เห็นว่า มูลเหตุพิพาทคดีนี้เป็นกรณีกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับการสอบสวนและดำเนินคดีตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษของผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อํานาจการทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ และไม่จำต้องพิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของผู้ฟ้องคดี
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ทั้งหมดนี้ คือ คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในการพิจารณาคดีที่ประชาชนฟ้องร้องตำรวจในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ดีหากประชาชนมีข้อพิพาทกับรัฐก็สามารถฟ้องร้องกับศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมได้ โดยขึ้นอยู่กับรายละเอียดแต่ละกรณี
หากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่น่าสนใจสำนักข่าวอิศราจะนำมารายงานให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
ทั้งนี้สามารถเข้าไปดูรายละเอียดคำร้องได้ที่ www.admincourt.go.th/admincourt/Casefile/admcase/document/signed/2024/