"...ดีเอสไอ ตั้งประเด็นสืบสวนในหลายประเด็น โดยประเด็นหลักคือ ความคุ้มค่า โปร่งใส่ มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ ของโครงการฯ ตามมาตรา 8 พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560..."
กรณี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วงเงินกว่า 600 ล้านบาท โดยในช่วงกลางเดือน ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ดีเอสไอ ได้ทำหนังสือแจ้งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อขอความร่วมมือในการให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน โครงการฯ นี้ เข้าให้ถ้อยคำต่อดีเอสไอ ในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา
เบื้องต้นมีคำชี้แจงจาก นายประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไปแล้วว่า โครงการฯ นี้ มีการจัดทำระบบจัดซื้อจัดจ้างโดยคณะนักวิจัย ซึ่งแตกต่างจากโครงการวิจัยอื่นๆ เงินอยู่ในระบบทั้งหมด และเงินที่เหลือที่ไม่มีการเบิกจ่าย จำนวนประมาณ 130 กว่าล้านบาท ก็ได้คืนให้กับภาครัฐ ในส่วนของเงินที่มีการเบิกจ่าย ก็เป็นไปตามระบบการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป มีการตรวจรับและส่งมอบ โดยทุกขั้นตอนเป็นไปตามสัญญา ในส่วนของการเงินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคลังจังหวัด ในส่วนของเงินค่าปรับ กรณีเกิดความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบโครงการได้ตามสัญญา ก็มาจากการปรับ หรือริบหลักประกันของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ
นายประยุกต์ ศรีวิไล ยังระบุด้วยว่า การร้องเรียนจนนำมาสู่การตรวจสอบ นั้น น่าจะเกิดจากบุคคลากรในสังกัดที่ถูกประเมินไม่ผ่านงาน เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์การทำงานได้ จึงเกิดความไม่พอใจและได้ทำการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมถึงดีเอสไอด้วย
"ยืนยันว่าทุกอย่างถูกต้อง ไม่มีการฮั้ว และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีเอกสารครบ และได้ดำเนินการส่งมอบข้อมูลและชี้แจงกับดีเอสไอแล้ว" อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามระบุ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการชี้เบาะแสปัญหาสำคัญในการดำเนินงานโครงการฯ นี้ จากแหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เพิ่มเติมดังนี้
1. โครงการฯ นี้ มีข้อสังเกตสำคัญอยู่ที่การขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน สำหรับดำเนินงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน แต่กระบวนการดำเนินงานมีลักษณะเป็นการแจกสิ่งของให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. ส่วนการจัดทำข้อเสนอโครงการ ก็มีข้อสังเกตสำคัญอยู่ที่
-
กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานสิ้นสุดโครงการไว้ 4 เดือน เพื่อให้เข้าเงื่อนไขความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณ แต่การเลี้ยงปลา การปลูกผักหวาน ปลูกผักสะตอ ใช้เวลาเก็บผลผลิตเกิน 4 เดือน
-
การลงพื้นที่วิจัย ข้อเสนอโครงการฯ นี้ ได้กำหนดนักวิจัยในโครงการ 15 คน ผู้ช่วยนักวิจัย 15 คน กำหนดพื้นที่ดำเนินการวิจัย 3,500 กลุ่มวิสาหกิจ เท่ากับว่า พื้นที่วิจัย 3,500 แห่งหารด้วยนักวิจัยในโครงการ 15 คน ต้องลงพื้นที่วิจิยเฉลี่ยละคน 223 แห่งในระยะเวลา 4 เดือน ขณะที่แต่ละคนมีภาระงานสอนประจำเกือบทุกวัน
3. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ มีข้อสังเกตสำคัญอยู่ที่
-
มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ไปทำการติดต่อซื้อขายพันธ์พืช พันธุ์สัตว์ให้โครงการวิจัย โดยผ่านเอกชนบางราย ที่ไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์ทำธุรกิจเรื่องการซื้อขายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์
-
มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางแห่งได้ร้องเรียนโครงการวิจัยแล้วว่า ส่งมอบพันธุ์สัตว์ไม่ตรงกับคุณลักษณะในสัญญา แต่กลับมีการแก้ไขปัญหาด้วยการให้เงินชดเชย แทนที่จะส่งมอบพันธุ์สัตว์ให้ใหม่เพื่อใช้ในการวิจัยตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ผลการวิจัยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
-
สินค้าของเอกชนบางราย มีการตรวจสอบพบว่า อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ
ขณะที่ ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (คกร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การสอบสวนโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วงเงินกว่า 600 ล้านบาท ดังกล่าว
ดีเอสไอ ตั้งประเด็นสืบสวนในหลายประเด็น โดยประเด็นหลักคือ ความคุ้มค่า โปร่งใส่ มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ ของโครงการฯ ตามมาตรา 8 พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ประเด็นต่อมา คือ การตรวจสอบโครงการฯ ว่าดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เนื่องจากเป้าประสงค์ของโครงการฯ คือ การวิจัยเพื่อส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพ แต่ในทางปฏิบัติ กลับกลายเป็นการซื้อของมาแจกให้กับชาวบ้าน
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการซอยย่อย แบ่งสัญญาทั้งสิ้น 29 ฉบับ และการเลือกผู้ค้าเป็นการใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่ E-biding ตามหลักเกณฑ์
ร.ต.อ. สุรวุฒิ ได้กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องมีการตรวจสอบ คือ อำนาจของผู้ที่เซ็นอนุมัติโครงการฯ ซึ่งเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงฯ แต่ได้มีการมอบให้กับอธิการบดี และมีการส่งมอบต่อ เรียกว่า เป็นการมอบช่วง จึงจะต้องมีการตรวจสอบว่าสามารถทำได้หรือไม่
ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์
ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ดีเอสไอ
อย่างไรก็ดี ทางดีเอสไอยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแน่นอน
เหล่านี้ คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วงเงินกว่า 600 ล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบเพิ่มเติม
หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป