"...ในส่วนผู้ถูกกล่าวหา ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทั้ง 3 ราย นั้น นอกจากข้อมูลที่นำเสนอไปแล้วว่า เป็นอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ 1 ราย เป็นพนักงานสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 ราย และเป็นเจ้าหน้าที่ ในสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 1 ราย พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นผู้ชาย 2 ราย เป็นผู้หญิง 1 ราย..."
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังจะลุกเป็นไฟ!
หลังปรากฏข่าว เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2567 มีผู้นำแบบรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ เหตุที่น่าสนใจและเหตุที่ต้องรายงานด่วน ต่อ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กรณีเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 3 ราย ถูกตั้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาเผยแพร่ใน ปปป.
โดย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทั้ง 3 ราย ถูกระบุว่า เป็นอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ 1 ราย เป็นพนักงานสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 ราย และเป็นเจ้าหน้าที่ ในสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 1 ราย โดนกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าให้ความช่วยเหลือในการตกแต่งพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงแก่นายตำรวจยศสูงรายหนึ่ง ในการจัดทำเอกสารยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นผลมาจากการสืบสวนตรวจสอบข้อมูลเซลเลไบร์ทโทรศัพท์มือถือของนายตำรวจ ยศ พ.ต.ท. รายหนึ่ง ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดนายตำรวจยศสูง รายนี้ พบข้อมูลการสนทนากับเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ป.ป.ช. มีการพูดคุยเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของ นายตำรวจยศสูง รายนี้
นายตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ จึงได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ กับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทั้ง 3 ราย ก่อนที่จะมีการจัดทำแบบรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ เหตุที่น่าสนใจและเหตุที่ต้องรายงานด่วน ต่อ ผบ.ตร. ดังกล่าว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบแบบรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ เหตุที่น่าสนใจและเหตุที่ต้องรายงานด่วนดังกล่าว พบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังนี้
1. บริเวณที่เกิดเหตุ มีการระบุว่า เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567
2. ผู้กล่าวหากรณีนี้ คือ นายตำรวจ ยศ พ.ต.ท. มีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับ ดำเนินการสืบสวนตามคำสั่ง ตร.ที่ 593/2566 ลงวันที่ 25 ต.ค.2566 และตามคำสั่ง บช.น.ที่ 58/2567 ลงวันที่ 1 ก.พ.2567
3. ในส่วนผู้ถูกกล่าวหา ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทั้ง 3 ราย นั้น นอกจากข้อมูลที่นำเสนอไปแล้วว่า เป็นบุคคลภายนอก ผู้ทรงคุณวุติในอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ 1 ราย เป็นพนักงานสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 ราย และเป็นเจ้าหน้าที่ ในสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 1 ราย
พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นผู้ชาย 2 ราย เป็นผู้หญิง 1 ราย
4. รายละเอียด หรือ พฤติการณ์แห่งคดี ระบุว่า สืบเนื่องจาก พนักงานสืบสวน ตามคำสั่ง ตร. ที่ 593/2566 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2566 และ ตามคำสั่ง บช.น. ที่ 58/2567 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีส่วนปฏิบัติการตั้งอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการสืบสวนขยายผลจากการตรวจสอบข้อมูลเซลเลไบร์ทโทรศัพท์มือถือของ พ.ต.ท. รายหนึ่ง
พบข้อมูลการสนทนาระหว่าง พ.ต.ท. รายนี้ กับผู้ใช้แอปพลิเคชันไลน์ เจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ป.ป.ช. มีการพูดคุยเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารยื่นบัญชีทรัพย์และหนี้สินของ นายตำรวจยศสูง ในการจัดทำคำชี้แจง ฯลฯ
ในแบบรายงานเหตุระบุชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวว่า มีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือในการตกแต่งพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจง ผู้กล่าวหาจึงได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับบุคคลดังกล่าวข้างต้นตามกฎหมายต่อไป
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ต.ท. รายนี้ ถูกระบุว่าเป็นคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจของ นายตำรวจยศสูง รายนี้ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการโอนเงินผ่านบัญชีม้าของผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่เกี่ยวข้องกับเว็นพนันออนไลน์ จำนวน 2 แสนบาท เพื่อนำไปบริจาคให้กับวัดแห่งหนึ่ง ของ นายตำรวจยศสูง ซึ่งถูกกล่าวโทษ ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานของรัฐทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เกิน 3,000 บาท ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 , 129 และ 169 ด้วย
ในส่วนเครื่องมือ เซลเลไบร์ท นั้น จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เป็นชุดตรวจพิสูจน์หลักฐานโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ Cellebrite เป็นสินค้าบริษัทสัญชาติอิสราเอล อุปกรณ์ตัวนี้มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ สามารถเจาะระบบป้องกัน ความปลอดภัยของสมาร์ทโฟน ไม่เว้นแม้กระทั่งไอโฟน ที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบรักษาข้อมูลส่วนตัวสูงสุด ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานหน่วยงานภาครัฐ พบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานตรวจสอบของประเทศไทย มีการจัดซื้อมาใช้งานตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2558 แล้ว
ขณะที่ท่าทีของ สำนักงาน ป.ป.ช. นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ผู้บริหารระดับสูง สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับทราบเรื่องแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทั้ง 3 ราย เป็นใคร อยู่สังกัดไหน และมีพฤติการณ์กระทำความผิดตามที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจริงหรือไม่
ล่าสุด ผู้บริหารระดับสูง ป.ป.ช. น่าจะรับทราบข้อมูลทั้งหมดแล้ว และคงจะมีการออกคำสั่งสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ราย ก็มีสิทธิ์ในการชี้แจงข้อมูลหลักฐานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองตามขั้นตอนทางกฎหมายได้
บทสรุปผลการสอบสวนคดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ภาพลักษณ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบของประเทศ นับว่ามีความเสียหายต่อกรณีนี้เป็นอย่างมาก และเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสำนักงาน ป.ป.ช. แล้วว่า ป.ป.ช.กำลังถูกตำรวจเล่นงานคืน จากความไม่พอใจ มติการรับสำนวนสอบสวน คดีบิ๊กตำรวจ กับ พวก เกี่ยวกับคดีเว็บพนันออนไลน์ ที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้
ศึกช้างชนช้าง ระหว่าง "ตำรวจ" กับ "ตำรวจ" จึงลุกลามบานปลาย ขยายวง มาสู่ "ตำรวจ" กับ "ป.ป.ช" แบบหนักหน่วงและรุนแรง ชนิดที่เรียกได้ว่า "จุดไฟเผาบ้าน" กันเลยทีเดียว
แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้