ร้องตรวจสอบ ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ จัดซื้อระบบเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง Flight Simulator 28.4 ล. ปี 2566 ใช้วิธีคัดเลือกแพงหรือไม่? ด้านผู้ช่วยปลัดฯ แจงทำตามกระบวนการจัดซื้อทุกอย่างถูกที่สุดในประเทศแล้ว
การจัดซื้อระบบเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) พร้อมติดตั้ง จำนวน 1 ระบบ ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 28,500,000 บาท ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กำลังถูกจับตามองว่า มีราคาสูงหรือไม่?
เนื่องจากการจัดซื้อดังกล่าว ใช้วิธีคัดเลือก ไม่ได้ประกวดราคา และเครื่องช่วยฝึกบินจำลองดังกล่าวเสมือนเอาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่ละชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดซื้อ ระบบเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) พร้อมติดตั้ง จำนวน 1 ระบบ ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 28,500,000 บาท ว่ามีมีราคาสูงหรือไม่ เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าการจัดซื้อดังกล่าว ใช้วิธีคัดเลือก ไม่ได้ประกวดราคา ขณะที่เครื่องช่วยฝึกบินจำลองดังกล่าวเสมือนเอาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่ละชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกัน
ขณะที่ สำนักข่าวอิศราตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงกระบวนการจัดซื้อระบบเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) ดังกล่าว พบว่า มีเอกชนผู้รับ/ซื้อเอกสาร 3 ราย คือ บริษัท ดับบลิวเอ็ม ซิมูเลเตอร์ จำกัด บริษัท ไทย รีนิวเอเบิล จำกัด และ บริษัท ไทยวิจิตรประภา จำกัด
แต่ยื่นเอกสารเพียงรายเดียว คือ บริษัท ดับบลิวเอ็ม ซิมูเลเตอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอ็ม ซิมูเลเตอร์ จำกัด โดยเสนอราคา เป็นเงินทั้งสิ้น 28,460,000 บาท เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2565 ทำสัญญาเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2556 (สัญญาเลขที่ 0201.4/02/2566) อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎข้อมูลหนังสือประกาศเชิญชวน ในเว็บไซต์ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความประสงค์จัดซื้อเทคโนโลยีและระบบเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) ประเภทเครื่องช่วยฝึกบินเฮลิคอปเตอร์จำลอง (Heli craft Simulator) พร้อมติดตั้ง จำนวน 1 ระบบ วัตถุประสงค์ เพื่อใช้ฝึกและทบทวนการปฏิบัติในขั้นตอนมาตรฐานการบินกับเฮลิคอปเตอร์แบบที่ประจำการในราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องฝึกจำลองการบินที่ผลิตโดยบริษัท PRESAGIS ประเทศแคนาดา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นายกานตพันธุ์ พิศาลสุขสกุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้
นายกานตพันธุ์ กล่าวว่า ขอตอบในฐานะอดีตผู้อำนวยการกองการบิน ณ ตอนนั้นว่า มีการตั้งงบประมาณตามปกติ เนื่องจากงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างเกิน 10 ล้านบาท ทางกองการบินจึงไม่ได้ดูแล แต่เป็นหน่วยพัสดุของกองกลางสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแลการจัดซื้อ ในการจัดซื้อจัดจ้างก็ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ มีการตรวจสอบราคาทุกอย่าง ขณะนี้มีการใช้งานแล้ว อีกทั้งไม่ได้เป็นโครงการใหม่ เป็นโครงการที่มีการใช้งานในปัจจุบัน เหมือนโครงการทั่วไป
"Flight Simulator ไม่ได้มีแค่หน่วยงานของผม มีของกรมตำรวจและทหารด้วยเช่นกัน เข้าใจว่าราคาที่กระทรวงทรัพยากรฯจัดซื้อถูกที่สุดแล้ว ในเรื่องของความจำเป็นในการบิน ต้องมีเพราะในแต่ปีนักบินจะใช้เครื่องบินจริงในการทบทวนมาตรฐานการบิน ซึ่งอันตรายมาก ทั้งนี้ในระหว่างทบทวนมาตรฐานการบินบางหน่วยงานก็เคยมีการตก ในส่วนของผม ในระหว่างทบทวนก็เคยมีอุปกรณ์ราคาสูงตกน้ำเป็นบางครั้ง ฉะนั้นเราจึงจำเป็นที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วย และในหนึ่งปีนักบินก็ไม่จำเป็นต้องทบทวนแค่ครั้งเดียว เช่น ถ้านักบินว่างเมื่อใดก็มาใช้ Flight Simulator เป็นต้น"
นายกานตพันธุ์ กล่าวย้ำว่า “เนื่องจากเมื่อก่อนในหนึ่งปีใช้เงินในการทบทวนมาตรฐานการบินเกือบ 2 ล้านบาท แล้วก็มีความเสี่ยง เรื่องเงินไม่สำคัญ เรื่องชีวิตสำคัญกว่า อันนี้เป็นความจำเป็นที่หน่วยบินทุกหน่วยบินควรจะมี Flight Simulator ผมเข้าใจว่าที่กระทรวงทรัพยากรทำถูกสุดในประเทศไทย”
"Flight Simulator เป็นชุดคอมพิวเตอร์ที่มีการสั่นเหมือนไปนั่งในเครื่องบินจริง ๆ และต้องมีโปรแกรมเฉพาะเรื่องการบิน ซึ่งมีคันบังคับเหมือนเครื่องบินจริง ๆ ไม่ใช่เป็นการนั่งดูจอทีวีเพียงอย่างเดียว อีกทั้ง เครื่อง Flight Simulator เป็นการเอาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาประกอบกันอยู่แล้ว ในความเห็นผมเครื่อง Simulator โดยทั่วไปต้องเป็นลักษณะอย่างที่กล่าวไปอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญ คือ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ ที่ต้องเป็นซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับลักษณะการบินต่าง ๆ ซึ่งซอฟต์แวร์เหล่านี้เราเขียนเองไม่ได้ต้องมีใบอนุญาต (license) แล้วในการพัฒนาซอฟต์แวร์เราก็ให้เขา (เอกชน) ไปจัดทำและออกแบบจากพื้นที่จริงที่เราใช้งาน เช่น ห้วยน้ำดัง แก่งกระจาน เป็นต้น" นายกานตพันธุ์ระบุ
นายกานตพันธุ์ ยังกล่าวย้ำว่า “อีกทั้งนักบินของเรายืนยันว่า เครื่อง Flight Simulator คุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะ เครื่อง Flight Simulator ของเราเป็นห้อง 1 ห้อง ไม่ได้ตั้งเป็นเครื่องเฉย ๆ โปรแกรมมีการออกแบบเฉพาะและมีแผนที่ในพื้นที่ที่หน่วยงานของเราปฏิบัติงานทั้งประเทศ นอกจากนี้ในการพัฒนาโปรแกรมไม่ว่าจะเป็น Simulator หรืออะไรก็ตาม ต้องมีค่าฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์เป็นเรื่องทั่วไป คนร้องอาจจะไม่เข้าใจ หรืออาจจะอยากได้แบบทหารที่เป็นหัวเครื่องบินซึ่งแบบดังกล่าวมีราคาหลายร้อยล้าน อันนี้ถูกกว่าเยอะ”
หมายเหตุ: ภาพ Flight Simulator ประกอบปกข่าวจาก www.catc.or.th/th/curriculum/