ตามรายงานของ TOI เจ้าหน้าที่อินเดียได้ยื่นประท้วงอย่างรุนแรงกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับคําพูดดังกล่าว โดนนายปิยุช โกยาล (Piyush Goyal) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของสหภาพแรงงานประเทศอินเดียได้หยิบยกประเด็นนี้ประท้วงกับนางแคทเธอรีน ไท (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (USTR) และนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (Valdis Dombrovskis) รองประธานบริหารของสหภาพยุโรป โดยระบุว่าภาษาและพฤติกรรมของทูตไทยนั้นเป็นที่ "ยอมรับไม่ได้"
ข่าวดราม่าในวงการการค้าต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย คงหนีไม่พ้นกรณีที่สื่อต่างประเทศรายงานว่ารัฐบาลไทยได้เรียกตัวนางพิมพ์ชนก วอนขอพร พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตประจํา WTO กลับประเทศไทย เพราะมีการวิจารณ์นโยบายการจัดการข้าวของอินเดีย
จากข่าวดังกล่าวนั้นสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานข่าวบนหน้าสื่ออินเดียมานำเสนอเพื่อขมวดปมว่าประเด็นดราม่านี้มีที่มาจากอะไรกันแน่ มีรายละเอียดดังนี้
ความตึงเครียดทางการทูตระหว่างประเทศอินเดียและประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นในการประชุมองค์การการค้าโลกหรือ WTO นั้นมีที่มาจากวันที่ 27 ก.พ. เมื่อทูตประจำ WTO ของไทยได้มีการกล่าวหาว่าอินเดียใช้โครงการอุดหนุนข้าวเพื่อครองตลาดโลก
คําพูดดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรง โดยผู้เจรจาชาวอินเดียคว่ำบาตรการเจรจาในกลุ่มที่มีตัวแทนของไทยอยู่ด้วย ตามรายงานของสำนักข่าว Times of India หรือ TOI
@ข้อกล่าวหาของไทยต่ออินเดีย
รายงานข่าวของสำนักข่าว BNN Breaking ระบุว่าประเทศไทยได้กล่าวหาว่าข้าวของอินเดียได้รับการอุดหนุนจากโครงการภาครัฐอย่างหนัก ทำให้อินเดียได้เปรียบในตลาดส่งออกระหว่างประทศ
ข้อกล่าวหานี้มาจากนางพิมพ์ชนก วอนขอพร พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตประจํา WTO ของไทยที่กล่าวระหว่างการประชุมศึกษาหารือ และยังมีตัวแทนจากประเทศที่ร่ำรวยบางประเทศสนับสนุนข้อกล่าวหานี้เช่นกัน นี่ทำให้เกิดความวุ่นวายที่กรุงนิวเดลีเป็นอย่างยิ่ง
ตามรายงานของ TOI เจ้าหน้าที่อินเดียได้ยื่นประท้วงอย่างรุนแรงกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับคําพูดดังกล่าว โดยนายปิยุช โกยาล (Piyush Goyal) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของสหภาพแรงงานประเทศอินเดียได้หยิบยกประเด็นนี้ประท้วงกับนางแคทเธอรีน ไท (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (USTR) และนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (Valdis Dombrovskis) รองประธานบริหารของสหภาพยุโรป โดยระบุว่าภาษาและพฤติกรรมของทูตไทยนั้นเป็นที่ "ยอมรับไม่ได้"
เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียให้สัมภาษณ์ว่าข้อเท็จจริงจากทูตไทยนั้นเป็นเรื่องที่ผิด ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของข้าวที่ผลิตในประเทศอินเดียนั้นถูกซื้อโดยรัฐบาลเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ และผลผลิตที่เหลือส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้รัการอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐจะถูกส่งออกโดยอินเดียในราคาตลาด
รายงานจากสำนักข่าว BusinessLine ที่อ้างอิงสมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งประเทศไทยหรือ TREA ระบุว่าอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของการค้าข้าวทั่วโลกในปี 2565 และปีที่แล้วอินเดียก็ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด แม้ว่าจะมีการห้ามไม่ให้ส่งออกข้าวพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติและดําเนินการเก็บภาษีร้อยละ 20 สําหรับข้าวต้ม
อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งของอินเดียในตลาดโลกลดลงร้อยละ 27 เนื่องจากการห้ามส่งออกข้าว โดยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ประธาน TREA กล่าวว่าอินเดียได้มีการส่งออกข้าว 16.5 ล้านตัน (mt) ในปี 2566 เทียบกับ 22.3 ตันในปี 2565
นางพิมพ์ชนก วอนขอพร พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตประจํา WTO (อ้างอิงรูปภาพจากกรุงเทพธุรกิจ)
@กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าโลกหรือไม่?
คํากล่าวของเอกอัครราชทูตไทยมีขึ้นในวันที่อินเดียเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาการกักตุนสินค้าเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างถาวรในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ของ WTO
WTO ได้มีการกำหนดคำว่าการสต็อกอาหารเพื่อการสาธารณะหรือ PSH ว่าคือการจัดหา การจัดเก็บ และการปล่อยสต็อกอาหารโดยรัฐบาลผ่านรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานสาธารณะอื่นๆ
ประเด็นเรื่องระหว่างไทยและอินเดียนั้นได้ทำให้เกิดความวุ่นวายตามมาเกี่ยวกับกรณีการกักตุนอาหารเพื่อการสาธารณุและโครงการอุดหนุนด้านการเกษตร ที่อยู่ในเวทีเสวนาทั่วโลก
โดยชาติตะวันตกซึ่งไม่พอใจการที่อินเดียห้ามการส่งออกข้าวกำลังพยายามแสดงให้เห็นว่าอินเดียกำลังบิดเบือนการค้าระหว่างประเทศ เพราะว่ามีการขายธัญพืชซึ่งได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ในตลาดโลก
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อินเดียให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเงื่อนไขการค้าในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศที่ร่ำรวยมากกว่าเนื่องจากราคาอ้างอิงสําหรับการคํานวณเงินอุดหนุนได้รับการแก้ไขที่ระดับปี ค.ศ. 1986-88
เนื่องจากกสูตรการคิดคำนวณนี้มีข้อบกพร่อง อินเดียจึงทําลายขีดจํากัดที่แนะนําไว้ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการผลิตข้าว อย่างไรก็ตามสูตรนี้ไม่สามารถนำไปคิดคำนวณที่ WTO ได้เนื่องจากจะเป็นการละเมิดประเทศสมาชิกอื่นๆ ซึ่งจนถึงตอนนี้ประเทศเหล่านี้ได้พยายามหาสูตรการคิดคำนวณราคาเงินอุดหนุนใหม่ ที่กินเวลามานานกว่าสิบปีแล้ว
ข้อพิพาทเกี่ยวกับการส่งออกข้าวและการอุดหนุนเชื่อมโยงกับการอภิปรายในวงกว้างเกี่ยวกับการรับรองการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมตลอดจนการจัดการกับข้อกังวลด้านความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก
โดยประเทศร่ำรวยลังเลที่จะลดภาษีนําเข้าเนื่องจากปัญหาการกักตุนเพื่อการสาธารณะอันมาจากความต้องการความมั่นคงด้านอาหารของประเทศกําลังพัฒนา โดยเรื่องการลดภาษีนั้นถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลาสองปีแล้ว
“หลังโควิดประเทศต่างๆได้ตระหนักว่าความมั่นคงด้านอาหารนั้นคล้ายกับความมั่นคงของชาติ จําเป็นต้องได้รับการแก้ไขก่อนสิ่งอื่นใด ดังนั้นการใช้ถ้อยคำบางประการที่มาจากประเทศสมาชิกบางประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” ผู้เจรจาจากอินเดียกล่าว
จากข้อมูลของ BNN Breaking ผลของข้อพิพาทระหว่างอินเดียและไทยอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความสัมพันธ์ทางการค้าโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการหารือในอนาคตเกี่ยวกับการอุดหนุนการเกษตรที่ WTO
อินเดียปฎิเสธข้อกล่าวหาของไทย (อ้างอิงวิดีโอจาก CNN อินเดีย)
เรียบเรียงจาก:https://www.firstpost.com/explainers/india-thailand-row-rice-exports-wto-talks-13743570.html
@ความคืบหน้าล่าสุด
จากกรณีความพิพาทระหว่างไทยและอินเดียนั้น ความคืบหน้าล่าสุดตามข่าวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่าได้ส่งจดหมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดียเพื่อขอโทษอย่างเป็นทางการในถ้อยแถลงและท่าทีของทูตจากประเทศไทยแล้ว
“ภายหลังจากที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย ได้รับจดหมายขอโทษ ผมได้รับข้อความตอบรับถึงความเข้าใจอย่างดี และขอบคุณ ที่แสดงความจริงใจ รวมทั้ง แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว” นายภูมิธรรมกล่าว