"...ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกระทงละหนึ่ง ในสาม ตามมาตรา 78 จำคุก 9 ปี 12 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 1,312,000 บาท แก่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก..."
นายตระกูล หรือ ภูชิชย์ อานัด อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7 ว. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ จังหวัดนครพนม
เป็นเจ้าหน้าที่รัฐอีกราย ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีอาญาเกี่ยวกับทุจริตเบิกจ่ายเงินจำนวน 2 คดี
ปัจจุบันทั้ง 2 คดี เข้าสู่การพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว โดยศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาตัดสินคดีแรกให้ยกฟ้อง หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ จำคุก 15 ปี
ส่วนคดีสอง มีพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุก เป็นเวลา 9 ปี 12 เดือน หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ได้รอลงอาญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปข้อมูลรายละเอียดทั้ง 2 คดีนี้ มานำเสนอ ณ ที่นี้
คดีแรก กรณีเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการจ่ายให้ตรวจสอบเป็นเหตุให้เงินขาดบัญชีงบประมาณ ปี 2546 - 2547
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และมาตรา 157 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษาว่า จำเลย มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิด จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี
จำเลยไม่รู้สำนึกความผิดและไม่พยายามบรรเทา ผลร้าย จึงไม่รอการลงโทษ กับให้จำเลยคืนเงิน 32,000 บาท
ต่อมา ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง
คดีสอง กรณีเบิกจ่ายเงินศูนย์ท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ จังหวัดนครพนม โดยไม่มีหลักฐานการจ่าย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 , 266 (1) และ 268 ประกอบมาตรา 90 , 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2563
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 266 (1) , 268 วรรคแรก, 157 (เดิม) ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จำเลยเป็นผู้ปลอม เอกสารและใช้เอกสารปลอม
ให้ลงโทษตาม มาตรา 268 วรรคสอง ฐานใช้เอกสารปลอมและฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทหนักที่สุดตาม มาตรา 90
จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 20,000 บาท รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี และปรับ 60,000 บาท
ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ตามพฤติการณ์จำเลยจ่ายเงินจัดการแข่งขันกีฬาทั้งสามโครงการและเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการของแต่ละอำเภอที่ได้รับเงินจากจำเลยก็ดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว
เพียงแต่มีการปลอมลายมือชื่อเสมียนตราอำเภอหรือเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีอำเภอหรือเจ้าพนักงานปกครองอำเภอเพื่อหักล้างบัญชี
เมื่อคำนึงถึงอายุประวัติความประพฤติของจำเลย ซึ่งเคยรับราชการครูตั้งแต่ปี 2522 ด้วยความขยันหมั่นเพียรได้เลื่อนตำแหน่งและย้ายไปเป็นครูที่โรงเรียนหลายแห่งโอนย้ายและเลื่อนตำแหน่งเป็นศึกษานิเทศแล้วได้รับการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 8 ว จนเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. 2561
ประกอบกับจำเลยมีอายุมากแล้วจึงมีเหตุอันควรปรานีโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามมาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม มาตรา 29,30 ให้จำเลยคืนเงิน 1,248,000 บาท แก่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท 175/2562 (คดีแรก) ของศาลนี้ นั้นปรากฎว่าคดีอาญาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่13855/2563 ของศาลอุทธรณ์ข้อหาและคำขออื่นจึงให้ยก
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2566 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147 (เดิม), 266 (1), 268 วรรคแรก ประกอบ 266 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม มาตรา 147 (เดิม) อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี
ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกระทงละหนึ่ง ในสาม ตามมาตรา 78 จำคุก 9 ปี 12 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 1,312,000 บาท แก่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2566 มีมติเห็นชอบตามความเห็นของอัยการสูงสุด (อสส.) ที่จะไม่ฎีกาคำพิพากษา
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ทั้งนี้ ในส่วนคดีแรก ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติฎีกาคำพิพากษาหรือไม่
ขณะที่ นายตระกูล อานัด ก็ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายผลการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร
นายตระกูล อานัด นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่น ไม่ให้กระทำความผิด เดินย้ำซ้ำรอยเดียวกันทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไปอีกหนึ่งกรณี
ความขยันหมั่นเพียรในอดีตพังทลายหายไป เพราะการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบที่ควรพึ่งปฎิบัติ