"...ในวันที่ 4 เมษายน 2566 พรรคก้าวไกลได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง โดยมีชื่อผู้ถูกร้องอยู่ในบัญชี ลำดับที่ 1 และในวันดังกล่าวผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) กรณีจึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)..."
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 เสียง ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จากกรณีถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เมื่อ 4 เม.ย. 2566
เนื่องจากในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. แม้นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการ หรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ซึ่งคดีนี้ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตุลาการเสียงข้างน้อยเพียงคนเดียว ที่เห็นว่าการที่นายพิธา มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา สิ้นสุดลง
สำหรับคำวินิจฉัยส่วนตนของนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ มีเนื้อหาดังนี้
วันที่ 24 มกราคม 2567
ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง กับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้อง
ประเด็นวินิจฉัย
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
ความเห็น
รัฐธรรมนูญ หมวด 7 รัฐสภา ส่วนที่ 2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ...” และมาตรา 101 บัญญัติว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ ... (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ...”
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ได้บัญญัติเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้หลายเหตุด้วยกัน โดยเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สำคัญประการหนึ่งนั้นบัญญัติไว้ในอนุมาตรา (6) กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 98
โดยมาตรา 98 บัญญัติว่า "บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ..."
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนเป็นลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงได้กำหนดให้นำลักษณะต้องห้ามดังกล่าวนั้นมาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย โดยเป็นการกำหนดลักษณะต้องห้ามตั้งแต่ในชั้นสมัครรับเลือกตั้งไปตลอดจนถึงขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อป้องกันมิให้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่บุคคลใดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
และเพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจครอบงำสื่อมวลชนอันอาจจะทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง โดยการพิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
มีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วยกัน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง ในวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ และประเด็นที่สอง ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว หรือไม่
สำหรับ ประเด็นที่หนึ่ง ในวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
เห็นว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เดิมมีชื่อว่าบริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2541 มีวัตถุประสงค์ของบริษัทตามแบบ บมจ.002 ที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 45 ข้อ ซึ่งในข้อ 18 ข้อ 40 ข้อ 41 และข้อ 43 นั้น ต่างระบุวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับโรงพิมพ์รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย ออกหนังสือพิมพ์ หรือดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ บริการประชาสัมพันธ์และจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์ หรือรับจ้างโฆษณาทางโทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ วิทยุหนังสือพิมพ์ หรือสื่อใด ๆ รับบริการถ่ายภาพเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนรับจ้างออกแบบโฆษณาทุกชนิดทุกประเภท บริการประชาสัมพันธ์ทางธุรกิจ และประกอบกิจการผลิต จัดสร้าง จัดทำจัดจำหน่าย ซึ่งรายการที่เกี่ยวกับข่าว สารคดี การแสดงและรายการบันเทิงทุกชนิด ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ หรือสถานบันเทิงใด
โดยบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาเข้าร่วมและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ เอช เอฟ กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 และสัญญาฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ 25 เมษายน 2543
จะเห็นได้ว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสถานีโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ การผลิตโฆษณาหรือรายการโทรทัศน์ โดยถือว่าเป็นกิจการที่เป็นสื่อกลางในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาสาระไปสู่ประชาชนเป็นการทั่วไป กรณีตามคำโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ถูกยกเลิกสัมปทานเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 ซึ่งมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กับ สปน. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และปัจจุบันบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน
ซึ่งการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไทีวี จำกัด(มหาชน) ในฐานะประธานในที่ประชุม ยืนยันว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ดำเนินการใด ๆ จนกว่าผลคดีจะสิ้นสุด ประกอบกับไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนตามแบบ ส.บช.3 รับวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565
ซึ่งระบุว่า ไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากรอผลคดี และมีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับงบกระแสเงินสดระบุว่าบริษัทมีรายได้จากการขายตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการอื่น และมีรายได้จากดอกเบี้ยรับ และงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ รับรายได้มาจากผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับนอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. แจ้งว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับการจัดสรรให้ใช้ความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจกาโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เห็นว่า ปัจจุบันข้อเท็จจริงปรากฎว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ดำเนินการจัดทำสถานีโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ การผลิตโฆษณาหรือร้ายการโทรทัศน์ หรือดำเนินการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมที่เคยได้ทำสัญญาไว้กับ สปน.รวมถึงเมื่อพิจารณาจากรายได้ในช่วงปี 2560 ถึง 2565 จากแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3)ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ถึงปี 2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า "กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก" รอบปีบัญชีสิ้นสุด วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ถึงปี 2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า "สื่อโทรทัศน์" ระบุสินค้า/บริการว่า"ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ"
รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า "สื่อโทรทัศน์" ระบุสินค้า/บริการว่า "ไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากรอผลคดี/มีรายได้จากผลการตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ" และหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ถึงปี 2565 ที่ระบุว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เคยดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ภายใต้สัญญากับ สปน. สื่อโฆษณา และการผลิตรายการ โดย ณ วันที่ 7 มีนาคม 2550 สปน. ได้เพิกถอนสัญญาดังกล่าวส่งผลให้บริษัทต้องหยุดดำเนินกิจการ และบริษัทย่อย คือ บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์และให้บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่เกี่ยวข้องและการผลิตรายการต้องหยุดดำเนินธุรกิจ และมีรายได้ผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ จากเอกสารดังกล่าวจะพบว่าในช่วงระหว่างปี 2560 ถึง 2565 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสถานีโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ การผลิตโฆษณาหรือรายการโทรทัศน์ หรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอันเป็นวัตถุประสงค์หลักตามที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 - 19/2563 มีประเด็นวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างเดียวกันกับคดีนี้ว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคงความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอยู่นั้นประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน หรือไม่ โดยในคดีดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างแบบรายการในหนังสือรับรองและวัตถุประสงค์ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ปรากฎวัตถุประสงค์หลายรายการครอบคลุมกิจการต่าง ๆ แต่เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์หลักของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวแล้ว
พบว่ามีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหลักอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน กรณีจึงต้องพิจารณาจากรายได้ของกิจการเหล่านั้นเป็นหลักว่ามีรายได้จากกิจการใด ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีก่อนไม่อาจเทียบได้กับข้อเท็จจริงในคดีนี้ เนื่องด้วยข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนโดยตรง เพียงแต่ในปัจจุบันไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการจัดทำสถานีโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ การผลิตโฆษณาหรือรายการโทรทัศน์หรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน เพราะมีข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
แม้กระนั้น หากพิจารณาจากสถานะของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ตามแบบตรวจสอบรายการในหนังสือรับรองบริษัทพบว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีสถานะยังดำเนินกิจการอยู่ และเมื่อพิจารณาจากเอกสารอื่น ๆ ที่บริษัทได้ยื่นต่อหน่วยงานรัฐ อาทิ แบบรายการแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัท (ภ.ง.ด.50) ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2565 ระบุว่าประกอบกิจการเผยแพร่ภาพยนตร์ วิดีทัศน์และรายการโทรทัศน์ ระบุรายได้โดยตรงจากการประกอบกิจการเป็นศูนย์บาท และระบุรายได้อื่นว่ามาจากดอกเบี้ยรับ หรือแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ยื่นจดทะเบียน ภ.พ.01
เมื่อปี 2538 ระบุประเภทว่าประกอบกิจการผลิต ขายส่ง ให้บริการ เป็นที่ปรึกษา รับบริหารข่าวสารสารคดี ละคร การแสดงและรายการบันเทิงทุกชนิด และรับบริหารงานด้านกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์รวมถึงคำเบิกความของนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ว่าการระบุประเภทสินค้า/บริการว่า "สื่อโฆษณา" เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้กรณีที่บริษัทไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ให้ระบุวัตถุประสงค์ในข้อใดข้อหนึ่งของบริษัท และยังเบิกความต่อไปว่าหากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ชนะคดี ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่า บริษัทจะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ หรือจะประกอบกิจการอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ในข้อใดข้อหนึ่งจาก 45 ข้อก็ได้ เป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาในขณะนี้
เห็นว่า สถานะของนิติบุคคลมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสถานะที่กฎหมายสมมุติขึ้นให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่แยกออกจากบุคคลธรรมดา โดยการเกิดขึ้นและสิ้นสุดสถานะของนิติบุคคลนั้นย่อมต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติขึ้นเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีเจตนาที่จะยุติหรือเลิกกิจการ ซึ่งหากบริษัท ฯ มีเจตนาที่จะยุติหรือเลิกกิจการก็คงต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้บริษัท ฯ นั้น เลิกไป แต่เนื่องด้วยบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่เสนอหุ้นและออกหุ้นขายให้แก่ประชาชนทั่วไป การดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทมหาชนย่อมต้องตกอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่าบริษัทจำกัดหรือนิติบุคคลประเภทอื่น
ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลิกบริษัทไว้ในหมวด 13 การเลิกบริษัท โดยอาจเป็นการเลิกบริษัทโดยมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือเมื่อบริษัทล้มละลาย หรือมีคำสั่งถึงที่สุดของศาลให้เลิกบริษัทในกรณีที่มีเหตุให้ต้องเลิกบริษัทแล้วแต่กรณี และการเลิกบริษัทนั้นกฎหมายกำหนดให้มีผลนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเลิกบริษัท แต่ถ้าการชำระบัญชียังไม่เสร็จ ให้ถือว่าบริษัทยังดำรงอยู่เท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี การนี้เมื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังไม่ดำเนินการใด ๆ อันจะถือได้ว่ามีเจตนาที่จะเลิกบริษัท ก็ยังต้องถือว่ามีเจตนาที่จะยังดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอันเป็นวัตถุประสงค์หลักที่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์
ส่วนการจะดำเนินธุรกิจหรือประกอบกิจการหรือไม่นั้น เป็นเรื่องภายในของบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะ สำหรับการขออนุญาตหรือได้รับการจัดสรรให้ใช้ความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นเรื่องที่บริษัทสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการระบุไว้ในทะเบียนจัดตั้งบริษัท จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น
เห็นว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ในวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว หรือไม่
ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 มีชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7061 จำนวน 42,000 หุ้น โดยเป็นการถือหุ้นในนามตนเองเรื่อยมา มิได้หมายเหตุว่าถือแทนบุคคล นิติบุคคล หรือในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นทั้งหมดให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์
ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่า ผู้ถูกร้องมิได้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไว้เพื่อตน แต่ถือในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่น ซึ่งผู้ถูกร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ (น้องชายผู้ถูกร้อง) ไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ดังนั้น กรณีที่ปรากฎชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ครอบครองหุ้นจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 จึงเป็นวันเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนและเป็นเพียงการครอบครองแทนทายาทอื่นเท่านั้น
เห็นว่า สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ปรากฎชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7061 จำนวน 42,000 หุ้น รายงานการโอนและรับโอนหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ปรากฎข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกร้องและหลักทรัพย์บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ว่า ในวันที่ 5 กันยายน 2550 ผู้ถูกร้องรับโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวจากนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (บิดาผู้ถูกร้อง) โดยปรากฎสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
คือ (1) สำเนาใบคำขอโอนหลักทรัพย์ระบุชื่อบัญชีผู้ถูกร้องเพื่อโอนหลักทรัพย์บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 (2) สำเนาใบคำขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลระบุชื่อนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (3) สำเนาคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ตั้งผู้ถูกร้องเป็นผู้จัดการมรดก ลงวันที่ 16 มีนาคม 2550 ซึ่งมีคำรับรองสำเนาเอกสาร ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 (4) สำเนาใบมรณบัตรนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ขี้แจงว่าสำหรับใบคำขอโอนหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2550 นั้นได้ทำลายไปแล้ว แต่อ้างอิงจากเอกสารใบขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่มีการลงนามโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมสินเชื่อ ระบุวันที่ 5 กันยายน 2550 และลงนามโดยผู้จัดการมรดก
ดังนั้นการโอนหลักทรัพย์ของผู้ถูกร้องในวันที่ 5 กันยายน 2550 ตามรายงานการโอนหลักทรัพย์เป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนการระบสถานะผู้จัดการมรดกในชื่อหลักทรัพย์นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แยกชื่อหลักทรัพย์และผู้ถือหลักทรัพย์ออกจากกัน บริษัทส่งรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์โดยระบุชื่อเจ้าของหลักทรัพย์ได้เท่านั้นเมื่อไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่าในวันที่ 5 กันยายน 2550 ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับโอนหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกหรือถือครองหุ้นไว้แทนทายาทอื่น มีเพียงเอกสารหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่า ในวันที่ 5 กันยายน 2550 ผู้ถูกร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการโอนหุ้นของของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์เจ้ามรดก มาเป็นของผู้ถูกร้อง ซึ่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 หมวด 5 หุ้นและผู้ถือหุ้น มาตรา 59 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตายหรือล้มละลาย อันเป็นเหตุให้บุคคลใดมีสิทธิในหุ้นนั้น ถ้าบุคคลนั้นได้นำหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายมาแสดงครบถ้วนแล้วให้บริษัทลงทะเบียนและออกใบหุ้นให้ใหม่ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันได้รับหลักฐานครบถ้วน"
และได้นำมากำหนดเป็นข้อบังคับของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในข้อ 11 ที่กำหนดให้ในกรณีผู้ถือหุ้นตายอันเป็นเหตุให้บุคคลใดมีสิทธิในหุ้นนั้น ถ้าบุคคลนั้นนำใบหุ้นเวนคืนพร้อมหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายมาแสดงแก่บริษัทครบถ้วนแล้ว บริษัทจึงจะลงทะเบียนบุคคลนั้นเป็นผู้ถือหุ้นและออกใบหุ้นใหม่ภายใน 1 เดือน นับแต่วันได้รับหลักฐานครบถ้วน ทั้งนี้ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 62 วรรคสาม บัญญัติว่า "ทะเบียนผู้ถือหุ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง" ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2550
มีประเด็นที่ต้องพิจารณาตามข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่าหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ได้โอนไปให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ (น้องชายผู้ถูกร้อง) แล้วในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ปรากฎตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2561 นั้น ฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า หุ้นเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการโอนไว้เป็นการเฉพาะ โดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 หมวด 5 หุ้นและผู้ถือหุ้น มาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การโอนหุ้นย่อมสมบูรณ์เมื่อผู้โอนได้สลักหลังใบหุ้นโดยระบุชื่อผู้รับโอนและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนและส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้รับโอน การโอนหุ้นนั้นจะใช้ยันบริษัทได้เมื่อบริษัทได้รับคำร้องขอให้ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้ว แต่จะใช้ยันบุคคลภายนอกได้เมื่อบริษัทได้ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้ว ในกรนี้หากบริษัทเห็นว่า การโอนหุ้นนั้นถูกต้องตามกฎหมายให้บริษัทลงทะเบียนการโอนหุ้นภายในสิบสี่วันนับแต่วันได้รับคำร้องขอนั้นหรือหากบริษัทเห็นว่าการโอนหุ้นนั้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์ให้บริษัทแจ้งแก่ผู้ยื่นคำร้องภายในเจ็ดวัน"
และได้นำมากำหนดเป็นข้อบังคับของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ข้อ 9 ที่กำหนดให้การโอนหุ้นย่อมสมบูรณ์เมื่อผู้โอนได้สลักหลังใบหุ้นโดยระบุชื่อผู้รับโอนและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน และส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้รับโอน การโอนหุ้น จะใช้ยันบริษัทได้เมื่อบริษัทได้รับคำร้องขอให้ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้ว และจะใช้ยันบุคคลภายนอกได้เมื่อบริษัทได้ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้ว เมื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การโอนหุ้นของบริษัทไว้ในข้อบังคับของบริษัท ฯ เป็นการเฉพาะแล้ว กล่าวคือ การโอนหุ้นย่อมสมบูรณ์เมื่อผู้โอนได้สลักหลังใบหุ้น โดยระบุชื่อผู้รับโอนและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน และส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้รับโอน การที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวไปแล้วปรากฎตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2561 โดยไม่ปรากฎพยานหลักฐานอื่น เช่น ใบหุ้นซึ่งได้สลักหลัง หรือมีการลงทะเบียนการโอนหุ้น เช่นนี้การโอนหุ้นจึงไม่สมบูรณ์
ดังนั้น เมื่อผู้ถูกร้องยังคงมีชื่อปรากฎอยู่ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2550 เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ผู้ถูกร้องโอนหลักทรัพย์บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ทางทะเบียนของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีจึงต้องถือว่าผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2550 จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ข้อโต้แย้งประการถัดมาของผู้ถูกร้องที่ว่า ผู้ถูกร้องไม่มีอำนาจครอบงำกิจการของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 247 บัญญัติให้การกระทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการรวมกันถึงร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้น ให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการเว้นแต่การเป็นผู้ถือหลักทรัพย์นั้นเป็นผลจากการได้มาโดยทางมรดก เมื่อผู้ถูกร้องถือหุ้นบริษัท ไอทีวีจำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น โดยหุ้นสามัญของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีจำนวน1,206,697,400 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.00348 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ถูกร้องย่อมไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) มีเจตนารมณ์ในการกำหนดบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ นั้น เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังกำหนดให้ลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย
ซึ่งเป็นการกำหนดตั้งแต่ในชั้นสมัครรับเลือกตั้งไปตลอดจนถึงขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมิได้บัญญัติถึงสัดส่วนในการถือหุ้น หรืออำนาจในทางบริหารงานหรือครอบงำกิจการดังกล่าวแต่อย่างใด และเพื่อป้องกันมิให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอาศัยความได้เปรียบจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่บุคคลใดเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น การพิจารณาว่าบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือพิจารณาถึงเหตุอันจะทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดสิ้นสุดลงตามบทบัญญัตินี้ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่ามีอำนาจในการครอบงำกิจการหรือบริษัท หรือไม่ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ได้ออกประกาศกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป และกำหนดให้วันที่ 4 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2566 เป็นวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งในวันที่ 4 เมษายน 2566 พรรคก้าวไกลได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง โดยมีชื่อผู้ถูกร้องอยู่ในบัญชี ลำดับที่ 1 และในวันดังกล่าวผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) กรณีจึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
เมื่อเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) แล้ว มีประเด็นต้องต้องพิจารณาต่อไปว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุด นับแต่เมื่อใด เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพันจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง" เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 การนี้จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 วรรคสอง แล้ว กรณีนี้จึงต้องถือว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566
เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดทำให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลว่างลง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง
มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลว่างลงนับแต่เมื่อใด
เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่าน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลให้คู่กรณีฟังในวันนี้ คือ วันที่ 24 มกราคม 2567 จึงถือได้ว่า ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลว่างลงนับแต่วันที่ 24 มกราคม 2567
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) โดยให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 82 วรรคสอง วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 และให้ถือว่าตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ในวันที่ 24 มกราคม 2567
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ