'พิธา' รอดคดีหุ้นไอทีวีหลัง ศาล รธน วินิจฉัย ไม่มีลักษณะต้องห้ามเหตุไอทีวีไม่มีรายได้จากกิจการสื่อแล้ว สถานะ สส.จึงยังไม่สิ้นสุดลง เจ้าตัวแจงรู้สึกเฉยๆ จะเดินหน้าทำงานต่อไป-เผยผลลงมติตุลาการเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 มีแค่ 'นครินทร์ เมฆไตรรัตน์' เห็นแย้งว่า 'พิธา' ควรพ้น สส.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 ม.ค. 2567 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่
โดยผลการอ่านคำพิพากษาระบุว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อยู่ในวันที่สมัคร สส. ดังนั้นแต่อย่างไรก็ตามบริษัทไอทีวีไม่ได้มีรายได้จากการทำสื่อแล้วในวันที่สมัครรับเลือก จึงวินิจฉัยว่าสถานะของนายพิธาในฐานะ สส.นั้นจึงยังไม่สิ้นสุดลง เพราะการถือครองหุ้นของนายพิธาไม่ใช่การถือครองหุ้นสื่อ
สำหรับบรรยากาศภายหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ประชาชนที่มาร่วมฟังคำวินิจฉัยหน้าศาลรัฐธรรมนูญต่างร้องเฮเสียงดังลั่น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสถานะของนายพิธาในฐานะ สส.นั้นจึงยังไม่สิ้นสุดลง เพราะการถือครองหุ้นของนายพิธาไม่ใช่การถือครองหุ้นสื่อ
นอกจากนี้ประชาชนบางกลุ่มตะโกนว่า นายกพิธาเป็นระยะตั้งแต่หน้าศาลรัฐธรรมนูญจนกระทั่งออกมาถึงหน้าทางเข้าศูนย์ราชการ
โดยนายพิธาให้สัมภาษณ์สื่อวว่า รู้สึกเฉย ๆ จะเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนต่อไป ภารกิจแรกคงเป็นการแถลงแผนงานประจำปีของพรรคก้าวไกลตามที่ได้รับมอบหมายจากนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ส่วนเรื่องกลับเข้าสภาเมื่อใดต้องรอวิปหารือกับประธานสภาก่อนว่าจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้เมื่อใด
โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่น่ามีผลกับการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค และยังไม่มีการเสนอตำแหน่งหัวหน้าพรรคคืนแก่ตนเอง
นายพิธากล่าวต่อไปว่าส่วนตัวก็ระมัดระวังมาโดยตลอด โดยฝั่งของตนเองเป็นฝั่งขอยื่นเพื่อความละเอียดถี่ถ้วน ส่วนการสัมภาษณ์ก็ระมัดระวังมาโดยตลอดและจะระวังต่อไป บางครั้งสื่มวลชนก็เข้าใจผิดจึงต้องอธิบาย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนของข้อเท็จจริง คิดว่าจะทำงานการเมืงแบบใหม่ต้องเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง
"จะรีบกลับไปเสริมทัพและไปทำงานกับเพื่อน ๆ พรรคก้าวไกลทุกคนแน่นอน ถ้ากลับเข้าสภาได้เมื่อใดก็ไปเมื่อนั้น" นายพิธากล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ประชาชนเรียกว่านายกพิธา นายพิธา กล่าวว่า ตอนนี้ก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามลิสต์อยู่ ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรืออะไรต่าง ๆ อย่างสภาชุดที่แล้วก็มีการคุยกันบ้างว่าคนที่อยู่ในรายชื่อนายกรัฐมนตรีมีใครบ้าง ตนเองก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกของพรรคก้าวไกล
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับเอกสารข่าวแจกสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ส่งคําร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จํากัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคําสั่งให้ตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคําวินิจฉัย ให้แก่คู่กรณีฟังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2)
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คําร้องถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 42 จึงมีคําสั่งรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้อง หลักฐานทะเบียนผู้ถือหุ้น วัตถุประสงค์ ตามหนังสือบริคณห์สนธิและงบการเงิน (แบบ ส.บช. 3) ของบริษัทไอทีวี จํากัด (มหาชน) เป็นเหตุเพียงพอ ให้ผู้ร้องควรเชื่อว่าผู้ถูกร้องเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิด
ปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดําเนินงานสําคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย
ผู้ถูกร้องยื่นคําร้อง ฉบับลงวันที่25 กรกฎาคม 2566 ขอขยายระยะเวลาการยื่น คําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2506 และคําร้องฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ขอขยายระยะเวลายื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ครั้งที่ 2 ออกไปอีก 30 วันนับถัดจาก วันครบกําหนดขยายระยะเวลาครั้งแรกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งอนุญาตตามคําขอ
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งรับคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คําชี้แจงและเอกสารหลักฐานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งไต่สวนพยานและรับคําแถลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีรวมไว้
ในสํานวนแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กําหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (5) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชี รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จํากัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่าบริษัท ไอทีวี จํากัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบ กิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ผู้ถูกร้องจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (5)
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จํานวน 1 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
อนึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คู่กรณีไม่สมควรแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีเพราะอาจเป็นการชี้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้