"...งบประมาณ BCG ที่สำนักงบประมาณให้เรามาทั้งหมด 292 ศูนย์ เป็นเงิน 8 ร้อยกว่าล้านบาท แต่เราส่งรายชื่อศูนย์ที่จะดำเนินการทั้งหมดไปให้สำนักงบประมาณ 2,000 ศูนย์ แต่ได้รับคัดเลือกจากสำนักงบประมาณ 292 ศูนย์ โดยสำนักงบประมาณมองว่าศูนย์ไหนยังไม่มีเครื่องมือเกษตรก็คัดเลือกมาให้เราดำเนินการ แต่เมื่อทำงานจริงแล้วลงพื้นที่ไป ก็พบว่าเกษตรกรบางกลุ่มไม่มีความพร้อม เนื่องจากเกษตรกรอายุมากดำเนินการไม่ไหว ไม่สามารถทำตามแผนได้ กรมการข้าวจึงจัดคณะกรรมการไปคัดเลือกใหม่ สุดท้ายจึงเหลือ 212 ศูนย์ ..."
Isra-Exclusive : ในการเชิญตัว นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร , นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เข้าชี้แจงการดำเนินงานโครงการต่างๆ ภายปรากฏเป็นข่าวถูกขบวนการนายศรีสุวรรณ จรรยา เรียกรับเงินเพื่อแลกกับการไม่ยื่นเรื่องร้องเรียนปัญหาการทุจริต ของ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่มีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นประธานกมธ. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดการชี้แจง ชองนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงฯ และทีมงานเกี่ยวกับการประกวดราคาซื้อเครื่องบินขนาดกลาง 2 ลำใหม่ วงเงิน 1,188 ล้านบาท ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่ปรากฏข่าวมีกลุ่มบุคคลพยายามติดต่อผู้บริหารกรมฝนหลวงฯ เพื่อเรียกรับเงินแลกเปลี่ยนกับการไม่ยื่นเรื่องร้องเรียน เหมือนกรณีโครงการต่างๆ ของกรมการข้าว แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินกัน มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว ซึ่งมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเดินทางไปศึกษาดูงานเครื่องบินที่สาธารณรัฐเช็ก ที่อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ชี้แจงว่า มีการเดินทางไปดูงานจริง ในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อไม่ให้ผูกพันกับราชการ โดยให้เจ้าหน้าที่ที่ไปดูงานลาพักร้อน อีกทั้งบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยไม่มีผลผูกพันต่อการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมยืนยันว่าไม่มีการลดสมรรถนะเครื่องบินแต่อย่างใด
- บ.ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด! อธิบดีฝนหลวง รับไปดูงานเช็ก ก่อนซื้อเครื่องบินพันล.-แต่ไม่มีลดสเปก
- ไม่ได้แอบไป! เปิดคำต่อคำ 'อธิบดี-รองฯ' ฝนหลวง แจงปมดูงานซื้อเครื่องบินพันล.
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา จะขอนำเสนอรายละเอียดคำชี้แจงข้อมูลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ต่อ กมธ. ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ
เริ่มต้นจากนายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.พรรคก้าวไกล เปิดประเด็นว่า กมธ.ฯ มีข้อสงสัยและสอบถามทางกรมการข้าวไปตั้งแต่เดือนต.ค. ปี2566 แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จึงอยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำถามที่เคยถามแต่ยังไม่ได้คำตอบ หวังว่าจะได้คำตอบจากอธิบดี ถ้าไม่ได้ก็ขอเป็นเอกสาร มีประเด็นที่จะถาม ดังนี้
1. ประเด็นการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ที่กรมการข้าวส่งไปที่ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว ศูนย์เพาะพันธุ์เมล็ดพันธุ์ในแต่ละที่ที่ปริมาณเท่ากัน รวมถึงช่วงเวลาที่ส่งไปเป็นช่วงที่เมล็ดรวงข้าวออกไปแล้ว และครั้งที่แล้วที่ถามไปก็ได้คู่มือการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์กลับมา แต่คำถามของกมธ. คือ เหตุใดจึงส่งปุ๋ยจุลินทรีย์ไปในช่วงเวลานั้น เพราะปุ๋ยมีอายุ 2 เดือน และทำไมถึงส่งปุ๋ยไปแต่ละศูนย์ในปริมาณเท่ากัน ขอใบรับสินค้าและใบสั่งซื้อแต่ละศูนย์
2. คำชี้แจงของกรมการข้าวบอกว่า เกษตรกร 200,000 ครัวเรือน จะได้ใช้ข้าวเมล็ดพันธุ์คุณภาพ 60,000 ตัน เกษตรกร 85% มีความพึงพอใจ หมายความว่าจะมีเกษตรกรไม่พอใจ 15% เปรียบเทียบปริมาณข้าวก็เกือบหมื่นตัน อยากถามว่า ข้าวที่ส่งให้เกษตรกรทั้งในการเก็บรักษาและขนส่งมีข้าวเสียหรือไม่ มีเท่าใด จำหน่ายข้าวเสียเท่าใด หรือใช้วิธีใดทำลาย หรือจำหน่ายข้าวเสียไปให้บริษัทใด ขอชื่อบริษัทที่รับซื้อ และปริมาณข้าวเสียที่ออกจากระบบ เพราะมีคนร้องเรียนมาว่ามีสวมสิทธิ์นำข้าวดีมาเป็นข้าวเสียแล้วขายออกไป
3. กรมการข้าวจัดงานวันข้าวแล้วเชิญกรมสมเด็จพระเทพฯ กังวลว่าการใช้งบประมาณจะใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จหรือไม่ เนื่องจากปีที่ผ่านมากรมการข้าวจัดงานที่สำนักงานของกรม สงสัยว่าใช้งบจากส่วนใดในการจัดงาน ข้อมูลที่ได้มาคืองบจากการลดต้นทุนในวันข้าว และมีการใช้งบประมาณถึงสิบล้านจริงหรือไม่ ในการประชาสัมพันธ์ โดยแยกงบประมาณไปแต่ละศูนย์ 20 แห่ง แห่งละ 5 แสนบาท เหตุใดต้องโอนเงินในการทำประชาสัมพันธ์เท่ากันทุกศูนย์ ทำเพื่อเลี่ยงวิธีจัดซื้อหรือไม่ เกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชนและเกษตรกร บริษัทคู่สัญญาประชาสัมพันธ์ 20 แห่งมีบริษัทใดบ้าง
4. ในปีนี้การใช้งบประมาณจัดงานวันข้าว 15 ล้านบาท จัดที่เมืองทองธานี เป็นการจัดงานวันข้าวในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่มีข้อกังวลว่าในวันดังกล่าวนังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตข้าว หากจัดงานภายในเมืองทองธานี ที่เป็นพื้นที่ปิดไม่สามารถแสดงนวัตกรรมเครื่องมือทางการเกษตรได้และเครื่องมือต่าง ๆ เนื่องจากข้อจำกัดทางพื้นที่ เกษตรกรได้ประโยชน์อะไร ขอตัวชี้วัดด้วย ทั้งนี้งานข้าวครั้งที่แล้ว ใน tor มีพื้นที่แสดงการใช้เครื่องมือการเกษตร แต่พื้นที่จริงมีการแค่บินโดรนทางอากาศเพียงอย่างเดียว เหมาะสมหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ โดยใน tor เขียนว่าพื้นที่ดังกล่าวมีราคา 5 แสนบาท แต่เท่าที่มีข้อมูล คือ มีการใช้พื้นที่ของกรมวิจัยข้าว แสดงแปลงนาทดลอง ไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ แค่เอาเต็นท์ไปตั้ง คุ้มค่าหรือไม่
นายกรุณพล เทียนสุวรรณ
จากนั้น นายณัฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ขอแจ้งภาพรวมให้ทราบก่อน ส่วนรายละเอียดลึก ๆ จะทำเอกสารพร้อมภาพประกอบมาชี้แจงกมธ.อีกครั้ง
1. เรื่องการใช้จ่ายปุ๋ยอินทรีย์ที่ส่งไปตามศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามพื้นที่ที่รับผิดชอบทั่วประเทศ โดยโอนเงินไปช่วงเดือนก.ย. ถ้าเป็นข้าวนาปีจะเป็นช่วงข้าวตั้งท้อง ยังไม่ออกรวง จะออกรวง 15 ต.ค. เป็นต้นไป เริ่มเก็บเกี่ยว 15 พ.ย. ปุ๋ยอินทรีย์ที่ส่งไปอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้มีศูนย์ทั้งหมด 58 แห่ง แต่เงินที่ส่งไปจะแบ่งศูนย์มาก-ศูนย์น้อยโดยจะทำไทม์ไลน์มาแจ้งกมธ.ภายหลัง วันนี้อาจจะชี้แจงได้ไม่ชัดเจน จะกลับไปทำคำชี้แจงให้ละเอียดและส่งกลับมาใหม่
ส่วนเรื่องปุ๋ย pgpr-2 แม้จะมีอายุสั้น ใช้งานได้เพียง 3 เดือน แต่เมื่อนำไปผสมกับปุ๋ยตัวอื่นจะไปเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมี คือ เมื่อนำไปผสมกับปุ๋ยเคมีเพิ่มประสิทธิภาพได้ประมาณ 25-30% เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีความสมบูรณ์ รายละเอียดจะทำเอกสารชี้แจงอีกครั้ง เนื่องจากรายละเอียดที่ขอมาเยอะพอสมควร ทั้งนี้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ไม่ได้ไปซื้อตามท้องตลาดทั่วไป กรมการข้าวใช้สินค้านวัตกรรมเท่านั้นที่ส่งไปให้เกษตรกรใช้ กรมการข้าวหวังว่าผลผลิตน่าจะดีขึ้น เพราะใช้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม
ส่วนเรื่องการจัดสรรเมล็ดพันธุ์กับข้าวเสีย และการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธ์ข้าว เป็นคนละเรื่องกันต้องชี้แจงทีละเรื่อง โดยกองเมล็ดพันธุ์จะชี้แจงรายละเอียดต่อไป
2. เรื่องการจัดงานวันข้าวและชาวนาในปี 2567 ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 15 ล้านบาท เป็นกรอบการใช้งบประมาณ ยังไม่ได้ร่าง tor ว่าจะใช้อะไรบ้าง อาจจะไม่ถึง 15 ล้านบาทก็ได้ เป็นเพียงกรอบงบประมาณเฉย ๆ ยังไม่ได้มีการใช้งบประมาณ อนุมัติกรอบไว้เฉย ๆ มาวันนี้เพื่อคลายข้อสงสัยว่ากรมการข้าวเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ส่วนประเด็นที่มีรายละเอียดเยอะจะตอบเป็นเอกสารกลับมาที่กมธ.อีกครั้ง
นายณัฐกิตติ์ ของทิพย์
ขณะที่ นายกฤษฎิน คำตัน ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว ชี้แจงเรื่องการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวว่า กรมการข้าวมีเป้าหมายนำเมล็ดพันธุ์ 58,700 ตัน มีเงื่อนไข คือ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2564-2565 ในตัวโครงการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในราคาถูก เช่น ข้าวหอมมะลิ กข15 ข้าวหอมมะลิ 105 จำหน่าย กิโลกรัมละ 15 บาท เป็นต้น ทั้งนี้เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือไร่ละไม่เกิน 15 กก. รายละไม่เกิน 450 กก. หรือก็คือรายละไม่เกิน 30 ไร่ ตามพื้นที่ปลูกจริง
ผลการดำเนินงานสามารถดำเนินงานได้ทั้งสิ้น ได้เกษตรกรมากกว่าพื้นที่เป้าหมาย โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมเข้าร่วมโครงการทั้งหมดประมาณ 300,000 ครัวเรือน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 200,000 ครัวเรือน
กรณีการขายข้าวลดราคาในแต่ละปี เป็นข้าวที่ใกล้หมดฤดูเก็บเกี่ยว โดยเมล็ดพันธุ์มีอัตราความงอกไม่น้อยกว่า 80% พอถึงช่วงท้าย ๆ ฤดูจะขออนุมัติบอร์ดทุนหมุนเวียน เพื่อลดราคาเมล็ดพันธุ์ โดยมีเกษตรกรและตัวแทนจำหน่ายมาซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่ลดแล้ว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมการผลิต รายละเอียดการดำเนินการในปีที่ผ่านมาจะขอส่งเป็นเอกสารแจ้งกมธ.ต่อไป
นายกฤษฎิน คำตัน
ส่วน นางสาว กุลศิริ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าว กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องปุ๋ยที่ต้องมีการจัดสรรปุ๋ยอย่างเท่า ๆ กัน เนื่องจากศูนย์วิจัยมีพื้นที่มากกว่าปุ๋ยที่จัดสรรให้ เพราะงบประมาณมีจำกัดและเร่งด่วน เนื่องจากเป็นงบประมาณที่ออกมาในช่วงปลายปีงบประมาณ มีข้อยืนยันเป็นเอกสารวิชาการ ส่วนเรื่องงบประชาสัมพันธ์นั้น งานของกองวิจัยพันธุ์ข้าวเป็นงานที่มีความหลากหลาย ทำไมต้องมีการจัดงบประมาณให้เท่ากัน ใจจริงอยากให้มากกว่านี้ แต่มีศูนย์ทั่วประเทศ 58 แห่ง งบประมาณจะไปลงในศูนย์ที่มีความสำคัญที่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ในการเรื่องการจัดงานมีการจัดงานในภูมิภาคและส่วนกลางและลงพื้นที่ ในปีนี้มองว่าเพื่อให้สมพระเกียรติ ส่วนการเข้าถึงของชาวนาไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่ที่มีการสาทิตเท่านั้น โดยชาวนาสามารถเข้ามาดูได้และสามารถดูผ่านสื่อออนไลน์ได้
ทั้งนี้ความคุ้มค่าของงานนั้น มูลค่าของข้าวปีหนึ่งมีหลายแสนล้าน ในการจัดงานส่วนนี้ไม่ถึง 0.001% ด้วยซ้ำไปกับการที่จะได้เชิดชูคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ใบรับสินค้า ใบสั่งซื้อ เป็นต้น มีพร้อมจะส่งเป็นเอกสารให้กมธ.
นางสาว กุลศิริ กลั่นนุรักษ์
จากนั้น มีการตั้งคำถามเรื่องการโอนเงินไปศูนย์ข้าวชุมชนมีสถานะเป็นแบบไหน โดยในเอกสารระบุว่าโครงการของ bcg model เป็นลักษณะเงินอุดหนุน เข้าใจว่าพอเป็นเงินอุดหนุนจะต้องมีการโอนเงินเข้าบัญชีของชุมชนหรือไม่ การเบิกจ่ายใช้ระเบียบใด
เจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตร กองเมล็ดพันธุ์ข้าว กล่าวว่า "ศูนย์ข้าวชุมชนไม่ได้เป็นส่วนราชการ จึงไม่สามารถใช้ระเบียบราชการไปควบคุมได้ แต่ใช้คู่มือที่อิงกับระเบียบของราชการ แต่ด้านการประมูล (biding) เอกชนไม่สามารถทำได้ ทำได้แค่วิธีการคัดเลือกและวิธีเจาะจง โดยโอนเงินจากกรมการข้าวไปบัญชี ธ.ก.ส.ของชุมชน แล้วเขาก็ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอง"
ขณะที่นายณัฐกิตติ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเสริมว่า "ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นวิสาหกิจชุมชน แล้วไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการใช้เงินงบประมาณของสำนักงบประมาณ จะไม่แตกต่างจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณกับนาแปลงใหญ่ที่เราทำที่ผ่านมา เมื่อปี 2564-2565 ก็เทียบเคียงการใช้งบประมาณเหมือนกับการใช้จ่ายงบประมาณของกรมส่งเสริมการเกษตรที่อุดหนุนเงินกับนาแปลงใหญ่ ไม่แตกต่างกัน วิธีการใช้จ่ายงบประมาณก็เป็นไปตามระเบียบสำนักงบประมาณที่ได้หารือกับกรมบัญชีกลาง เราโอนเงินอุดหนุนไปให้วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยเงินทุกบาทโอนผ่านบัญชีธ.ก.ส. โดยมีคณะกรรมการที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อให้ได้รับเงิน ซึ่งวิธีการปฏิบัติทุกขั้นตอนได้หารือกับสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง และจัดทำคู่มือขึ้นมาให้เป็นไปตามคู่มือ ไม่ต่างจากนาแปลงใหญ่ เหมือนกันทุกเรื่อง โดยการจัดซื้อจัดจ้างปุ๋ยที่ซื้อผ่านบัญชีนวัตกรรม โดยมอบให้ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้ซื้อที่ส่วนกลาง"
ต่อมา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นประธานกมธ. ถามว่า กรณีของ BCG จะเป็นเงินอุดหนุน ส่งเงินไปที่ธ.ก.ส.ใช่หรือไม่ และงบ BCG ทั้งหมดเท่าไร
นายณัฐกิตติ์ อธิบดีกรมการข้าว ตอบว่า "ใช่ แล้วให้เกษตรกรเป็นผู้ดำเนินงานเอง"
"เมื่อรับเงินไปจะนำไปซื้ออะไรต่อก็อยู่ในข้อหารือกับกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณ โดยงบประมาณ BCG ที่สำนักงบประมาณให้เรามาทั้งหมด 292 ศูนย์ เป็นเงิน 8 ร้อยกว่าล้านบาท แต่เราส่งรายชื่อศูนย์ที่จะดำเนินการทั้งหมดไปให้สำนักงบประมาณ 2,000 ศูนย์ แต่ได้รับคัดเลือกจากสำนักงบประมาณ 292 ศูนย์ โดยสำนักงบประมาณมองว่าศูนย์ไหนยังไม่มีเครื่องมือเกษตรก็คัดเลือกมาให้เราดำเนินการ แต่เมื่อทำงานจริงแล้วลงพื้นที่ไป ก็พบว่าเกษตรกรบางกลุ่มไม่มีความพร้อม เนื่องจากเกษตรกรอายุมากดำเนินการไม่ไหว ไม่สามารถทำตามแผนได้ กรมการข้าวจึงจัดคณะกรรมการไปคัดเลือกใหม่ สุดท้ายจึงเหลือ 212 ศูนย์ ที่ผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการ"
จากนั้น นายธนดล สุวรรณฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวขออนุญาตในที่ประชุมว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรมีการตั้งคณะกรรมการสอบทั้งสองกรมได้แก่ กรมการข้าวแล้วกรมฝนหลงวแล้ว ขอออกไปก่อนมีคำสั่งด่วนให้ไปต่างจังหวัด
@ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นประธาน กมธ. ถามต่อว่า กระบวนการซื้อเครื่องจักรใน BCG จัดซื้อยังไง
นายมงคล จันทร์ประทัด ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว ชี้แจงว่า เรื่องการจัดซื้อวัสดุทางการเกษตรโครงการ BCG เงินงบประมาณจะได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณจำนวน 212 ศูนย์ การใช้เงินทุกบาทสำนักงบประมาณจะต้องตรวจสอบก่อน งบประมาณทั้งสิ้น 544 ล้านบาท งบประมาณที่ได้รับจะโอนไปที่ ธกส. ที่มีรายชื่อศูนย์ข้าวชุมชนทุกศูนย์อยู่ วิธีการจัดซื้ออิงตามระเบียบการจัดซื้อจ้ดจ้างของราชการ โดยใช้วิธีการคัดเลือก ส่วนเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เป็นไปตามที่ขออนุมัติมาที่สำนักงบประมาณ เมื่อจัดซื้อเสร็จสิ้นก็สรุปเอกสารทุกอย่างเก็บไว้ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวที่อยู่ในภูมิภาค จากนั้นก็จะสรุปรายงานมาที่กรมการข้าว
อย่างไรก็ดี นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า "ขอบคุณผอ.กองเมล็ดพันธ์ที่ตอบ แต่ตอบไม่ตรงคำถาม แต่อยากรู้ว่าที่มีผู้ร้องเรียนเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องใส่ร้าย มีคนร้องมาว่ามีการนำข้าวเสียไปขายออกแต่จริง ๆ แล้วเป็นข้าวดี จึงอยากทราบว่าในแต่ละปีมีข้าวเสียในระบบเท่าใด มีขั้นตอนออกจากศูนย์อย่างไร ขายต่อ หรือทำลายทิ้ง ส่วนผอ.กองวิจัยและพัฒนาข้าว อยากทรายว่าปุ๋ยที่ได้นวัตกรรมตามมาตรฐานของกรมในตอนนี้ในตลาดมีกี่เจ้า และมีกี่เจ้าที่สามารถจัดซื้อจัดจ้างกับกรมได้"
นายกฤษฎิน คำตัน ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้ตอบว่า ในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์จะใช้เกษตรกรในลักษณะที่หาเกษตรมาผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์เมล็ดพันธุ์ โดยเกษตรมาซื้อเมล็ดพันธุ์กับเราแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเมล็ดพันธุ์ที่เราซื้อคืนต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกรมการข้าว แต่ข้าวที่ซื้อกลับมามีลักษณะต่างกัน จะนำไปลดความชื้นแล้วนำเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก พอคัดเสร็จจะแบ่งเป็น 3 ส่วน เป็น
1. เมล็ดพันธุ์ดีประมาณ 94-95%
2. สิ่งเจือปน เช่น เศษหิน ไม่มีมูลค่าจะถูกทิ้ง แต่เราก็เก็บมาชั่งน้ำหนัก
3. เมล็ดไม่สมบูรณ์ มีประมาณ 3-6%
ส่วนนี้ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุในการจำหน่ายจ่ายออก ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งคัด จะไม่มีข้าวเสีย ถ้าเกิดมีข้าวที่เสียหายระหว่างเก็บรักษาก็จะจำหน่ายจ่ายออกตามระเบียบพัสดุ
ประเด็นที่ข้าวเสียนั้นไม่มี แต่การจำหน่ายข้าวลดราคาที่ตอบไปในครั้งแรก ว่าถ้ายังมีความงอกไม่น้อยกว่า 80% และความชื้นอยู่ในระดับมาตรฐาน แต่จะหมดฤดูก็จะทำการลดราคา เกษตรกรหรือตัวแทนจำหน่ายหรือบุคคลทั่วไปก็สามารไปซื้อได้ เป็นการจำหน่ายตามระเบียบแต่ตะลดราคาเนื่องจากจะหมดฤดูกาลแล้ว
ส่วนข้าวเสีย คือ ข้าวเสื่อมสภาพ ไม่เรียกว่าข้าวเสีย ที่ไม่สามรถลดราคาได้ ก็จะปฏิบัติตามระเบียบการจำหน่ายออกจากบัญชี โดยใช้ระเบียบบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 ถ้าได้มาราคาต่ำกว่า 500,000 บาท ใช้วิธีการขาย แต่ถ้ามากกว่า 500,000 บาท ก็ใช้วิธีการประมูล
นายณัฐกิตติ์ อธิบดีกรมการข้าวกล่าวเสริมว่า ในการทำเมล็ดพันธุ์ข้าวมี 2 ชนิด คือ ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง และไม่ไวต่อช่วงแสง ในแต่ละปีถ้าความงอกต่ำกว่า 80% ชาวนาจะไม่นิยมไปซื้อ สมมติข้าวบางพันธุ์ผลิตมา 100 ตัน ถ้าขายหมดแล้วก็หมดเลย แต่บางปีขายไม่หมดเหลือ 20 ตัน ก็จะนำข้าวส่วนนี้เข้ากองทุนหมุนเวียน ที่มีกรรมการจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ เป็นต้น แล้วลดราคาตามความเหมาะสม จะพิจารณาลดราคา 3 ครั้ง ถ้าขายไม่ได้ก็จะลดราคาโดยอิงราคาตามเมล็ดพันธุ์ตามท้องตลาด
"ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นมานานแล้ว ถ้าอัตราการงอกน้อยกว่า 80% เล็กน้อย ผู้ประกอบการค้าเมล็ดพันธุ์ก็จะมาซื้อเมล็ดส่วนนั้นไปผสมกับเมล็ดพันธุ์ดี แล้วไปขายต่อให้เกษตรกร นั่นเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ กรมการข้าวไม่สามารถทำอย่างที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นทำได้ เราต้องรักษาคุณภาพของหน่วยงานภาครัฐ แต่ละปีก็จะมีผู้ประกอบการมาซื้อหลายเจ้า เข้าใจว่าคนที่ขาดผลประโยชน์ในส่วนนี้จึงมาร้องเรียน"
กมธ.รายหนึ่ง ถามว่า กรมการข้าวนำเงินงบดำเนินงาน 35 ล้านบาท นำไปทำอะไรบ้าง และขอให้กรมการข้าวส่งรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือต่าง ๆ ในศูนย์ข่าวชุมชน BCG Model มาด้วย
ที่ปรึกษากมธ. รายหนึ่ง กล่าวเสริมว่า ในเรื่องการใช้เมล็ดพันธ์ข้าวไม่ดีไปเปลี่ยนกับเกษตรกร มีข่าวแถวจังหวัดบุรีรัมย์ โคราช สุรินทร์ ที่นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ว่าไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท เรื่องเหล่านี้แก้ไขอย่างไร เพราะมีคนพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง
นายณัฐกิตติ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า เรื่องงบ 35 ล้านจะทำเอกสารมาชี้แจง ส่วนเรื่องนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ ปัจจุบันไล่ข้าราชการออกไปแล้ว 4 คน และมีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยเฉพาะศูนย์บึงกาฬ กาฬสินธุ์ และศูนย์อื่น ๆ 2-3 ศูนย์ ถ้าทราบมาว่าศูนย์ใดทำไม่ถูกต้องก็ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง แล้วตัดเงินเดือน ส่วนที่ถ้าเป็นผอ.ศูนย์จะไล่ออก
"ทั้งนี้มีการส่งหน่วยที่ไม่มีใครรับทราบที่ผมตั้ง ไปตรวจสอบ พอจับได้ก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งหน่วยงานเฉพาะกิจก็ไม่สามารถบอกข้อมูลได้ ไม่ปล่อยปะละเลย จัดการได้"
"เรื่องงบอุดหนุนให้เกษตรกร จากการทำงาน 212 ศูนย์ มีปัญหามากมาย เช่น เกษตรกรหลายคนไม่อยากทำตามนโยบายที่กำหนดไว้ พยายามเลี่ยงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง กรมก็ต้องส่งคนไปติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งบุคลากรของกรมก็น้อยต้องอาศัยหน่วยงานภาคีช่วยเหลือ อีกทั้งระหว่างผู้ประกอบการกับผู้รับเหมาหรือเกษตรกรในบางที่พื้นที่มีความสนิทสนมกัน จึงออกมาตรการป้องกันที่มีขั้นตอนมากมาย ทำให้ถูกร้องเรียนบ่อย เพราะมีคนเสียผลประโยชน์ เช่น การซื้อรถไถยี่ห้อหนึ่งแต่ในอำเภอไม่มีศูนย์บริการสำหรับซ่อม ก็มาร้องว่าตนเองล็อคสเปก เป็นต้น ที่ต้องละเอียดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน"
ที่ปรึกษากมธ. รายหนึ่ง ถามว่า 1.โครงการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวงบประมาณ 1,021 ล้านบาท โดยผลผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการข้างต้นให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 5% โดยผลผลิตที่ได้เฉลี่ยประมาณ 634 กก./ไร่ ถ้าคิดเป็น 5% คือเพิ่มขึ้นแค่ 31 กก./ไร่ จะได้เงินเพิ่มขึ้นไม่มากนักประมาณ 200 กว่าบาท งบประมาณคุ้มค่ากับการสนับสนุนหรือไม่
2.โครงการปรับปรุงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวงบประมาณ 1,256 ล้านบาท ใช้เงินเพื่อให้ผลเพิ่มผลิตเพิ่มขึ้นต่อตัน มองว่าน่าจะสูงมาก
3.ระยะเวลางบประมาณในการบริหารงบปี 2567 ไม่แน่ใจว่าสอดคล้องกับเวลาการผลิตข้าวตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่
4.บริหารรายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์อย่างไร
นายณัฐกิตติ์ อธิบดีกรมการข้าว ตอบว่า ขอตอบเรื่องงบประมาณ 1,256 ล้านบาทก่อน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทย มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.เมล็ดพันธุ์คัด 2.เมล็ดพันธุ์หลัก 3.เมล็ดพันธุ์ขยาย 4.เมล็ดพันธุ์จำหน่าย เงิน1,256 ล้านบาท นำไปใช้กับการปรับปรุงโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์คัดและพันธุ์หลัก ซึ่งเป็นเมล็ดต้นน้ำในการทำเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ใน 1 ปีถ้าอยากจะทำเมล็ดพันธุ์ขยาย 1,000 กก. จำเป็นต้องใช้เมล็ดพันธุ์หลัก 1:40
"ทั้งนี้กรมการข้าวได้รับโอนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์มาจากโครงการของกรมวิชาการเกษตรเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ซึ่งอุปกรณ์ในโรงงานไม่ทันสมัย จึงต้องมีการปรับปรุงโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์คัดและพันธุ์หลัก ตลอดเวลา 40 ปีผ่านไปยังไม่ได้รับงบในการปรับปรุงโรงงาน ในวันนี้จึงได้รับงบมา ปีที่ผ่านมาเราผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ไม่ถึง 2 แสนตัน เนื่องจากประสิทธิภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์คัดและพันธุ์หลักด้อย แต่ประเทศไทยมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ 1.3-1.4 ล้านตัน/ปี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องมือเพื่อเป็นต้นน้ำในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว"
"ส่วนเงินรายได้ที่ได้จากการขายเมล็ดพันธุ์ เป็นเงินจากกองทุนหมุนเวียน เป็นกองทุนที่ขาดทุนไม่ได้ มีสำนักงบประมาณเป็นกรรมการร่วมด้วย มีเงินหมุนเวียนทั้งหมดประมาณ 2 พันล้านบาท"
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดคำชี้แจงข้อมูลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ต่อ กมธ.ฯ ซึ่งดูเหมือนจะมีหลายประเด็นที่ยังตอบได้ไม่ชัดเจน และจะมีการจัดทำเอกสารชี้แจงต่อกมธ.อีกครั้ง
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อนึ่งสำหรับการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG Model วงเงิน 874 ล้านบาท ปรากฏชื่อป็น 1 ใน 4 โครงการ ที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เตรียมยื่นร้องเรียนต่อ นายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้บริหารกรมการข้าว ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) สนธิกำลังเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซ้อนแผนจับกุมตัว นายศรีสุวรรณ จรรยา ในข้อหาสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด จำนวน 1.5 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่เข้าร้องเรียนคดีความ ซึ่งข้อมูลโครงการฯ บางส่วนสำนักข่าวอิศรา นำเสนอให้สาธารณรับทราบไปแล้วก่อนหน้านี้
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง