"...ในการประกวดราคาครั้งที่ 1-3 ใช้หลักเกณฑ์ คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ เงื่อนไขการยื่นข้อเสนอ และหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดซื้อจัดจ้าง แบบเดียวกันทั้ง 3 ครั้ง เนื่องจากในการบริหารจัดการด้านการบินทั้งในด้านการใช้ การซ่อมบำรุง การบริหารนักบิน กรมฝนหลวงไม่ควรมีเครื่องบินหลายแบบหรือหลายรุ่น จึงพยายามจัดซื้อจากหลักเกณฑ์เดิม แต่เมื่อพยายามถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้ผล ไม่มีผู้ยื่นเสนอ จึงปรับปรุงเพื่อเพิ่มทางเลือก ยืนยันว่าการปรับปรุงเป็นการปรับปรุงไม่ได้มีการลดสมรรถนะเครื่องบิน..."
Isra-Exclusive : ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการประกวดราคาซื้อเครื่องบินขนาดกลาง 2 ลำใหม่ วงเงิน 1,188 ล้านบาท ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่ปรากฏข่าวมีกลุ่มบุคคลพยายามติดต่อผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อเรียกรับเงินแลกเปลี่ยนกับการไม่ยื่นเรื่องร้องเรียน เหมือนกรณีโครงการต่างๆ ของกรมการข้าว แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินกัน ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลสำคัญมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้
นอกเหนือจากคำชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่มีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นประธานกมธ. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ของ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการเดินทางไปศึกษาดูงานเครื่องบินที่สาธารณรัฐเช็ก ที่ระบุว่ามีการเดินทางไปดูงานจริง โดยเดินทางไปวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อไม่ให้ผูกพันกับราชการ โดยให้เจ้าหน้าที่ที่ไปดูงานลาพักร้อน อีกทั้งบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยไม่มีผลผูกพันต่อการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใดแล้ว
- ไม่ได้แอบไป! เปิดคำต่อคำ 'อธิบดี-รองฯ' ฝนหลวง แจงปมดูงานซื้อเครื่องบินพันล.
- บ.ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด! อธิบดีฝนหลวง รับไปดูงานเช็ก ก่อนซื้อเครื่องบินพันล.-แต่ไม่มีลดสเปก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในที่ประชุม กมธ. ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ว่าในที่ประชุมดังกล่าว นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการจัดซื้อเครื่องบิน ขนาดกลาง 2 ลำใหม่ วงเงิน 1,188 ล้านบาท เป็นทางการด้วย
ผู้สื่อข่าวอิศราสรุปและเรียบเรียงประเด็นที่อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ชี้แจงต่อกมธ. มานำเสนอ ณ ที่นี้
เริ่มที่นายศุภอรรถ โบสุวรรณ ที่ปรึกษากมธ. หัวหน้าคณะทำงานติดตามการใช้งบฯ กล่าวว่า ไม่มีเจตนากล่าวโทษ จับผิด ให้ร้าย หรือตั้งข้อสังเกตเป็นการไม่ดีแต่อย่างใด การให้หน่วยงานมาชี้แจงทำให้เกิดความโปร่งใสในสังคม โครงการซื้อเครื่องบินของกรมฝนหลวง เป็นโครงการที่น่าสนใจ มีมูลค่าสูง ปัจจุบันสื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจมาก เป็นโครงการมีลักษณะเฉพาะตัวสูง
ทั้งนี้ในการประกาศผู้ชนะราคา ที่ตอนนี้ยังคลุมเครือ ทั้งที่โครงการไม่ควรมีปัญหาใด
คำถามแรกขอถามว่า การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้อยากให้ประธานกมธ.เชิญทางกรมฝนหลวงชี้แจง มีความผิดปกติใดจึงไม่เหมือนครั้งก่อน ทำไมจึงมีความล่าช้า
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ชี้แจงว่า ขอนำเสนอภาพรวม ส่วนรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแต่ละด้านชี้แจง โดยโครงการจัดซื้อเครื่องบินขนาดกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ 2566 มีรายละเอียดดังนี้ (ดูข้อมูลในภาพประกอบ)
รายละเอียดแผนงาน/โครงการ วงเงินงบประมาณ วัตถุประสงค์และรายละเอียดขอบเขตของงาน (Tor) ในโครงการจัดซื้อเครื่องบินขนาดกลางฯ
ความเป็นมา
25 กรกฎาคม 2562 นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เรื่องเร่งด่วนที่ 11 นโยบายเตรียมการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย... พัฒนาการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพยั่งยืน
24 กันยายน 2562 เครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการฝนหลวงและการบินเกษตร เกิดอุบัติเหตุ นักบินเสียชีวิตนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นห่วงในความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ของกรมจึงมีบัญชาให้บูรณาการจัดหาเครื่องบิน (ทดแทน ไว้ใช้ในภารกิจการทำฝนหลวงได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งคณะทำงานจัดหาเครื่องบิน (ทดแทน) ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ที่ 2340/2560 โดยให้คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ ศึกษาข้อมูลสถานภาพ แบบและชนิดเครื่องบินที่มีความเหมาะสม เพื่อ
นำมาใช้ในการปฏิบัติการทำฝนหลวงได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และเสนอแผนการจัดหาเครื่องบิน (ทดแทน)
โดยข้อมูลในปี 2562 เครื่องบินที่ใช้ในภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีทั้งสิ้น 40 ลำ ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นจำนวนมาก
จึงเสนอแผนการจัดหาอากาศยาน (ทดแทน) อากาศยานที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 25 ปี ขึ้นไป
เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 3 ลำ แผนจัดหาปีงบประมาณ พ.ศ.2565 - 2569
เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 6 ลำ แผนจัดหาปีงบประมาณ พ.ศ.2565 - 2569
เครื่องเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ แผนจัดหาปีงบประมาณ พ.ศ.2567 - 25670
@ เปิดไทม์ไลน์ประกวดราคา 3 ครั้งไม่มีผู้เสนอราคา
นายสุพิศ อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวนำเสนอรายละเอียดความคืบหน้าโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้
7 ธ.ค 2565 กรมฝนหลวงฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ และจัดทำราคากลาง
16 ม.ค. 2566 คณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ และจัดทำราคากลาง สรุปรายงาน ทั้งนี้มีความล่าช้าเนื่องจากผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายเครื่องบินแจ้งราคาล่าช้า
18 ม.ค. 2566 กรมฝนหลวงฯ อนุมัติราคากลาง
19 ม.ค. 2566 ประกาศราคากลาง
24 ม.ค. 2566 อนุมัติดำเนินการ
24-27 ม.ค. 2566 กรมฝนหลวงประกาศเผยแพร่ร่างประกวดราคาฯ
10-15 ก.พ. 2566 มีข้อเสนอแนะให้แก้ไข
7 มี.ค. -4 เม.ย. 2566 ประกาศเชิญชวนทั่วไปผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ครั้งที่ 1 ปรากฏว่า ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอและราคา
18 เม.ย.2566 ประกาศยกเลิกเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่
18 พ.ค. -25 มิ.ย. 2566 ประกาศเชิญชวนทั่วไปผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ครั้งที่ 2
26 มิ.ย. 2566 ยื่นข้อเสนอราคา ปรากฏว่า ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอและราคา
30 มิ.ย. 2566 ประกาศยกเลิกเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่
เมื่อเห็นว่ากรมฝนหลวงฯได้ประกาศเชิญชวนทั่วไป แล้ว 2 ครั้ง ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอและราคา ประกอบกับจากการวิเคราะห์ความต้องการอากาศยานกับสถานะการณ์ปัจจุบัน กรมฯ จึงมีจำเป็นต้องใช้อากาศยานประเภทปรับความดันเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับภารกิจการทำฝนเมฆเย็น จึงมีความประสงค์เสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากรายการเครื่องบินขนาดกลาง เป็น เครื่องบินแบบปรับความดันฯ (ตามหนังสือที่ กษ2800/1685 ลว. 24 ก.ค. 2566)
แต่เรื่องดังกล่าว จากการหารือกับสำนักงบประมาณ เรื่องเดิมเป็นเรื่องที่มีมติ ครม. การที่จะขอเปลี่ยนแปลงรายการจะต้องเสนอเปลี่ยนแปลงมติ ครม. ซึ่งจะมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน ประกอบกับยังคงมีความต้องการเครื่องบินขนาดกลางอยู่ จึงขอถอนเรื่องคืน เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป)
4 ก.ย 2566 กรมฝนหลวงฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ และจัดทำราคากลาง ขึ้นใหม่ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ และราคากลาง เมื่อคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ เห็นว่ายังไม่มีข้อมูล
เครื่องบินขนาดกลาง จึงยืนยันรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ เช่นเดิม
15-20 ก.ย 2566 ประกาศเผยแพร่ร่างประกวดราคาฯ ครั้งที่ 3 ปรากฏว่าไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอและราคา
17 พ.ย 2566 ประกาศยกเลิกเช่น 2 ครั้งก่อนหน้า
เมื่อได้ประกาศเชิญชวนหรือจัดซื้อจัดจ้างมาแล้วถึง 3 ครั้ง จากแบบอากาศยานที่คัดเลือกไว้เดิม ไม่สามารถจัดซื้อได้ (มีผู้ยื่นข้อเสนอและราคา) กรมฝนหลวงฯ จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกแบบอากาศยาน พิจารณาทบทวนแบบอากาศยาน โดยเพิ่มทางเลือกเพื่อให้สามารถจัดหาเครื่องบินขนาดกลางที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งาน
27 พ.ย. 2566 คณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ ได้จัดทำ(ปรับปรุง) รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ และราคากลาง แล้วเสร็จ
27-30 พ.ย. 2566 ประกาศเผยแพร่ร่างประกวดราคาฯ ครั้งที่ 3
1 ธ.ค. 2566-4 ม.ค. 2567 ประกาศเชิญทั่วไปผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ครั้งที่ 4
5 ม.ค. 2567 ยื่นข้อเสนอและราคา ปรากฎว่า มีผู้ยื่นข้อเสนอและราคา 1 ราย
24 ม.ค. 2567 คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ได้พิจารณาและรายงานผล
กรมฝนหลวงได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณ ที่ 2008/301 ลงวันที่ 29 มกราคม 2567 เรื่องขอความเห็นชอบราคาคาครุภัณฑ์ และสำนักงบประมาณได้มีหนังสือตอบกลับ ที่ นร 1707/3128 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 โดยให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำรายละเอียดและคำชี้แจงเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของราคาของรายการเครื่องบินขนาดกลาง ซึ่งกรมฝนหลวงฯ ได้จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่สำนักงบประมาณแจ้งแล้ว อยู่ในระหว่างจัดส่งให้สำนักงบประมาณ เหล่านี้คือความคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน
นายสุพิศ อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวต่อว่า ในการประกวดราคาครั้งที่ 1-3 ใช้หลักเกณฑ์ คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ เงื่อนไขการยื่นข้อเสนอ และหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดซื้อจัดจ้าง แบบเดียวกันทั้ง 3 ครั้ง เนื่องจากในการบริหารจัดการด้านการบินทั้งในด้านการใช้ การซ่อมบำรุง การบริหารนักบิน กรมฝนหลวงไม่ควรมีเครื่องบินหลายแบบหรือหลายรุ่น จึงพยายามจัดซื้อจากหลักเกณฑ์เดิม แต่เมื่อพยายามถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้ผล ไม่มีผู้ยื่นเสนอ จึงปรับปรุงเพื่อเพิ่มทางเลือก ยืนยันว่าการปรับปรุงเป็นการปรับปรุงไม่ได้มีการลดสมรรถนะเครื่องบิน และตรงตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ ทำให้มีตัวเลือกมากขึ้นโดยเครื่องบินแบบเดิมก็ยังสามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดิม
ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯได้จัดทำการประเมินความเสี่ยงทุจริตโครงการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว พร้อมมาตรการในการบริหารความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย ในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ส่งปปท.ตามแนวทางที่กำหนด กรมฝนหลวงยังทำแผนการป้องกันการทุจริตปีงบประมาณ 2566 ตามมาตรการของป.ป.ช. การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐหรือ ITA อีกทั้งกรมฝนหลวงฯยังดำเนินการตามแนวทางขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตประจำปีงบประมาณ 2566 จัดทำรายงานแผนบริหารจัดการความเสี่ยงทุจริตปี 2566 รอบที่ 1 และ 2 สำหรับโครงการจัดซื้อเครื่องบินขนาดกลางอย่างครบถ้วน
ส่วนเรื่องการไม่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม นั้น ค.ป.ท. มีมติไม่คัดเลือกโครงการจัดซื้อเครื่องบินเข้าข้อตกลงคุณธรรม โดยปกติถ้ามีโครงการงบประมาณเกินพันล้านจะต้องทำเรื่องไปที่กรมบัญชีกลาง เพื่อให้กรมบัญชีกลางนำโครงการดังกล่าวเข้าร่วมโครงการคุณธรรม และเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางที่จะคัดเลือกโครงการเข้าโครงการคุณธรรม แต่ครั้งนี้กรมบัญชีกลางตอบหนังสือกลับมาว่าโครงการนี้ไม่ต้องเข้าร่วมโครงการคุณธรรม
ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางชี้แจงว่า เหตุผลที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. ไม่คัดเลือกโครงการเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม เนื่องจากในขณะที่แจ้งข้อมูลมาล่วงเลยเวลาการจัดทำ Tor มาแล้ว ประกอบกับปี 2565 โครงการนี้เข้าร่วมไปแล้ว โดยโครงการปีปัจจุบันมีความคล้ายกับปี 2565 ซึ่งเจตนารมย์ของโครงการข้อตกลงคุณธรรม เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐนำผลสำเร็จจากโครงการข้อตกลงคุณธรรมในอดีต มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการในโครงการจัดซื้อที่มีรูปแบบคล้ายกัน
ต่อมา นายศุภอรรถ โบสุวรรณ ที่ปรึกษากมธ. หัวหน้าคณะทำงานติดตามการใช้งบฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีคำถามว่า 1. บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ติดแบล็กลิสต์ใช่หรือไม่ จึงไม่ยื่นข้อเสนอ อยากให้กรมบัญชีกลาวชี้แจงเกี่ยวกับบริษัท และบริษัทเอกชนจะส่งมอบเครื่องบินได้ใช่หรือไม่
2. มีการเปลี่ยนแปลงสเปก ทางค.ป.ท.และกรมบัญชีกลางไม่ได้ส่งมา โดยให้ยึดตามเดิม แต่อย่างไรก็ตามก็มีการเปลี่ยนแปลง Tor รวมถึงการประเมินความเสี่ยงทุจริตแล้ว มีความเสี่ยงทุจริตสูง เนื่องจากอาจจะมีการกีดกันสูง เนื่องจากเรื่องของสเปกจำเป็นต้องให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วม เห็นได้ชัดว่าเมื่อดึงผู้สังเกตการออกจึงมีปัญหา
3. สเปกมีความเปลี่ยนแปลงของเรื่องน้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด แต่ของใหม่ไม่กำหนด อีกเรื่องคือเรื่อง payload ที่มีความแตกต่างกันระหว่าง Tor ใหม่และ Tor เก่า
ขณะที่ นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวชี้แจงว่า กรมให้ความสำคัญกับการคัดเลือกแบบอากาศยาน การเลือกแบบอากาศยานมีความจำเป็น จึงต้องมีคณะกรรมการคัดเลือกแบบ มีการคัดเลือกทุกครั้งให้มีความเหมาะสมใกล้เคียงกับภารกิจ ซึ่งในครั้งนี้มี 8 แบบ แต่บางแบบก็ไม่สามารถเจาะท้องเครื่องบินได้ ซึ่งเครื่องบินของกรมฝนหลวงต้องมีการเจาะท้องเครื่องบินเพื่อติดตั้งกล่องโปรยสาร รวมถึงน้ำหนักบรรทุก การขึ้น-ลง landing-take off ที่ขีดความสามารถต้องไม่เกิน 1,300 ม. เนื่องจากมีสนามบินเป็นเกณฑ์ แต่เครื่องบินที่มาเสนอหลายแบบเกิน 1,300 ทั้งหมด โดยสเปกที่ปรับปรุงใหม่คงสเปกเดิมในปี 2565 เหมือนเดิม แต่เพิ่มทางเลือกในสเปกใหม่ได้ ดังนั้นไม่ล็อคสเปก เปิดโอกาสให้ทุกคนยื่นเสนอในครั้งที่ 4
ทั้งนี้ถ้าเป็นแบบเครื่องบินที่มีอยู่ในประเทศไม่ต้องดูงาน สามารถดูเครื่องบินจริงได้ แต่ที่ต้องไปดูงานเพราะเป็นเครื่องบินแบบใหม่ และต้องไปศึกษาการเจาะท้องเครื่องบินด้วยว่าทำได้หรือไม่ ที่ผ่านมาได้ทบทวนสเปกของเก่าและของใหม่ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและการแข่งขันเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาแข่งขันได้ แต่จะเข้ามาได้หรือไม่อยู่ที่ความสามารถของบริษัทนั้น ๆ
"ตอนนี้ทราบว่าบริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ติดแบล็กลิสต์ ตอนนี้กำลังทำเรื่องปลดแบล็กลิสต์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเปิดยื่นข้อเสนอครั้งที่ 1-3 เราก็เปิดให้บริษัทเดิมมายื่นข้อเสนอ บริษัทใหม่ก็มาเสนอได้ แต่ก็ไม่มีใครมาเสนอ จึงต้องคัดเลือกแบบใหม่ เพราะเปิดเสนอราคา 3 ครั้งไม่มีใครเสนอ โดยกรมฝนหลวงมีความจำเป็นต้องมีเครื่องบินเพิ่ม สิ่งที่ได้มา คือ 1. ได้เครื่องบินเร็วขึ้น 2. ประสิทธิภาพมีสมรรถนะที่ใกล้เคียงและดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ 3. การผลิตสามารถส่งได้ตามกำหนดเวลา ถ้าจะลงรายละเอียดก็จะนำเรียนให้ทราบ" นายวีรวัฒน์ระบุ
อย่างไรก็ดี นายศุภอรรถ โบสุวรรณ ที่ปรึกษากมธ. หัวหน้าคณะทำงานติดตามการใช้งบฯ ถามว่า "ทราบได้อย่างไรว่าส่งตรงเวลาเพราะยังไม่ประกาศผู้ชนะ"
นายวีรวัฒน์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ ตอบว่า "เราเป็นเงื่อนไขที่จะได้เครื่องบินเร็วที่สุด ซึ่งได้เหรือไม่ก็ไม่สามารถทราบได้ แต่เรากำหนดว่าเราอยากได้เครื่องบินภายในระยะเวลาเท่านี้ อีกทั้งราคายังต่ำกว่าราคากลาง ต่ำกว่าราคาที่ซื้อที่ผ่านมา"
นายศุภอรรถ กล่าวว่า ยังไม่ได้คำตอบเรื่องน้ำหนักสูงสุด อีกเรื่องคือ งบประมาณของโครงการที่ตั้งไว้ตามเอกสารที่ส่งมา แล้วไปสืบราคาแค่เจ้าเดียวทั้งที่มี 8 แบบ สืบราคาเพียงบริษัทเดียว
นายสุพิศ อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า "การทำราคากลางและการตั้งงบประมาณเป็นคนละส่วนกัน ในการทำราคากลางจะทำหนังสือไปถามบริษัทในลิสต์ที่เสนอราคาได้ แต่เขาตอบกลับมาบริษัทเดียว ก็เป็นสิทธิ์ของบริษัทที่จะไม่ตอบ กรมไปบังคับไม่ได้ โดยมีบริษัท ไอ.ซี.อี. ที่ตอบกลับมาว่าราคาของเขาเกิน เพราะเขาเคยขายเกิน จึงต้องนำเอกสารที่เขาตอบกลับมาอ้างอิง ไม่ได้คิดเอง"
นายศุภอรรภ ถามว่า "เรื่องการเปลี่ยนสเปก มีการสืบราคาใหม่หรือไม่"
นายสุพิศ กล่าวว่า "สเปกไม่ได้เปลี่ยน ย้ำว่าไม่ได้เปลี่ยน แต่เพิ่มทางเลือก เพราะซื้อ 3 ครั้งไม่ได้เพิ่มโดยคณะกรรมการคัดเลือกแบบเครื่องบิน และคณะกรรมการสเปก โดยการจัดซื้อครั้งนี้มีกรรมการ 5 ชุด ได้แก่ 1.คณะกรรมการคัดเลือก มีประมาณ 10 กว่าคน แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน 2.คณะกรรมการสเปก มี 5 ราย 3.คณะกรรมการสเปกร่าง Tor 4.คณะกรรมการพิจารณา 5.คณะกรรมการตรวจรับ ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้มีคนประมาณ 30-40 คน ดังนั้นในเรื่องสเปกไม่ได้เปลี่ยนสเปก ยึดมั่นประสิทธิภาพ คุณภาพเป็นหลัก และต้องทำฝนได้ ทั้งนี้เครื่องบินที่จัดซื้อต้องผ่านมาตรฐานการบินต่าง ๆ ด้วย และต้องมีการขออนุญาตหลายหน่วยงานเพื่อขึ้นบิน"
ส่วนนายเฉลิมพล รัชโรจน์ ผู้แทนกรมฝนหลวงรับผิดชอบเรื่องสเปก กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า เรื่องน้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุดเป็นตัวบ่งชี้ว่า ถ้าเครื่องบินลำนั้นน้ำหนักเกินกว่านี้จะบินขึ้นไม่ได้ ที่ตัดออกไปนั้นเพราะใน Tor ใหม่ครอบคลุมอยู่แล้ว ส่วนประเด็นเรื่องล้อที่เปลี่ยนให้เป็นพับเก็บได้นั้น เป็นล้อลดแรงต้าน จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ล้อพับได้หรือไม่ได้ก็ทำฝนหลวงได้
ต่อมา นายศุภอรรถ โบสุวรรณ ที่ปรึกษากมธ. หัวหน้าคณะทำงานติดตามการใช้งบฯ ถามว่า 1.มีการไปดูงานเป็นคณะใด เป็นคณะร่าง Tor หรือเป็นใคร
2. การไปดูงานใช้เงินงบประมาณของกรมฝนหลวงหรือไม่
3. การดูงานมีกำหนดการดูงานหรือไม่ และถามกรมบัญชีกลางว่า ปกติแล้วกรมอื่นจะซื้อเครื่องบินจะต้องมีการดูงานหรือไม่
นายสุพิศ อธิบดีกรมฝนหลวงฯ และ นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ ได้ร่วมกันชี้แจงข้อมูลตามที่นำเสนอไปแล้ว (ไม่ได้แอบไป! เปิดคำต่อคำ 'อธิบดี-รองฯ' ฝนหลวง แจงปมดูงานซื้อเครื่องบินพันล.)
ขณะที่ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมดังนี้
เจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า "เรื่องการดูงานไม่มีกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจน ส่วนเรื่องแบล็กลิสต์ บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช ถูกทิ้งงานเมื่อเดือนม.ค. 2566 ในโครงการซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดอัลฟ่า 6 เท่าที่ทราบเขาก็ไปฟ้องศาล ขอระงับคำสั่งทิ้งงานชั่วคราว แล้วศาลมีคำสั่งว่าไม่คุ้มครอง"
เจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องของ conflict of interest หรือการรับทรัพย์สินทางจรรยา ในกฎหมายมีอยู่แล้ว ประเด็นนี้เรื่องของข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ยังไม่ทราบว่าไปถูกตามระเบียบหรือไม่ กมธ.มีความเห็นอย่างไรก็สามารถส่งรายงานให้ ป.ป.ช. ตอนนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้
ขณะที่ นายศุภอรรถ โบสุวรรณ ที่ปรึกษากมธ. หัวหน้าคณะทำงานติดตามการใช้งบฯ กล่าวว่า กรมบัญชีกลาง หรือป.ป.ช. มีแนวปฏิบัติหรือแนวทางป้องกัน conflict of interest อย่างไร
เจ้าหน้าที่จากกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า "จริง ๆ ก็มีระเบียบอยู่ แต่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดขนาดนั้น"
นายสุพิศ อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า "ประเด็นแรกในการคัดเลือกแบบเครื่องบิน 8-10 ยี่ห้อ ทุกยี่ห้อไปดูเครื่องบินจริงทุกยี่ห้อ แต่เครื่องบินบางยี่ห้อมีใช้ในประเทศไทย สมมติกรมตำรวจใช้ก็ทำบันทึกถึงกรมตำรวจขออนุญาตเข้าไปดู โดยขอดูห้องโดยสาร การเจาะท้อง เป็นต้น"
"ประเด็นที่สอง ปี 2565 ก็ไปดูเครื่องบินของ บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช รุ่นสกายครูเรีย เพราะเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ ยังไม่เคยใช้งานมาก่อน บริษัทเสนอให้ไปดูเครื่องบินที่อเมริกา แต่ปี 64-65 เป็นช่วงโควิด แต่กรมมีเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมที่อเมริกา จึงขอให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปและเอารายละเอียดมาให้คณะกรรมการพิจารณา ทุกสิ่งพิจารณาว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์กับราชการสูงสุด "
นายศุภอรรถ ถามว่า การตรวจสอบภายในหน่วยงาน หรือ ป.ป.ช. หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง เพื่อที่สื่อมวลชนหรือกมธ.พอรับทราบ
นายสุพิศ กล่าวว่า "เรื่องของโครงการนี้มีคนร้องมา ทางกระทรวงก็สั่งให้ผมชี้แจง ผมก็ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรกลับไปทุกบริบทให้กระทรวง อีกทั้งกระทรวงยังตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มอีกเพื่อให้เป็นมาตรฐาน ก็ได้ทำการชี้แจงไปตามกระบวนการ ส่วนสำหรับผู้สื่อข่าวผมไม่เคยพูดเพราะผมไม่มีหน้าที่ให้ข่าว ผมมีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ท. ป.ป.ช. สตง. กมธ. เป็นต้น"
************
ทั้งหมดนี้ คือ คำถามของ กมธ. และคำตอบของ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการจัดซื้อเครื่องบิน ขนาดกลาง 2 ลำใหม่ วงเงิน 1,188 ล้านบาท อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีข้อมูลสำคัญหลายประเด็นที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนมาก่อน
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป