“...พรรคก้าวไกลจะประมาทไม่ได้อีกต่อไป เพราะต่อจากนี้ การเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบัน จะถูกกลุ่มฐานเสียงที่มาจากฝั่งขวาจับตามอง เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้เริ่ม ‘เอ๊ะ’ แล้ว ก็จะไม่วางใจง่ายๆอีก โดยเฉพาะหากเคลื่อนไหวแล้วกระทบกับบุคคลที่คนกลุ่มนี้ยังเคารพศรัทธาอีก อาจจะมีการย้ายกลับไปเลือกพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้...”
เปิดเดือนกุมภาพันธ์มาไม่ทันไร สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ จุดเริ่มต้นไม่ใช่การเมืองในเวทีรัฐสภาหรือที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เป็นการเมืองภาคประชาชนที่อิงอุดมการณ์สุดขั้ว
นั่นคือ เหตุการณ์ที่นางสาวตะวัน ตัวตุลานนท์ แกนนำกลุ่มทะลุวัง โดยสารรถยนต์ส่วนบุคคล และได้บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโต้ตอบด้วยวาจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดกั้นถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา
หลังจากนั้น สังคมไทยก็ร้อนฉ่าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ลากพาสู่เหตุการณ์การปะทะระหว่างกลุ่มทะลุวังและกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่บริเวณสถานี BTS สยาม เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ที่กลุ่ม ศปปส. ปะทะกับกลุ่มทะลุวังที่สถานี BTS สยาม เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 67
ภาพจากเพจไข่แมวชีส
เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ส่งผลทำให้พรรคการเมืองที่ตกเป็นเป้าสายตาทันที คือ ‘พรรคก้าวไกล’ ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทในการชูธงนำ ‘ปฎิรูปเชิงโครงสร้าง’ และมีการย้อนเหตุการณ์ที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้นเคยไปเป็นนายประกันให้นางสาวตะวัน บวกกับมีการย้อนเอาภาพในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แกนนำของพรรคติดสติกเกอร์ในการทำโพล คุณคิดว่า ม.112 สมควร 'ยกเลิก' หรือ 'แก้ไข'? ซึ่งนายพิธาติดสติกเกอร์ในช่อง ‘ยกเลิก’ มาขยายผลอย่างต่อเนื่อง
“ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลติดสติ๊กเกอร์ตรงคำว่ายกเลิก แต่ต้องขอโทษน้องทั้ง 2 ว่าขอให้แก้ไข ม.112 ในสภาก่อน ถ้าสภายังไม่ให้ได้รับการแก้ไขเหมือนรัฐสภาชุดที่ผ่านมา แล้วเราไปยกเลิกด้วยกัน” นายพิธากล่าวตอนหนึ่ง (อ้างอิง: ประชาไท 'ตะวัน-แบม' ทำโพลคนร่วมเวทีปราศรัย 'ก้าวไกล' 95% หนุน ยกเลิก ม.112 'พิธา' ร่วมตอบด้วย)
แม้ในเวลาต่อมา ‘พิธา’ จะออกมาพูดว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวิจารณ์ถึงการเป็นนายประกันให้นางสาวตะวัน และขอให้สังคมมีสติกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่พรรคก้าวไกลก็ออกมาชี้แจงในทวิตเตอร์ว่า ไม่ได้เป็นนายประกันให้แล้ว เพราะนางสาวตะวันขอถอนประกันตัวเองก่อนหน้านี้
ถือเป็นแรงสั่นสะเทือนกับพรรคด้อมส้มขวัญใจคนไทย ณ เวลานี้พอสมควร
ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ดังกล่าว ไม่ได้สะเทือนเฉพาะพรรคก้าวไกลเท่านั้น หากแต่พรรคเพื่อไทยเองที่ตอนนี้ค้ำบัลลังก์รัฐบาล ก็อยู่ในสถานการณ์ที่น่าหวาดเสียวไม่แพ้กัน
เพราะต้องไม่ลืมว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่เพื่อไทยเลือกข้ามขั้วมาจับล้วนแต่เป็นพรรคที่อุดมการณ์ชัดเจนเช่นกันว่า เป็นพรรคที่ไม่เอากับแก้กฎหมายมาตรา 112
ในห้วงที่การเมืองนอกสภากลับมาเดือดจากพลังฝ่ายขวาที่กลับมาอีกครั้ง และกำลังลากสู่การเมืองในสภา
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ฉายภาพมองแนวโน้มและทิศทางการเมืองบนเส้นลวดที่ทั้ง ‘ก้าวไกล’ และ ‘เพื่อไทย’ ต้องเดินผ่าน หลังปรากฎการณ์ ‘ขบวนเสด็จ’ กับสำนักข่าวอิศรา ไว้อย่างน่าสนใจ
“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
@กลุ่มขวาเลือกก้าวไกล เริ่ม ‘เอ๊ะ’
ดร.สติธร ระบุว่า ปรากฎการณ์ ‘ขบวนเสด็จ’ จะทำให้ฐานมวลชนของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะปีกฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ข้ามมาเลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่พรรคคิดและทำเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการเลือกตั้งรอบที่แล้ว ส่วนหนึ่งที่พรรคก้าวไกลกวาดคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ที่ 151 เสียงได้ เพราะคนกลุ่มนี้เลือกที่จะมองข้ามวาระการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และส่วนหนึ่งมองว่า การแก้ไขไม่เท่ากับการล้มล้าง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ กลุ่มที่มีอุดมการณ์ขวาที่เลือกพรรคก้าวไกลจะเริ่มมีข้อสังเกตว่า ‘ถ้าก้าวไกลจะล้มล้าง ก็จะไม่เอา แต่ถ้าแค่ปรับปรุงก็ยังแฮปปี้’
“จะสังเกตได้ว่ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย ทั้งการแสดงสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนสีภาพโพรไพล์ในเฟซบุ๊ก แห่แชร์ภาพที่เข้าร่วมพระราชทานปริญญาบัตร หากย้อนไปดูทัศนคติกลุ่มคนเหล่านี้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ส่วนใหญ่จะเลือกพรรคก้าวไกล คุณต้องยอมรับความจริงว่า ฐานเสียงของพรรคก้าวไกลส่วนหนึ่งคือ สลิ่มกลับใจ เมื่อพื้นฐานคุณคือสลิ่มแล้ว พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องสถาบันหลักของชาติ มันก็ยังอินในใจเขาอยู่นะ ที่เขาย้ายมาเลือกพรรคก้าวไกล เพราะเบื่อและเริ่มไม่ชอบทหารและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีนะ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นซ้ายขึ้น” ดร.สติธรสะท้อนภาพ
อย่างไรก็ตาม ดร.สติธรยังมองว่า ปรากฎการณ์นี้จะยังเป็นแรงกระเพื่อมขนาดเบาเท่านั้น แต่พรรคก้าวไกลจะประมาทไม่ได้อีกต่อไป เพราะต่อจากนี้ การเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบัน จะถูกกลุ่มฐานเสียงที่มาจากฝั่งขวาจับตามอง เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้เริ่ม ‘เอ๊ะ’ แล้ว ก็จะไม่วางใจง่ายๆอีก โดยเฉพาะหากเคลื่อนไหวแล้วกระทบกับบุคคลที่คนกลุ่มนี้ยังเคารพศรัทธาอีก อาจจะมีการย้ายกลับไปเลือกพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้
@งานหนักก้าวไกล บาลานซ์ฐานเสียง
นอกจากพลังขวาที่เลือกพรรคก้าวไกลแล้ว กลุ่มที่ถือเป็นต้นรากของพรรคที่นับเนื่องจาก ‘อนาคตใหม่’ คือ กลุ่มที่มีความิดทางการเมืองแบบซ้าย
ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า ในเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ กลุ่มที่เป็นซ้ายและขวาที่เลือกพรรคก้าวไกลน่าจะพอไปกันได้ แม้ฝ่ายซ้ายจะเชื่อใน ‘รัฐสวัดิการ’ ส่วนฝ่ายขวาจะเชื่อในการ ‘สังคมสงเคราะห์’ แต่เป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน ทำคนจนให้รวยขึ้นเหมือน แต่หากเป็นนโยบายการเมืองที่มีความซ้ายหรือขวาจัด ประเด็นนี้จะเป็นโจทย์ของพรรคก้าวไกลว่า จะบาลานซ์นโยบายทางการเมืองอย่างไรให้กลุ่มฐานเสียงซ้ายและขวาที่อยู่ร่วมกัน ยังประคองกันไปได้ ไม่แตกหักกัน
ที่สำคัญที่สุดคือ การที่พรรคก้าวไกลกำลังผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้ในตัวร่างจะไม่ได้ระบุชัดว่าร่วมเอาคนที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วย แต่จากที่พรรคก้าวไกลมีดำริเกี่ยวกับประเด็นนี้ชัดเจน ก็จะต้องรอรับผลกระทบด้วย เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมเอาคนที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเริ่มมีท่าทีว่า ไม่ควรรวมคนเหล่านี้ไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
“ถ้าพรรคก้าวไกลจะรักษาความเป็นพรรคการเมืองใหญ่ ก็จะต้องพยายามรักษากลุ่มฐานเสียงฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ข้ามมาเลือกให้ได้ จะประนีประนอมอย่างไรให้ไปต่อได้ เพราะฉะนั้น จุดยืนแบบซ้ายสุดขั้วในพรรคก็ต้องเบาๆลง หรือไม่ก็ต้องผลักกลุ่มนี้ไปอยู่ในพรรคที่ซ้ายกว่านี้แทน พรรคก้าวไกลต้องชั่งน้ำหนักเอาเองว่า ระหว่างฐานเสียงที่มีอุดมการณ์ความเชื่อแบบซ้าย กับกลุ่มที่มีอุดมการณ์ฝ่ายอนุรักษ์ขวาที่ข้ามมาเลือก ฝั่งไหนมากกว่ากัน ซึ่งดูทรงแล้วฝ่ายขวาที่ข้ามมาเลือกก็มีจำนวนมากพอสมควร” ดร.สติธรระบุ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำพรรคก้าวไกลร่วมงานตรุษจีนเยาวราช เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 67
ภาพจาก Facebook ชัยธวัช ตุลาธน - Chaithawat Tulathon
@’เพื่อไทย’ เดินขวาก็ไม่ได้ นิ่งเฉยก็เสี่ยง
อีกพรรคที่ก็น่าจะตกที่นั่งลำบากไม่แพ้กันคือ ‘พรรคเพื่อไทย’ ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า แม้จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่หากมองไปรอบข้าง พรรคร่วมรัฐบาลล้วนแล้วแต่มีพรรคที่อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมชัดเจนทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ทั้งสิ้น
"คำถามของพรรคเพื่อไทยคือ จะปรับตัวให้ขวาตามพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องเช็กกระแสของสังคมให้ดี ๆ เพราะด้านหนึ่งถ้าเดินขวามากไป ก็จะเสียมวลชนที่ยังมองว่าพรรคเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไป แต่หากไม่ทำอะไรเลย พรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นอนุรักษ์นิยมแทบทั้งหมดก็อาจจะมีปัญหาได้ บวกกับปัจจัยที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคกำลังจะได้รับพักโทษ ก็จะยิ่งเดินลำบากขึ้นไปอีก"
"แต่ส่วนตัวมองว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทย คือพรรคขวาใหม่แล้ว แต่ไม่ควรขวาสุดแบบรวมไทยสร้างชาติหรือภูมิใจไทย จริงๆพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ไทยรักไทยคือ พรรครีพับรีกัลป์ในสไตล์การเมืองอเมริกาอยู่แล้ว"
@‘ดิจิทัลวอลเลต’ เดินหน้าอย่างเดียว แต่ยาก
ดร.สติธร ยังวิเคราะห์ต่อว่า นอกจากประเด็นขบวนเสด็จแล้ว ดร.สติธรวิเคราะห์อีกปัจจัยที่มีผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเพื่อไทย นั่นคือ การดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเลต เพราะตอนนี้มีพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวที่ออกมาให้ข่าวรายวัน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ยังสงวนท่าทีต่อนโยบายนี้
"เหตุผลหนึ่งคือ นโยบายนี้เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ถ้าพรรคเพื่อไทยทำได้ คนที่ได้ความดีความชอบมีพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ดังนั้น ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะออกไปในทาง ‘ไม่ขวาง แต่ก็ไม่ช่วย’ ถ้านโยบายนี้ไม่ทำให้เดือดร้อนมาถึงพรรคร่วมถึงจะช่วย แต่ถ้าความเสี่ยงมาถึงตัวด้วยก็ไม่ช่วย ซึ่งความเสี่ยงที่ว่าคือ หากนโยบายนี้ไม่ว่าจะผ่านเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน หรือหาช่องทางอื่น แล้วมีแนวโน้มจะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อไหร่ พรรคร่วมรัฐบาลก็น่าจะไม่ช่วยให้นโยบายนี้ผ่านอย่างแน่นอน และไม่ต้องพูดถึงการถอย เพราะถ้าถอยเมื่อไหร่ เครดิตความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยตกต่ำทันที" ดร.สติธรกล่าวย้ำ
เหล่านี้ คือ มุมมองของ ดร.สติธรผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่ฉายภาพมองแนวโน้มและทิศทางการเมืองบนเส้นลวดที่ทั้ง ‘ก้าวไกล’ และ ‘เพื่อไทย’ ต้องเดินผ่าน หลังปรากฎการณ์ ‘ขบวนเสด็จ’ ไว้อย่างน่าสนใจ
แม้พลังฝ่ายขวาที่กลับมามีพลังอีกครั้ง จะยังไม่ใช่จุดเปลี่ยนพลิกกระดานการเมือง
แต่ทั้งฝ่ายรัฐที่มี ‘เพื่อไทย’ เป็นแกน และฝั่งฝ่ายค้านที่มี ‘ก้าวไกล’ เป็นแกน จะต้องดำเนินแนวทางของแต่พรรคอย่างระมัดระวัง
เพราะต่อจากนี้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพลาดแม้แต่ก้าวเดียว
อาจจะกลายเป็นแรงถาโถมให้พลังที่เกิดขึ้น ลุกไหม้รุนแรงได้
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถ่ายภาพร่วมกับสมาชิกพรรคเพื่อไทย
ในงานเลี้ยงเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล ภายใต้ชื่อ “ร่วมมือ ร่วมใจ รัฐบาลประชาชน” ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท เมื่อวันที่ 13 ก.พ.67ที่ผ่านมา
ที่มาภาพ: Facebook เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin