"...ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้มีนโยบายให้บรรจุรายการครุภัณฑ์ทางการแพทย์ดังกล่าว แต่เมื่อได้ค้นหาบันทึกข้อความของนายแพทย์สุชาติฯ ก็ไม่ปรากฏบันทึกข้อความข้างต้น ซึ่งกรณีนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวน (เดิม) ได้ขอพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องตามรายงานการสอบสวน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะรัฐมนตรีได้แจ้งในครั้งแรก (เมษายน 2553) ว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลได้ แต่ต่อมาก็ได้มีหนังสือแจ้งว่าได้ทำการค้นหาเอกสารข้างต้นแล้วแต่ไม่พบ..."
ประเด็นข้อกล่าวหาคดีทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในยุคสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น
ก่อนหน้านี้ เคยปรากฏเป็นข่าวไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2566 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้ความผิด นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพวก ในคดีโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง (SP.2)ประจำปีงบประมาณ 2553-2555 โดยข้อกล่าวหาในส่วน นางสาวนริศรา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงเอกฉันท์ชี้มูลความผิด ขณะที่ ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่ถูกชี้มูลด้วยน่าจะมีจำนวนมากถึงหลักร้อยคน แต่ ป.ป.ช.ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการต่อสาธารณชน
- มติเอกฉันท์! ป.ป.ช.ชี้มูล 'นริศรา' อดีตรมช.ศึกษาฯ คดีครุภัณฑ์ไทยเข้มแข็ง ยุค 'อภิสิทธิ์'
- โดนเป็นร้อยคน! เลขาฯ ป.ป.ช.คอนเฟิร์มมติชี้มูล 'นริศรา-พวก' คดีครุภัณฑ์ไทยเข้มแข็ง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการพิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีการจัดสรรงบประมาณโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับพวกรวม 5 ราย เป็นผู้ถูกกล่าวหา
เบื้องต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงเอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหาคดีนี้ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิด กล่าวหาไม่มีมูล
ส่วน นายสุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค ผู้ถูกกล่าวหารายที่ 3 ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการทางวินัย โดยว่ากล่าวตักเตือนไปแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วไม่มีเหตุให้ต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 อีก
สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ประกอบไปด้วย
1. นายวิทยา แก้วภราดัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
2. นายมานิต นพอมรบดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
3. นายสุชาติ เลาบริพัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค
4. นายศุภกิจ ศิริลักษณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
5. นายสมยศ ดีรัศมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดสรรงบประมาณโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัยจำนวน 4 ประเด็น กล่าวคือ
ประเด็นที่ 1 นายวิทยา แก้วภราดัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีได้สั่งการหรือมีนโยบายให้บรรจุการรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับครุภัณฑ์ทางการแพทย์เครื่องทำลาย เชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด (UV Fan) ในราคาแพงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร
กรณีตามประเด็นที่ 1 มีการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ขอรับการจัดสรรเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด สำหรับโรงพยาบาลชุมชนในโครงการพัฒนาระบบบริการทุติยภูมิ จำนวน 800 เครื่อง ราคาเครื่องละ 40,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 32,000,000 บาท โดยไม่มีคำขอรับการจัดสรรจากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานภูมิภาค และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ดังกล่าว มีราคาแพงเกินควร นั้น จากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2552 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ระบุว่า นายแพทย์สุชาติ เลาบริพัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้มีบันทึกข้อความลงวันที่ 29 กันยายน 2552 สรุปความได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้มีนโยบายให้บรรจุรายการครุภัณฑ์ทางการแพทย์ดังกล่าว แต่เมื่อได้ค้นหาบันทึกข้อความของนายแพทย์สุชาติฯ ก็ไม่ปรากฏบันทึกข้อความข้างต้น ซึ่งกรณีนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวน (เดิม) ได้ขอพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องตามรายงานการสอบสวน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะรัฐมนตรีได้แจ้งในครั้งแรก (เมษายน 2553) ว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลได้
แต่ต่อมาก็ได้มีหนังสือแจ้งว่าได้ทำการค้นหาเอกสารข้างต้นแล้วแต่ไม่พบ ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมการไต่สวนก็ได้ขอเอกสารหลักฐานจากกระทรวงสาธารณสุขและสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยได้ความจากนาง ด. ว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเพื่อค้นหาบันทึกข้อความดังกล่าวแล้ว แต่ไม่พบ
@ วิทยา แก้วภราดัย
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นครุภัณฑ์ทางการแพทย์ข้างต้น คณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ 139/2553 ลงวันที่ 25 มกราคม 2553 ก็ได้สอบสวนในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า การจัดทำคำขอ รับการจัดสรรครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยไม่มีคำขอรับการจัดสรรจากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานภูมิภาคและมีราคาแพงเกินสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลโรคทรวงอกที่ทำได้ในราคาเพียง 6,000 บาท ทั้งได้เร่งรัดให้ดำเนินการจัดซื้อในท้องที่จังหวัดสงขลา โดยใช้สเปคของบริษัท ก. กรณีนี้ได้ความจากนายแพทย์ ก.สรุปได้ว่า เมื่อต้นเดือนกันยายน 2552 ตนได้รับเอกสารจากโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องการให้จัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด (UV Fan) โดยให้แต่ละโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลาเตรียมการจัดซื้อเมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณ เห็นว่าการตั้งคำขอรับการจัดสรรครุภัณฑ์ทางการแพทย์ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายจากส่วนกลางจริง แต่หลังจากเกิดเรื่องร้องเรียนก็ได้มีการยกเลิกรายการดังกล่าวประกอบกับเมื่อคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบหนังสือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลามีไปถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ พบว่าไม่ปรากฏรายการเอกสารที่ส่งไปด้วย (เอกสารของบริษัท ก.) แต่กรณีนี้ปรากฏจากคำให้การพยาน เช่น นายแพทย์ ส. ว่าเหตุที่ส่งเอกสารดังกล่าวแนบไปด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา ไม่เคยจัดซื้อและไม่เคยใช้ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ข้างต้น เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาจึงได้แนบเอกสารของ บริษัท ก. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดทราบข้อมูลเกี่ยวกับครุภัณฑ์ทางการแพทย์อันเป็นที่มาของเอกสารแนบ
สำหรับครุภัณฑ์ทางการแพทย์ตามข้อกล่าวหา ได้ความจากนาง ม. ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงบลงทุนภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุข ว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับการจัดสรรครุภัณฑ์ทางการแพทย์ดังกล่าวจากคณะรัฐมนตรี อีกทั้งนายแพทย์ ก.อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ก็ได้ให้ถ้อยคำสรุปความได้ว่า เกี่ยวกับครุภัณฑ์ทางการแพทย์ข้างต้น พยานได้เป็นผู้ร้องเรียนในเรื่องนี้ผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้มีการจัดซื้อ อีกทั้งก็ได้มีการปรับลดงบประมาณลงมาเป็นจำนวนมาก และเมื่อคณะกรรมการไต่สวนได้ตรวจสอบรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดการขอรับการจัดสรรครุภัณฑ์ทางการแพทย์รายการเครื่องทำลายเชื้อด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด แต่อย่างใด
พิจารณาพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ว รับฟังได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ขอรับการจัดสรรและจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รายการเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่ามีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายใด ได้ให้ข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้แทรกแซงหรือสั่งการเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการใด ๆ เพื่อขอรับการจัดสรรครุภัณฑ์ทางการแพทย์ดังกล่าวโดยทุจริตหรือมิชอบด้วยกฎหมาย
กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่านายวิทยา แก้วภราดัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา
ประเด็นที่ 2 นายมานิต นพอมรบดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทำการกดดันให้โรงพยาบาลราชบุรีให้จัดทำคำขอรับจัดสรรงบประมาณประเภทสิ่งก่อสร้างอาคารสูง 10 ชั้น และอาคารอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 5 อาคาร หรือไม่ อย่างไร
กรณีประเด็นที่ 2 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นั้น มีโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลโพธาราม โรงพยาบาลบ้านโป่ง และโรงพยาบาลดำเนินสะดวก โดยจังหวัดราชบุรีมีประชากรประมาณ 720,000 คน (ข้อมูลปี 2552) ในส่วนโรงพยาบาลราชบุรี นั้น มีเตียงผู้ป่วย 939 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 81.53 แต่ได้ขอรับการจัดสรรอาคาร 10 ชั้น และอาคารอื่น ๆ รวม 5 อาคาร ขณะที่โรงพยาบาลราชบุรีต้องการเพียง 2 อาคาร เท่านั้น
กรณีข้างต้นได้ความจากนายแพทย์ ธ. ที่ได้ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 139/2553 ลงวันที่ 25 มกราคม 2553 สรุปความได้ว่า จังหวัดราชบุรีมีโรงพยาบาลจำนวน 4 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ (900 เตียง) 1 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 3 แห่ง การขอรับจัดสรรงบประมาณครั้งแรกของโรงพยาบาลราชบุรี เป็นการขอรับการจัดสรรในรูปแบบการของบประมาณปกติ เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ 5 ชั้น และอาคารที่จอดรถ ซึ่งมีแบบอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้มีโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จึงได้จัดทำคำขอรับการจัดสรรรายการดังกล่าวอีกครั้ง ต่อมานายแพทย์ ธ. ได้รับแจ้งจากนายแพทย์ บ. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีความเห็นว่าน่าจะเพิ่มความสูงของอาคารเป็น 7 ชั้น แต่ด้วยมีปัญหาพื้นที่ไม่พอและไม่มีแบบ จึงมีการขอเพิ่มความสูงเป็น 10 ชั้น ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีก็ได้ส่งช่างมาสำรวจพื้นที่และได้นำแบบจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาใช้ ส่วนเหตุผลข้างต้น ก็เนื่องจากจะให้โรงพยาบาลราชบุรีเป็นศูนย์รังสีรักษาเพิ่มเติม (เดิมเป็นศูนย์หัวใจและศูนย์มะเร็ง) และจะได้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellence Center) ในเขต จึงรับฟังได้ว่าการมีคำขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับอาคารก็เนื่องมาจากมีแผนจะพัฒนาและตั้งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent Center) เพื่อรองรับประชาชนผู้มารับบริการ
ประเด็นนี้ คณะกรรมการไต่สวนได้ตรวจสอบรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 (ก็ไม่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้โรงพยาบาลราชบุรีได้รับการจัดสรรให้ดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคาร 10 ชั้น และอาคารอื่น ๆ รวม 5 อาคาร ตามที่กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้ทำการกดดันแต่อย่างใด ปรากฏเพียงคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้โรงพยาบาลในท้องที่จังหวัดราชบุรี ดังนี้
- โรงพยาบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้รับการจัดสรรอาคารส่งเสริมสุขภาพและอเนกประสงค์ 2 ชั้น งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 13.1367 ล้านบาท
- โรงพยาบาลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ได้รับการจัดสรรอาคารแพทย์แผนไทย ชั้นเดียว งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 3.8196 ล้านบาท
พิจารณาพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ว รับฟังได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ขอรับการจัดสรรเพื่อจัดจ้างสิ่งก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลราชบุรี จำนวน 10 ชั้น และอาคารอื่น ๆ รวม 5 อาคาร ตามข้อกล่าวหา อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่ามีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายใด ได้ให้ข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำการใด ๆ เพื่อกดดันให้โรงพยาบาลราชบุรีดำเนินการขอรับการจัดสรรอาคารรวม 5 อาคาร โดยทุจริตหรือมิชอบด้วยกฎหมาย
กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่านายมานิต นพอมรบดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา
ประเด็นที่ 3 นายมานิต นพอมรบดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีตระเตรียมการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใดเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถพยาบาลจำนวน 800 คัน คันละ 1,800,000 บาท หรือไม่ อย่างไร
ประเด็นที่ 3 ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2552 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 สรุปความได้ว่า ช่วงเวลาตอนเย็นของวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ณ ภัตตาคารอาหารจีนไดเนสตี้ โรงแรมเซนทารา ลาดพร้าว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นาง ศ. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นาย ส. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนของบริษัท พ. และตัวแทนของบริษัท ส. ได้มีการเจรจากันเพื่อจัดซื้อรถพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฮั้วกันระหว่างนักการเมืองกับผู้ประกอบการในการจัดซื้อรถพยาบาลจำนวน 800 คัน ซึ่งมีการขอรับผลประโยชน์คันละ 100,000 บาท โดยขอปรับราคารถพยาบาลที่เคยจัดซื้อได้เดิมราคาคันละ 1.7 ล้านบาท เป็นคันละ 1.8 ล้านบาท
กรณีข้างต้น คณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 139/2553 ลงวันที่ 25 มกราคม 2553 ที่ พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ปรากฏ พยานหลักฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการเจรจาซื้อขายรถพยาบาลดังกล่าว ประกอบกับราคารถที่ตั้งไว้ก็ได้อิงกับราคาที่ใช้เงินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เคยจัดซื้อได้ในราคา1.8 ล้านบาท
พิจารณาจากพยานหลักฐานแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนาย ส. เป็นเพื่อนกันตั้งแต่ศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนนาง ศ. ก็ได้ให้การว่าวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ตนได้ไปที่โรงแรมเซนทารา ลาดพร้าว เมื่อทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 อยู่ที่ภัตตาคารอาหารจีนไดนาสตี้ จึงได้เข้าไปพบเท่านั้น การที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าน่าจะเป็นการพบกันเพื่อตระเตรียมการจัดซื้อรถพยาบาลจำนวน 800 คัน เป็นเพียงการวิเคราะห์จากการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ยอมรับว่ามีการพบเจอกันจริงเท่านั้น โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่ได้ระบุหรือชี้ชัดว่าการพบกันของบุคคลดังกล่าวเป็นการพบกันเพื่อพูดคุยเจรจากันในเรื่องใด โดยผู้ที่เกี่ยวข้องเองก็ต่างให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ ต่อมาเมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้นคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์) พิจารณาทบทวนโครงการต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง ให้ตรวจสอบการตั้งราคากลางและปรับลดลงให้เหมาะสม (ประกอบกับประเด็นการจัดซื้อรถพยาบาลตามโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 นี้ คณะไต่สวนเบื้องต้น (เดิม) ได้ขอทราบข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานไปยังโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งได้ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินกู้โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รายการรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 1 คัน ราคาคันละ 1,800,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ได้ดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีสอบราคาและสอบราคาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 (ก่อนที่คณะรัฐมนตรีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทบทวน) แต่ต่อมาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งยกเลิกการจัดซื้อครุภัณฑ์บางรายการตามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ 0227/ว 5 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 ซึ่งยกเลิกรายการจัดซื้อจัดจ้างของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ทุกรายการ จึงมีประกาศจังหวัดเพชรบูรณ์ยกเลิกประกาศประกวดราคาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ข้างต้น จึงรับฟังได้มั่นคงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เคยมีคำขอรับการจัดสรรงบประมาณพิจารณาทบทวนโครงการต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง และให้ตรวจสอบการตั้งราคากลางและปรับลดลงให้เหมาะสม
@ มานิต นพอมรบดี
พิจารณาพยานหลักฐานทั้งปวงแล้วเห็นว่า การพบกันของบุคคลข้างต้น ณ ภัตตาคารอาหารจีนไดเนสตี้ โรงแรมเซนทารา ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ข้างต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเป็นการพบกันเพื่อพูดคุยเจรจากันในเรื่องใด อีกทั้งรถพยาบาลราคาคันละ 1.8 ล้านบาท ก็เป็นราคาที่กระทรวงสาธารณสุขเคยจัดซื้อจากงบประมาณของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเห็นว่าไม่ใช่ราคาที่สูงเกินจริง อีกทั้งเมื่อมีการร้องเรียนคณะรัฐมนตรีก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ทบทวนและปรับลดราคาของโครงการทั้งหมดแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่า มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายใดและพยานหลักฐานอื่น ได้ให้ข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการแทรกแซงหรือสั่งการเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการใด ๆ เพื่อตระเตรียมทุจริตการจัดซื้อรถพยาบาลแต่อย่างใด
กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่านายมานิต นพอมรบดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา
ประเด็นที่ 4 นายแพทย์สุชาติ เลาบริพัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ตามโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่ อย่างไร
ประเด็นนี้ได้ความจากคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ที่แก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข สรุปความได้ว่า ในการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณข้างต้นมีระยะเวลาดำเนินการจำกัดเพียง 1 เดือน จึงเห็นว่าผู้ถูกกกล่าวหาที่ 3 ได้ดำเนินจัดวางระบบการดำเนินงานโดยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณารายละเอียดของคำขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเมื่อพบว่ามีปัญหาเรื่องผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ ก็ได้รายงานไปยังผู้บริหารเพื่อขอบุคลากรเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แต่อย่างใด ซึ่งจากรายการคำขอรับจัดสรรงบประมาณที่ส่งมาจากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานในภูมิภาคมีเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ก็ต้องรับผิดชอบในการพิจารณาคำขอรับการจัดสรรงบประมาณในส่วนของรายการครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีมากกว่า 7,000 รายการ เพียงผู้เดียว ด้วยระยะเวลาในการดำเนินการที่จำกัดดังกล่าวทำให้ไม่ได้ตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้มอบหมายให้พิจารณารายการคำขอรับการจัดสรรงบประมาณสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้รอบคอบเหมาะสม ก่อนส่งต่อให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นผู้อำนวยการ เพื่อพิจารณา โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ได้รับคำขอซึ่งส่งต่อมาจากสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาคเพียงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนถึงกำหนดที่จะต้องส่งไปยังสำนักงบประมาณและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จึงทำให้เป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการกลั่นกรองรายละเอียดได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ราคางบประมาณรายการสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ตั้งสูงกว่าราคากลางดังกล่าว นั้น ก็เป็นเพียงราคาประมาณการในเบื้องต้นเท่านั้น หากได้รับจัดสรรงบประมาณตามรายการคำขอรับการจัดสรรงบประมาณจริง หน่วยงานหรือโรงพยาบาลต่าง ๆ ยังจะต้องมีดำเนินการซื้อการจ้างตามระเบียบของทางราชการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วราคาที่ได้ก็จะมีราคาต่ำกว่าราคางบประมาณ ประกอบกับไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาคเข้าไปมีส่วนได้เสียหรือได้รับประโยชน์จากการกำหนดราคางบประมาณ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ไม่ได้กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ในการตรวจรายละเอียดรายการคำขอรับการจัดสรรงบประมาณในรายการสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้รอบคอบ นั้น มีมูลเป็นความผิดทางวินัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค ไม่ได้ตรวจรายละเอียดคำขอในรายการครุภัณฑ์การแพทย์และกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในการตรวจรายละเอียดรายการคำขอรับการจัดสรรในรายการสิ่งก่อสร้างให้รอบคอบ อันเป็นเหตุให้มีการจัดสรรงบประมาณบางรายการที่มีราคาสูงเกินความจำเป็น เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของทางราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (3) เห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์
แต่เนื่องจากเป็นการกระทำผิดเล็กน้อยโดยรายการคำขอก็ยังไม่มีการประมูลก่อสร้างหรือจัดซื้อ และได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาทบทวนแล้ว กรณีจึงยังไม่เกิดความเสียหายแก่ราชการ จึงเห็นควรว่ากล่าวตักเตือน
สำหรับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า แม้การดำเนินงานตามโครงการนี้ จะไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบดูแลโครงการโดยตรง แต่เมื่อพิจารณาทางปฏิบัติที่มีการตรวจสอบเป็นลำดับแล้ว ถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบพอสมควร ทั้งยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดกำหนดว่าในการดำเนินงานตามโครงการต่าง ๆ จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบโดยตรง ประกอบกับระยะเวลาในการดำเนินงานมีจำกัดเพียง 1 เดือน หากมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขึ้นมากำกับในแต่ละขั้นตอน ก็อาจทำให้การดำเนินงานไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด สำหรับการพิจารณากลั่นกรองรายละเอียดของคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการเท่าที่ควรจึงรับฟังได้ว่า ด้วยระยะเวลาที่เร่งรัดประกอบกับมีรายการคำขอทั้งสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยได้รับรายละเอียดคำขอซึ่งส่งต่อมาจากสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาคเพียงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนถึงกำหนดที่จะต้องส่งไปยังสำนักงบประมาณและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจึงทำให้เป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการกลั่นกรองรายละเอียดได้อย่างเต็มที่ กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 บริหารจัดการงานในหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายในโครงการนี้ไม่เป็นระบบ จึงมิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา
พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 แล้ว เห็นว่าได้ดำเนินการที่เหมาะสมแก่กรณีแล้ว โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ถูกดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 92 มาตรา 93 ประกอบมาตรา 94 (2) และมาตรา 132 กรณีจึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรณีตามข้อกล่าวหาเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 55 (2) และไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่าถูกกล่าวหาที่ 3 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้กระทำการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
กรณีนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นั้น จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ได้ถูกนายกรัฐมนตรีและหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังเช่นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และเมื่อได้พิจารณาจากพยานหลักฐานแล้วพบข้อเท็จจริงเพียงว่าช่วงเวลาเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยมีกองแบบแผนซึ่งหน้าที่กำหนดคุณลักษณะและราคาของสิ่งก่อสร้าง อยู่ภายใต้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานหรือพฤติการณ์ใดว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนว่า การกระทำของนายวิทยา แก้วภราดัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายมานิต นพอมรบดีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายสมยศ ดีรัศมี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จากการไต่สวน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 2 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 - 5 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับการกระทำของนายสุชาติ เลาบริพัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จากการไต่สวนพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่การกระทำของนายสุชาติ เลาบริพัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีพฤติการณ์เข้าข่ายความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของทางราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (3) แต่เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการทางวินัย โดยว่ากล่าวตักเตือนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในการกระทำความผิดตามมูลคดีเดียวกันกับเรื่องนี้ เหมาะสมตามควรแก่กรณีแล้วจึงไม่มีเหตุให้ต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 อีก
อนึ่ง สำหรับข่าวที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้ความผิด นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพวก ในคดีโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง (SP.2)ประจำปีงบประมาณ 2553-2555 นั้น
สำนักข่าวอิศรา เคยเสนอข่าวไปในช่วงเดือนสิงหาคม 2559 ว่า ป.ป.ช.มีการรับเรื่องไต่สวนคดีนี้เป็นทางการ ระบุข้อกล่าวหาว่า มีการร่วมกันกำหนดวงเงินงบประมาณให้กับสถานศึกษา โดยมีเงื่อนไขหัก 1% ของงบประมาณที่ได้รับ สถานศึกษาใดยอมรับจะได้รับการจัดสรรงบตั้งแต่ 30 ล้านบาท จนถึง 99 ล้านบาท หากไม่ยอมรับเงื่อนไขจะได้รับการจัดสรรเพียง 3 แสนบาท จนถึง 2 ล้านบาท ทำการติดต่อพ่อค้าให้เข้ามาตกลงเรื่องการจ่ายเงินเปอร์เซ็นต์ รวม 30%โดยเม็ดเงินทั้งหมดจะรวบรวมนำส่งให้กับผู้ถูกกล่าวหาบางราย
ส่วนในการเสนอสำนวนไต่สวนให้ที่ประชุม คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องนั้น ในชั้นคณะกรรมการไต่สวน มีการสรุปจำนวนผู้ถูกกล่าวหามากกว่า 190 ราย มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน แต่ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดด้วยจำนวนกี่ราย
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
ส่วนการไต่สวนคดีเกี่ยวกับโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของ สำนักงาน ป.ป.ช. นอกจาก 2 คดีนี้แล้ว
ยังมีคดีส่วนไหนค้างอยู่อีกหรือไม่ สำนักข่าวอิศราจะติดตามมานำเสนอต่อไป