“…การพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการฟ้องคดีอาญา สำหรับความผิดเกี่ยวกับการทุจริตให้มีอายุความที่นานขึ้น เพื่อให้การปราบปรามการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับหลักการสากล และการพิจารณากำหนดมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในการกระทำความผิดบางกรณีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ เพื่อให้สามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุความ…”
.........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา ทวีสิน มีมติเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 เห็นชอบให้คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยมติ ครม.ชุดเดิม จำนวน 174 คณะ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 30 ต.ค.2566 และหลังจากนั้น ให้คณะกรรมการฯดังกล่าวสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ส่วนราชการใดพิจารณาเห็นว่า คณะกรรมการคณะใดยังคงมีภารกิจสำคัญและจำเป็นต้องคงอยู่ต่อไป เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ให้ส่วนราชการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนั้นๆ ขึ้นใหม่ โดยให้ตรวจสอบและปรับปรุงองค์ประกอบหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน แล้วส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายในวันที่ 30 ต.ค.2566 เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอ ครม. ให้พิจารณาอนุมัติ ‘แต่งตั้ง’ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมาย จำนวน 4 คณะ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการฯ
ได้แก่ 1.คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2.คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 3.คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน บริษัท และองค์กรทางธุรกิจ
และ 4.คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายมีความต่อเนื่อง ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนก่อนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด
โดย ครม. ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมาย จำนวน 4 คณะ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอ
สำนักข่าวอิศราพบว่า ในการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการฯ 4 คณะ นั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้นำเสนอ ‘บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี : กรณีคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายรวม 4 คณะ’ ให้ ครม.รับทราบด้วย
โดยบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้มีการนำเสนอ ‘ตัวอย่าง’ ผลงานที่เป็นรูปธรรมของคณะกรรมการฯทั้ง 4 คณะ ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายในประเด็นสำคัญๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@โชว์ผลงานปรับปรุงประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง 18 ฉบับ
เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายทั้ง 4 คณะ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการของคณะกรรมการนั้น ได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนานและมีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมเป็นจำนวนมาก สำนักงานฯ จะขอยกตัวอย่างผลการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายทั้ง 4 คณะเพียงบางส่วนที่สำคัญ ดังนี้
1 ตัวอย่างผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้ตรวจพิจารณายกร่างกฎหมายที่สำคัญและมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วจำนวน 15 ฉบับ และยังมีร่างกฎหมายที่คณะกรรมการพิจารณายกร่างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อออกใช้บังคับเป็นกฎหมายอีก จำนวน 3 ฉบับ รวม 18 ฉบับ ได้แก่
(1) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2558 (การดำเนินคดีแบบกลุ่ม) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การฎีกา) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(3) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2558 (การโอนคดีจากศาลชั้นต้นไปยังศาลแพ่ง การส่งคำคู่ความโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งคำคู่ความไปยังต่างประเทศ) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(4) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2558 (การขายทอดตลาดห้องชุดในอาคารชุดและที่ดินจัดสรร) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(5) พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(6) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การฎีกา) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(7) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การฎีกา) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(8) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558
(9) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การฎีกา) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(10) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การฎีกา) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(11) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ.2558
(12) พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การฎีกา) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(13) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การฎีกา) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(14) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 (ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(15) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32) พ.ศ.2563 (การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(16) ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีแพ่งเล็กน้อย พ.ศ. .... (อยู่ระหว่างเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อออกใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป)
(17) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมคดีมโนสาเร่) (อยู่ระหว่างเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อออกใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป)
(18) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจผู้พิพากษาคนเดียว) (อยู่ระหว่างเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อออกใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป)
2.ตัวอย่างผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งได้ตรวจพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญและมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
(1) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 33) พ.ศ.2562 (แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการไต่สวนมูลฟ้อง หลักเกณฑ์การยื่นอุทธรณ์ และค่าธรรมเนียม) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 34) พ.ศ.2562 (ขยายอัตราโทษจำคุกในคดีที่จะต้องเรียกประกันและหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
@ดันเพิ่มอายุความฟ้องคดีทุจริต-กำหนด‘โทษปรับ’ตามฐานะศก.
3.ตัวอย่างผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายเสาหลักสำคัญของประเทศที่รวบรวมบทบัญญัติความรับผิดทางอาญา ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปและกฎหมายกลางของประเทศ
คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจหลักในการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาโดยตลอดนับแต่มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา โดยมีวาระการประชุมทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้ง (ทุกวันพุธ สัปดาห์ที่ 1 และที่ 2 ของเดือน)
ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่คณะกรรมการฯ ยังมีการประชุมอย่างต่อเนื่องในรูปแบบออนไลน์และรูปแบบผสม จนถึงปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาในส่วนที่มีปัญหาในทางนิติวิธี ปัญหาทางทฤษฎีกฎหมายอาญา หรือปัญหาในทางปฏิบัติมาแล้ว เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสิ้น 31 ครั้ง ทำให้ประมวลกฎหมายอาญามีพัฒนาการในการปกป้องคุ้มครองสังคมและบุคคลในทางที่ดียิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างผลงานการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาที่สำคัญ เช่น การปรับปรุงบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศ เพื่อคุ้มครองเด็กที่ยังไม่ถึงวัยอันควรที่จะมีเพศสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 23) พ.ศ.2558 การปรับปรุงอัตราโทษปรับสำหรับความผิดฐานต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560
นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในประเด็นที่สำคัญอีกหลายประเด็น
ได้แก่ การพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะนำระบบโทษปรับโดยคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด (Day-Fine) เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้ต้องโทษปรับ ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าย่อมมีความสามารถที่จะชำระค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้นั้นไม่เกิดความสำนึกในความผิดที่ตนได้กระทำลงไปได้อย่างแท้จริง
การพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดเกี่ยวกับการทุจริตให้มีอายุความที่นานขึ้น เพื่อให้การปราบปรามการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับหลักการสากล
และการพิจารณากำหนดมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในการกระทำความผิดบางกรณีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ เพื่อให้สามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุความ
@โชว์ผลงานปรับเกณฑ์‘อายุเด็ก’ไม่ต้องรับโทษอาญา-แก้กม.ทำแท้ง
สำหรับผลงานของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2563-2566) คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาได้ตรวจพิจารณายกร่างกฎหมายที่สำคัญและมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วจำนวน 2 ฉบับ
และยังมีร่างกฎหมายที่คณะกรรมการพิจารณายกร่างเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อจัดทำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายอีกหลายฉบับ ประกอบด้วย ร่างที่คณะกรรมการริเริ่มขึ้นเอง และจากการเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
(1) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 (แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับเกณฑอายุเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด) เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย 2 ประเด็น
ได้แก่ 1.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับเกณฑ์อายุเด็กในการไม่ต้องรับโทษ จากอายุยังไม่เกิน 10 ปีเป็นอายุยังไม่เกิน 12 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 10 (ค.ศ.2007) (General Comment No.10 (2007) Children’s rights in juvenile justice) ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กับความเห็นทางการแพทย์เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กอายุระหว่าง 10 ปีถึง 12 ปี
และ 2.แก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์อายุเด็กในการพิจารณาเพื่อใช้วิธีการสำหรับเด็กจากอายุกว่า 10 ปีแต่ยังไม่เกิน 15ปี เป็นอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี โดยคณะกรรมการฯ ได้ตรวจพิจารณาประกอบกับกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง กฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับอายุขั้นต่ำ สำหรับความรับผิดทางอาญา (Minimum Ages of Criminal Responsibility) ตลอดจนความตกลงระหว่างประเทศและกระบวนการระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้เป็นประโยชน์ต่อเด็กที่มีอายุยังไม่เกิน 12 ปี เนื่องจากเด็กในช่วงอายุดังกล่าวมีความอ่อนด้อยในทางความนึกคิด ยังไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี อีกทั้งเป็นช่วงอายุที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิด จึงไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี
แต่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เพื่อฟื้นฟูให้เป็นประชากรที่ดีมีคุณภาพสามารถกลับคืนสู่สังคมได้และเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กได้เรียนรู้การกระทำความผิดจนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม
(2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 (แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับบทบัญญัติความผิดฐานทำให้แท้งลูก
เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่วินิจฉัยว่า บทบัญญัติความผิดฐานหญิง ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำใหตนแทงลูก ตามมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (เดิมก่อนการแก้ไข) ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงได้มีการแก้ไขให้หญิง มีสิทธิตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ได้ภายในอายุครรภ์ที่กฎหมายกำหนด และยกเว้นความผิดให้กับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ทำการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งกำหนดเหตุจำเป็นที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
(3) การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล
สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 มอบหมายให้สำนักงานฯ พิจารณาแยกโทษสำหรับนิติบุคคลออกจากโทษสำหรับบุคคลธรรมดา คณะกรรมการฯ จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล) ซึ่งผ่านการพิจารณาและดำเนินการในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำเรื่องพิจารณาเสร็จ
ร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล และหลักเกณฑ์การเปลี่ยนโทษกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติโทษสำหรับนิติบุคคลไว้โดยเฉพาะ กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งใช้มาตรการประกอบการลงโทษนิติบุคคลได้ กำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดในทางอาญาสำหรับนิติบุคคล กำหนดความผิดและโทษสำหรับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลซึ่งสั่งไว้ในคำพิพากษาลงโทษนิติบุคคล
@ยกร่างกม.เพิ่มความผิดลักทรัพย์‘ไฟฟ้า’-เลิกโทษ‘กักขัง’แทน‘ค่าปรับ’
(4) การปรับปรุงบทบัญญัติความผิดฐานลักทรัพย์ มาตรา 334 เป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯ ริเริ่มขึ้นเอง
โดยเห็นควรให้มีการปรับปรุงความผิดฐานลักทรัพย์ให้ครอบคลุมแนวคำพิพากษาฎีกาที่พิพากษาให้การลักกระแสไฟฟ้าหรือสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501 (ประชุมใหญ่) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1880/2542 (ประชุมใหญ่)) และเห็นควรกำหนดให้ครอบคลุมถึงพลังงานอื่นใดด้วย
หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ กำหนดให้การเอาพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานอื่นใด ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตเป็นความผิดลักทรัพย์
โดยเพิ่มเป็นวรรคสองของมาตรา 334 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานอื่นใดนั้นไม่เป็น “ทรัพย์” ตามกฎหมาย ซึ่งการปรับปรุงบทบัญญัติความผิดฐานนี้ มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์และเทคโนโลยีด้านพลังงานและการสื่อสารให้ทันสมัยกว่าในอดีต
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและนำผลการรับฟังมาพิจารณาประกอบการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
(5) การพิจารณาทบทวนมาตรการกักขังแทนค่าปรับ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ซึ่งมีมติว่า การกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นมาตรการลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน โดยการลงโทษปรับเป็นการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ แต่การกักขังเป็นการบังคับเอาแก่เสรีภาพของผู้ต้องโทษ จึงไม่อาจทดแทนกันได้
และหากการลงโทษปรับ มีมาตรการรองรับเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ รวมทั้งการทำงานบริการสังคมอยู่แล้ว สมควรพิจารณายกเลิกการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน และตามแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
จึงลงมติมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ โดยมีการยกร่างบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
@‘ร่าง พ.ร.บ.บริษัทจำกัดคนเดียว’เสร็จแล้ว-ส่ง‘พาณิชย์’ดำเนินการ
4.ตัวอย่างผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน บริษัท และองค์กรทางธุรกิจ
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563-ปัจจุบัน คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน บริษัท และองค์กรทางธุรกิจ ได้ตรวจพิจารณายกร่างกฎหมายที่สำคัญและมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
(1) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ.2565 (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมกรรมการ ลดจำนวนผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำกัด การจ่ายเงินปันผล และการควบรวมบริษัท) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(2) พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2565 (กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท ของบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
(3) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนและการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีร่างพระราชบัญญัติบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. .... (กำหนดให้บริษัทจำกัดจัดตั้งโดยมีเจ้าของทุนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวได้) ซึ่งสำนักงานฯ ได้จัดทำเรื่องพิจารณาเสร็จ และส่งออกจากสำนักงานฯ แล้ว
และต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของร่างฯ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) จัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานเจ้าของร่างฯ
อนึ่ง ก่อนปี พ.ศ.2565 ยังมีร่างกฎหมายสำคัญที่คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน บริษัท และองค์กรทางธุรกิจ ได้ดำเนินการและมีผลใช้บังคับแล้ว เช่น พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดมูลค่าหุ้นขั้นต่ำ การซื้อหุ้นคืน และการแปลงหนี้เป็นทุน) และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกหุ้นเพื่อชำระและโครงการแปลงหนี้เป็นทุนในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท พ.ศ.2544 เป็นต้น
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของ ‘บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี : กรณีคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายรวม 4 คณะ’ และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า การปรับปรุง ‘ประมวลกฎหมาย’ ในประเด็นสำคัญๆ ที่ถูกอ้างถึงในบันทึกฯฉบับนี้ จะสำเร็จลุล่วงเมื่อใด?