"...จังหวะ ‘พิธา’ คัมแบ็กกลับคืน สส. เป็นจังหวะเดียวกับที่ ‘เบญจา แสงจันทร์’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติต่อสภาฯ ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพไปอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ’ ประเด็นสำคัญคือ มีการเสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า เข้าไปนั่งใน กมธ.ชุดนี้ด้วย..."
มติของศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ที่วินิจฉัยคืนเก้าอี้ สส.ให้แก่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
กลายเป็นข่าวใหญ่โด่งดังทั่วโลก
แม้แต่ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่เดินทางมาเยือนไทย และเข้าพบ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ อย่าง ‘ขงเบ้งสีส้ม’ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้เข้าพบ ‘พิธา’ ยังเอ่ยปากถึงผลของคดีนี้
ทำเอาบรรดา ‘ด้อมส้ม’ ที่ห่อเหี่ยวมานาน กลับมาฮึกเหิมอีกครั้ง และมีความหวังว่า อาจเห็น ‘ก้าวไกล’ ได้เป็นรัฐบาลเข้าสักวัน
จังหวะ ‘พิธา’ คัมแบ็กกลับคืน สส. เป็นจังหวะเดียวกับที่ ‘เบญจา แสงจันทร์’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติต่อสภาฯ ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพไปอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ’
ประเด็นสำคัญคือ มีการเสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า เข้าไปนั่งใน กมธ.ชุดนี้ด้วย
@ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ทำเอาทุกองคาพยพทางการเมือง จับตาไปที่จังหวะเคลื่อนไหวของ ‘ก้าวไกล’ ในทันที
เพราะต้องไม่ลืมว่า ‘ธนาธร-พิธา’ ต่างได้รับความนิยมสูงทั้งคู่ เคยเป็นผู้นำพรรคสีส้ม และมีบทบาทสูงภายในพรรค
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 นั้น มีการขยับครั้งใหญ่ของพรรคก้าวไกล คือ 1.การเตรียมยื่นญัตติ ‘ซักฟอกรัฐบาล’ 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กก.บห.ของพรรค
ที่สำคัญในช่วงกลางปี 2567 สว.ที่เป็นเสมือนผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ฝ่ายอนุรักษนิยม จะหมดอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ยิ่งทำให้สูตรการจัดตั้งรัฐบาล อาจโดนเขย่าขึ้นอีกรอบ เพราะปัจจุบันพรรคร่วมรัฐบาลก็กำลังยักแย่ยักยันจากปัญหาถาโถม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากคดี ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ อาจโดนร้องเรียนให้ ‘ยุบพรรค’ ได้
ต้องไม่ลืมว่าไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ‘ธนาธร’ ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าเคยบินไปพบ ‘นายใหญ่ดูไบ’ ที่ฮ่องกง ก่อนการเลือกตั้ง 2566 จริง ท่ามกลางกระแสข่าว ‘ดีลลับ’ จัดตั้งรัฐบาล ‘แดง-ส้ม’ แต่ ‘นายใหญ่’ ออกปาก ‘เซย์ โน’ ด้วยสถานการณ์ขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย
ถ้าไม่มีตัวแปรอย่าง สว.ในสมการจัดตั้งรัฐบาล ไม่แน่ว่า ‘ดีลลับ’ ครั้งนี้ จะถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกหรือไม่
ส่องแผนดีล (ไม่) ลับ ‘ทักษิณ-ธนาธร' ฮ่องกง ทอดไมตรีสานฝัน ‘แดง-ส้ม’ ยังจำได้หรือไม่?
แต่ที่แน่ ๆ ก่อนจะไปถึงฉากนั้น ‘พิธา-ก้าวไกล’ ต้องฝ่าด่านศาลรัฐธรรมนูญ คดีหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันที่ 31 ม.ค.ให้ได้เสียก่อน รวมถึง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ต้องพ้นโทษออกมาอย่างเต็มตัวเช่นเดียวกัน
นี่ยังไม่นับแผนการวางหมากให้ ‘น้องสาวสุดเลิฟ’ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับเข้าไทย มารับโทษซ้ำรอยตัวเองอีก
ดังนั้น แผนการของ ‘พรรคส้ม’ หลังจากนี้ คงไม่ง่ายอย่างคิด แต่เรียกได้ว่าสามารถขยับตัว หายใจหายคอได้คล่องมากขึ้น
สุดท้ายจะสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องติดตาม!