"...เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป..."
กรณี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.11/2565 อัยการสูงสุด โจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณีโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศาลฯ พิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหตุจำเลยไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา นำผลสรุปคำพิพากษาคดีนี้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เป็นทางการ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญอยู่ที่องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล และยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยสั่งการให้รับโอนนายถวิลโดยมีเจตนาเพื่อจะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง และไม่อาจฟังได้ว่าการสมัครใจย้ายของพลตำรวจเอก ว. เป็นผลโดยตรงจากการโยกย้ายนายถวิลอีกด้วย เป็นต้น
- ไม่มีเจตนาพิเศษ! ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์' คดีย้าย 'ถวิล'-เพิกถอนหมายจับด้วย
- 'ยิ่งลักษณ์' ไม่มีเจตนาทุจริต! เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง คดีย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็ม ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาตัดสินคดีนี้ มานำเสนอต่อสาธารณชนเป็นทางการ
โดยศาลฎีกาตั้งประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น
1. ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2. จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ ศาลวินิจฉัยฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้น เห็นว่าการดำเนินคดีในระบบไต่สวน เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องตรวจคำฟ้องว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง และเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องแล้ว หากจำเลยไม่เข้าใจข้อหาแห่งคำฟ้องอย่างไรก็ชอบที่จะแถลงเพื่อให้ศาลสั่งให้โจทก์ขี้แจงข้อหานั้นหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดแห่งคำฟ้องจนจำเลยเข้าใจได้ดี แต่จำเลยมิได้ดำเนินการดังกล่าว
ประกอบกับฟ้องโจทก์บรรยายถึงการกระทำของจำเลยตั้งแต่การดำเนินการโยกย้ายให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เป็นส่วนหนึ่งและเชื่อมโยงกับการโอนย้ายพลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และบรรจุแต่งตั้งพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือให้พ้นจากตำแหน่ง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ซึ่งเป็นเครือญาติของจำเลย
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 อันเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายในบรรดาที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่จำเลยสามารถให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมีรายละเอียดชัดเจนครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
ในประเด็นแรกที่ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปรากฏว่ามูลกรณีคดีนี้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 แล้วนั้น
@ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญา
องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า แม้มูลกรณีคดีนี้จะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557แล้วก็ตาม แต่คดีของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว คงพิจารณาวินิจฉัยแต่เพียงว่า ผู้ถูกร้อง (จำเลยคดีนี้) ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการพันจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 266 (2) และ (3) อันมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นพิจารณาวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด
และผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงผูกพันศาลนี้ให้รับฟังได้เพียงว่า ความเป็นรัฐมนตรีของจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้ว ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 ก็มีประเด็นเพียงว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่สั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ที่สั่งให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นพิจารณาวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด
@ จำเลยกระทำความผิดอาญาหรือไม่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย และยังไม่มีศาลใดวินิจฉัยมาก่อน จึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 76 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2560 มาตรา 10
@ ไม่นำข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดมาผูกพันให้ศาลฎีกาต้องรับฟังตาม
การที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของจำเลยในคดีนี้ นอกจากพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 และเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ด้วย
โดยศาลต้องไต่สวนพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายและศาลอาจเรียกพยานมาไต่สวนเองเพื่อค้นหาความจริงและใช้ดุลพินิจวินิจฉัยพยานหลักฐานทั้งปวง โดยจะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 256- มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ..."
ดังนั้น หากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยจึงจะลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ กรณีจึงไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมาผูกพันให้ศาลนี้ต้องรับฟังตาม คงรับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานส่วนหนึ่ง
@ องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากมีมติเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ต้องดูที่เจตนาพิเศษ
ในส่วนประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า การกระทำความผิดตามฟ้อง นอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว เจ้าพนักงานผู้นั้นยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือต้องมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเจตนาพิเศษนี้ต้องมีอยู่ในขณะกระทำความผิด
@ จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมมีอำนาจสั่งย้ายนายถวิล
สำหรับปัญหาว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งในกรณีนี้คือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล เปลี่ยนศรี หรือไม่นั้น พยานหลักฐานจากการไต่สวนได้ความจากนายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนวันที่ 5 กันยายน 2554 จำเลยโทรศัพท์มาสั่งการให้พยานทำเรื่องเสนอโยกย้ายนายถวิล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่นายบัณฑูรมิได้เบิกความถึงที่มาหรือมูลเหตุจูงใจที่ทำให้จำเลยสั่งการ ซึ่งการสั่งการดังกล่าวจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 อันรวมถึงกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลทุกหน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐ
และข้อเท็จจริงยังได้ความจากนายบัณฑูรอีกว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีตำแหน่งลอยประมาณ 7 ถึง 8 ตำแหน่ง ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อนุมัติเป็นกรณีพิเศษสำหรับแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินในกรณีที่ไม่สามารถจะโยกย้ายไปลงตำแหน่งอื่นได้ เพราะบางครั้งตำแหน่งระดับสูงไม่ว่างให้สับเปลี่ยนคนได้ อันแสดงให้เห็นว่าการโยกย้ายให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่มีเหตุผลพิเศษเฉพาะกรณีจนถึงกับมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดตำแหน่งไว้รองรับล่วงหน้า ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาโยกย้ายแตกต่างจากกรณีข้าราชการอื่นทั่วไป
@ 'ถวิล เปลี่ยนศรี'
@ จำเลยไม่มีสาเหตุขัดแย้งส่วนตัวกับนายถวิลมาก่อน
ประกอบกับจำเลยมิได้มีสาเหตุขัดแย้งอันใดกับนายถวิลเป็นการส่วนตัวมาก่อน อันจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งนายถวิลแต่อย่างใด จำเลยคงอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลก่อนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีนายถวิลเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งจำเลยอ้างว่านำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลภายใต้การนำของจำเลยจึงต้องการเปลี่ยนตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แสดงว่ากรณีมีเหตุที่จะโอนนายถวิลมาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนแล้วโดยไม่ได้มีข้อคำนึงถึงว่าพลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จะยินยอมย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่
@ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล
ทั้งพลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติพยานจำเลยก็เบิกความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยเหตุผลของความต้องการผู้ได้รับความไว้วางใจสูงสุดก็มีความชอบธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่เพื่อให้เกียรติผู้ดำรงตำแหน่งคนเดิมก็จะใช้เหตุผลว่าเพื่อความเหมาะสม เรื่องความไว้วางใจนี้ข้าราชการที่ทำงานด้านความมั่นคงเข้าใจกันและยอมรับการโยกย้ายด้วยความเต็มใจ ทั้งยังได้ความจากพลตำรวจเอกโกวิทว่า ก่อนที่นายถวิลจะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีพลโทสุรพล เผื่อนอัยกา ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อเข้าสู่สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการโอนย้าย พลโทสุรพล จากต้นสังกัดเดิมมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเฉกเช่นเดียวกับกรณีของนายถวิล ตามเอกสารหมาย จ.114 หน้า 1190 เห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยในการโยกย้ายนายถวิลจึงเป็นไปตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม แม้จะไม่มีการอ้างเหตุผลในการโยกย้ายว่าได้ปฏิบัติงานโดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่อง หรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาลก็ตาม ข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล
@ กรณีจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ไม่ปรากฏว่ามีประจักษ์พยานรู้เห็นมาเบิกความยืนยัน จึงต้องพิจารณาจากพยานแวดล้อม
ส่วนปัญหาว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยต้องการให้พลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ญาติของจำเลยขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น การที่จะรับฟังข้อเท็จจริงว่าขั้นตอนกระบวนการขอรับโอนนายถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นส่วนหนึ่งและมีความเชื่อมโยงกับการขอรับโอนพลตำรวจเอกวิเชียรซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน อันจะทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง แล้วจะได้แต่งตั้งพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น
ทางไต่สวนไม่ปรากฏว่ามีประจักษ์พยานรู้เห็นมาเบิกความยืนยัน กรณีจำเป็นต้องพิจารณาจากพยานแวดล้อมที่ปรากฏในการไต่สวน ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนประกอบกัน
@ พยานหลักฐานไม่อาจชี้ได้ว่าจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายตำแหน่งร่วมกันวางแผนล่วงหน้า
สำหรับการโอนนายถวิลอาจทำได้เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 57 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนนั้นแล้ว และทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งในขั้นตอนนี้พลตำรวจเอกโกวิท รองนายกรัฐมนตรี พยานจำเลย ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในขณะนั้น เบิกความว่า เมื่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือขอความเห็นชอบในการรับโอนนายถวิล พยานเห็นชอบโดยจำเลยมิได้มีการก้าวก่ายแทรกแซงสั่งการ
ส่วนนางสาวกฤษณา พยานจำเลย ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดในขณะนั้น ก็เบิกความว่า อำนาจในการสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งประจำในหน่วยงานระดับกรม เป็นอำนาจของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดที่พยานจะไม่เห็นชอบต่อข้อเสนอของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พยานจึงลงนามให้ความเห็นชอบยินยอมให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทาบทามไปยังผู้บังคับบัญชาเจ้าของสังกัดของนายถวิล
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าพลตำรวจเอกโกวิทและนางสาวกฤษณาต่างพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยตนเองโดยลำพัง พยานหลักฐานจากการไต่สวนจึงไม่อาจบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายได้มีการคบคิดวางแผนกันล่วงหน้าในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยมาตั้งแต่แรก ทั้งหากจำเลยมีเจตนาตระเตรียมการให้รับโอนนายถวิล มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และรับโอนพลตำรวจเอกวิเชียร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน เพื่อที่จะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลงแล้ว การดำเนินการก็น่าจะต้องมีการแจ้งหรือทาบทามพลตำรวจเอกวิเชียรให้ยินยอมที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเสียก่อน
@ ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยสั่งการหรือมอบหมายผู้ใดทาบทามพลตำรวจเอกวิเชียร ให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช.
แต่ขณะที่นายบัณฑูรจัดทำบันทึกขอรับโอนนายถวิลเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2554 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการโอนนายถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 นั้น ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่า จำเลยสั่งการหรือมอบหมายผู้ใดทาบทามพลตำรวจเอกวิเชียรผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากพลตำรวจเอกวิเชียรพยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ พลตำรวจเอกโกวิทได้โทรศัพท์มาทาบทามว่าตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังจะว่างลง พยานจึงตัดสินใจที่จะไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหนังสือฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2554 เอกสารหมาย จ.161 อันเป็นการยินยอมภายหลังจากที่โยกย้ายนายถวิลไปแล้วนานถึง 22 วัน ซึ่งหากมีการสมคบคิดอันเป็นส่วนหนึ่ง และมีความเชื่อมโยงกันก็ไม่น่าจะต้องปล่อยเวลาให้ล่วงเลยนานถึงเพียงนี้
ยิ่งกว่านั้นขณะที่จำเลยสั่งการให้โอนนายถวิลก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยทราบว่าต่อมาภายหลังพลตำรวจเอกวิเชียรจะสมัครใจย้ายหรือไม่ หรือจะย้ายไปดำรงตำแหน่งใด เมื่อใด ย่อมรับฟังไมได้ว่าจำเลยสั่งการให้รับโอนนายถวิลโดยมีเจตนาเพื่อจะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง และก็ไม่อาจฟังได้ว่าการสมัครใจย้ายของพลตำรวจเอกวิเชียรเป็นผลโดยตรงจากการโยกย้ายนายถวิลอีกด้วย
@ ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการแก้ไขวันที่ที่ทำเอกสาร
นอกจากนี้แม้นายบัณฑูร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะมีบันทึกข้อความ ลับมาก ที่ นร 0401.2/8303 ถึงรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอกโกวิท) เพื่อขอรับโอนนายถวิลมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยระบุว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวกฤษณา) ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบและยินยอมการรับโอนแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.114 หน้า 1203 และ 1204 แต่ความจริงนางสาวกฤษณายังมิได้ให้ความเห็นชอบ อันเป็นการแจ้งข้อความที่ไม่ถูกต้องหรือมีลักษณะเป็นการปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้อีกฝ่ายทราบ เพื่อพิจารณายินยอมให้โอน และยังมีการแก้ไขวันที่ที่ทำเอกสารจากวันที่ 4 กันยายน 2554 เป็นวันที่ 5 กันยายน 2554 ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับข้อความในเอกสารฉบับดังกล่าวด้วย
@ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
@ การที่จำเลยเร่งรีบดำเนินการโอนย้ายนายถวิลไม่ถือเป็นข้อพิรุธของจำเลย
ส่วนการดำเนินการในการขอรับโอน ขอรับความเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ รวมทั้งการที่จำเลยได้มีคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีใช้เวลาเพียง 4 วัน นั้น ก็ได้ความจากนายบัณฑูร และนายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เบิกความว่า การเสนอแต่งตั้ง โยกย้ายเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดให้ทันต่อการเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นบ่อย
พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เบิกความตรงไปตรงมา ไม่มีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำเบิกความในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ประกอบกับผู้ที่แจ้งว่าการรับโอนนายถวิลเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจึงขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจรคือนางสาวกฤษณา จำเลยเพียงแต่อนุมัติตามที่ได้เสนอมาเท่านั้น ดังนั้นการเร่งรีบดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธของจำเลย
@ การกระทำของจำเลยไม่อาจนำมารับฟังว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์
นอกจากนี้แล้วข้อเท็จจริงคงได้ความว่า จำเลยมีส่วนในการดำเนินการโยกย้ายนายถวิลให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยจำเลยเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในวันที่ 6 กันยายน 2554 ทั้งจำเลยได้ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและร่วมลงมติอนุมัติให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จำเลยก็ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายในการโอนย้ายข้าราชการระดับสูง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงย่อมไม่อาจนำมารับฟังว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์
@ พิพากษายกฟ้อง
ส่วนเรื่องที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ในเชิงกดดันพลตำรวจเอกวิเชียรดังกล่าว เมื่อร้อยตำรวจเอกเฉลิมมิใช่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดที่มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบและยินยอมในการโอนและรับโอนนายถวิลหรือพลตำรวจเอกวิเชียร กรณีจึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของร้อยตำรวจเอกเฉลิม ทั้งไม่มีพยานแวดล้อมกรณีหรือพยานอื่นใดที่มีน้ำหนักมาประกอบ พยานหลักฐานจากการไต่สวนไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้เชื่อได้ว่า จำเลยกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อประโยชน์ของพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์
จากเหตุผลที่วินิจฉัยแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายกฟ้อง