ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโอนย้าย 'ถวิล เปลี่ยนศรี' อดีตเลขาธิการ สมช. ชี้ยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษทำเพื่อให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง-ให้เพิกถอนหมายจับด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกา อม.) สนามหลวง นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.11/2565 อัยการสูงสุด โจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณีโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ศาลฯ พิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหตุจำเลยไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
โดยศาลฯ วินิจฉัยว่ายังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษและรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยโอนย้ายนายถวิลเพื่อให้ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่างลง
ภายหลังการอ่านคำพิพากษา นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ผลของคำพิพากษาวันนี้ คือ ยกฟ้องอดีตนายกยิ่งลักษณ์ สาระสำคัญ คือ ความเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทั้งหมด การโยกย้ายก็เป็นไปตามกฎหมายข้าราชการพลเรือน มาตรา 57 สามารถกระทำได้ ประเด็นที่สองเรื่องการกระทำความผิดทางอาญา ต้องอาศัยเจตนาเป็นสำคัญ ตามมาตรา 59 ในทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปกลั่นแกล้งนายถวิล ประเด็นที่สามในเรื่องของคำพิพากษาศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของศาลปกครองเป็นการพิจารณาถึงการโอนย้ายชอบหรือไม่ชอบ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการพ้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่มีเรื่องการกระทำผิดทางอาญาจึงไม่อาจนำคำพิพากษาทั้งสองศาลมาฟังว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดทางอาญา
สำหรับคดีการใช้อำนาจโอนย้านนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบดังกล่าว นั้น สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข่าวไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงเป็นทา่งการต่อสาธารณชนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีใช้อำนาจโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ขณะที่นายถวิล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของประเทศ โดยเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการและแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงแห่งชาติ ต่อ สมช.
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2554 วันอาทิตย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้โทรศัพท์สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการทำเรื่องขอรับโอนนายถวิล มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ จากนั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีบันทึกข้อความลงวันที่ 4 ก.ย. 2554 ถึง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอความยินยอมรับโอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 4 ก.ย. 2554 ถึง พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของ สมช. เพื่อให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดย น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ต่างให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนดังกล่าว และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
กรณีดังกล่าวสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจพบว่าวันที่ 4 ก.ย. 2554 เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดราชการ จึงได้มีการแก้ไขบันทึกข้อความทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นวันที่ 5 ก.ย. 2554 แต่เป็นการแก้ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจร และวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและลงมติรับทราบให้โอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งให้นายถวิล มาปฏิบัติราชการ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งดังกล่าวทันที การแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว ดำเนินการอย่างเร่งรีบรวบรัด แล้วเสร็จภายใน 4 วัน เท่านั้น
@ 'ถวิล เปลี่ยนศรี'
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และในวันที่ 19 ต.ค. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการ วันที่ 30 ก.ย. 2555 และเป็นเครือญาติของตนเอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างลงต่อที่ประชุม ก.ต.ช. ในการประชุมครั้งที่ 5/2554 วันที่ 19 ต.ค. 2554 ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช. มีมติเห็นชอบ
กรณีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ ที่ อ.992/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 33/2557 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2557 ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล จากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นการลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ลง โดยไม่แสดงเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายถวิล ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล หรือมีเหตุผลสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
@ ป.ป.ช.ยกคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้มูล ‘ยิ่งลักษณ์’
อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 ว่า การกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การกระทำทั้งหมดมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และของประชาชนแต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีวาระซ่อนเร้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต
การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้นายถวิล ได้รับความเสียหาย และเป็นการกระทำ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอื่นเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 ก่อนที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะเห็นควรสั่งฟ้องคดีให้
สำหรับหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนหน้านี้ ถูกออกหมายจับไปแล้ว 2 ใบ คือ 1. คดีปล่อยปละละเลยการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวจีทูจี เป็นเหตุทำให้ต้องหลบหนีออกจากประเทศไทยไปเมื่อปี 2560 2. คดีกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 มูลค่าโครงการ 240 ล้านบาท
(อ่านรายละเอียดใน หมายจับ 'ยิ่งลักษณ์' ใบที่3 คดี 'ถวิล เปลี่ยนศรี' บทเรียน-คำเตือน'คนชินวัตร' (อีกครั้ง))
อ่านประกอบ :