เปิดคำสั่งปปง. ยึดอายัดทรัพย์เกี่ยวข้องกระทำความผิดราย บ.วัน บ็อกซ์ โฮม กับพวก 2 ลอต 37 รายการ 197.1 ล. ถูกผู้เสียหายแจ้งความฐานยักยอกเงินประกันจาก กสทช.ไม่คืนให้ผู้ผลิต พร้อมนำกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี อุปกรณ์ ขายเอง ตร.ส่งสำนวนอัยการเห็นสั่งฟ้องศาลแขวงพระนครใต้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 252/2566 วันที่ 7 ธันวาคม 2566 และ คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ 178/2563 ลงวันที่ 9 พ.ย.2564 ยึดและอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวราย รายบริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอก รวม 37 รายการ มูลค่า 197,166,191.14 บาท
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 252/2566 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ระบุความเป็นมาของคดีดังนี้
ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปราม ตามหนังสือที่ ตช 0026.21/4/5267 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 เรื่อง รายงานความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รายบริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม2558 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 บริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด และบริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตกลงทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้ากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี อุปกรณ์เชื่อมต่อกล่องรับสัญญาณเสาอากาศ โดยบริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิต และนำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ ส่วนบริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด มีหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
ต่อมาบริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด ได้รับเงินค่าประกันกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสี่ยง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 3,705,472.50 บาท ซึ่งมีเงินประกันของบริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 217,591.50 บาท รวมอยู่ด้วย
แต่บริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด ไม่นำเงินมาให้ บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามข้อตกลงในสัญญาร่วมผลิตและกระจายสินค้า กลับเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตน และได้เบียดบังกล่องสัญญาณดิจิตอลทีวี และอุปกรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 171,411 กล่อง (เป็นเงินประมาณ 118,273,540 บาท) โดยได้มีการนำไปขาย ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและร้านค้าทั่วไป บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จึงอยู่ในฐานะผู้เสียหายจึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามดำเนินคดีกับบริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก รวม 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ดำเนินคดีเป็นคดีอาญาที่ 81/2560 พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องในข้อหาฐานร่วมกันยักยอก และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณา ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องบริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลแขวงพระนครใต้ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 496/2564 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งที่ ย.178/2564 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายบริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก จำนวน 14 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นั้น
จากการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลรวมทั้งผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ในคดีดังกล่าวพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินเพิ่มเติมอีกจำนวน 23 รายการ ประกอบด้วยที่ดินตามโฉนดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด กองทุน ตราสารหนี้ กองทุนหุ้นและเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าว ประกอบด้วย
อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อาจดำเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ และสังหาริมทรัพย์ประเภทกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถ โอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยืดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสียและหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินสำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบการพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 255- ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 23 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2567 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ทรัพย์สินที่ ปปง.สั่งยึดและอายัดทรัพย์ ตามคำสั่ง 252/2566 (เพิ่มเติม) ประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด และสังหาริมทรัพย์ประเภทกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวม 23 รายการ มูลค่า 180,651,573.96 บาท และทรัพย์สินตามสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ 178/2563 ลงวันที่ 9 พ.ย.2564 ประกอบด้วยห้องชุดและเงินในบัญชีเงินฝาก รวม 14 รายการ มูลค่า 16,514,617.18 บาท
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาว่าผู้ต้องหากับพวกกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา