กรมสรรพากรได้วางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีรายได้ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งรายได้นี้รวมไปถึงรายได้ที่มาจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าการเก็บภาษีคือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 180 วัน
ปัญหาเรื่องการฉ้อโกงสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทที่ส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.เว็บไซต์ DL News ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับวงการคริปโทโดยเฉพาะได้มีการนำเสนอบทความว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อป้องกันรับมือกับการฉ้อโกงคริปโท และประเทศเหล่านี้ยังต้องเจอปัญหาอะไรบ้างในปี 2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
@ประเทศจีน
ที่ประเทศจีน ผู้นำจีนยังคงมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อที่จะนำมาใช้โดยที่ไม่มีคริปโทเข้ามาเกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการปราบอาชญากรรมจากคริปโท
โดยในแต่ละสัปดาห์ประเทศจีนได้มีการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอื่นๆในภูมิภาคเป็นจำนวนนับร้อยๆคน ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นสถานที่ก่ออาชญากรรม “การเชือดหมู” (การหลอกให้ไว้ใจเพื่อให้อีกฝ่ายส่งเงินมาเป็นจำนวนมากๆแล้วผู้ต้มตุ๋นจึงเชิดเงินแล้วหายตัวไป) นี่หมายความว่าชาวจีนที่ดำเนินการฉ้อโกงในประเทศอื่นๆรวมถึงที่เมียนมา ทั้งหมดยังอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศจีน
ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของประเทศจีนได้กล่าวว่ากำลังมีการรับฟังความเห็นของสาธารณชนอยู่ ในประเด็นเกี่ยวกับกฎระเบียบที่จะเป็นมาตรฐานสำหรับการลงโทษนักต้มตุ๋นหรือสแกมเมอร์
ข่าวประเทศจีนแบนคริปโทแต่ประกาศใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจีน (อ้างอิงวิดีโอจาก News Forum)
@ฮ่องกง
ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มคริปโทหลายแห่งในฮ่องกงได้ตกเป็นพาดหัวข่าวว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการหลอกลวง ซึ่งรวมไปถึงแพลตฟอร์ม JPEX ทางฝ่ายนิติบัญญัติของฮ่องกงและนักลงทุนต่างเรียกหาความรับผิดชอบจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ ส่งผลทำให้หน่วยงานกำกับดูแลและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการเพื่อให้ความรับผิดชอบเหล่านี้เกิดขึ้นจริง
ประเด็นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้นำฮ่องกงประกาศว่าต้องการให้ฮ่องกงมีความแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางสกุลเงินดิจิทัลของเอเชีย
ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่ากว่าครึ่งของประชากรที่ว่าเหรียญที่ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือเหรียญที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล
“แพลตฟอร์มที่ไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาตภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์หรือถูกปฏิเสธจะถูกห้ามไม่ให้ดําเนินกิจการในฮ่องกง” รายงานข่าวระบุ
โดยฮ่องกงตอนนี้กำลังเดินหน้าในการทำตามกรอบกำกับดูแล Stablecoins (เหรียญคริปโทฯ ที่มีความมั่นคงสูง ซึ่งเอาไว้เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีอื่นโดยมักจะอ้างอิงกับสิ่งที่จับต้องได้) และกําหนดให้การแลกเปลี่ยนต้องได้รับใบอนุญาต
ธนาคารกลางฮ่องกงกําลังพยายามหาทางควบคุม Stablecoin โดยข้อมูลเอกสารที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคมยืนยันว่าจะต้องมีมาตรการการออกใบอนุญาตที่จำเป็นสำหรับผู้จะประกาศใช้เหรียญประเภท Stablecoins ขณะที่หน่วยงานกํากับดูแลกำลังอยู่ในช่วงรับฟังความเห็นซึ่งจะมีไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.
@ประเทศฟิลิปปินส์
สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์หรือ SEC มีกําหนดการจะนำเสนอกรอบกฎหมายสําหรับสกุลเงินดิจิทัลภายในสิ้นปี 2566 แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ากรอบนี้จะต้องเลื่อนไปในปี 2567
เจตนาของกรอบกฎหมายก็เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคและปราบปรามการแลกเปลี่ยนคริปโทบนแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้มีการจดทะเบียน
โดยไม่นานมานี้ SEC ได้ออกคำเตือนไปยังบริษัท Binance ต่อกรณีการดำเนินงานแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับใบอนุญาต และหน่วยงานนี้วางแผนที่จะบล็อกการเข้าถึงการแลกเปลี่ยนคริปโทในระดับชั้นนำของโลก
@ประเทศไทย
มีการคาดการว่าช่วงเวลาที่ประเทศไทยเป็นเหมือนสวรรค์สำหรับการแลกเปลี่ยนแพลตฟอร์มคริปโทที่เร่ร่อน ไม่มีการจดทะเบียน อาจกำลังจะสิ้นสุดลง
กรมสรรพากรได้วางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีรายได้ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งรายได้นี้รวมไปถึงรายได้ที่มาจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าการเก็บภาษีคือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 180 วัน
อ้างอิงวิดีโอจาก TNN
@ประเทศเกาหลีใต้
เกาหลีใต้กำลังเสนอกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยเน้นไปที่การปกป้องลูกค้าเป็นหลัก โดยประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่ามีข้อเสนอระบุว่าควรจะต้องมีการสั่งให้ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากคริปโทของลูกค้าและกำหนดให้ผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือนจริงหรือ VASPs จัดเก็บทรัพย์สินส่วนใหญ่ของลูกค้าเอาไว้ในกระเป๋าเงินเย็น
เกาหลีใต้กําลังสํารวจโครงการนําร่องสําหรับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางหรือ CBDC และกําลังพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อติดตามกิจกรรมสกุลเงินดิจิทัลของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกระบุว่าสนับสนุนการปล้นคริปโทเพื่อระดมทุนในโครงการนิวเคลียร์
@ประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์มีแผนที่จะแนะนํากฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นสําหรับผู้ให้บริการคริปโท หน่วยงานการเงินของสิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะปกป้องลูกค้ารายย่อยโดยการจํากัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล อาทิ การออกมาตรการต่างๆ รวมถึงการห้ามชําระเงินด้วยบัตรเครดิตสําหรับบริการคริปโท และการห้ามเสนอสิ่งจูงใจในการซื้อขาย
@ไต้หวัน
หน่วยงานไต้หวันกําลังดำเนินการเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล ฝ่ายนิติบัญญัติไต้หวันกําลังร่างกฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมการแลกเปลี่ยนในต่างประเทศโดยมุ่งเน้นที่การปฏิบัติตามกฎหมายการต่อต้านการฟอกเงิน
กฎหมายคริปโทที่เสนอจะกําหนดให้แพลตฟอร์มสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดในไต้หวันต้องได้รับใบอนุญาตถึงกระนั้นแนวทางของเกี่ยวกับคริปโทของไต้หวันอาจเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งช่วงปี 2567
อย่างไรก็ตาม มีกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับคริปโทขึ้นซึ่งโยงไปถึงการเลือกตั้ง โดยเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาพบว่ามีการทำดีฟเฟควิดีโอของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ซึ่งในวิดีโอดังกล่าวเธอเชิญชวนให้ประชาชนไปลงทุนในคริปโท
คณะกรรมการกํากับดูแลทางการเงินของไต้หวันหรือ FSC ได้ออกแนวทางเพื่อปรับปรุงการคุ้มครองนักลงทุนรวมถึงการแยกสินทรัพย์ของลูกค้าออกจากสินทรัพย์แลกเปลี่ยน แต่ตอนนี้ FSC กำลังพิจารณาว่าจะอนุมัติสกุลเงินดิจิทัล ETFs หรือไม่
@ญี่ปุ่น
ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังเจอกับปัญหาในเรื่องการออกมาตรการเก็บภาษีคริปโท โดยมีการวิจารณ์ว่าการเก็บภาษีนั้นเป็นภาระแก่นักลงทุนมานานแล้ว โดยบริษัทจะต้องจ่ายภาษีจากกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ถ้าหากว่าบริษัทเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นนอกเหนือจากการซื้อขายในระยะสั้น
ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายในรัฐสภาได้อนุมัติข้อเสนอแก่พรรค LDP ที่เป็นพรรครัฐบาลของญี่ปุ่นว่าจะให้มีการยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจแก่บริษัทเหล่านี้ ซึ่งหวังว่านี่จะกระตุ้นอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัลของญี่ปุ่นได้มาก แต่การถกเถียงเรื่องนี้น่าจะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2567
เรียบเรียงเนื้อหาจาก:https://www.dlnews.com/articles/regulation/how-china-and-asian-nations-plan-to-regulate-crypto-in-2024/